เมื่อโคตรนักการเมืองยึดสภา...ข้าฯขอขัดขืนอารยะอย่างจริงจัง
24 เมษายน 2549 10:00 น.
ถ้านักการเมืองสามารถส่งญาติพี่น้อง, ผัวเมีย, ลูกไล่ของตัวเองเข้าแข่งตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาโดยอ้างว่า "ไม่มีกฎห้าม" ใครๆ เขาก็ทำกัน
ก็ขอให้เชื่อเถอะว่าวันข้างหน้า เขาก็จะอ้างต่อได้ว่าไม่มีกฎอะไรห้ามคนนอนเตียงเดียวกันหรืออยู่บ้านเดียวกัน "ฮั้ว" กันในการออกกฎหมายเพื่อเป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมืองของคนใกล้ชิดกับตัวเอง
ผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาคราวนี้เห็นชัดว่านักการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองระดับชาติหรือท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการระดับไหน สังกัดค่ายไหนก็ตามยังคงเห็นการเมืองเป็นเรื่อง "แก่งแย่งอำนาจและผลประโยชน์" ด้วยทุกวิถีทาง
ไม่เข้าใจหรือแกล้งไม่เข้าใจคำว่า "ผลประโยชน์ทับซ้อน" และไม่สนใจว่าชาวบ้านเขาจะคิดอย่างไร
ยึดเอาวิธีการของ "ศรีธนญชัย" เป็นสรณะแม้จะไม่กล้าอ้างเอ่ยถึงมันในที่สาธารณะก็ตามที
เข้าลักษณะ "The end justifies the means" ซึ่งหมายความว่าตราบใดที่บรรลุเป้าหมายของตนเองได้, วิธีการที่นำมาใช้นั้นไม่สำคัญ...หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือว่าไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล, ไม่ได้ด้วยมนต์ก็เอาด้วยคาถา
ความศรัทธาของประชาชนต่อคุณภาพในแวดวงการเมืองจึงมิอาจจะกระเตื้องขึ้นได้เลยแม้แต่น้อย เพราะนักการเมืองของเรายังเป็นประเภทพูดอย่างทำอย่าง ปากพูดถึงประชาธิปไตย และการปฏิรูปการเมืองวันละสามเวลา แต่เวลาลงมือทำนั้น กลับนำเอาวิธีการน้ำเน่าและสกปรกมาทำ
เพราะพวกเขาเชื่อว่าคนไทยนั้นปกครองง่ายจะตาย ขอเพียงทำให้ชาวบ้าน "เชื่อ" อะไรตามที่นักการเมืองต้องการให้เชื่อเท่านั้นก็พอ ส่วนนักการเมืองจะทำตามที่บอกว่าเชื่อหรือไม่นั้น, เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เหมือนที่ ทักษิณ ชินวัตร เคยพูดไว้ในที่สาธารณะว่า "ประชาธิปไตยเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น, มิใช่เป็นเป้าหมาย" นั่นแปลว่าประชาธิปไตยเป็นเพียง means หาใช่เป็น end แต่อย่างไรไม่
แปลอีกอย่างก็คือว่าเป้าหมายชั่วร้ายอย่างไรไม่เป็นไร ขอให้เส้นทางที่เดินไปดูประหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่น่านิยมชมชื่นก็แล้วกัน
นั่นคือ การหลอกลวงให้คนทั้งหลายเชื่อว่าตัวเองเป็นคนดี, ส่วนลึกๆ นั้นเลวก็ไม่เป็นไร...อะไรทำนองนั้น
นักการเมืองเหล่านี้ไม่เข้าใจหรือไม่สนใจคำว่า checks and balances หรือ "ระบบตรวจสอบ" อย่างแท้จริง เพราะหากการเข้ามาเล่นการเมืองหมายถึงการเคารพใน "ธรรมาภิบาล" หรือ "จริยธรรม" พวกเขาย่อมจะต้องมีความ "สำนึก" อย่างชัดเจนว่าการให้คนในครอบครัวเข้าไปมีบทบาทที่ไม่สอดคล้องกับกติกาแห่งการ "ถ่วงดุลอำนาจ" นั้น ย่อมเป็นการผิดต่อหลักการอันถูกต้อง
เรื่องอย่างนี้คนใฝ่ดีเขาไม่ทำกัน, เรื่องอย่างนี้คนที่มีความละอายต่อบาปเขาไม่เข้าไปใกล้ด้วยซ้ำไป
การเมืองไทย จะปฏิรูปได้นั้นต้องเกิดจาก "ความสำนึก" และ "ความละอายต่อบาป" เป็นปฐม มิใช่การแก้ไขเนื้อถ้อยกระทงความในรัฐธรรมนูญ, ไม่ใช่การอ้างถึงสภาสนามม้าหรือรูปแบบการหาใครมาเป็นคนเขียนแก้ไขรัฐธรรญนูญใหม่แต่ประการใดเลย
ผลเลือกตั้งทั้งสภาล่างและสภาบนครั้งนี้ ทำให้หมดความเชื่อและศรัทธาในระบอบ "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" ไปมากมายหลายเท่า แม้ว่าผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในกรุงเทพฯ ทำให้มีความหวังริบหรี่อยู่บ้าง
ทำให้ผมเชื่อว่าคนตัดสินใจเข้าสู่ความเป็น "ขบถ" และ "อารยะขัดขืน" ต่อการเมือง "โคตรเลว" อย่างนี้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างกะทันหัน
ผมเป็นหนึ่งในนั้น
http://www.bangkokbiznews.com/2006/04/24/u001_97450.php?news_id=97450