ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
25-04-2024, 01:35
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  มังกุออกลูกเป็นมังกรหรือ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
มังกุออกลูกเป็นมังกรหรือ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์  (อ่าน 1046 ครั้ง)
snowflake
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3,207



« เมื่อ: 16-10-2006, 07:33 »

มังกุออกลูกเป็นมังกรหรือ

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมเป็นคนหนึ่งที่ประกาศว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาคุณทักษิณด้วยการรัฐประหาร
แต่เนื่องจากคณะรัฐประหารไม่ได้มาถามผมก่อนจะลงมือยึดอำนาจ ผมจึงแถลงว่า
เราแก้ไขอดีตไม่ได้เสียแล้ว หากภาระหน้าที่ของเราคือการทำให้สังคมที่มีหลักประกัน
ในเรื่องสิทธิเสรีภาพกลับคืนมาโดยเร็ว และอย่างดีกว่าเก่าด้วย

คนที่มีจุดยืนทำนองเดียวกับผมมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ได้แต่ยึดประชาธิปไตยอย่าง
มืดบอด คือยึดแต่รูปแบบตายตัวโดยไม่ดูว่า รูปแบบนั้นๆ นำไปสู่การกดขี่บีฑาของนัก
เลือกตั้ง บางคนก็ผสมการประณามไปด้วยว่าเราเป็นพวกที่ตามก้นฝรั่งอย่างไม่ลืมหู
ลืมตา หรือไม่มีปัญญาพลิกแพลงหลักการให้เข้ากับสถานการณ์

เหตุผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งจุดยืนของเราโดนโจมตีก็คือ ถ้าไม่เกิดรัฐประหาร จะปล่อยให้
คนที่เข้าร่วมประท้วงคุณทักษิณถูกสังหารหมู่หรือ เพราะฝ่ายคุณทักษิณได้เตรียมกอง
กำลังและประกาศภาวะฉุกเฉินไว้เล่นงานคนกลุ่มนี้แล้ว

นี่กลับเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมงันไปมากกว่าเหตุผลแรก เพราะผมเห็นพ้องกับอาจารย์
เกษียร เตชะพีระ มานานแล้วว่า ไม่มีหลักการนามธรรมทางการเมืองอะไรในโลกนี้มี
คุณค่าพอที่เราจะสละชีวิตของใครเพื่อมันสักหลักการเดียว
แน่นอนย่อมรวมหลักการ
ประชาธิปไตยด้วย

แต่เนื่องจากผมพอมีความรู้ทางประวัติศาสตร์อยู่บ้างเล็กน้อย จึงทำให้ผมไม่ด่วนเชื่อ
ว่าการรัฐประหารครั้งนี้กระทำกันขึ้นเพื่อป้องกันการสูญเสียเลือดเนื้อโดยไม่จำเป็น

อย่างน้อยคณะรัฐประหารก็ไม่ได้อ้างดังนี้ เป็นเรื่องที่เกิดจากการปะติดปะต่อ
เอาเองภายหลังจากหลักฐานและการกระทำที่อาจตีความเป็นเช่นนั้นได้ ประวัติศาสตร์
สอนว่าการตีความเพื่อให้ได้ "ท้องเรื่อง" ต้องอาศัยหลักฐานมากกว่านี้อีกมาก

ฉะนั้นผมจึงไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้จริงหรือไม่ และเชื่อด้วยว่าหากไม่รีบตายเสียก่อน ผมก็
คงรู้ความจริงได้ไม่ยากนักในไม่กี่ปีข้างหน้า

ผมนำคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้มาทบทวนจุดยืนของตน และพบ (อาจด้วยความไม่
ฉลาด) ว่า ไม่มีน้ำหนักพอจะทำให้ผมเปลี่ยนจุดยืนของตัวได้ จนกระทั่งผมได้อ่าน
บทความของนักมานุษยวิทยาหญิงท่านหนึ่งในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเธอ
ตั้งคำถามเป็นหัวเรื่องของบทความว่า "บทเรียนประชาธิปไตยของใคร?" จึงทำให้
ผมคิดหนักในการทบทวนจุดยืนของตนเอง และผมอยากเล่าถึงกระบวนการที่ผมคิด
ทบทวนและผลของการทบทวนในที่นี้

กล่าวโดยสรุปตามความเข้าใจของผม นักวิชาการหญิงท่านนั้นเสนอว่า

1/ ประชาธิปไตยมีความหลากหลายและเป็นสัมพัทธะ กล่าวคือขึ้นอยู่กับยุคสมัยและ
สังคม แม้แต่ในสังคมฝรั่งเองก็แปรผันไปตามกาลเวลา ฉะนั้นประชาธิปไตยจึงไม่ใช่
เทคนิคตายตัวว่าต้องประกอบด้วยโน่นด้วยนี่

2/ สังคมไทยเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญแก่มิติทางศาสนาและลำดับชั้นของคน สอง
มิตินี้ขัดกับสังคมเสมอภาคในหลักการประชาธิปไตยแบบตะวันตก บางส่วนของมันย่อม
ไม่ดีแน่ เช่น การกดขี่ทางเพศ เพราะถือว่าหญิงอยู่ในลำดับขั้นทางสังคมที่ต่ำกว่าชาย
แต่บางส่วนของมันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สังคมดำเนินไปโดยสงบได้ โดยเฉพาะ
เมื่อคนที่อยู่ในลำดับขั้นที่สูงถูกกำกับด้วยหลักศาสนา ในกรณีของไทยพระเจ้าอยู่หัว
ซึ่งไม่ทรงมีพระราชอำนาจทางการเมืองในกฎหมาย แต่ที่จริงแล้วทรงอยู่ในสถานะสูง
สุดของลำดับขั้นทางสังคม จึงทรงเป็นผู้นำในทางปฏิบัติ และพระราชจริยาวัตรของ
พระองค์คือเชื่อมต่ออุดมคติของไทย และความเป็นจริงที่คนไทยต้องเผชิญเข้าหากัน
ได้อย่างเป็นคุณประโยชน์ต่อประชาชน นัยะก็คือ เมื่อระบบนี้เข้ามาแทนที่ระบบเลือกตั้ง
ที่ไม่เป็นคุณต่อประชาชน ย่อมดีแก่เนื้อหาสาระของประชาธิปไตยกว่าไม่ใช่หรือ

3/ (ข้อนี้ผมจับไม่ได้ชัดนักในบทความของเธอ ฉะนั้นอาจจะพลาดจากความหมายที่
เธอตั้งใจได้) ประชาธิปไตยคือการสร้างอำนาจประชาชน (empowerment) และ
การสร้างอำนาจประชาชนอาจไม่ได้เกิดจากกระบวนการประชาธิปไตยแบบตะวันตก
ก็ได้ เช่น โครงการพระราชดำริก็เป็นการสร้างอำนาจประชาชนทางเศรษฐกิจ เช่น
โครงการฝนหลวง อีกทั้งไม่ปล่อยให้มิติทางเศรษฐกิจครอบงำมิติด้านความเป็นมนุษย์
และวัฒนธรรมอีกด้วย

ฉะนั้นเธอจึงสรุปว่า แนวคิดประชาธิปไตยนั้นมีความหลากหลาย การรัฐประหารที่สุภาพ
อ่อนโยนของไทยน่าจะเตือนให้รำลึกถึงความหลากหลายของประชาธิปไตย แล้วแต่
บริบทของสังคมและสถานการณ์

น่าประหลาดที่ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของเธอทุกข้อ หากทว่ามีข้อแม้หรือมี "แต่" ที่
ทำให้ความเห็นพ้องของผมไร้ความสำคัญไปหมด

ผมเห็นด้วยว่าประชาธิปไตยมีความหลากหลายและเป็นสัมพัทธะแน่ แต่เราไม่อาจดัน
ข้อสรุปนี้ไปถึงขั้นว่า มีขั้นบันไดของประชาธิปไตยที่แต่ละสังคมย่างก้าวไปในจังหวะ
ที่ไม่เหมือนกัน สังคมตะวันตกใช้เวลานานมากกว่าจะยอมรับว่าพลเมืองหญิงมีสิทธิทาง
การเมืองเท่าเทียมกับชาย ในขณะที่ไทยอนุญาตให้ผู้หญิงได้สิทธิทางการเมืองเท่า
เทียมกับชาย นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรก ซึ่งที่จริงก็ไม่นานมานี้เอง

ฉะนั้นความแน่นอนสม่ำเสมอของการสืบทอดอำนาจบริหารโดยผ่านการเลือกตั้ง (หรือ
อื่นๆ ที่จะทำให้เห็นความยินยอมพร้อมใจของพลเมือง) จึงน่าจะเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐาน
ที่ระบอบปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตยควรต้องมี
ทุกระบอบ ไม่ว่าบริบททางสังคม-
วัฒนธรรมจะเป็นอย่างไรก็ตาม ผมมองอย่างไรก็มองไม่เห็นว่าการรัฐประหารจะเข้ามา
แทนที่การเลือกตั้งได้อย่างไร แม้ไม่ศรัทธากับการเลือกตั้งนัก
แต่สิ่งที่จะเข้ามาแทนที่
การเลือกตั้งได้ คงต้องสะท้อนอำนาจของประชาชนที่จะตรวจสอบและกำกับฝ่ายบริหาร
มากกว่าการรัฐประหารแน่

ก็จริงที่ศาสนาและลำดับชั้นของคนไม่มีบทบาทในประชาธิปไตยตามแบบตะวันตกเลย
และนำไปสู่ความน่าเกลียดน่ากลัวหลายอย่าง แต่ข้อเสนอว่าคนที่อยู่ในลำดับชั้นทาง
สังคมที่สูงในสังคมไทยย่อมถูกศาสนากำกับนั้น เป็นข้อเสนอที่น่าสงสัย ไม่เฉพาะแต่ใน
สังคมไทยปัจจุบันเท่านั้น หากรวมถึงในอดีตด้วย อย่างน้อยการรัฐประหารขับไล่รัฐบาล
เก่าซึ่งประกอบด้วยคนที่ถูกจัดอยู่ในลำดับชั้นทางสังคมที่สูงเกือบทั้งนั้น ก็พิสูจน์แล้วว่า
ไม่จริง เพราะคนเหล่านั้นถูกกล่าวหาว่าโกงหรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวยิ่งกว่าส่วนรวม
อันล้วนขัดกับหลักศาสนาโดยสิ้นเชิง

แต่นักวิชาการหญิงท่านนั้นพูดให้ (ผม) เข้าใจว่า คนที่อยู่ในลำดับชั้นสูงสุดคือพระมหา-
กษัตริย์ ย่อมถูกกำกับด้วยศาสนาให้ทรงใช้อำนาจไปในทางที่เป็นคุณประโยชน์ต่อ
ประชาชน ข้อนี้จะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่มีปัญหาตามมาว่า บุคคลในลำดับชั้นสูงสุด
สามารถควบคุมพฤติกรรมของผู้บริหารให้เป็นไปในทางชอบธรรมได้หรือไม่ คณะรัฐ-
ประหารอ้างเหตุหนึ่งในการยึดอำนาจว่า เพราะรัฐบาลเก่าแสดงท่าทีซึ่งหมิ่นเหม่ต่อ
การละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ดูจะเป็นคำตอบต่อปัญหาข้างต้นได้อยู่แล้ว

ฉะนั้น ผมจึงสงสัยว่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ฝังรากลึกอยู่กับการจัดลำดับชั้นทาง
สังคมนี้ จะช่วยสร้างอำนาจประชาชน (empowerment) ได้อย่างไร แม้สมมติให้
สถาบันพระมหากษัตริย์คือตัวแทนที่แท้จริงของประชาชน ยกเว้นแต่จะถวายพระราช-
อำนาจคืนแก่มหาธรรมราชา เพื่อทำหน้าที่กำกับอัครมหาเสนาบดีแทนประชาชน
แต่ผู้เขียนบทความก็ยอมรับว่า การเลือกหรือสืบทอดผู้นำที่เก่งและดีนั้นเป็นปัญหา
ของระบอบปกครองทุกระบอบ

ก็จริงอีกแหละที่ประชาธิปไตยอาจย่นย่อมาให้เหลือเพียงหัวใจสำคัญคือการสร้าง
อำนาจของประชาชน และคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าโครงการพระราชดำริต่างๆ นั้น
ก็เป็นการสร้างอำนาจของประชาชนอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอำนาจทางเศรษฐกิจ
ซึ่งอาจนำไปสู่อำนาจทางสังคมและการเมืองได้

แท้จริงแล้วอำนาจทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง และวัฒนธรรมนั้นแยกออกจากกัน
ไม่ได้ เพราะต่างเชื่อมโยงหนุนหรือขวางกั้นกันและกันอยู่ตลอดเวลา แต่นั่นไม่ได้หมาย
ความว่าอำนาจหนึ่งที่เพิ่มขึ้นจะทำให้อำนาจด้านอื่นเพิ่มตามไปด้วยเสมอไป ฐานะ
เศรษฐกิจที่ดีขึ้นในบางเงื่อนไขอาจทำให้มิติทางการเมืองไร้ความสำคัญไปเสียก็ได้
(depoliticization) หรือทำให้ผู้คนมองไม่เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของตนเองกับ
ส่วนอื่นๆ ของสังคม (desocialization) จึงกลับกลายเป็นอ่อนแอลง

หลังการรัฐประหาร เรากำลังโจมตีนโยบาย "ประชานิยม" ของคุณทักษิณว่า ไม่ได้
เพิ่มอำนาจทางการเมือง, สังคม, และวัฒนธรรมให้แก่ประชาชนซึ่งบังเอิญได้ประโยชน์
เลย แท้จริงแล้วนโยบายเหล่านี้กลับผูกมัดให้ประชาชนกลายเป็นผู้พึ่งพาภายใต้ระบบ
อุปถัมภ์ที่มีคุณทักษิณเป็นศูนย์กลางอย่างดิ้นไม่หลุด

ผมคิดว่าเราคงปฏิเสธพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาต่อพสกนิกรในโครงการ
พระราชดำริต่างๆ ไม่ได้ แต่นั่นไม่อาจนำไปสู่ข้อสรุปถึงผลของโครงการเหล่านี้ว่าเป็น
empowerment ได้โดยอัตโนมัติ จริงอยู่โครงการประชานิยมของคุณทักษิณมีจุด
มุ่งหมายเพื่อแลกกับคะแนนเสียง ในขณะที่โครงการพระราชดำริไม่ได้ต้องการสิ่ง
ตอบแทนเช่นนั้น จึงทำให้เรากล่าวได้ว่าเป็นพระเมตตา แต่ผลของโครงการสอง
ประเภทนี้แตกต่างกันอย่างไรในด้าน empowerment เป็นเรื่องที่ต้องศึกษามากกว่า
สรุปง่ายๆ ว่าแตกต่างกัน

ในขณะที่เขียนบทความนี้ รัฐบาลตัดสินใจป้องกันอุทกภัยในกรุงเทพฯ ด้วยการระบายน้ำ
เหนือลงทุ่งแถบอยุธยาเพราะกรุงเทพฯเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ความเสียหายจากน้ำท่วมจะมี
มโหฬารกว่ากันมาก ชาวนาอยุธยานั้นมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าชาวนาในภาคเหนือ-
อีสาน-ใต้เป็นหลายเท่าตัว แต่อำนาจทางการเมืองของเขาไม่ได้มีมากไปกว่าชาวนาใน
ภาคอื่นเลย เพราะเจ้าของธุรกิจในกรุงเทพฯที่เขาสละข้าวในนาเพื่อรักษาให้แห้งนั้น ไม่
เคยต้องควักกระเป๋าชดเชยความเสียหายให้แก่เขาเลย ข้อเสนอนานมาแล้วให้เก็บภาษี
น้ำท่วมจากชาวกรุงเทพฯ ถูกหนังสือพิมพ์และคนชั้นกลาง ซึ่งอุปถัมภ์หนังสือพิมพ์ถล่ม
จนตกไปอย่างไม่เป็นท่า

ประชาธิปไตยหรือไม่ ทุกสังคมต้องรู้รักสามัคคีทั้งนั้น แต่ความรู้รักสามัคคีไม่อาจเกิดขึ้น
ได้ด้วยเสื้อยืดหรือสปอตทีวี แต่เกิดขึ้นได้จากความเป็นธรรม และความเป็นธรรมเกิดขึ้น
ได้ในสังคมที่สร้างอำนาจที่ใกล้เคียงกันแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งไม่มีการรัฐประหารอะไร
นำมาให้ได้

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act03161049&day=2006/10/16
บันทึกการเข้า

Even the smallest person can change the course of the future.
Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 16-10-2006, 08:08 »

อาจารย์นิธิ เริ่มเข้าใจบริบทของสังคมไทยขึ้นมาบ้างแล้ว
บันทึกการเข้า

หน้า: [1]
    กระโดดไป: