น้องแถลองอ่าน อันนี้หน่อยนะคะน้อง---
เผื่อหูตาจะได้สว่างขึ้น----------------------------------------------------------------------
แล้วที่อธิบดีศิโรตม์บอกว่า เป็นการได้หุ้นมาในราคาต่ำ เมื่อขายในราคาตลาดก็ต้องเสียภาษี เพราะเป็นเงินได้ ตรงนี้จะชี้แจงอย่างไร
จริงๆแล้วข้อเท็จจริงมันเหมือนเดิม วันที่ 23 มกราคม เป็นอย่างไรก็เหมือนเดิม ก็คือว่าได้มีการหารือว่าการโอนหุ้น ณ ราคาพาร์ จากแอมเพิลริช มาให้ทั้ง 2 คน ผู้โอนต้องเสียภาษีหรือไม่ เขาก็ตอบมาว่า การโอนหุ้น ณ ราคาพาร์ไม่มีภาระภาษี จากนั้นพานทองแท้ กับพิณทองทา มาขายต่อให้กลุ่มเทมาเส็กผ่านตลาดหลักทรัพย์ มันก็มีข้อยกเว้นอยู่ว่า การขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่เสียภาษี
O ยังมีประเด็นอยู่ว่า แอมเพิล ริช ก็เป็นของท่านนายกฯ แล้วท่านนายกฯ ก็มาโอนให้ลูก...
แอมเพิลริช เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน (บีวีไอ) จริงๆ แล้วหุ้นก็เป็นหุ้นของท่านนายกฯอยู่แล้วตั้งแต่ต้นเลย ก่อนจะไปแอมเพิล ริช ด้วยซ้ำ คือเขามีหุ้นอยู่ แล้วก็จะเอาหุ้นไปขายในตลาดแนสแด็ก ก็เหมือนคุณมีรถยนต์อยู่คันหนึ่ง อยู่ๆ จะเอาไปขายเต็นท์รถ แล้วเต็นท์รถมันซบเซา คุณก็เลยเอารถที่เป็นของคุณตั้งแต่ต้นโอนกลับคืนมา โดยหลักที่ของมันเป็นของคุณอยู่แล้ว แล้วก็โอนกลับมาคืนให้ตัวคุณเอง มันก็ไม่ควรจะเสียภาษี เพราะมันเป็นของคุณอยู่แล้ว
แต่ปัญหาคือว่าเขาโอนกลับมาเพราะเขาต้องการขาย จริงๆ ตอนแรกที่จะขายให้เทมาเส็ก เขาลืมไปด้วยซ้ำว่ามีหุ้นนี้อยู่ พอจะขายก็เฮ้ย..ยังมีหุ้นอยู่ในแอมเพิล ริช ก็เลยเอามาโอน และการโอนเราก็เช็คว่าโอน ณ ราคาพาร์ให้น้องโอ๊คกับน้องเอมเสียภาษีหรือไม่ คำวินิจฉัยของกรมสรรพากรบอกว่าไม่เสีย เราก็ทำตามนั้น เพราะฉะนั้นก็ไปสู้กันว่าเขามีเหตุผลอะไร แล้วสุดท้ายก็ต้องไปจบกันที่ศาลภาษี
ท่านศิโรตม์เองก็คือคนๆเดียวกันที่เคยพูดว่าไม่ต้องชำระภาษี เมื่อลมการเมืองเปลี่ยนแปลงไป แล้วท่านบอกว่าต้องเสียภาษี เราก็ต้องไปชี้แจง ไม่มีปัญหาอะไร
O แล้วเรื่องที่ดินของคุณหญิงพจมาน...
ตอนนี้เป็นข้อครหาที่คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ) กำลังตรวจสอบอยู่ แต่ก็น่าดีใจนะ เพราะแม้ว่าข่าวจะออกมาอย่างไรก็ตาม แต่ท่านนาม (นายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส.) และท่านอุดม เฟื่องฟุ้ง (กรรมการ คตส.) ซึ่งทั้งสองท่านเป็นอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ท่านก็บอกว่ายังไม่เรียกคุณหญิงพจมานไปให้การ ท่านบอกว่าต้องตรวจสอบการขาย ความเป็นมาเป็นอย่างไร เราชี้แจงได้ครับ มันมี 2 ประเด็นใหญ่ คือเรื่องราคา กับเรื่องมาตรา 100
ในเรื่องราคานั้นก็ประมูลกันอย่างโปร่งใส มีผู้เข้าร่วมประมูล 4 ราย ไม่ใช่รายเดียวอย่างที่กล่าวหา ขณะที่ราคาที่ประมูลไปก็สูงกว่าราคาประเมินของกรมที่ดิน โดยราคาประเมินของกรมที่ดินอยู่ที่ 695 ล้านบาท แต่ราคาที่คุณหญิงประมูลคือ 772 ล้านบาท สูงกว่าราคาประเมินถึง 77 ล้าน ส่วนคนที่เสนอราคาสูงเป็นอันดับ 2 คือ 750 ล้านบาท ต่ำกว่าคุณหญิงประมาณ 22 ล้าน ถ้าหากเห็นว่าคุณหญิงประมูลไม่ได้ แล้วจะเอาผู้ที่เสนอราคาอันดับ 2 รัฐก็ต้องขาดรายได้ไป 22 ล้าน
แล้วที่ดินผืนนี้ราคามันอาจจะไม่ได้สูงมาก เหตุผลก็คือสร้างตึกสูงได้ไม่เกิน 23 เมตร เพราะมันอยู่ข้างศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ฉะนั้นการใช้ประโยชน์จากที่ดิน หรือ Land use จะต่ำ ไปสร้างคอนโดมิเนียมไม่ได้แน่ๆ และคุณหญิงท่านก็มีวัตถุประสงค์คือซื้อมาปลูกบ้าน และท่านก็ประมูลสูงสุด
ในเมื่อกองทุนฟื้นฟูฯ(กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน) สามารถไม่รับราคาสูงสุดก็ได้ ตามเงื่อนไขข้อ 19 แต่เขาก็ตัดสินใจรับ เราก็ไม่รู้ เราก็นึกว่าประมูลได้ แล้วการประมูลก็มีการสู้ราคากันเต็มที่ เปิดซองกันเจ๋งๆ ต่อหน้าเลย เราก็ประมูลตามนั้น ไม่มีอะไร
O แต่ในแง่เทคนิคมันมีคำถามเกิดขึ้น คือครั้งแรกเป็นการประมูลแบบอี-ออคชั่น แล้วล้มไป
เรียนชี้แจงอย่างนี้ครับประมูลครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2546 ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546 ห่างกัน 5 เดือน ครั้งแรกทางกองทุนฟื้นฟูฯไปตั้งราคากลางที่ 870 ล้านบาท มีคนไปซื้อซอง 7-8 ราย แต่ไม่มีใครไปประมูลเลย เพราะว่ามีข้อจำกัดเรื่องตึกสูง ต้นทุนมันสูงเกินไป ชาวบ้านเขาก็ไม่ซื้อ ก็เลยมาเปิดประมูลใหม่ในเดือนพฤศจิกายน
O ถ้าที่ดินดังกล่าวสร้างตึกสูงไม่ได้ ทำไมการเปิดประมูลครั้งที่ 2 บริษัทพัฒนาที่ดินยักษ์ใหญ่ถึงเข้าร่วมประมูลด้วยหลายราย
ก็ตอนแรกตั้งราคาไว้ที่870 ล้านบาทไง ราคาขั้นต่ำเปิดที่นั่น เวลาเปิดประมูลแบบอี-อ๊อคชั่น มันจะมีราคาเปิด สมมติผมจะประมูลรถเก๋ง ราคาโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ดันไปเปิดที่ 1.2 ล้านบาท คนก็ไม่อยากซื้อแล้ว แต่การประมูลแบบเปิดซอง มันไม่มีราคาเปิด มันไม่ได้กำหนดไว้ คนก็สามารถประมูลได้
ทีนี้ถ้าทางกองทุนฟื้นฟูฯเห็นว่า 772 ล้านบาทมันต่ำไป ก็ยกเลิกประมูลได้ ไม่มีปัญหา แต่เขาก็ตัดสินใจที่จะขาย เพราะคิดว่าราคามันไปได้ และเราไม่ได้ไปใช้อิทธิพลไปบังคับให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนฟื้นฟูฯ ให้มาเอาของเรา ถ้าเขายกเลิก เราก็ยกเลิก เราก็ไม่ซื้อ
O แล้วประเด็นข้อกฎหมายมาตรา 100 (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต)
มาตรา100 บอกว่า ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐไปทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐที่ตนมีหน้าที่ 1.กำกับ 2.ดูแล 3.ควบคุม 4.ตรวจสอบ หรือ 5.ดำเนินคดี แต่ฝ่ายที่กล่าวหาคือ คตส. อ้างว่านายกฯเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงทำสัญญาไม่ได้ เพราะนายกฯมีอำนาจกำกับตรวจสอบ แต่เราบอกว่า นายกฯไม่มีอำนาจ 1-5 ในกองทุนฟื้นฟูฯ
ต่อมาเขาก็ไปอ้างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11(1) ซึ่งมาตราดังกล่าว เป็นอำนาจการกำกับควบคุมโดยทั่วไป และไม่มีมาตราไหนใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่บอกให้นายกฯมีอำนาจควบคุมแบงก์ชาติ หรือกองทุนฟื้นฟูฯ เพราะกองทุนฟื้นฟูฯเป็นนิติบุคคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังไปสั่งแบงก์ชาติไม่ได้ และยิ่งไปสั่งกองทุนฟื้นฟูฯไม่ได้เลย เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล มีกรรมการกองทุน ดังนั้นยิ่งนายกฯจะไปสั่งกระทรวงการคลัง เพื่อให้ไปสั่งแบงก์ชาติ เพื่อให้แบงก์ชาติไปสั่งกองทุนฟื้นฟูฯ ยิ่งไกลไปใหญ่
ที่สำคัญกฎหมายนี้ถือเป็นกฎหมายจำกัดสิทธิ การตีความกฎหมายจำกัดสิทธิ ต้องตีความแบบเคร่งครัด ไม่ใช่ตีความแบบครอบจักรวาล ผมว่าต้องขอชื่นชมคุณนาม เพราะท่านบอกว่าเรื่องนี้ต้องให้ศาลตัดสิน ถือว่าเป็นกลาง เราก็อยากจะให้ทาง คตส.มีความเป็นกลาง เราขอแค่ความเป็นกลางและความเป็นธรรมเท่านั้นเอง เราพร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย
O แต่เรื่องนี้ยังไม่เคยมีการตีความชัดๆ เลยใช่หรือไม่
ไม่เคยเลยครับยังไม่เคยลึกถึงขนาดนั้น แล้วก็ต้องยินดีที่คุณสว่างจิตต์ (นางสว่างจิตต์ จัยวัฒน์) ซึ่งปัจจุบันเป็นรองผู้ว่าการแบงก์ชาติ และในขณะนั้นเป็นผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูฯ ท่านบอกว่าได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ยืนยันว่าทำได้ เขาเป็นฝ่ายขาย เขาก็ต้องดูว่าทำได้หรือไม่ ก็อาจจะต้องหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการ และ ป.ป.ช. แต่เราก็ไม่เคยเห็นหนังสือหารือนะ
อย่างนี้แสดงว่าหนังสือยินยอมที่พ.ต.ท.ทักษิณ เซ็นให้คุณหญิงไปซื้อที่ดิน ก็ไม่เกี่ยวข้องกัน
การเซ็นยินยอมให้ไปโอนสิทธิและนิติกรรมเป็นความจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะถือว่าสามีภรรยาเป็นคนๆ เดียวกัน แต่ถ้ามันไม่ผิดตามมาตรา 100 ก็ไม่มีประเด็นที่จะต้องไปพิจารณาเรื่องนี้
เพราะฉะนั้นประเด็นข้อกฎหมายในเรื่องนี้อยู่ที่ว่าเขาบอกว่านายกฯควบคุม เราบอกนายกฯไม่ควบคุม ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้านายกฯไปซื้อตั๋วเครื่องบินการบินไทย เท่ากับนายกฯทำสัญญากับการบินไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว ถ้าอ้างว่านายกฯควบคุมรัฐมนตรีคมนาคม หรือรัฐมนตรีคลัง และรัฐมนตรีทั้งสองควบคุมการบินไทย นายกฯก็ถือว่ากำกับการบินไทยด้วย อย่างนี้นายกฯอยู่กลางอากาศก็ต้องเชิญลง เพราะสัญญาซื้อตั๋วเป็นโมฆะ
นายกฯมีบ้านจะไปขอใช้ไฟฟ้ากับการไฟฟ้านครหลวง สัญญาการใช้ไฟกับการไฟฟ้านครหลวงก็ต้องเป็นโมฆะด้วย เพราะไปอ้างว่า นายกฯไปควบคุมกระทรวงมหาดไทย แล้วมหาดไทยไปควบคุมบอร์ดการไฟฟ้านครหลวงอีกที...จริงมั้ยครับ
มีบางคนบอกว่าไม่โมฆะเพราะเป็นสัญญาบริโภคแต่มาตรา 100 ไม่ได้เขียนไว้เลยว่าเป็นสัญญาบริโภคหรือไม่ เขียนเอาไว้แต่ว่าห้ามเจ้าพนักงานของรัฐทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐที่ตนเองมีอำนาจควบคุมกำกับ ประเด็นเหล่านี้ก็คงต้องให้ศาลท่านวินิจฉัยว่ามีอำนาจควบคุม กำกับ ดูแลหรือไม่
แล้วอีกอย่างหนึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมาย ถ้าดูดีๆ เขาป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไปใช้อิทธิพลของตนในการที่จะให้สัญญากับใคร แต่เรื่องที่ดินมันเป็นการประมูล คุณไม่มีโอกาสที่จะไปบีบบังคับให้กองทุนฟื้นฟูฯให้หรือไม่ให้คุณหญิงได้ เพราะมันเป็นการสู้ราคาสูงสุด กับอีกประเด็นหนึ่งคือมันไกลมากที่จะไปควบคุมแบงก์ชาติ แล้วแบงก์ชาติจะไปควบคุมกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อให้กองทุนฟื้นฟูฯอำนวยประโยชน์ให้กับคุณหญิง
เจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นอีกแบบหนึ่งฉะนั้นเราอย่าตีความเกินกว่าที่บทบัญญัติของกฎหมายมันเปิดช่องให้ทำได้ คือถ้าตีความแบบตะแบง หรือตีความประเภทต้องให้มันผิดอะไรสักอย่าง มันไม่ใช่วิธีการตีความกฎหมาย และเมื่อเกิดปัญหา มันอาจจะทำให้เกิดความไม่สมานฉันท์ในชาติได้...อันนี้พูดตรงๆ เพราะมันต้องตีความไปตามหลักของกฎหมาย
O แล้วในประเด็นจริยธรรมทางการเมือง หรือจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีการพูดกันมากในขณะนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายๆ กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และคนใกล้ชิดทำในช่วงที่ยังมีอำนาจ คุณนพดลมองอย่างไร
ผมคิดว่าถ้าทำถูกต้องตามกฎหมายอย่างเรื่องภาษี คือในเรื่องกฎหมายบอกว่าไม่ต้องเสีย เราก็ไม่เสีย คือเขาปฏิบัติตามกฎหมายในขณะนั้นๆ ก็ไม่มีปัญหาเรื่องจริยธรรม ในเมื่อเราหารือไปแล้วว่า ไม่ต้องชำระ แล้วท่านนายกฯก็บอกว่าไม่ต้องไปตะแบงนะ ในเมื่อเขามีคำวินิจฉัยว่าไม่ต้องชำระ เราก็ไม่ชำระตามนั้น ผมคิดว่าในเมื่อไม่ผิดกฎหมาย มันก็ไม่ผิดจริยธรรม
O มาเป็นทนายให้ครอบครัวชินวัตร ท่ามกลางกระแสต่อต้านระบอบทักษิณแบบนี้ มีความกดดันบ้างหรือเปล่า
ก็มีคนเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยในการทำหน้าที่ของผมคนโทร.มาให้กำลังใจก็มี คนไม่เห็นด้วยก็มี ในชีวิตคนเรามันก็มีขึ้นมีลง มีสูงมีต่ำเป็นธรรมดา ผมคิดว่าผมก็ได้ทำงานตามวิชาชีพของผม ผมก็ต้องทำหน้าที่ของผม และผมก็เคารพท่านนายกฯทักษิณ ผมก็ยินดีทำให้...ไม่มีปัญหา เวลาผ่านไป เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองมันพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น บรรยากาศของเสรีภาพทางความคิดเห็นมันดีขึ้นกว่านี้ ผมคิดว่าคนก็คงจะเข้าใจ
แต่ไม่เป็นไรเราร้องเพลงมาย์ เวย์ (My Way : เพลงยอดนิยมของ แฟรงค์ สิเนตร้า) กำหนดชะตากรรมของตัวเอง อาจจะไม่ได้ร้องเพลงผู้ชนะสิบทิศเหมือนป๋าเหนาะ (นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช) แต่เอาเพลงมาย์เวย์ เราต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ เราต้องพร้อมรับคำวิจารณ์
http://www.bangkokbiznews.com/level3/news_120433.jsp