ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
19-04-2024, 15:07
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  เบื้องหลังวันยึดอำนาจ คุณไพศาล พืชมงคล คือคนร่างแถลงการณ์ตัวจริง 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
เบื้องหลังวันยึดอำนาจ คุณไพศาล พืชมงคล คือคนร่างแถลงการณ์ตัวจริง  (อ่าน 2332 ครั้ง)
HOEI
สมาชิกสามัญขั้นที่ 3
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 187


« เมื่อ: 03-10-2006, 15:45 »




•• ถือว่าปิดฉาก คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไปแล้วก็ถึงเวลาที่ “เซี่ยงเส้าหลง” จะได้บอกเล่าเรื่องราวบางประการที่รับรู้มาเสียทีว่านี่คือ การรัฐประหารที่ไม่ได้เตรียมการมาก่อนล่วงหน้า สมดังคำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่กล่าวไว้เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2549 กับตัวแทนองค์กรผู้ประกอบวิชาชีพสื่อว่า “...เรายืนยันว่าเราเข้ามาทำงานครั้งนี้ด้วยบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้เตรียมตัวไว้ก่อน แม้แต่แถลงการณ์ก็เขียนไม่ถูก ต้องไปตามหาคนมาช่วย บางคนก็อยู่ บางคนก็อยู่ไกล ทุกอย่างมันฉุกละหุก เราไม่ได้เตรียมอะไรมากนัก ชื่อคนที่ออกไปแล้วบางทีเราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เราไม่รู้จักคน ตั้งเสร็จก็มีเอกสารไหลกลับเข้ามาว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ซึ่งเราก็พยายามที่จะหาทางยุบเลิกอยู่.” เหตุการณ์ใน คืนยึดอำนาจ โดยเฉพาะช่วง ระหว่าง 23.00-02.00 น. ซึ่ง ยังไม่นิ่ง นั้นแม้จะมี มีชัย ฤชุพันธุ์ เข้าไปนั่งอยู่ในกองบัญชาการตามคำขอของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล แล้วแต่เหตุไฉน ประกาศ, คำสั่ง ต่างๆ จึงออกมา กระท่อนกระแท่น ไม่สมกับฝีมือระดับปรมาจารย์ที่ เป็นงาน เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย
       
       •• คำตอบก็คือ มีชัย ฤชุพันธุ์ แทบจะ ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมากนัก เพราะง่วนอยู่แต่กับ โทรศัพท์ตรวจสอบสถานการณ์ ว่า ยึดอำนาจสำเร็จหรือไม่ แถลงการณ์ฉบับแรกจริงๆ ที่ ไม่มีเลขที่ฉบับ ที่นำมาขึ้นจอโทรทัศน์เป็นตัวหนังสือสีขาวบนพื้นสีฟ้าที่มีข้อความตอนท้ายว่า “...ขออภัยในความไม่สะดวก.” นั้นเป็นฝีมือของ ทหาร ใน ฝ่ายกิจการพลเรือน ที่ออกมา ขัดตาทัพ ไปพลางๆ ก่อน
       
       •• จนกระทั่งเวลา ห้าทุ่มเศษๆ จึงมี บุรุษผู้เข้าไปในยามระทึก เข้าไปทำหน้าที่ ร่างประกาศและคำสั่งคณะปฏิรูปฯ ตามคำขอร้องของ ผู้ใหญ่ในกองทัพบก เป็นการเข้าไปอย่าง กะทันหัน, ยังไม่รู้ผลแพ้ชนะชัดเจน ขอเปิดเผย ณ ที่นี้เป็นครั้งแรกว่าบุรุษคนนั้นคือเจ้าของนามปากกา สิริอัญญา, เรืองวิทยาคม ที่ปรากฏงานเขียนจำนวนมากตลอดหลายปีมานี้ทั้งทางโลกทางธรรมใน ผู้จัดการรายวัน นามจริงของผู้กล้าคนนี้คือ ไพศาล พืชมงคล ลักษณะเด่นของนักเขียนคนนี้คือแม้จะ เชี่ยวชาญในสารพัดศาสตร์ เขียนหนังสือได้ เร็วมาก ระดับ วันละ 3-4 ชิ้น แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อกันละว่าคนคนนี้ เขียนโดยปากกาก็ไม่ได้, พิมพ์ดีดก็ไม่เป็น มิหนำซ้ำ คอมพิวเตอร์ก็ไม่สู้สันทัด ใช้วิธีผลิตงานโดย Dictate หรือ บอกจด, บอกพิมพ์ โดยมีเสมียนกิตติมศักดิ์ที่รู้ใจกันและมีความสามารถในทางภาษาอยู่คนหนึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ แปรความคิดเป็นตัวอักษรที่สละสลวย เธอเป็นคนที่ 2 ที่ถูก ตามตัวกลางดึก เข้าไปรับภารกิจ พิมพ์ร่างแถลงการณ์คณะรัฐประหาร เป็นครั้งแรกในชีวิตหลังจากก่อนหน้านั้นทำแต่ พิมพ์บทความ เธอมีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า รุ่ง (คนละคนกับ รุ่งมณี เมฆโสภณ และ รุ่งอรุณ สุริยามณี) บุรุษผู้กล้าคนนี้จบ นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ รุ่นปี 2509 ประสบความสำเร็จสูงสุดใน วิชาชีพนักกฎหมาย และได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 3 นักกฎหมายทางสงขลาผู้เยี่ยมยุทธ์ ร่วมกับคู่ลูกผู้พี่ลูกผู้น้อง วิษณุ เครืองาม, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ แต่โชคชะตาทำให้ อยู่คนละฟากฝั่งมาโดยตลอด เมื่อตกลงใจเข้าไปในยามระทึกแล้วก็พบหน้า มีชัย ฤชุพันธุ์ ต้อนรับด้วยคำพูดประโยคแปร่งๆ ทำนองว่า “...เอ้า คุณไพศาลเข้ามาก็ดีแล้ว จะได้ช่วยกัน เพราะอีกเดี๋ยวผมอาจต้องออกไปข้างนอก.” ภาพที่เห็นในขณะนั้นก็คือผู้พูดผู้ทักทาย ง่วนอยู่กับการโทรศัพท์ตรวจสอบสถานการณ์ ขณะที่ฝ่ายทหารส่วนใหญ่เข้าไปอยู่ใน ห้องยุทธการ โดยมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เดินเข้ามาเป็นระยะๆ ประมาณทุก 15 นาที ถามในทำนองว่า มีอะไรจะให้ลงนามหรือไม่, มีประกาศหรือไม่ ที่สุดบุรุษผู้มาใหม่จึงนั่งลงร่าง ประกาศฉบับที่ 1 ที่มีคอนเซ็ปต์ บอกเล่าเหตุผลของการยึดอำนาจ และ ฉบับอื่น ๆ ที่ทยอยตามมา โดยให้เกียรติผู้อาวุโสที่เข้ามานั่งอยู่ก่อนเป็น ผู้ตรวจตรา จนกระทั่งเวลา ตีสามเศษๆ ผู้ตรวจตราก็ เดินทางกลับไป ทิ้งให้ผู้มาใหม่ทำงานต่ออยู่คนเดียวจนถึง เกือบๆ ตีห้า และได้ทำหน้าที่ ให้คำแนะนำ ว่าในวันรุ่งขึ้นคณะปฏิรูปฯ ต้อง จัดลำดับความสำคัญในการทำงาน โดยเฉพาะเรื่อง พบสื่อ, พบคณะทูตานุทูต ออกไปอาบน้ำอาบท่าแล้วก็กลับเข้ามา ประมาณเที่ยง ทำหน้าที่เดิมต่อไปชนิด ไม่ได้หลับไม่ได้นอน รวมแล้ว 48 ชั่วโมง เหตุการณ์ในวันที่ 2 ของการยึดอำนาจยังคง เหมือนเดิม คือ มีชัย ฤชุพันธุ์ ยังไม่มีท่าที กระฉับกระเฉงขึ้น แม้บุรุษผู้กล้าคนนี้จะพยายามผลักดันให้เร่งทำ ร่างประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะปฏิรูปฯ แต่ก็ ไม่ได้รับการตอบสนอง ที่สุดก็ต้องลงมือ ร่างเอง และถือเป็น ผลงานชิ้นสุดท้าย ก่อนที่จะตัดสินใจ เดินออกจากกองบัญชาการ – แล้วไม่กลับเข้าไปอีก ในวันที่ 3 ของการยึดอำนาจ


   •• สรุปแล้ว ไพศาล พืชมงคล คือ ทีมกฎหมายทีมแรก (ที่จริงต้องพูดว่า คนแรก และ คนเดียว) ที่ตัดสินใจ เดินเข้าไปในยามระทึก และเมื่อทำหน้าที่ร่าง ประกาศ 12 (+1) ฉบับ, คำสั่ง 7 ฉบับ จบลงด้วย ร่างประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะปฏิรูป ก็ตัดสินใจ เดินออกมาในยามหมดความระทึก เพราะดูเหมือนเมื่อสถานการณ์เริ่ม นิ่งแล้ว, ชนะแล้ว บทบาทของ มีชัย ฤชุพันธุ์ จะมีมากขึ้นและมากขึ้นจนกระทั่งสามารถให้ความเห็นในเชิง ขวางการยึดทรัพย์-อายัดทรัพย์ และ ขวางบุคลากร อย่าง กล้านรงค์ จันทิก, แก้วสรร อติโพธิ และ นาม ยิ้มแย้ม รวมทั้งสร้างความลำบากใจให้ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อย่างที่ทราบกันดี
       
       •• แต่สุดท้าย ทีมกฎหมายทีมที่สอง ภายใต้การนำของ มีชัย ฤชุพันธุ์, วิษณุ เครืองาม และ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ครองอำนาจอยู่หลายวันก็มีอันต้อง อำลา ไปในวันสุดท้ายปล่อยให้ ทีมกฎหมายทีมที่สาม ที่มี บรรเจิด สิงคะเนติ, คณะนักกฎหมายมหาชนรุ่นหนุ่ม เป็นผู้ทำงานภายใต้การสนับสนุนของ สุรพล นิติไกรพจน์ และ จรัญ ภักดีธนากุล ที่เข้าไปเป็น ที่ปรึกษาคณะปฏิรูปฯ อย่างเป็นทางการ แล้ว
       
       •• หลายคนไม่รู้ว่า น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ, พล.อ.ปานเทพ ภูวนาถนุรักษ์ และ พล.ท.เจริญศักดิ์ เที่ยงธรรม รวมทั้ง ประพันธ์ คูณมี นั้นมี ความผูกพัน มานานวันกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ถ้าใครคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนในกลุ่มนี้ได้เข้าไป ร่วมทำงานกับรัฐบาลใหม่ ก็ไม่ใช่เพราะมาสนับสนุน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวบรัดตัดความเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา “เซี่ยงเส้าหลง” อยากจะบอกว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เกือบไม่ได้เป็น ผบ.ทบ. เพราะไม่ได้รับความไว้วางใจในยุค พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่มีแม่ทัพบกชื่อ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ยุคนั้นแม้ท่านจะติดยศ พล.ท. ดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.นสศ. ซึ่งเทียบเท่า แม่ทัพภาค แล้วแทนที่จะได้เลื่อนเข้าไปติดยศ พล.อ. อยู่ในตำแหน่ง 5 เสือทบ. กลับถูกโยกในแนวนอนไปเป็น มท.ภ. 2 แล้วถูกย้ายนอกนอกไลน์มาอยู่ บก.สูงสุด เพราะอำนาจการเมืองและอำนาจทหารในขณะนั้นวางตัวไว้ให้แม่ทัพบกคนต่อไปเป็น พล.อ.สำเภา ชูศรี รวมทั้งยังมีตัวสอดแทรกเป็นสายตรงของนายกรัฐมนตรีคนที่ 22 อีกคือ พล.อ.ชาญ บุญประเสริฐ บังเอิญที่ วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และ ม็อบสีลม ที่มีคู่หูต่างวัย 2 ป. – ประสงค์ + ประพันธ์ ร่วมส่วนอยู่ด้วยในระดับหนึ่งทำให้อำนาจการเมืองเปลี่ยนมือมาตกอยู่กับ ชวน หลีกภัย ทำให้ ป. – ประสงค์ เข้าไปเป็น ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง นายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ที่ขณะนั้นควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เสียงแข็งขอให้ ผบ.ทบ.คนต่อไป เป็น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ การจึง ลงตัว แต่ก็ไม่ใช่ง่าย ๆ เพราะ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร วางตัวเลือกไว้เป็น พล.อ.สำเภา ชูศรี และ พล.อ.แป้ง มาลากุล ณ อยุธยา (ที่มีผลงานร่วมกันในกรณี ต่อสัญญาช่อง 7) นี่คือความผูกพันในอดีตที่ผ่านมา 10 ปีระหว่าง ชวน หลีกภัย, น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ถ้าจะย้อนหลังไปอีก 10 ปีขึ้นไปก็จะพบว่าแม่น้ำทุกสายเกิดจาก ต้นน้ำ นาม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ คงไม่ต้องย้อนไปถึง ที่มาของต้นน้ำบนผืนแผ่นดิน ละกระมังว่าเป็น “...ลมฝนบนฟ้ามาลิ่ว.” นะ
       
       •• ยังมีเรื่องที่จะต้องพูดถึงประเด็น ความเป็นกลาง, ความสมานฉันท์ ที่บรรดาผู้คนประดามีที่ นั่งเฉย ๆ ดูดายเวลาโจรเข้าปล้นบ้าน ต่างออกมาประสานเสียงจนหนวกหู ขัดขา, ขัดขวาง ผู้คนที่ เอาชีวิตเข้าแลกรวมพลังขับไล่โจร ไม่ให้เข้ามาร่วมทำงาน ป้องกันการกลับมาของอภิมหาโจร แต่เนื้อที่ไม่พอขอเป็นวันต่อๆ ไป


http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9490000122952
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
    กระโดดไป: