ร้อยแปดวิถีทัศน์ : หลากวัฒนธรรมประชาธิปไตย 26 กันยายน 2549 18:45 น.ยุกติ มุกดาวิจิตรกรุงเทพธุรกิจออนไลน์:หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แม้จะมีดอกไม้พรั่งพรูมาติดปลายกระบอกปืน
จากทั่วสารทิศ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียงคัดค้านการรัฐประหารก็ดังระงมไปทั่ว ที่น่าแปลก
คือ
ไม่ว่าฝ่ายคัดด้านหรือสนับสนุน ต่างก็อ้างว่าขั้วของตนเป็นประชาธิปไตย มีความพยายามนิยามจัดกลุ่มกันจากหลายฝ่ายว่า ขั้วทางการเมืองขณะนี้แบ่งออก
เป็นสองขั้วตรงข้ามอย่างชัดเจน ขั้วหนึ่งสนับสนุนคณะรัฐประหาร อีกขั้วหนึ่งคัดค้าน
การรัฐประหาร ตลอดจนมีการโยงแบบเหมารวมว่า ขั้วตรงข้ามทั้งสองสะท้อนคู่ขัดแย้ง
ทางการเมือง
ก่อนรัฐประหาร ได้แก่ ขั้วสนับสนุนรัฐประหารคือขั้วต่อต้านรัฐบาลทักษิณ
ส่วนขั้วต่อต้านรัฐประหารคือขั้วสนับสนุนรัฐบาลทักษิณ
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว อย่างน้อยหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เป็นต้นมา
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ก่อให้เกิดวัฒนธรรมอำนาจในสังคมไทยหลายลักษณะ
ด้วยกัน
หากมองย้อนกลับถึงยุคหลังประชาธิปไตยครึ่งใบสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หลาย
คนคงไม่ปฏิเสธการวิเคราะห์ของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ที่ว่า อำนาจ
นอกระบบราชการเริ่ม
แข็งแรงขึ้น ดังนั้นในระยะกว่า 20 ปีที่ผ่านมา นายทุนท้องถิ่น นายทุนระดับชาติ และ
นายทุนข้ามชาติต่างก็ค่อยๆ เข้ามามีส่วนในกระบวนการกำหนดนโยบายมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน 'พลังคนชั้นกลาง' ก็เข้ามาอยู่ในกระบวนการทางการเมืองชัดเจนขึ้น
จนสามารถเป็นกำลังหลักในการล้มคณะรัฐประหารเมื่อพฤษภาคม 2535 และแน่นอนว่า
ผลพวงที่สำคัญประการหนึ่งของการเติบโตของอำนาจนอกระบบราชการ ก็คือ
นายกรัฐมนตรีที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร
หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สิ่งที่เรียกกันว่า
'ประชาธิปไตยแบบไทยๆ' นั้น
แตกดอกออกผลมาด้วยกัน
อย่างน้อย 4 แบบ คือ
1.
'ประชาธิปไตยสากล' ยึดหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ให้ความสำคัญกับ
สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและความคิดเห็นที่แตกต่าง เชื่อมั่นในกระบวนการใช้
อำนาจผ่านระบบรัฐสภา ผู้บริหารที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง และหลักกฎหมาย วัฒนธรรม
ประชาธิปไตยแบบนี้ยอมไม่ได้ที่จะมีการละเมิดอำนาจอธิปไตยของประชาชน ไม่ยอมให้
อำนาจของอภิสิทธิ์ชนใดๆ อยู่เหนืออำนาจของประชาชน
ประชาธิปไตยแบบนี้จึงคัดค้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างที่สุด และมองเห็นการรัฐประหาร
ไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างอันใด เป็นความล้าหลัง ทำให้ประเทศไทยถอยหลังไปอย่างน้อย
14 ปี (17 พฤษภาคม 2535) 30 ปี (6 ตุลาคม 2519) หรือแม้แต่ 74 ปี (24 มิถุนายน 2475)
2.
'ประชาธิปไตยอำนาจนิยม' ใน 'ยามปกติ' จะยอมรับหลักการ (แทบ) ทุกประการ
ของประชาธิปไตยแบบสากล แต่ขณะเดียวกันก็ยอมให้มีการ 'เว้นวรรค' ของประชาธิปไตย
ได้ชั่วครั้งชั่วคราว ใน 'ยามวิกฤติ' เป้าหมายที่สำคัญกว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ในวัฒนธรรมอำนาจแบบนี้คือ ความสามัคคี เชื่อว่าการแทรกแซงเพื่อขจัดความขัดแย้ง
ในระบอบประชาธิปไตยเป็นพักๆ ดีกว่าปล่อยให้ความขัดแย้งดำเนินไปในวิถีทางอำนาจ
ของปวงชน
ประชาธิปไตยแบบนี้จึงยอมรับอำนาจนอก-และ-เหนืออำนาจของปวงชน ซึ่งเชื่อว่า
อยู่เหนือความขัดแย้ง ประชาธิปไตยแบบนี้จึงเป็นวัฏจักร กลับไปกลับมาระหว่างการ
รัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่และการเลือกตั้ง
3.
'ประชาธิปไตยทุนนิยมเสรี' ประชาธิปไตยแบบนี้อาศัยการเลือกตั้ง ระบบรัฐสภา
และกฎหมายเป็นเครื่องมือ หากแต่วัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบนี้ไม่ได้มีหลักการของ
ประชาธิปไตยเป็นเป้าหมายในตัวเอง แต่อาศัยกลไกแบบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือ
เพื่อนำไปสู่การสร้างฐานอำนาจทางการเมือง เพื่อถึงที่สุดแล้วคือการพัฒนาทุนนิยม
มีการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปสู่ชนบท แต่ก็เพียงเพื่อสร้างฐานเสียงและ
สร้างกลไกเพื่อครอบงำทางการเมืองและธุรกิจในระดับชาติ
ประชาธิปไตยแบบนี้จึงอาจละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนได้โดยถูก
กฎหมายแม้จะไม่ชอบธรรม ตัวอย่างที่น่าจะใกล้เคียงกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบนี้
ที่สุดได้แก่สิ่งที่เรียกกันว่า
'ระบอบทักษิณ' 4.
'ประชาธิปไตยภาคประชาชน' ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับอำนาจของปวงชน แต่
ไม่เชื่อในระบบการเลือกตั้งและรัฐสภา มากเท่ากับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การ
พึ่งตนเองของท้องถิ่น วัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบนี้มองว่าระบบรัฐสภาในกรอบของ
รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่ได้ให้หลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนในท้องถิ่น
ต่างๆ การเมืองทางตรงในลักษณะองค์กรประชาชน (NGOs) และการชุมนุมเรียกร้อง
บนท้องถนน จึงกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกประการหนึ่งของประชาธิปไตย
แบบนี้
หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ความขัดแย้งหลักของการเมืองไทยมีรากฐานมาจาก
ความแตกต่างของระหว่างวัฒนธรรมประชาธิปไตยทั้ง 4 แบบ
ก่อนหน้าการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน ความตึงเครียดเกิดจากการที่ประชาธิปไตย
ทุนนิยมเสรี ได้ครอบงำพื้นที่อำนาจของประชาธิปไตยสากล ประชาธิปไตยอำนาจนิยม
และประชาธิปไตยภาคประชาชน เกือบจะโดยสิ้นเชิง จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ หากดู
เฉพาะส่วนผสมของผู้สนับสนุนการชุมนุมต่อต้านทักษิณ เราจะพบว่าพันธมิตรประชาชนฯ
นั้น ประกอบไปด้วยทั้ง 'อำนาจนิยม' 'ภาคประชาชน' และปีกของ 'ทุนนิยมเสรี' ที่
ต้องการล้มอำนาจทักษิณ
แต่ในกระบวนการของการต่อสู้ทางการเมืองเมื่อปีกว่าๆ ที่ผ่านมา การแบ่งขั้วตรงข้าม
ระหว่าง 'ท้ากสินออกไป' กับ 'ท้ากสินสู้ๆ' ถูกยกระดับกลายมาเป็นขั้ว 'คุณธรรม/บารมี'
กับ 'ระบอบทักษิณ' และบดบังความหลากหลายของวัฒนธรรมประชาธิปไตยไทยที่มี
มากกว่า 2 ขั้ว
ความมักง่ายของฝ่ายผู้ชุมนุมต่อต้านทักษิณจึง
เหมารวมเอา 'ประชาธิปไตยสากล'
เข้าไปอยู่ในพวกเดียวกันกับ 'ทุนนิยมเสรี' กลายเป็นว่า ใครคัดค้านการชุมนุมล้วนเป็น
พวกทักษิณกันไปหมด ในทางกลับกัน การชุมนุมนี้ก็ถูกประณามอย่างรุนแรงโดย
'ประชาธิปไตยสากล' ที่ก็รวบหัวรวบหางเหมาเอาบรรดา 'ภาคประชาชน' กับ 'อำนาจ
นิยม' ว่า 'ไม่เป็นประชาธิปไตย' เพราะยอมรับการแทรกแซงชั่วคราวของระบบอำนาจ
นิยม
การแยกขั้วดังกล่าวยังคงสืบเนื่องมาจนกระทั่งหลังการรัฐประหาร มีการเหมารวมเอา
กลุ่มเรียกร้อง 'ประชาธิปไตยสากล' เข้าไปไว้ในกลุ่มเดียวกันกับ 'พวกทักษิณ' และ
ถูกกล่าวหาว่าเป็นการดิ้นของระบอบเก่า ขัดขวางกระบวนการรื้อฟื้นความสามัคคี ใน
ขณะที่หลังการรัฐประหาร กลุ่ม 'ประชาธิปไตยสากล' ก็ยังคงเหมาประณาม 'ภาค
ประชาชน' ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย
ในแง่หนึ่ง การแยกขั้วนับเป็นเครื่องมืออันสะดวกสำหรับการที่แต่ละฝ่ายจะเชือดเฉือน
และห้ำหั่นกันด้วย 'ประกาศ/คำสั่ง' และ 'แถลงการณ์' แต่ขณะเดียวกัน ก็น่าเป็นห่วง
อย่างยิ่งว่า
การแบ่งขั้วทั้งโดยฝ่ายสนับสนุนคณะรัฐประหารและฝ่ายคัดค้านคณะ
รัฐประหารนี้ จะนำไปสู่การทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นอมนุษย์ (de-humanized)และเปิดเงื่อนไขทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรง (victimization)
เกิดการละเมิดสิทธิหรือกระทั่งการใช้ความรุนแรงเข้าทำร้ายกัน ไม่ว่าจะในนามของ
กฎหมายหรือกฎหมู่
วัฒนธรรมการใช้อำนาจที่อิงกับระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยมีหลายลักษณะ
แม้ว่าต่างก็มีจุดร่วมกันที่วัฒนธรรมประชาธิปไตยสากล แต่เมื่อประกอบเข้ากับวัฒนธรรม
อำนาจในสังคมไทยแล้ว วัฒนธรรมประชาธิปไตยไทยกลายเป็นประชาธิปไตยพันทาง
ได้หลากหลาย
กล่าวเฉพาะ 'ระบอบทักษิณ' เอง อีกไม่นานระบอบทักษิณในโฉมหน้าใหม่ จะหน้าหยก
หน้ามน หรือหน้าเบี้ยว ก็จะยังคงหวนกลับมาอีกอย่างแน่นอน เพราะกระแสลมทุนนิยม
โลกนั้นพัดกระหน่ำทำลายได้แม้กระทั่งกำแพงเบอร์ลิน ม่านเหล็ก ม่านไม้ไผ่ พัดกระเด็น
ไม่เว้นแม้มังกรน้อยเวียดนามใกล้บ้านเรา
หากเราไม่มีขันติธรรมและเชื่อมั่นในอำนาจของปวงชนอย่างแท้จริงในการแก้ปัญหาความ
ขัดแย้ง การหวนกลับไปเว้นวรรคแล้วเริ่มต้นวัฏจักรประชาธิปไตยกันใหม่อีก บนราคาของ
ความสูญเสียเลือดเนื้อที่เพียงไม่ถึงปีก็ถูกกลบลืม ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ
คนเล็กคนน้อยคนหนึ่ง ที่สมัครใจว่าจะไม่ยืนบนจุดใดตายตัว ผู้เขียนไม่อาจเรียกร้องให้
ใครหยุดเชื่อมั่นศรัทธาในวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบใดได้
ขอเพียงให้ต่างฝ่ายต่างลด
การมุ่งครอบงำกันและกัน และถอยกลับไปอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ของตนก่อนการรัฐประหาร
โดยเร็วที่สุด
http://www.bangkokbiznews.com/2006/09/27/w017_140819.php?news_id=140819อ่านจบแล้วใครเป็นประชาธิปไตยแบบไหน คงพอจะรู้ตัวเองดี
ลองมาโหวตดูหน่อยเป็นไร คิดว่าออกกำลังกายกำลังใจกำลังสมอง
โดยไม่ต้องด่าว่าหรือประณามผู้อื่นที่คิดและเชื่อไม่เหมือนเรา
ส่วนท่านทีไม่ทราบว่าตัวเองจัดอยู่ในพวกไหน หรือไม่อยากตัดสินใจ
ก็มีข้อพิเศษนั้นให้เลือกได้ตลอดกาล
ขอบคุณทุกท่านที่สละเวลาอ่านและโหวตนะคะ
