ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
19-04-2024, 15:20
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  ศึกษาจากบังกลาเทศ [17 ต.ค. 49 - 15:17] 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
ศึกษาจากบังกลาเทศ [17 ต.ค. 49 - 15:17]  (อ่าน 756 ครั้ง)
taworn09220
ขาประจำ
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 302


« เมื่อ: 17-10-2006, 06:54 »

ศึกษาจากบังกลาเทศ [17 ต.ค. 49 - 15:17]
 
ในการเดินทางไปพบกับบรรดาผู้นำชุมชนจากหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ให้สัญญาว่ารัฐบาลจะไม่ล้มเลิกนโยบายประชานิยม ของรัฐบาลชุดก่อนที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ตรง กันข้าม รัฐบาลจะให้รักษาฟรีโดยไม่เก็บเงิน 30 บาท แต่จะตั้งตู้รับบริจาคแทน

รายงานข่าวไม่ได้บอกว่านายกรัฐมนตรีพูดถึงนโยบายประชานิยมอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ตัวอย่างเช่นกองทุนหมู่บ้านและธนาคารประชาชน ซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากประชาชน และในเวลาห้าปีที่ผ่านมา เชื่อว่ารัฐบาลได้ทุ่มเงินลงไปในโครงการดังกล่าวเกือบแสนล้านบาท เพราะต้องให้หมู่บ้านละ 2 ล้านบาท ทุกหมู่บ้านกว่า 7 หมื่นแห่ง และชุมชนในเมืองใหญ่ๆอีกต่างหาก

ในระยะแรกๆ ที่เริ่มดำเนินโครงการกองทุนหมู่บ้าน และธนาคารประชาชน หรือธนาคารคนจนในเมือง รัฐบาลชุดก่อนได้ทำการโฆษณาอย่างครึกโครม อ้างว่าประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในการทำให้คนจนเข้าถึงทุน แต่ในระยะหลังๆไม่ค่อยจะมีการโฆษณา แต่มีเสียงวิจารณ์จากบางฝ่ายว่าล้มเหลว ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ เพราะนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

มีรายงานข่าวว่า เฉพาะธนาคารคนจน รัฐบาลได้ทุ่มเงินไปกว่า 3 หมื่นล้านบาท กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อรายได้กว่า 6 พันล้านบาท บางส่วนจะต้องตัดเป็นหนี้สูญ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินกำลังตรวจสอบเรื่องนี้อยู่ ส่วนกองทุนหมู่บ้านก็อาจจะตกอยู่ในสภาพเดียวกัน เนื่องจากมีรายงานว่าในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากกองทุนหมู่บ้าน

หากรัฐบาลใหม่ต้องการที่จะดำเนินโครงการกองทุนหมู่บ้าน และธนาคารประชาชนต่อไป น่าจะได้ศึกษาบทเรียนความสำเร็จของบังกลาเทศ อันเป็นเหตุให้ศาสตราจารย์ มูอัมหมัด ยูนุส และธนาคารกรามี หรือธนาคารชนบท ถูกประกาศชื่อเป็นผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2549 เพราะเป็นธนาคารที่ตั้งขึ้นมา เพื่อให้คนจนเข้าถึงทุน เช่นเดียวกับกองทุนหมู่บ้านของไทย

วัตถุประสงค์อาจจะเหมือนกัน แต่วิธีการบริหารจัดการอาจจะต่างกัน ใน 30 ปีที่ผ่านมา ธนาคารชนบทของบังกลาเทศปล่อยกู้รายย่อยให้ชาวชนบทผู้ยากจน 6 ล้านคน เป็นเงินประมาณ 164,000 ล้านบาท โดยยึด “ระบบเกียรติยศ” ผู้กู้รวมกลุ่มกันกลุ่มละ 5 คน ปล่อยกู้ให้ 2 คนก่อน ส่วนอีก 3 คน ให้รอจนกว่า 2 คนแรกจะชำระหนี้หมด ปรากฏว่าได้ผลดี มีการจ่ายเงินคืนถึงร้อยละ 99

ไม่ทราบว่าของไทยได้แนวความ คิดมาจากบังกลาเทศหรือไม่ เพราะมีรายงานข่าวว่าการปล่อยกู้รายย่อยนี้ เป็นประโยชน์ แก่ประชาชนทั่วโลกราว 17 ล้านคน แต่ธนาคารชนบทกับกองทุนหมู่บ้านของไทย อาจจะต่างกันในสาระสำคัญอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ของ บังกลาเทศเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาความยากจนโดยแท้ แต่ของประเทศไทย มีเรื่องของการหาเสียงในทางการเมืองอยู่ด้วย.

 
 http://www.thairath.com/news.php?section=politics01&content=23222
บันทึกการเข้า
Limmy
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,346


« ตอบ #1 เมื่อ: 17-10-2006, 10:40 »

มาอ่านเรื่องของมูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลกับการบริหารจัดการธนาคารกรามีนกันครับ แล้วมาคิดว่าจะปรับเปลี่ยนของเราได้อย่างไรบ้าง

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ความชั่วจะมีชัย ก็เพราะคนดีนิ่งดูดาย
- เอ็ดมันด์ เบิร์ก

มูฮัมหมัด ยูนัส ผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ที่ไม่เหมือนธนาคารอื่นตรงที่ธนาคารนี้ตั้งขึ้นด้วยจุดประสงค์เดียวคือ เพื่อออกเงินกู้ก้อนเล็กๆ ให้แก่คนยากจนเข็ญใจในบังกลาเทศ เล่าว่า

เรื่องมันเริ่มขึ้นเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ตอนนั้นผมเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในบังกลาเทศ ซึ่งเวลานั้นกำลังเผชิญภาวะอดอยาก ผมรู้สึกไม่สบายใจเลย ดูสิ ผมมัวนั่งสอนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่สวยหรูอยู่ในห้องเรียน ด้วยความไฟแรงแบบคนที่เพิ่งจบปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกามาหมาดๆ แต่พอออกมานอกห้องเรียนก็เห็นแต่โครงกระดูกเดินได้อยู่รอบข้าง มีแต่คนรอความตาย

ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ผมเรียนมา สิ่งที่ผมสอน เป็นแต่เรื่องจอมปลอมที่ไม่มีความหมายอะไรกับชีวิตของผู้คนเลย ผมจึงเริ่มค้นหาว่าพวกชาวบ้านในหมู่บ้านที่อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยนั้น เขาดำรงชีวิตกันอย่างไร ผมอยากรู้ว่าในฐานะเพื่อนมนุษย์ มีอะไรที่ผมพอจะทำได้ไหมเพื่อบรรเทาทุกข์หรือช่วยไม่ให้คนต้องอดตาย แม้จะช่วยได้เพียงแค่คนเดียวก็ตาม ผมเลยเลิกมองโลกจากมุมมองของนกที่ทำให้เราเห็นอะไรๆ ทุกอย่างได้จากที่สูง ลงมามองโลกจากมุมมองของหนอน พยายามดูว่ามีอะไรอยู่ข้างหน้าเรา เข้าไปดม ไปสัมผัส และดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง

เหตุการณ์หนึ่งได้ชักจูงผมไปในทิศทางใหม่ นั่นคือผมไปพบหญิงชาวบ้านคนหนึ่ง แกทำม้านั่งเดี่ยวจากไม้ไผ่ หลังจากคุยกันอยู่นานผมก็พบว่าหญิงคนนี้หาเงินได้เพียงวันละราวๆ สองเซ็นต์สหรัฐฯ (ราวหนึ่งบาท) ผมไม่อยากเชื่อเลยว่าคนที่ทำงานหนักขนาดนี้ ทำม้านั่งไม้ไผ่ได้สวยงามขนาดนี้ กลับได้กำไรเพียงน้อยนิดเช่นนั้น หญิงคนนั้นอธิบายว่าไม่มีเงินซื้อไม้ไผ่มาทำม้านั่ง จึงต้องขอยืมเงินจากพ่อค้าไม้ไผ่ ซึ่งตั้งเงื่อนไขไว้ว่า ทำม้านั่งเสร็จแล้วต้องเอามาขายเขาคนเดียว ตามราคาที่เขาตั้งไว้

นี่แหละที่อธิบายว่าทำไมแกจึงหาเงินได้แค่สองเซ็นต์ หญิงคนนี้ตกเป็นทาสแรงงานของพ่อค้า แล้วไม้ไผ่นั่นราคาเท่าไรหรือ? หญิงคนนั้นตอบว่า "อ๋อ ราวๆ 20 เซ็นต์ ถ้าอย่างชนิดดีมากๆ ก็ราวๆ 25 เซ็นต์ค่ะ" ผมจึงคิดว่า "มีคนต้องทนลำบากเพื่อเงินเพียง 20 เซ็นต์ แล้วนี่ไม่มีใครช่วยอะไรได้เลยหรือ?" ผมนึกโต้แย้งตนเองอยู่ในใจว่าควรจะให้เงินหญิงคนนี้ 20 เซ็นต์หรือไม่ แต่แล้วก็เกิดความคิดขึ้นมาอีกว่า เรามาทำรายชื่อคนที่ต้องการเงินในทำนองเดียวกันนี้ดีกว่า ผมเลยชวนนักศึกษาคนหนึ่งมาช่วย เราตระเวนไปทั่วหมู่บ้านอยู่หลายวัน จดรายชื่อมาได้ทั้งหมด 42 คน พอผมนำจำนวนเงินทั้งหมดที่คนพวกนี้ต้องการมารวมกันเข้าแล้ว ผมก็ต้องตกตะลึงครั้งใหญ่ในชีวิต รวมทั้งหมดแค่ 27 ดอลลาร์เท่านั้นเอง ผมรู้สึกละอายใจว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ไม่สามารถให้เงินแม้เพียง 27 ดอลลาร์แก่คนผู้มีทักษะและทำงานหนักจำนวน 42 คน

เพื่อล้างความรู้สึกละอายใจ ผมจึงควักกระเป๋าตัวเองฝากนักศึกษาไป ผมบอกเด็กว่า "เธอเอาเงินก้อนนี้ไปให้ชาวบ้าน 42 คนที่เราไปพบมาด้วยกัน บอกเขาว่าเป็นเงินกู้นะ พอมีเงินเมื่อไหร่ค่อยจ่ายคืน ระหว่างนี้เขาจะได้ขายของให้กับใครก็ได้ที่ให้ราคาดี"

พอได้รับเงิน ชาวบ้านก็ตื่นเต้นกันใหญ่ เมื่อเห็นชาวบ้านดีอกดีใจ ทำให้ผมคิดว่า "ทีนี้เราควรจะทำอย่างไรต่อไป?" ผมนึกถึงธนาคารที่มีสาขาอยู่ในเขตมหาวิทยาลัย ผมจึงไปพบผู้จัดการธนาคารและแนะนำว่าเขาควรจะให้คนยากจนในหมู่บ้านนั้นกู้เงิน ผู้จัดการธนาคารทำหน้าตื่น เขาบอกผมว่า "คุณคิดอะไรแปลกๆ เป็นไปไม่ได้หรอกครับ จะให้เงินคนจนกู้ได้ยังไง คนพวกนี้ไม่มีเครดิต" ผมขอร้องเขาและบอกว่า "ยังไงก็ช่วยกันหน่อยเถอะครับ ลองดูว่าจะเป็นยังไง เงินก้อนเล็กนิดเดียวเอง" เขาตอบว่า "ไม่ได้หรอกครับ เรามีกฎห้ามไว้ คนพวกนี้ไม่มีอะไรมาค้ำประกัน แล้วเงินก้อนเล็กแค่นั้นก็ไม่คุ้มค่าให้กู้" เขาแนะนำให้ผมไปพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้ดูแลด้านการธนาคารของบังกลาเทศ
ผมทำตามคำแนะนำและไปพบผู้คนสำคัญในวงการธนาคาร ทุกคนให้คำตอบเหมือนกับที่ผมได้รับมาแล้ว ในที่สุดหลังจากวิ่งติดต่อคนโน้นคนนี้อยู่หลายวัน ผมจึงเสนอตัวเป็นผู้ค้ำประกัน "ผมค้ำประกันเงินกู้เอง จะให้เซ็นเอกสารอะไรผมก็ยอม เอาเงินมาก็แล้วกัน ผมจะได้เอาไปให้คนที่ผมต้องการให้กู้"

นี่คือจุดเริ่มต้น บรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารเตือนผมซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า คนจนได้เงินไปแล้วไม่มีวันใช้คืน ผมบอกว่า "ผมยินดีเสี่ยงเอง" เรื่องน่าประหลาดใจคือ ชาวบ้านใช้เงินคืนผมครบทุกเซ็นต์ ผมตื่นเต้นมาก จึงไปพบผู้จัดการธนาคารและบอกว่า "นี่ไง ผมได้เงินคืนครบหมดแล้ว ไม่เห็นมีปัญหา" แต่ผู้จัดการธนาคารก็ว่า "โธ่เอ๊ย คุณโดนหลอกน่ะสิ อีกหน่อยก็จะมายืมเงินก้อนใหญ่ขึ้นแล้วไม่ยอมใช้คืน" ผมจึงให้ชาวบ้านกู้เงินก้อนใหญ่ขึ้น แต่ชาวบ้านก็ยังใช้หนี้ครบ พอไปเล่าให้ฟัง ผู้จัดการธนาคารก็ว่า "คุณอาจทำได้สำเร็จกับหมู่บ้านเดียว แต่ลองออกเงินกู้ให้คนในหมู่บ้านสักสองแห่งดูสิ ทีนี้ไม่ได้ผลแน่" ผมรีบออกเงินกู้ให้คนจากหมู่บ้านสองแห่ง และคนทั้งสองหมู่บ้านก็ใช้หนี้ผมครบ

ทีนี้ก็เลยกลายเป็นการงัดข้อกันระหว่างผมกับผู้จัดการธนาคารและเพื่อนร่วมงานของผู้จัดการคนนั้นซึ่งเป็นคนใหญ่คนโตในวงการธนาคาร คนพวกนี้คอยพูดว่าหนี้สูญแน่ ถ้าออกเงินกู้ให้คนจำนวนมากกว่านี้ เช่นบางทีอาจจะสักห้าหมู่บ้าน ผมก็เลยออกเงินกู้ให้คนทั้งห้าหมู่บ้าน ก็ยังปรากฏว่าได้เงินใช้หนี้คืนครบ แต่พวกเจ้าหน้าที่ธนาคารก็ยังไม่ยอมแพ้ บอกว่า "ลองสิบหมู่บ้านสิ ห้าสิบหมู่บ้าน ร้อยหมู่บ้าน" เรื่องนี้จึงกลายเป็นการเอาชนะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ธนาคารกับผม ผมได้ผลลัพธ์ที่เจ้าหน้าที่ธนาคารไม่อาจเถียงได้ เพราะว่าเงินที่ผมออกให้กู้ไปนั้นเป็นเงินของธนาคาร แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารก็ยังไม่ยอมรับอยู่นั่นเอง เพราะโดนฝังหัวมาว่าคนจนเชื่อถือไม่ได้ โชคดีที่ผมไม่ได้ถูกฝังหัวมาแบบนั้น จึงสามารถเชื่อสิ่งที่เห็นประจักษ์อยู่ต่อหน้า แต่จิตใจของนายธนาคารมืดมัว เพราะความรู้ที่ฝังหัวอยู่นั้นบดบังดวงตา

ในที่สุดผมก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า นี่เราจะมัวชักจูงให้เขาเชื่อเราไปทำไมกัน? ผมเชื่อมั่นเต็มที่ว่าคนจนสามารถใช้หนี้เงินกู้ได้ แล้วทำไมเราไม่ตั้งธนาคารขึ้นมาเพื่อการนี้ล่ะ? ความคิดนี้ทำให้ผมตื่นเต้น จึงเขียนข้อเสนอโครงการแล้วไปติดต่อกับทางราชการเพื่อขออนุญาตจัดตั้งธนาคาร ผมต้องเสียเวลานานสองปีกว่าจะทำให้ทางราชการเชื่อได้สำเร็จ
ในวันที่ 2 ตุลาคมค.ศ.1983 เราก็ตั้งธนาคารเอกชนของเราได้สำเร็จอย่างเป็นทางการ เราทุกคนตื่นเต้นกันยิ่งนักที่ตอนนี้มีธนาคารของตัวเองและสามารถขยายกิจการได้ตามประสงค์ แล้วเราก็ได้ขยายกิจการกันจริง ๆ เสียด้วย

ปัจจุบัน ธนาคารกรามีนออกเงินกู้ให้กับชาวบ้านกว่า 46,000 หมู่บ้านในบังกลาเทศ ผ่านสาขาต่าง ๆ กว่า 1,267 แห่ง และมีพนักงานกว่า 12,000 คน ธนาคารออกเงินกู้ไปแล้ว 4.5 พันล้านดอลลาร์ เป็นเงินก้อนละ 12 ถึง 15 ดอลลาร์ โดยเฉลี่ยต่ำกว่า 200 ดอลลาร์ ยอดรวมเงินสินเชื่อในแต่ละปีประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ยังปล่อยเงินกู้ให้ขอทานเพื่อให้มีเงินทุนไปประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้ และยังออกเงินกู้เพื่อการเคหะรายละ 300 ดอลลาร์ เงินจำนวนนี้น้อยนิดสำหรับผู้ทำธุรกิจธนาคาร แต่ลองคิดถึงผลกระทบต่อบุคคลแต่ละคนดูเถิด: การออกเงินกู้ 500 ล้านดอลลาร์ได้ ก็ต้องมีคนจำนวน 3.7 ล้านคน (ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 96 เป็นสตรี) ที่ตัดสินใจว่า ตนสามารถทำได้และจะลงมือทำอะไรบางอย่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเองและของครอบครัว คน 3.7 ล้านคนต้องตัดสินใจว่าตนสามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ คน 3.7 ล้านคนที่นอนตาค้างทั้งคืนก่อนจะโผล่ไปที่ธนาคารกรามีนในวันรุ่งขึ้นด้วยความครั่นคร้าม...แต่มุ่งมั่น

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ขอบคุณเจ้าของบทความด้วยครับ
บันทึกการเข้า
Cherub Rock
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,183


น้องๆ ช่วยไปบอกผู้หญิงคนนั้นที ว่าเลิกมองผมได้แล้ว


« ตอบ #2 เมื่อ: 17-10-2006, 10:45 »

ยูนุส (Yunus) และ ธนาคารกรามีน (Grameen Bank) เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ 2006

เพิ่มเติมครับ http://www.onopen.com/2006/editor-spaces/1070
บันทึกการเข้า

"นายกรัฐมนตรีกำลังใช้รัฐสภาประกอบพิธีกรรมสถาปนาอำนาจของตนเองโดยเห็นรัฐสภาเป็นเพียงแค่ตรายาง และปล่อยให้มีการทำร้ายประชาชนถือว่าหมดความชอบธรรมแล้ว" รสนา โตสิตระกูล
หน้า: [1]
    กระโดดไป: