พับโครงการ "ประชานิยม" ระวัง..!ประชาไม่นิยม คลื่นใต้น้ำเคลื่อนภายหลังจากที่ "พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์" รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ของประเทศไทย ต่อจาก "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ที่ต้องออกจากตำแหน่งเพราะถูกรัฐประหารนั้น
พล.อ.สุรยุทธ์ประกาศใช้นโยบาย "เศรษฐกิจพอเพียง" และ "สังคมเข้มแข็ง"
และเริ่มมีแนวโน้มว่าจะยกเลิกและทบทวนนโยบาย "ประชานิยม" ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณในหลายๆ โครงการ
เริ่มจาก "30 บาทรักษาทุกโรค" ที่ "นพ.มงคล ณ สงขลา" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอให้ยกเลิก และเปลี่ยนระบบประกันสุขภาพช่วยเฉพาะคนจนหรือคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ รวมทั้ง อาจจะจากข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ณ วันที่ 4 สิงหาคม มีผู้มีสิทธิประกันสุขภาพ ที่ขึ้นทะเบียนในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค รวมทั้งสิ้น 47,568,644 คน ทำให้รัฐบาลเดิมจ่ายให้หัวละ 1,600 บาทต่อปี หรือประมาณ 76,000 ล้านบาทต่อปี
และมีการขอเพิ่มเป็นหัวละ 2,089 บาท ในปี 2550 หรือประมาณ 95,000 ล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดที่แล้วยังค้างเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการ 30 บาทนี้ให้แก่ สปสช.อีก 9,700 ล้านบาท ในขณะที่กองทุนหมุนเวียนประกันสุขภาพ ตามงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2548 มีอยู่ 35,000 ล้านบาท
โครงการนี้ ชัดเจนไปแล้วว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ยกเลิกการเรียกเก็บเงินจำนวน 30 บาทไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม แต่ในรายละเอียดการปรับเปลี่ยนโครงการยังอยู่ในการหารือร่วมกับ "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
"วัวล้านตัว" หรือโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว
อีกโครงการประชานิยมหนึ่งที่ได้รับการตอบรับอย่างมากในภาคอีสาน ก็ส่อจะเอวังไปพร้อมกับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณทั้ง "ธีระ สูตะบุตร" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ "รุ่งเรือง อิศรางกูร ณ อยุธยา" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ประสานกันเป็นเสียงเดียวกันว่า "ต้องทบทวน" หากดำเนินการได้ไม่ตรงตามเป้าหมายก็ควรยกเลิก
โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัวนี้ ดำเนินการผ่านกองทุนเอสพีวี หรือองค์กรนิติบุคคลเฉพาะกิจ ที่มีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณยังคิดไว้ว่าจะใช้กองทุนนี้ดำเนินงานด้านเกษตรอีกหลายเรื่อง อาทิ การทำไบโอดีเซล
บ้านเอื้ออาทร" โครงการที่เกิดขึ้นในปี 2545 ตั้งเป้าไว้ที่ 600,000 ยูนิต ในเวลา 5 ปี
รัฐอุดหนุน"80,000 บาทต่อยูนิต รวมทั้งหมด 48,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน การเคหะแห่งชาติ (กคช.) จัดหาได้เพียง 337 โครงการ จำนวน 349,219 ยูนิต ส่งมอบบ้านให้แก่ผู้มีรายได้น้อยได้เพียง 43,662 ยูนิต
ส่วนที่เหลือมีการก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดเกือบครึ่ง และมีข่าวว่ามีการเรียกเก็บหัวคิวยูนิตละ 10,000 บาท
ทำให้โครงการนี้อาจจะต้องมีการทบทวนกันใหม่ "หวยบนดิน" หรือ สลากกินแบ่งรัฐบาลแบบเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว
เริ่มเปิดกิจการสู้กับหวยใต้ดินเป็นงวดแรกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2546 มีรายได้รวมหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วทั้งสิ้นประมาณ 28,647 ล้านบาท
มีการนำเงินจากการขายหวยบนดินไปใช้ในโครงการต่างๆ จำนวน 52 รายการ จำนวนประมาณ 13,381 ล้านบาท แต่ก็ไม่มีการตรวจสอบการใช้จ่ายดังกล่าวล่าสุด รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์มีการปรับปรุงรางวัลแจ๊คพ็อตที่สูงถึง 100 ล้านบาท หลังจากที่ "จรัญ ภักดีธนากุล" รักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรม เรียกร้องให้ยกเลิกเสีย
"เมกะโปรเจ็คต์" หรือ โครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ จำนวน 7 สาขา รวมงบประมาณตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2549 ในโครงการ 5 ปี วงเงิน 1,800,000 ล้านบาทอาทิ โครงการขนส่งมวลชนขนขนาดใหญ่ 423,430 ล้านบาท โครงการคมนาคม 345,603 ล้านบาท ที่อยู่อาศัย 330,360 ล้านบาท ทรัพยากรน้ำ 203,084 ล้านบาท ศึกษา 96,345 ล้านบาท สาธารณสุข 94,790 ล้านบาท และอื่นๆ 310,630 ล้านบาท
ล่าสุด ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้สั่งการให้สำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปทบทวนงบประมาณในโครงการเมกะโปรเจ็คต์ทั้งหมด หากโครงการใดไม่จำเป็นก็ให้ตัดทิ้ง ซึ่งคาดว่าจะปรับลดวงเงินลง 30% หรือประมาณ 540,000 ล้านบาท เหลือวงเงินในโครงการนี้ 1,260,000 ล้านบาท
แทรกแซงสินค้าเกษตร
ก่อนหน้านี้ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณได้มีการรับจำนำสินค้าเกษตร ที่มุ่งแต่การเพิ่มราคารับจำนำต่อเนื่องทุกปี จนมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นประชานิยมอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำเพื่อเอาใจเกษตรกร
ทำให้รัฐบาลต้องแบกภาระสต๊อคข้าวในปริมาณสูงกว่าที่เคยมีมา ส่งผลให้ขาดทุนสะสม 18,000 ล้านบาท ยังไม่รวมความเสียหายจากการทุจริตในกระบวนการรับจำนำ
เมื่อมาถึงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์นั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนใหม่ ให้เข้ากับความเป็นจริง ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายประชานิยมที่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ได้เข้ามาทบทวนเสียใหม่ ซึ่งรวมตัวเลขคร่าวๆ แล้วจะทำให้ประหยัดงบประมาณได้ประมาณ 680,000 ล้านบาทยังไม่นับรวมอีกหลายโครงการที่อยู่ในการทบทวน อาทิ โครงการคาราวานแก้จน โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ
แต่แม้ว่าจะประหยัดงบประมาณของประเทศชาติได้เป็นอย่างมาก
อีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลต้องคิดไปพร้อมกันกับการทบทวนโครงการประชานิยมคือ การทำความเข้าใจกับประชาชน และหาวิธีแก้ไขความไม่พอใจของประชาชนที่ได้รับผลกระทบหากต้องยกเลิกโครงการ
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดระยะเวลา 5 ปีกว่าของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ
ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่เสพติดนโยบายประชานิยม จนยากที่จะถอนตัวขึ้น
การหักดิบให้เลิกทันที อาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งให้ "คลื่นใต้น้ำ" รุนแรงขึ้น จนยากที่จะแก้ไขได้ รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ ไม่ยึดถือนโยบาย
โกงแต่ทำงานจึงต้องถี่ถ้วน ปกป้องเงินแผ่นดิน ไม่ให้ละเลงหายไปกับนโยบาย
โกงแต่ทำงานอย่างรัฐบาลทักษิณและบริษัทไทยรักไทยจำกัด...
คนเสียผลประโยชน์จากนโยบายโกงแต่ทำงานต้องโวยวายเป็นธรรมดา จึงชอบที่รัฐบาลนี้จะต้องอธิบายให้ชัดเจนว่า โครงการที่เกิดขึ้นจากนโยบายโกงแต่ทำงานนั้น ประเทศไทยต้องสูญเสียงบประมาณ เงินของแผ่นดินมากกว่าผลที่ได้รับที่ตกอยู่กับประชาชน รากหญ้าที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ ยึดถือเป็นตัวประกันสร้างความชอบธรรมที่จะใช้นโยบายโกงแต่ทำงานให้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับผู้มีอำนาจทางการเมืองและพรรคพวก ร่วมพรรค ร่วมบริษัท ร่วมครอบครัว....