เปิด 8 โครงการเชือดรัฐบาล'ทักษิณ'2 ตุลาคม 2549 20:24 น.
เปิด 8 โครงการรัฐบาลไทยรักไทย เชือด"ทักษิณ-สุริยะ--โภคิน- ประชา-วัฒนา-ปรีชา-สมัคร-ศรีสุข-"จ่อขึ้นเขียง ขณะที่"เนวิน" อ่วมหลายคดี กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :
1.
โครงการจัดซื้อเครื่องจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์9000 ของสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งก่อนหน้านี้มีรายงานว่าสตง.ได้สรุปผลการสอบสวนและมีข้อสรุปว่าการกระทำของคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด ที่มีนายศรีสุข จันทรางศุ เป็นประธาน และคณะกรรมการต่อราคางานจ้างออกแบบปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยในการตรวจสอบกระเป๋าและสัมภาระตามคำสั่ง บทม.ที่ จห 11/2546 ที่มีนายอดิเทพ นาคะวิสุทธิ์ เป็นประธาน รวมทั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริตและมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินของราชการ เป็นจำนวนเงิน 2,501,798,143.47 บาท
รวมทั้งอาจเข้าลักษณะของความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 จึงเห็นควรให้ (1.) แจ้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับบุคคลดังกล่าวทั้งหมด (2.) แจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อดำเนินการทางอาญาและทางแพ่งตามกฎหมายกับคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (3.)แจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (4.)แจ้งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท เพื่อ4.1 ดำเนินการทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัยตามกฎหมายกับคณะกรรมการต่อรองราคางานจ้างออกแบบปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัย ในการตรวจสอบกระเป๋าและสัมภาระตามคำสั่ง บทม.ที่ จห 11/2546 4.2 พิจารณาทบทวนระบบรักษาความปลอดภัย โดยนำข้อเสนอแนะของ ASI มาพิจารณาโดยเน้นเฉพาะในส่วนของการให้มีเครื่องตรวจ AT/MV อยู่หลังเคาน์เตอร์เช็กอิน เพื่อเพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยแก่สนามบินสุวรรณภูมิ และลดช่องว่างในการถูกก่อการร้าย และเพิ่มความมั่นใจในด้านความปลอดภัยของผู้โดยสารและเครื่องบิน (5.) แจ้งปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อทราบและติดตามผล
2.
สัญญาโครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จากสถานีมักกะสันไปสนามบินสุวรรณภูมิ หรือโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ ระยะทาง 28 กิโลเมตร ที่มีงบลงทุนโครงการสูงถึง 25,907,000,000 บาท ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นในสมัยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรมว.คมนาคม โดยก่อนหน้านี้สตง.พบความผิดปกติคือ เรื่องที่ ร.ฟ.ท.ไปทำสัญญาว่าจ้างบริษัทรับเหมาที่พบว่ามีสัญญาบางข้อที่อาจทำให้รัฐเสียเปรียบ คือมีการทำสัญญาให้ ร.ฟ.ท.ไปจ่ายค่าธรรมเนียมทางการเงิน จำนวน 1,666,214,702 บาท แทนบริษัท บีกริมอินเตอร์เนชั่นแนล และบริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ที่เป็นคู่สัญญาให้กับสถาบันการเงินที่เป็นผู้ให้กู้กับบริษัทรับเหมา ทั้งที่โครงการดังกล่าวเป็นโครงการเทิร์นคีย์ ที่ผู้รับเหมาจะต้องรับผิดชอบทั้งโครงการ และต้องมีการจ่ายเงินทั้งหมดให้เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ
3.
โครงการท่อร้อยสายไฟฟ้า ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ สตง.พบว่า พฤติการณ์ออกแบบและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคางานก่อสร้างระบบจ่ายไฟฟ้าและเครือข่ายท่อร้อยสายไฟฟ้า โครงการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่สอง(สุวรรณภูมิ) ของบริษัท อีเล็คโทรวัตต์ คอนซัลติ้ง เซอร์วิสเซส(ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ บริษัทเฟลโลว์ คอนซัลแตนส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับจ้างจากบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) ให้ดำเนินการออกแบบและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคางานก่อสร้างระบบจ่ายไฟฟ้าและเครือข่ายท่อร้อยสายไฟฟ้า พบว่า พฤติการณ์การออกแบรูปและรายการคุณลักษณะเฉพาะของบริษัท อีเล็คโทรวัตต์ และบริษัทเฟลโลว์ ได้กำหนดแบบที่มีลักษณะเฉพาะที่กำหนดให้วิธีการเชื่อมต่อของท่อเป็นแบบวงแหวนประเก็น (Gasket -type joint) เพียงแบบเดียว ซึ่งในเอกสารประกวดราคายังกำหนดให้แต่ละท่อนของท่อร้อยสายไฟต้องประกอบด้วย Bell และ Spigot อยู่ในท่อนเดียวกัน โดยมีอุปกรณ์ Gasket เป็น urethane Tri-seal ซึ่งTri-seal เป็นลักษณะเฉพาะของยี่ห้อ FRE (ชนิด Fiber Reinforce Epoxy) ของบริษัท FRE Composites ,Inc.
ดังนั้นการระบุเช่นนี้จะมีเพียงท่อร้อยสายไฟฟ้ายี่ห้อFREเท่านั้นที่จะเข้าเสนอราคาได้เพียงรายเดียว ถึงแม้ภายหลังทาง บทม.จะได้มีการแก้ไขโดยให้ตัดคำว่า Tri-seal ก็ตามแต่ก็ยังน่าเชื่อว่าเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 นอกจากนี้ ยังพบว่าในเอกสารประกวดราคายังได้กำหนดเส้นผ่านศูนย์กลางภายในของท่อร้อยสายไฟฟ้าชนิดFRE จะต้องน้อยกว่า125มิลลิเมตร แต่แบบของท่อร้อยสายไฟฟ้าชนิด FRE ได้กำหนดให้เส้นผ่านศูนย์กลางภายในเท่ากับ 127 มิลลิเมตร ซึ่งต่อมาบทม.ได้ชี้แจงต่อผู้เข้าประกวดราคาว่าเส้นผ่านศูนย์กลางภายในท่อจะต้องไม่น้อยกว่า125 มิลลิเมตร ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน NEMA ที่กำหนดให้เส้นผ่านศูนย์กลางภายในท่อร้อยสายไฟฟ้าต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า127 มิลลิเมตร รวมทั้ง ในวันที่29ตุลาคม พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นวันที่กำหนดให้บริษัทที่ได้ผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติเบื้องต้นจำนวน7บริษัท ยื่นซองประกวดราคาและหลักประกันซองกับทางบทม.แต่ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2545 บทม.ได้มีหนังสือลงวันที่ในวันเดียวกันถึงบริษัททั้งเจ็ดที่เพื่อให้ส่งเอกสารเพิ่มเติมที่ระบุถึงการอนุญาติให้ท่อร้อยสายไฟฟ้าแบบอื่นเพื่อใช้ในงานก่อสร้างได้ ซึ่งเป็นการส่งหนังสือแจ้งล่วงหน้าเพียงหนึ่งวันก่อนวันยื่นซอง ซึ่งน่าจะทำให้การเตรียมเอกสารเข้าประกวดราคาไม่ทัน อันเป็นการมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมที่เชื่อได้ว่าเป็นเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ทั้งนี้ ในประเด็นดังกล่าวทางสตง.ได้มีการส่งหนังสือลงวันที่16 มกราคม พ.ศ.2546 ถึง รมว.คมนาคม(นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในขณะนั้น)ให้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่กลับปรากฏว่าในเวลาต่อมาทางบทม.ได้ลงนามทำสัญญาว่าจ้างให้กับกลุ่มบริษัท อิตาเลียนไทย (ITD-NCC Joint Venture : Italian Thai Development Public Co.,Ltd. - Nishimatsu Construction Co.,Ltd.) มูลค่า1,910ล้านบาทเป็นผู้ดำเนินโครงการนี้ โดยไม่ได้สนใจหนังสือท้วงติงของสตง. โดยสตง.ยังรายงานสรุปความเห็นเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการบทม.ที่ทำการอนุมัตินั้นน่าเชื่อว่าหรือควรรู้ว่าการเสนอราคาจ้างเหมาก่อสร้างโครงการนี้มีการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 เนื่องจากสตง.ได้มีหนังสือแจ้งกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ฉบับนี้แก่กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบทม.(พล.อ.สมชัย สมประสงค์) ซึ่งมีฐานะเป็นถึงรองประธานคณะกรรมการบทม.ในขณะนั้น รวมทั้งรมว.คมนาคมแต่กลับไม่มีการดำเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาในครั้งนั้นแต่กลับให้มีการอนุมัติในเวลาต่อมา ซึ่งเชื่อว่าพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเข้าข่ายกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 โดยเมื่อพฤติการณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องน่าเชื่อว่าเป็นการทุจริต
4.
โครงการการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ของบริษัทห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด (เซ็นทรัลแล็บ) ซึ่งเป็นโครงการเมื่อปี 2546 ซึ่งรับผิดชอบโดยนายเนวิน ชิดชอบ อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ในเวลานั้น ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อ้างว่าทำเพื่อตั้งศูนย์ในการวิจัยและตรวจสอบสารเคมีในสินค้าเกษตรก่อนส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นการทำสัญญากับกิจการร่วมค้า บริษัท สิทธิพรแอสโซซิเอส จำกัด และบริษัท วิจิตรชัยธนบุรีก่อสร้างและเคหะภัณฑ์ จำกัด วงเงิน 1,597 ล้านบาท โดยมีความไม่โปร่งใสและดำเนินการผิดระเบียบทางราชการ และสตง.ได้เคยสรุปเอาไว้ว่าฃขั้นตอนดำเนินการประกวดราคาไม่ยึดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพัสดุ พ.ศ.2535
5.
โครงการจัดซื้อรถดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร สัญญาการซื้อขายมูลค่า 6,700 ล้านบาท ลงนามโดย สมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งได้ลงนามในวันสุดท้ายของการรักษาการตำแหน่งผู้ว่าฯ คือวันที่ 27 สิงหาคม 2547 โครงการจัดซื้อรถดับเพลิงดังกล่าว เป็นของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. มีมูลค่า 6,700 ล้านบาท เป็นรถนำเข้าจากบริษัทสไตเออร์ประเทศออสเตรีย ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการฮั้วประมูล และมีการเปลี่ยนแปลงสเปค โดยพบว่ามีการสั่งรถที่ผลิตภายในประเทศ มีราคารวมภาษีแล้วคันละ 7.4 แสนบาท หากติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงครบชุดจะมีราคาไม่เกินคันละ 2 ล้านบาท แต่ตามสเปคต้องได้มาตรฐานการผลิตในยุโรป ซึ่งจะทำให้มีส่วนต่างในด้านราคาถึงคันละ 4.8 ล้านบาทจากราคารวมภาษีนำเข้าจากต่างประเทศคันละ 6.8 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้กรมสอบสวนคดี(ดีเอสไอ)ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ซึ่งมีรายงานว่า มีสามอดีตรัฐมนตรีพรรคไทยรักไทย ได้แก่ นายโภคิน พลกุล อดีตรมว.มหาดไทย นายวัฒนา เมืองสุข อดีต.รมช.พาณิชย์ และนายประชา มาลีนนท์ อดีตรมช.มหาดไทย รวมถึงนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่ากทม.ด้วย จนต่อมานายอภิรักษ์ได้สั่งระงับโครงการดังกล่าว
6.
กรณีที่ผู้บริหารกรมสรรพากร นำโดย นายศิโรตม์ สวัสดิพาณิช อธิบดีกรมสรรพากร และพวกอักห้าคนละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เรียกเก็บภาษีจากนายพานทองแท้ และนางสางพิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปจากแอมเพิลริช นอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการทำให้ประเทศเสียหายจากการขาดรายได้จากการละเว้นการเก็บภาษีเป็นเงินกว่า 5พันล้านบท ล่าสุดมีรายงานว่าสตง.เตรียมสุรปผลการสอบสวนเพื่อเอาผิดกับผู้บริหารกรมสรรพากรและเสนอให้กระทรวงการคลังดำเนินการจัดเก็บภาษีดังกล่าว
7.
โครงการปล่อยเงินกู้ของธนาคารเพื่อการนำเข้าและการส่งออก(เอ็กซิมแบ็งค์)เพื่อให้รัฐบาลทหารพม่า 4พันล้าน ซึ่งสตง.ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการกระทำผิดเชิงนโยบาย เพราะผลการตรวจสอบพบว่ารัฐบาลทหารพม่านำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการทำธุรกิจกับบริษัทเครือข่ายของพ.ต.ท.ทักษิณ และอดีตรัฐมนตรีพรรคไทยรักไทย เช่น การนำเงินที่กู้มาไปซื้อดาวเทียมไอพีสตาร์ ของบริษัทชินแซทเทิลไลท์ หรือ ทำธุรกิจกับกลุ่มบริษัทกรุงไทยแทร็กเตอร์ ของนายปรีชา เลาหะพงศ์ชนะ อดีตรมช.ต่างประเทศ
8.
โครงการปลูกยางเพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคงให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกยางใหม่ เป็นนโยบายของรัฐบาลโดยมีนายเนวิน ชิดชอบ อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ในการขยายพื้นที่ปลูกยางใน 36 จังหวัด จำนวน 1 ล้านไร่ แยกเป็นปลูกใน 17 จังหวัดภาคเหนือ 3 แสนไร่ และ 19 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก 7 แสนไร่ รวมระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2547-2549 โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ 3 หน่วยงาน คือ กรมวิชาการเกษตร รับผิดชอบส่วนของการผลิตต้นยางชำถุงของโครงการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง(สกย.) รับผิดชอบเรื่องการรับพันธุ์ยางจากศูนย์กระจายต้นยาง เพื่อจ่ายให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยโครงการนี้ได้ว่าจ้างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ ในเครือซีพี เข้ามารับผิดชอบในการผลิตกล้ายางชำถุง 90 ล้านต้น แต่มาพบในภายหลังว่าพบว่ามีเกษตรกรได้รับมอบต้นกล้ายางไม่ได้คุณภาพ ทำให้เกิดความเสียหายมากกว่า1พันล้านบาท
http://www.bangkokbiznews.com/2006/10/02/w001_142653.php?news_id=142653