นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จ.นครราชสีมา กล่าวตอนหนึ่งระหว่างราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ ฆ่าตัดตอนปมปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ณ ที่ทำการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน วันนี้ (19 พ.ย.) ว่า การรัฐประหารครั้งนี้ โดยนัยยะทางการเมืองเป็นการลิด รอนสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว โดยเหตุผลในการรัฐประหาร 4 ข้อ ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเลย ดังนั้น จึงเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. แก้ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วย โดยเฉพาะการฆ่าตัดตอน 2,500 ศพ ตามนโยบายการปราบปรามยาเสพติด อดีต ส.ว.นครราชสีมา กล่าวต่อว่า ถ้ารัฐบาลปัจจุบันและ คมช. ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐหารไม่ดำเนินการใดๆ กับการใช้ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะคดีฆ่าตัดตอน 2,500 ศพ ตามนโยบายปรามปรามยาเสพติดของรัฐบาลที่ผ่านมา การละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอันจะไม่มีผลเลยสำหรับการปฏิรูปการเมืองใหม่และการพัฒนาประชาธิปไตยถ้าเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ได้รับการแก้ไข อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอย่านำเหตุผลเรื่องความปรองดองมาเป็นข้ออ้างในการไม่พิจารณาการฆ่าตัดตอน เพราะความปรองดองไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนลืมการฆ่าตัดตอนเหมือนปล่อยให้ลืมกับกรณี 14 ต.ค. 2516 และ 6 ต.ค. 2519 ฯลฯ
ด้านนายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ในยุครัฐบาลที่ผ่านมา การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนดำเนินไปด้วยความหนักใจ เพราะมีการงดใช้รัฐธรรมนูญหลายมาตรา เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน ในช่วงวันที่ 1 ก.พ. 2546 ถึงวันที่ 30 เม.ย.2546 ที่ระยะเวลาเพียง 3 เดือน มีการฆ่าตัดตอนมากถึง 2,500 ศพ จากนโยบายการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลที่เร่งรัดจนเกิดข้อผิดพลาด โดยเฉพาะการทำบัญชีรายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่ชัดและไร้ซึ่งประสิทธิภาพอันนำมาสู่การฆ่าตัดตอน ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและ คมช. รือฟื้นการฆ่าตัดตอนในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา
สำหรับแนวทางในการรือฟื้นคดีฆ่าตัดตอน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ควรดำเนินการใน 2 นัยยะ คือ 1) ทำให้สังคมเห็นว่า นโยบายการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลที่ผ่านมา ผิดพลาด โดยใช้วิธีการเชื่อมโยงจากคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นและการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีความชัดเจนในการจับกุมผู้ต้องหา ผู้ต้องหาเสียชีวิตและการวิสามัญฆาตกรรมไปยังรัฐบาลผู้กำหนดนโยบายและ 2) ให้ดำเนินการกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำหนดนโยบายในศาลอาญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ลงนามความผูกพันธ์ไว้แล้ว แต่ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายก รัฐมนตรี ไม่ยอมลงสัตยาบัน เพราะเกรงถูกดำเนินคดี
ในเรื่องเดียวกัน นายสมชาย หอมละออ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลรื้อฟื้นการคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลที่ผ่านมา เพื่อคืนความเป้นธรรมให้ผู้เสียชีวิตและญาติ ขณะเดียวกันก็เสนอแนะให้ดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่องและจริงจังในทุกๆ มิติ โดยในกรณีที่ใช้มาตรการปราบปรามก็ให้อยู่บนพืนฐานของกฎหมาย รวมทั้งฟื้นฟูหลักนิติรัฐที่ไม่ใช่เฉพาะกับเรื่องยาเสพติดเท่านั้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการกับประชาชนภายใต้กฎเกณฑ์และกฎหมายที่กำหนด และดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นอันได้แก่ตำรวจและอัยการอย่างจริงจัง
ต่อข้อถามเรื่องการให้ดำเนินการกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในศาลอาญาระหว่างประเทศ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความฯ กล่าวว่า รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. สามารถลงสัตยาบันได้ทันทีเพื่อให้มีผลบังคับใช้กับประเทศไทยอันจะทำให้ผู้เสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และอัยการมีสิทธิ์ยื่นเรื่องไปยังอัยการในศาลอาญาระหว่างประเทศดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีต่างๆ ซึ่งตามกฎหมายนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ จะตกเป็นอาชญากรข้ามชาติทันทีและเมื่อเดินนทางเข้าไปประเทศต่างๆ ที่ได้ลงสัตยาบันในธรรมนูญกรุงโรมไว้ เช่น กัมพูชาและอังกฤษ ฯลฯ จะต้องถูกจับกุมตัวเพื่อส่งไปดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ
http://www.thairath.co.th/online.php?section=newsthairathonline&content=27144