คู่แข่งที่แท้จริง
โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
อี-เมลฉบับหนึ่งที่ผมได้รับเมื่อเร็วๆ นี้ มีแง่คิดที่น่าสนใจมากจนต้องนำมาเผยแพร่ต่อให้ได้
อ่านกันกว้างขวาง ต่อไปนี้เป็นข้อความที่ได้รับมา
ทุกปีในสหรัฐอเมริกาจะมีการประกวดแข่งขันสะกดคำโดยจำกัดเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี
งานนี้เป็นงานระดับชาติ มีเด็กมาร่วมแข่งขันถึง 10 ล้านคน และมีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ
ในรอบสุดท้าย
ในปีนั้นผู้ที่ฝ่ามาถึงรอบสุดท้ายมีเพียง 13 คน ซามีร์ ปาเตล วัย 12 ขวบ ซึ่งปีที่แล้วได้อันดับ
2 เป็นตัวเต็งอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 คือ ราชีพ ทาริโกพูลา ซึ่งได้ที่ 4 เมื่อปีที่แล้ว ชัยชนะน่า
จะเป็นของซามีร์ แต่แล้วเขาก็พลาดเมื่อเจอคำว่า eramacausis (แปลว่าอะไร โปรดหาจาก
พจนานุกรมเล่มใหญ่ๆ เอาเอง) การตกรอบของซามีร์ทำให้ราชีพเป็นตัวเต็งอันดับ 1 ทันที
มีนักข่าวคนหนึ่งถามราชีพว่า ดีใจไหมที่คู่ปรับตกรอบไป คำตอบของราชีพก็คือ "ไม่ครับ นี่เป็น
การแข่งขันกับคำ ไม่ใช่กับคน ครับ"
ไม่ทันขาดคำ เสียงตบมือก็ดังก้องห้องประชุม
คำตอบของราชีพคงทำให้ผู้ใหญ่หลายคนได้คิด ใช่หรือไม่ว่าเวลาเราแข่งขันเรื่องอะไรก็ตาม
เรามักจะมองเห็นผู้ร่วมแข่งขันเป็นปรปักษ์หรือฝ่ายตรงข้าม ในใจจึงอยากให้เขามีอันเป็นไป
เพื่อเราจะได้เป็นผู้ชนะแต่ผู้เดียว หารู้ไม่ว่าลึกๆ แล้วความอิจฉาและพยาบาทกำลังก่อตัวขึ้น
ดังนั้นแข่งไปจึงทุกข์ไป แข่งเสร็จแล้วก็ยังทุกข์อีกที่เห็นคนอื่นเก่งกว่าตน
แต่สำหรับราชีพ แม้การแข่งขันจะดุเดือดอย่างไร เขาไม่ได้มองไปที่คน แต่มองไปที่คำ
สำหรับเขาความท้าทายอยู่ที่การต่อสู้กับคำยากๆ คำยากทุกคำคือปริศนาที่เขาต้องถอด
ออกมาเป็นตัวๆ ให้ได้ เมื่อใจไปจดจ่ออยู่ที่คำเหล่านี้ เขาจึงมิได้ยินดียินร้ายที่ผู้ร่วม
แข่งขันจะไปหรืออยู่
แม้ว่าในที่สุดราชีพจะได้เป็นที่ 4 (เพราะแพ้คำว่า Hiligenschein) แต่อย่างน้อยเขาก็ไม่ได้
ทุกข์เพราะเกลียดหรืออิจฉาคนที่เก่งกว่าเขา คงมีแต่ความมุ่งมั่นที่จะศึกษาค้นคว้าให้หนัก
ขึ้นเพื่อพิชิตคำยากๆ ในปีหน้า ไม่ต้องสงสัยเลยว่าปีหน้าเขาต้องเก่งกว่าปีนี้แน่ มองในแง่นี้
แม้เขาจะ "แพ้" แต่เขาไม่ขาดทุนเลย กลับมีกำไรด้วยซ้ำ
มุมมองของราชีพนั้นไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะในยามแข่งขันเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าสำหรับ
การดำเนินชีวิตและสัมพันธ์กับผู้คนด้วย ใช่หรือไม่ว่าในชีวิตประจำวันเมื่อเราถูกวิพากษ์
วิจารณ์ใจเรามักจะพุ่งตรงไปยังคนวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่ค่อยสนใจคำวิพากษ์วิจารณ์เท่าใด
นัก ดังนั้น แม้ว่าคำวิพากษ์วิจารณ์จะถูกต้องให้แง่คิดที่ดีเพียงใดก็ตาม แต่เราไม่สนใจที่จะ
ไตร่ตรองเสียแล้ว เพราะใจนั้นเต็มไปด้วยความเกลียดและโกรธคนที่วิพากษ์วิจารณ์เรา
ถ้าเราหันมาใส่ใจกับคำวิพากษ์วิจารณ์กันให้มากขึ้น และสนใจให้น้อยลงกับการตอบโต้
เพื่อเอาชนะคะคานคนที่วิพากษ์วิจารณ์ นอกจากเราจะทุกข์หรือโกรธเกลียดน้อยลงแล้ว
เรายังมีโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นด้วย โดยเฉพาะหากเป็นคำ
วิพากษ์วิจารณ์ที่ถูกต้องด้วยท่าทีเช่นนี้ เราจะได้กำไรสถานเดียว คุณเล็ก วิริยะพันธุ์
ผู้ก่อตั้งเมืองโบราณถึงกับบอกว่าวันไหนไม่ได้รับคำตำหนิ วันนั้นถือเป็นอัปมงคลเลย
ทีเดียว
เวลาทำงานก็เช่นกัน ถ้าเรามองว่านี้เป็นการต่อสู้ปลุกปล้ำกับงาน เราจะไม่เดือดร้อนที่
คนอื่นทำได้ดีกว่าเรา ใครจะดีจะเก่งก็เป็นเรื่องของเขา เพราะในใจนั้นนึกอยู่เสมอว่า
"ฉันกำลังแข่งขันกับงาน ไม่ใช่แข่งขันกับคนอื่น" นอกจากจะไม่อิจฉาเขาแล้ว ยังพยายาม
เรียนรู้จากเขาว่ามีวิธีการอย่างไร เพื่อเอาไปใช้ในการพิชิตงานที่กำลังทำอยู่ หรือทำให้
งานนั้นดีขึ้น
มองให้ลึกลงไปแล้ว คนไม่ใช่คู่แข่งของเรา กิเลสตัณหา ความเห็นแก่ตัว หรือความหลงตน
ต่างหากที่เป็นคู่แข่งของเรา แทนที่จะสู้กับใครต่อใคร เราควรหันมาสู้กับอกุศลธรรมในตัว
เราดีกว่า ที่แล้วมาเราต่อสู้กับใครต่อใครมากแล้ว แต่ไม่ได้ต่อสู้กับอกุศลธรรมเหล่านี้ เราจึง
ทุกข์ไม่เว้นแต่ละวัน
ถึงที่สุดแล้ว
แม้แต่คนที่คิดร้ายต่อเรา เขาก็ไม่ได้เป็นศัตรูของเรา ความโกรธความเกลียด
หรือความเห็นแก่ตัวในใจเขาต่างหากที่เป็นศัตรูของเรา สิ่งที่เราควรจัดการคือความชั่วร้าย
ในใจของเขา มิใช่จัดการตัวเขา ด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่เราจะปลอดภัยและมีชีวิตที่สงบสุขอย่าง
แท้จริง เพราะ
การขจัดศัตรูที่ดีที่สุดคือเปลี่ยนเขามาเป็นมิตรแล้วอะไรล่ะที่จะเปลี่ยนศัตรูมาเป็นมิตรได้ หากมิใช่การ
ใช้ความดีเอาชนะใจเขา
(ขอขอบพระคุณ คุณหญิงชัชนี จาติกวนิช ที่กรุณาส่งอี-เมลที่มีค่าฉบับนี้ซึ่งไม่ปรากฏนาม
เจ้าของมาให้และขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ ขอขอบคุณท่านผู้เขียนที่อาจไม่รู้ตัวว่าได้
กระทำสิ่งที่มีประโยชน์ยิ่งในยุค "ชิงชังกัน" เยี่ยงปัจจุบัน
ที่มา มติชน วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10421http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act04210949&day=2006/09/21