มอบรางวัล'คมตุลา' แก่นักสู้'เจริญ วัดอักษร'

6 ตุลาคม 2549 16:40 น.
คกก.กองทุนญาติวีรชน 6 ตุลา มอบรางวัล "คมตุลา" เป็นเกียรติแก่" เจริญ วัดอักษร" นักสู้แห่งบ่อนอกต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปลุกกระแสประชาชนคือนายนักการเมือง ไร้เงานักการเมืองเดือนตุลาซีกทรท.
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : กิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เริ่มตั้งแต่เวลา 05.00 น. มีการแสดงศิลปะแสดงสดกลางแจ้ง โดยกลุ่มศิลปินสร้างสรรค์สังคมร่วมสมัย กิจกรรมจากฝ่ายศิลปกรรม สถาบันปรีดี พนมยงค์ กลุ่มตุลาธรรม และการอ่านบทกวีโดยวัฒน์ วรรลยางกูร
หลังจากนั้น ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 31 รูป และในเวลา 08. 00 น. ท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ ตัวแทนการอภิวัตน์ 2475 ขบวนการเสรีไทยและขบวนการสันติภาพ เป็นประธานวางพวงมาลารำลึกวีรชน 6 ตุลาฯ กล่าวเปิดงาน" 30 ปี 6 ตุลา ปกป้องประชาธิปไตยประชาชน"
จากนั้นท่านผู้หญิงพูนสุข เป็นผู้มอบรางวัล"คมตุลา" โดยคณะกรรมการกองทุนญาติวีรชน 6 ตุลา รางวัลดังกล่าวเป็นเกียรติยศ สำหรับผู้ที่ทำงานอุทิศและเสียสละตนเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม
ซึ่งปีนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลคือ
นายเจริญ วัดอักษร อดีตประธานกลุ่มอนุรักษ์บ่อนอก ผู้ซึ่งเสียชีวิตจากการลอบยิง เนื่องจากเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก ตั้งแต่ปี 2538 จนถึง เวลา 21.30 น. วันที่ 21 มิ.ย.2547 เสียชีวิตที่สี่แยกบ่อนอก ระหว่างลงรถโดยสารประจำทาง หลังกลับจากให้ข้อมูลแก่คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา ในเรื่องผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นบุกรุกที่สาธารณะทำนากุ้ง การออกโฉนดที่ดิน 53 ไร่ โดยมีนางกรอุมา พงษ์น้อย ภรรยา และตัวแทนชาวบ้านบ่อนอก ประมาณ 30 คนมาร่วมรับแทนนางกรอุมา กล่าวขอบคุณสำหรับรางวัลแก่นักต่อสู้ผู้ล่วงลับและกล่าวถึงภารกิจของคนที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อสืบสานอุดมการณ์ และยืนยันว่า การตายของนายเจริญจะต้องไม่สูญเปล่า พร้อมกันนั้นก็ได้กล่าวถึงคนเดือนตุลาว่ามีทั้งคนที่ยังรักษาอุดมการณ์ไว้และคนเดือนตุลาที่กลายพันธุ์
นางกรอุมา กล่าวถึงชื่อบุคคลที่ถูกทาบทามให้มาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานว่า เป็นการตอกย้ำถึงวงจรอุบาทว์ในระบอบการปกครองของไทย ที่ให้อำนาจแก่คนที่กอบโกยผลประโยชน์แก่ตนเองไม่เคารพต่อการตัดสินใจของประชาชน
ตนไม่ขอเรียกร้องและไม่ฝากความหวังว่าผู้มีอำนาจคนใดคนหนึ่งจะสามารถบันดาลประชาธิปไตยให้สังคมไทยได้ รวมทั้งกล่าวถึงผู้ที่จะเข้ามากุมอำนาจในทุกนโยบายว่าประชาชนพร้อมที่จะแสดงพลังให้เห็นเสมอโดยไม่ควรมองว่าเป็นกบเลือกนายแต่ประชาชนคือนายตัวจริง
นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ"ความรุนแรงกับกาลเวลา" โดยกล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ในฐานะบาดแผลของสังคมไทย แม้ว่าเวลาจะผ่านไป แต่สังคมไม่ควรลืมสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อยืนยันการปกป้องสิทธิและสังคมด้วยวิถีของตนเอง อย่างไรก็ตามการจดจำเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ภายใต้บริบทรัฐประหารครั้งใหม่ สำหรับบางคนเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการย้ำเตือนให้ต้องแสดงตัว เพื่อจะไม่ยอมให้ความรุนแรงเช่นนั้นเกิดขึ้นอีก
ในส่วนของผู้ที่มาร่วมงานในช่วงเช้าประกอบด้วยประชาชน ญาติวีรชน กลุ่มศิลปิน นักศึกษา นักวิชาการ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ในส่วนของนักการเมือง มีเพียง นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ นายพิเชษฐ์ พัฒนโชติ และนายจำลอง ศรีเมือง
แต่ไม่ปรากฏว่ามีนักการเมืองคนอื่น ๆ ที่เคยมาร่วมงานเป็นประจำทุกปี เช่น นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุธรรม แสงประทุม และนายจาตุรน ฉายแสงจากนั้น มีพิธีทางศาสนา และทอดผ้ามหาบังสุกุล เหนือประติมาณุสรณ์ 6 ตุลาฯ จบพิธีในช่วงเช้า
http://www.bangkokbiznews.com/2006/10/06/c001_143413.php?news_id=143413