ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
25-04-2024, 13:05
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สโมสรริมน้ำ  |  ภาพสวรรค์แห่งภูฏาน สมบัติล้ำค่าแห่งแดนมังกรสายฟ้า 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
ภาพสวรรค์แห่งภูฏาน สมบัติล้ำค่าแห่งแดนมังกรสายฟ้า  (อ่าน 2975 ครั้ง)
โอสถ
ขาประจำ
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 273



« เมื่อ: 25-10-2006, 16:56 »





แนะนำ พระราชนิพนธ์ ภาพสวรรค์ภูฏาน



ภาพสวรรค์ภูฏาน : สมบัติล้ำค่าแห่งแดนมังกรสายฟ้า *

(* ที่มา: หนังสือพิมพ์ออนไลน์kuenselonline Bhutan’s daily news site)

การจาริกแสวงบุญไปกับสมเด็จพระราชินี อาชิ โดร์จี วังโม วังชุก

สมเด็จพระราชินี อาชิ โดร์จี วังโม วังชุก พระราชทานนามพระราชนิพนธ์ของพระองค์ว่า “A Portrait of Bhutan” ซึ่งแท้จริงพระราชนิพนธ์เล่มนี้เป็นมากกว่านั้น

ในการทรงเปิดเผย “สมบัติล้ำค่าของภูฏาน” พระองค์ได้ทรงก้าวข้ามความงดงามทางธรรมชาติของประเทศไปสู่ส่วนที่เป็นจิตวิญญาณของดินแดน พระองค์ทรงนำเสนอสาระทั้งหลายด้วยลีลาการเล่าเรื่องอันอลังการ ดุจภาพที่ถูกวาดโดยใครบางคนที่รู้ซึ้งและสัมผัสอย่างดื่มด่ำต่อผืนแผ่นดินและผู้คน สำหรับผู้อ่านชาวภูฏานแล้ว การอ่านพระราชนิพนธ์เล่มนี้เปรียบได้กับการเดินทางอย่างซึมซาบและเต็มไปด้วยชีวิตชีวาทั้งมุมกว้างและมุมลึกของภูฏานร่วมไปกับองค์ผู้ทรงพระนิพนธ์

พระราชนิพนธ์เล่มนี้ประกอบด้วย บทนำ ซึ่งให้ภาพโดยรวม และภาคเนื้อหาอีก 3 ภาค ภาคที่หนึ่ง สมเด็จพระราชินี อาชิ โดร์จี วังโม วังชุก ทรงพรรณนาถึงพระองค์เองว่าด้วย “การเติบโตไปพร้อมกับภูฏาน” ในภาคที่สอง ทรงกล่าวถึงความเชื่อที่เป็นขนบประเพณีดั้งเดิมและปฏิบัติวิธีต่างๆ และในภาคที่สาม ทรงเล่าถึงประชาราษฎร์และแว่นแคว้นต่างๆ พระราชนิพนธ์เล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศภูฏานและประชาชนชาวภูฏาน

ประสบการณ์ส่วนบุคคล

บทนำ โดยเนื้อหาเป็นเรื่องราวของการเดินทางไปในประเทศ และพัฒนาการที่มีความโดดเด่นไม่เหมือนใครของภูฏาน ผู้อ่านจะได้สัมผัสกับภูมิประเทศอันงดงามน่าตื่นตาตื่นใจและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับตำนานต่างๆ และร่วมซึมซับกับความตื่นใจในความเปลี่ยนแปลงของภูฏานยุคใหม่ เรื่องราวในพระราชนิพนธ์จะวางรากฐานเรื่องเอกลักษณ์เฉพาะของความเป็นภูฏาน และสาระสำคัญของของปรัชญา “ความสุขมวลรวมประชาชาติ”

พระราชนิพนธ์เล่มนี้สะท้อนถึงความกลมเกลียวอันยืนยงของสังคมภูฏานผ่านสายตาของสตรีชาวภูฏานคนหนึ่ง ครอบครัวชาวนบกังของพระองค์สืบสายสกุลจากบุคคลซึ่งเป็นที่รู้จักในประวัติศาสตร์ของภูฏาน แต่มีไก่โต้งเป็นนาฬิกาปลุกประจำหมู่บ้าน และแหล่งน้ำประจำหมู่บ้านคือสถานที่ซึ่งผู้คนมาพบปะสังสรรค์ สมเด็จพระราชินี อาชิ โดร์จี วังโม วังชุก ทรงพรรณนาถึงค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงสังคมชนบทขนาดใหญ่ของเราเข้าด้วยกัน เราจะได้สัมผัสกับชีวิตวัยเยาว์ที่อาบอิ่มไปด้วยความอบอุ่นและปลอดภัยซึ่งเด็กชาวภูฏานส่วนใหญ่ยังคงจำได้

ภูฏานเปิดประเทศอย่างระมัดระวังในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 และสิ่งที่ได้รับการให้ความสำคัญเป็นเรื่องแรกคือ “การศึกษา” สมเด็จพระราชินีทรงเป็นหนึ่งในนักเรียนภูฏานไม่กี่ร้อยคนซึ่งไปเรียนที่โรงเรียนประจำในเขตภูเขาของอินเดียตอนเหนือขณะที่ยังทรงพระเยาว์ ทรงสะท้อนถึงสิ่งที่พระองค์ทรงสัมผัสรวมทั้งพระสุบินของพระองค์ในช่วงที่ทรงผจญภัยในโรงเรียนประจำ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ชาวภูฏานซึ่งได้รับการศึกษา “สมัยใหม่” รุ่นแรกรำลึกถึงด้วยความอิ่มเอม

สมเด็จพระราชินี อาชิ โดร์จี วังโม วังชุก ทรงแสดงให้เห็นชัดเจนว่า พระราชนิพนธ์เล่มนี้ถือกำเนิดจากการรับสัมผัสและประสบการณ์ส่วนพระองค์โดยตรง ทรงสะท้อนให้เห็นว่าทรงปลื้มพระราชหฤทัยเป็นที่ยิ่งที่ทรงได้สัมผัสใกล้ชิดกับราษฎรของพระองค์ทั่วประเทศโดยปราศจากบรรยากาศที่เป็นทางการ จากการที่พระองค์ทรงเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้านในชนบท ทำให้พระองค์ได้ทรงสัมผัสกับครอบครัวที่ยากจนหลายครอบครัวในพื้นที่ที่เข้าไปได้ยากในส่วนต่างๆ ของประเทศ ในฐานะผู้ทรงพระนิพนธ์ พระองค์ได้ทรงสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับผู้มีบทบาทที่น่าสนใจต่างๆ ทรงทำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับ ชาวนา ช่างทอผ้า นักศึกษา ผู้เลี้ยงสัตว์เร่ร่อน ลูกหาบ ผู้ที่กลับชาติมาเกิด บรรยากาศระหว่างช่วงเวลาที่ทรงใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับชาวลายัป ฮป มงปะ บรกปะ เค็งปะ และประชาชนในชุมชนห่างไกลอื่นๆ


การเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยสุนทรียรส

การเล่าเรื่องใน “ภาพสวรรค์ภูฏาน” เป็นไปอย่างเรียบง่ายและเต็มเปี่ยมด้วยจินตนาการ ในฐานะที่ผู้ทรงพระนิพนธ์ทรงสัมผัสกับธรรมชาติและชีวิตของผู้คน สิ่งที่พระองค์ทรงมอบให้กับผู้อ่านจึงมิใช่เพียงถ้อยคำ หากแต่เป็นสีสัน สรรพสำเนียง และกลิ่นอายแห่งความเป็นภูฏาน ซึ่งเป็นความงดงามดุจกวีนิพนธ์ :

“เมื่อความมืดมาเยือน ข้าพเจ้ามองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นหมู่บ้านของเราอาบด้วยแสงสีทองจากหลอดไฟนับร้อยดวง ขณะที่ต่ำลงไปในความมืดทะมึนของหุบเหวด้านล่าง เชลนาและวังดีโพดรังก็มีแสงไฟส่งประกายระยิบระยับดุจดาวนับพันดวง”

ท่วงทำนองของภาพพรรณนาและจินตนาการของบทพระราชนิพนธ์ สร้างความโดดเด่นให้กับภูมิทัศน์และรังสีแห่งพลังของจิตวิญญาณที่หยั่งลึกอยู่ภายใน ซึ่งจะพบได้ตลอดทั้งเล่ม

ผู้อ่านจะได้สัมผัสกับความสงบเย็นของทะเลสาบโฮโกโช ที่ปูนาคา และความยิ่งใหญ่ของรังเซเญในซัมเซ หินศักดิ์สิทธิ์ที่กมโกระ ทางภาคตะวันออก และความหลากหลายทางชีวภาพอันร่ำรวยที่มานัส สมเด็จพระราชินีทรงเข้าไปมีประสบการณ์ตรงกับดินแดนแห่งพืชสมุนไพรอันแท้จริง (Lho jong men jong) ผ่านน้ำพุร้อนซึ่งให้ผลด้านการรักษาและปฏิบัติวิธีเกี่ยวกับการรักษาด้วยพืชสมุนไพรแบบพื้นบ้าน

การเดินทางผ่านกาลเวลา

กระแสน้ำจากทะเลสาบธารน้ำแข็งที่ไหลลงสู่กระแสชีวิตของผู้คนและประวัติศาสตร์ของภูฏาน ได้กลายเป็นเรื่องจริงที่มีความเป็นมาดุจตำนาน การอ่านพระราชนิพนธ์เล่มนี้จึงเป็นเสมือนการเดินทางผ่านห้วงแห่งกาลเวลาอันน่าประทับใจ

ผู้ทรงพระนิพนธ์ได้ทรงรำลึกย้อนถึงการเดินทางสู่ทิมพูของพระองค์ในปี 1963 ซึ่งพื้นที่ยังคงเป็นทุ่งนาและผืนป่า พระองค์ทรงถ่ายทอดถึงความรู้สึกตื่นตาตื่นใจของนักประวัติศาสตร์ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตชีวา และทรงอ้างอิงถึงนักเขียนที่เคยผ่านการผจญภัยในอดีต จากบันทึกเหล่านั้นเราจะพบว่า หลายส่วนของภูฏานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเลย

การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นทั้งสิ่งที่น่าตื่นเต้นและการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวิถีของโลก แม้ว่าผู้ทรงพระนิพนธ์จะทรงสะท้อนถึงความรู้สึกคล้ายกับทรงเสียดายที่รางส่งน้ำที่ทำด้วยไม้แบบเก่าถูกทดแทนด้วยท่อน้ำที่ไม่มีชีวิตชีวา แต่พระองค์ก็ทรงทำให้ผู้อ่านเห็นภาพของการพัฒนาที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ในช่วงที่ทรงเริ่มเข้ารับการศึกษา ทางหลวงสายทิมพู-พุนโซลิง ก็ถูกสร้างขึ้นและเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับหมู่บ้านของพระองค์

เมื่อประวัติศาสตร์ถูกพลิกฟื้น ก็จะเป็นจุดบรรจบของอดีตกับปัจจุบัน สมเด็จพระราชินี อาชิ โดร์จี วังโม วังชุก ทรงสะกดผู้อ่านด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในประวัติศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวของพระองค์ เช่น การลอบสังหารท่าน ชับดรุง จิกมิ โดร์จี ในปี 1931 ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ยังคลุมเครือในทัศนะของชาวภูฏานจำนวนมาก อย่างไรก็ตามความอ่อนไหวทั้งปวงก็เป็นที่กระจ่างเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนมหาวิหารตาโลในปี 1988 และต่อมาก็ทรงสั่งทำรูปปั้นชุบทองของท่าน ชับดรุง จิกมิ โดร์จี

ความเป็นเอกลักษณ์

ด้วยความงามของธรรมชาติ จิตวิญญาณแห่งชีวิต ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ผืนแผ่นดินและผู้คนจึงหลอมรวมเป็นภาพสวรรค์แห่งภูฏาน ซึ่งสะท้อนถึงเอกลักษณ์แห่งความเป็นภูฏานอันโดดเด่นเป็นหนึ่งเดียว เราจะพบสิ่งเหล่านี้ได้ตลอดทั้งเล่ม ไม่ใช่ในเมืองต่างๆ หากแต่เป็นตามหุบเขาที่ยากลำบาก ผืนป่าเขียวชอุ่ม และในวิถีชีวิตของผู้คนในดินแดนไกลปืนเที่ยงที่เกือบจะถูกลืม

“ต้องขอบคุณพวกเขาและกลุ่มอื่นๆ ที่มีความคล้ายคลึงกันในหมู่บ้านเขตพื้นที่ห่างไกลที่กระจายอยู่ทั่วไปในประเทศ ซึ่งวัฒนธรรมอันโดดเด่นของภูฏานที่ให้ความเคารพอย่างลึกซึ้งต่อชีวิตด้านจิตวิญญาณ การมีปฏิสัมพันธ์แนบแน่นต่อธรรมชาติและองค์ประกอบย่อยแห่งธรรมชาติ และสายใยสัมพันธ์อันเหนียวแน่นระหว่างครอบครัวกับชุมชน ซึ่งยังคงดำรงอยู่และเบ่งบาน”

ล่วงพ้นเลยจาก แชงกรี ลา ที่นักท่องเที่ยวแสวงหา ผู้อ่านจะได้รับรู้อย่างลึกซึ้งกว่าถึงปูชนียบุคคลทางศาสนา สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และสัมผัสกับความเคารพนับถือที่มีต่อปวงเทพยดาประจำถิ่นที่ฝังรากลึก และทำความเข้าใจกับขนบประเพณีทางสังคม บริโภคนิสัย และระบบคุณค่าที่มีมาแต่บรรพกาล ซึ่งส่งผลให้เกิดความเข้าใจอันถ่องแท้ต่อเอกลักษณ์ของภูฏาน

สมเด็จพระราชินี อาชิ โดร์จี วังโม วังชุก ทรงให้รายละเอียดที่ลึกซึ้งและแจ่มแจ้งเกี่ยวกับงานศิลปะพื้นบ้าน เช่น การสานตระกร้าจากหวายที่เซ็มกัง การทำดาปะ ที่ยังเซ การทำหมวกที่ซักเต็งตลอดจนการทอยาทระของสตรีในบุมทัง และการทอกีร่า กูชูทาระที่ลุนเซ

และเมื่อชายสูงอายุ ที่เซ็มกังไม่ยอมจากบ้านของเขาไป ทั้งๆ ที่ชีวิตเต็มไปด้วยความยากลำบาก ทั้งนี้ก็เพราะเขามีความภูมิใจในความเป็นตัวของตัวเอง ผู้อ่านจะถูกบีบคั้นให้เกิดความสงสัยว่า คนหนุ่มสาวชาวภูฏานจะมีความภูมิใจในลักษณะเดียวกันนี้หรือไม่


ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH)

พระราชนิพนธ์ ภาพสวรรค์ภูฏาน ในฐานะการส่งผ่านประสบการณ์ ได้ก่อให้เกิดคำถามสำคัญอื่นๆ เช่น ถ้าความสุขมวลรวมประชาชาติคือภาพลักษณ์ของระบบคุณค่า ซึ่งทำให้ภูฏานยังคงธำรงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ ในช่วงหลายศตวรรษ เราได้มองข้ามบทเรียนที่ได้รับจากระบบแห่งองค์รวมนี้ไปหรือเปล่า ซึ่งในปัจจุบันเราจะพบ GNH ได้ในเฉพาะชุมชนของหมู่บ้านบางแห่งเท่านั้น สมเด็จพระราชินีทรงพรรณนาถึงพระราชวินิจฉัยของพระองค์ต่อระบบคุณค่าดั้งเดิมนี้ :

“ด้วยการผนึกผสานความเชื่อทางศาสนา คุณค่าทางสังคม และธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งองค์รวมแห่งภูมิปัญญาชาวบ้านของสังคมเกษตรกรรมอย่างพวกเรา ได้ช่วยยับยั้งการกระทำอันเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาวภูฏานและสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติแน่นแฟ้นและมีความกลมเกลียว”

ดังนั้นสิ่งนี้จึงจำเป็นต้องสงวนรักษาไว้

“ข้าพเจ้าตระหนักถึงความสำคัญของการให้ความนับถือ การสงวนรักษา และการบันทึกวิถีชีวิตของพวกเขา ซึงนับเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของภูฏาน และต้องมั่นใจได้ว่าการมีส่วนร่วมของพวกเขาต่อความก้าวหน้าและการพัฒนาที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ของประเทศ จะเป็นไปตามย่างก้าวที่พวกเขากำหนดและแนวทางที่พวกเขาปรารถนา...”

นี่คือความสำคัญของ GNH ที่เราลืมเลือนง่ายดาย ชุมชนเหล่านี้ถูกลืมเลือนไปจากสายตาและบางทีอาจจะถูกลืมเลือนไปจากสายใจในอนาคต

บทสรุป

ผู้อ่านอาจจะถามว่าทั้งหมดที่กล่าวมาหมดจดงดงามเกินไปหรือเปล่า ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงแห่งประวัติศาสตร์จะเกิดขึ้นในห้วงขณะที่เราต้องเผชิญการท้าทายที่ไม่ชัดเจน เรากำลังมองหาการปลุกปลอบที่ผิดพลาดหรือเปล่า

ดังนั้นสิ่งที่ควรพิจารณาคือ การกลับสู่คำสอนของพุทธศาสนา ซึ่งเป็นประเด็นที่แฝงอยู่ตลอดทั้งเล่ม ไม่มีหนทางภายนอกใดๆ ที่จะช่วยจัดการกับปัญหาและความท้าทายทั้งหลายของเราได้ เราจะต้องมองสู่ภายใน ดังนั้นแนวทางในการแก้ปัญหาของภูฏานนั้นก็ขึ้นอยู่กับวิถีในสังคมของเราเอง

สมบัติล้ำค่าแห่งแดนมังกรสายฟ้าตามที่เราเข้าใจจากพระราชนิพนธ์เล่มนี้ ไม่ใช่สมบัติที่เป็นวัตถุ องค์ประกอบต่างๆ ซึ่งเป็นรากฐานของเอกลักษณ์แห่งความเป็นภูฏาน—ดินแดนแผ่นดินและผู้คน—คือสิ่งที่สะท้อนถึงพลังอันยิ่งใหญ่ที่ว่า ภูฏานนั่นเองคือสมบัติล้ำค่า และเป็นสมบัติล้ำค่าซึ่งจะต้องไม่ถูกลืมเลือนและต้องไม่สูญหาย

นี่คือสาระอันสำคัญยิ่งยวด เพราะขณะนี้ภูฏานกำลังอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลง และเราก็ยังไม่รู้แน่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่าหรือไม่


ในตอนจบของพระราชนิพนธ์ สมเด็จพระราชินี อาชิ โดร์จี วังโม วังชุก ทรงเปรียบเทียบคุณค่าอันแท้จริงของภูฏานกับ “สมบัติล้ำค่าที่ผนึกอยู่ในโชร์เต็น(สถูป) นั่นคือเมล็ดพันธุ์แห่งการเดินทางซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น และยังมีสมบัติล้ำค่าแห่งแดนมังกรสายฟ้าซึ่งยังรอคอยการค้นพบอยู่”

ผู้อ่านก็คงได้เพียงแต่หวังว่าการค้นพบเหล่านั้นจะยังคงดำเนินต่อไป

โดย กินเล โดร์จี
chief@kuensel.com.bt


 จาก


http://community.buddhayan.com/index.php?topic=94.0

บันทึกการเข้า


เจ้าขอทาน
ฟ้าและดิน 
คืออาภรณ์ในฤดูร้อนของเขา


ทดสอบ ลิ้ง คุณภาพ
http://www.jitwiwat.org/docs/articles/index_2548.htm
ยามเฝ้าแผ่นดิน
ขาประจำ
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 386


รักพ่อ อย่าพายเรือให้โจรนั่ง


เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 01-11-2006, 20:09 »

เราจะต้องว่า ภูฏาน หรือ ภูฐานล่ะ
บันทึกการเข้า


จงอย่าเกรงกลัวทรราช เพราะทรราชกลัวเกรงพลังประชาชน
beamking85@hotmail.com
หน้า: [1]
    กระโดดไป: