ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
25-04-2024, 07:13
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  แถลงข่าว 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
แถลงข่าว  (อ่าน 634 ครั้ง)
taworn09220
ขาประจำ
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 302


« เมื่อ: 30-09-2006, 05:50 »

แถลงข่าว
สัญญาณอันตรายเอฟทีเอภายใต้เงา คปค.




โดย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์)
29 กันยายน 2549 เวลา 11.00 น.
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สารี อ๋องสมหวัง: 
การทำเอฟทีเอเป็นเรื่องเดียวกับระบอบทักษิณ  เอฟทีเอไม่มีกระบวนการ  ตอนที่คัดค้านที่เชียงใหม่ คุณทักษิณบอกว่าไม่ต้องเข้าสภาเพราะไม่มีใครรู้เรื่อง เอฟทีเอมีปัญหาทั้งเรื่องผลกระทบและกระบวนการ สัญญาณอันตรายที่เราเห็นชัดเจน คือ รายชื่อที่ปรึกษาต่างประเทศที่ออกมาล้วนสนับสนุน ทั้งผลักทั้งดัน เรื่องเอฟทีเอทั้งสิ้น โดยไม่สนใจกระบวนการที่ดี  ไม่มีการเปิดรับฟังผลกระทบรอบด้าน

กระทรวงพาณิชย์  นอกจากกำลังแก้กฎหมายสิทธิบัตร  ยังจะแก้กฎหมายลิขสิทธิ์  ศาลฏีกาเคยมีคำพิพากษาว่าการถ่ายเอกสารของนักศึกษาไม่ผิดเพราะเป็นไปเพื่อการศึกษา แต่เรากำลังจะมีกฎหมายแบบที่ว่าการถ่ายเอกสารทำได้ไม่เกิน 10 บรรทัด เป็นต้น  หรือ การทำ temporary file ในอินเตอร์เน็ตก็อาจมีความผิด 

จักรชัย  โฉมทองดี:
นับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา มีการพูดกันมากเรื่องเศรษฐกิจ  แต่ยังไม่พ้นจากวังวนเดิมๆของการพึ่งพิงการส่งออกและการลงทุน ให้ความสำคัญของจีดีพีมากกว่าความกินดีอยู่ดีของแรงงานและชาวบ้าน  นี่แสดงให้เห็นว่าก่อนและหลังวันที่ 19 ทิศทางการดำเนินเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนแปลง  ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพาต่างชาติผ่านข้อตกลงพหุภาคีและทวิภาคี  ทำให้รัฐบาลไม่สามารถคุ้มครองสิทธิประชาชนในการเข้าถึงบริการพื้นฐาน รักษาความมั่นคงทางอาหาร มียาราคาที่เป็นธรรม  นี่เป็นหลักใหญ่ที่เราไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีกว่าเดิม  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคอรัปชั่นหรือความสมานฉันท์  แน่นอนว่าเราต้องเข้าไปแก้ไขอย่างเร่งรีบ  แต่เรามองข้ามไปไม่ได้คือ เอฟทีเอเป็นการผูกมัดระยะ  เอฟทีเอก่อกำเนิดโดยแท้มาจากรัฐบาลทักษิณ  ต้องแยกให้ออกว่านโยบายที่เกิดมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีหลายส่วนเป็นการผลักดันโดยประชาชน  แต่หลายนโยบายมาจากระบอบทักษิณเอง  ซึ่งนโยบายเหล่านี้สังคมตั้งคำถามและนำไปสู่วิกฤตศรัทธาของประชาชน

ปัญหาของเอฟทีเอ คือ กระบวนการไม่โปร่งใสและเนื้อหาที่ไม่เป็นประโยชน์ของชาติโดยส่วนร่วม  ทั้งสองแยกออกจากกันไม่ได้  เพราะกระบวนการไม่ดีนำมาสู่ผลลัพธ์ที่อันตราย  อันแรก  เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน อันที่สอง  ก่อให้เกิดความแตกแยก  เพราะผลกระทบเป็นวงกระจายแต่ประโยชน์กระจุก 
 
ในบรรยากาศการปฏิรูปการเมืองในปัจุบัน  ต้องบอกว่ารัฐบาลที่จะเกิดขึ้นไม่มีความชอบธรรมใดๆในการสร้างพันธะกรณีในต่างประเทศไม่ว่าจะในระดับพหุภาคีหรือทวิภาคี  เพราะว่าข้อตกลงทางเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกระดับ  และเป็นแรงปรารถนาของประชาชนที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วม  รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารควรให้เกียรติประเทศอื่นในการชะลอเรื่องนี้ไปก่อน และที่สำคัญให้เกียรติกับประชาชน   เพราะขณะนี้หากจะมีการตัดสินใจใดๆ  สิ่งที่เกิดขึ้นคงไม่แตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต  โดยเฉพาะที่ปรึกษาต่างประเทศซึ่งที่ผ่านมาช่วยสนับสนุนส่งเสริมและหาข้ออ้างให้กับกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาโดยตลอด

หลายคนคิดว่าการทำรัฐประหารจะทำให้การเจรจาชะลอไปโดยปริยาย  ต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯได้ประนามการทำรัฐประหาร  ล่าสุดสหรัฐฯตัดลดการช่วยเหลือกับกองทัพไทย  นั่นเป็นระเบียบของสหรัฐฯที่มีอยู่แล้ว  แต่การทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจไม่มีข้อกำหนดใดที่ระบุว่าจะต้องทำกับประเทศที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งและมีประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์  เช่น จอร์แดนและโมร็อคโค ได้ทำข้อตกลงกับสหรัฐฯไปแล้ว ดังนั้น เมื่อมีรัฐบาลในอาทิตย์หน้า อาจเป็นไปได้ว่าจะมีการดำเนินการเจรจาในทันที

รัฐบาลจากรัฐประหารมักได้รับแรงกดดันจากนานาประเทศและมักมีความห่วงใยต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ  ดังนั้น รัฐบาลจากรัฐประหารมักจะโอนอ่อนผ่อนตามความต้องการของต่างประเทศ  เช่น การทำรัฐประหารปี 2535 รัฐบาลขณะนั้นได้ยอมตามข้อเรียกร้องของบริษัทยาข้ามชาติจนทำให้มีการแก้กฎหมายหลายฉบับ

ไม่กี่สัปดาห์จากนี้ไป  รัฐบาลมหาอำนาจจะไม่รีรอเดินหน้าทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจ  เหตุการณ์เทียนอันเหมินได้รับการประนามจากต่างประเทศรวมถึงสหรัฐฯ  แต่เมื่อไปดูตัวเลขทางเศรษฐกิจ  พบว่าการค้าขายและการทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น  และเป็นนาทีทองที่บริษัทข้ามชาติรู้ดีว่าสามารถเข้าไปยึดตลาดประเทศกำลังพัฒนาได้

ข้อกล่าวอ้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อการทำเอฟทีเอยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอยู่  ดังนั้นจึงเป็นโจทย์สำคัญของคณะปฏิรูปการปกครองฯว่าจะเดินหน้าใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ตกลงผูกมัดสร้างพันธะกรณีของไทยกับประเทศอื่น หรือจะสนับสนุนสร้างกระบวนการประชาธิปไตย  โดยรอจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากประชาชนและมีกระบวนการที่โปร่งใสก่อนดำเนินการตกลงใดๆ  เพราะนอกจากจะไม่ชอบธรรมและยังมีโอกาสเสียเปรียบด้วย

กฎหมายการค้าของสหรัฐฯ (TPA) จะหมดอายุในเดือนกรกฏาคม 2550 หากสหรัฐฯจะทำข้อตกลง  ประธานาธิบดีบุชต้องยื่นเจตจำนงภายในวันที่ 2 เมษายน 2550 และลงนามภายใน 30 มิถุนายน 2550 โอกาสยืดเวลาออกไปมีน้อยมาก  เท่าที่ผ่านมา  นักวิชาการทุกสำนักชี้ตรงกันว่าเวลาจากนี้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน  เป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีข้อตกลงที่มีประโยชน์และเสมอภาค

เรื่องกระบวนการเจรจาที่โปร่งใสนั้น  มีการผลักดันมาตั้งแต่ก่อนวันที่ 19 กันยายน และฝ่ายวิชาการและฝายการเมืองก็เห็นด้วยว่าควรจะมีกระบวนการที่ดีกว่านี้  ตัวอย่างข้อเสนอ เช่น การผ่านสภาควรผ่านตั้งแต่ก่อน ระหว่างและหลังการเจรจา  ฝ่ายนิติบัญญัติควรจะสามารถเรียกดูเอกสารสำคัญได้ นอกจากนี้ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการศึกษาผลกระทบ  ที่สำคัญจะต้องมีกฎหมายในการเจรจาและทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  อันนี้เป็นก้าวที่ประเทศที่จะพัฒนาไปในอนาคตต้องมี  การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ควรจะมีกลไกแบบนี้ชัดเจน  ข้ออ้างที่ว่าหากไม่ลงนามกับประเทศใดจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไม่สามารถอ้างได้  ไม่มีหลักฐาน  เพราะโมเดลการศึกษาที่ผ่านมาอยู่บนสมมุติฐานว่าภาษีลดลงเหลือ 0% และมีการกำจัดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีลงอย่างสิ้นเชิง  แต่ในความเป็นจริงข้อตกลงไม่ได้เป็นเช่นนั้น 

กิ่งกร  นรินทรกุล:
ที่ผ่านมาเราเอาภาคเกษตรไปสังเวยหรือแลกกับสิ่งที่จะได้ เช่น อิเล็คโทรนิก สิ่งทอ  หรือการร่วมทุนกับต่างประเทศในกิจการโทรคมนาคม  ในกรณีของจีน เราเอาสินค้าเกษตร 150 กว่ารายการที่เป็นผักและผลไม้ไปแลก  ทำให้ราคาสินค้าผักและผลไม้ภายในประเทศตกลงถึง 60% เมื่อผักและผลไม้จากจีนทะลักเข้ามา  การทำสนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับคนจำนวนไม่น้อย  เกษตรกรไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคนได้รับผลกระทบ  ดังนั้น มันจึงต้องมีกระบวนการที่มีคนเข้าร่วม  หรือที่เราเรียกว่ากระบวนการนโยบายสาธารณะ 

ที่ผ่านมา ประชาชนโดนยึดอำนาจไปเยอะ  ต้องมีกระบวนการคืนอำนาจให้ประชาชน  สิ่งที่จะแสดงความจริงใจ คือพัฒนากระบวนการให้คนมีส่วนร่วมในการพิจารณานโยบายที่เกี่ยวพันกับชีวิตคน   ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างจากระบอบทักษิณที่ยึดอำนาจประชาชนไปแล้วก็ไปตัดสินใจเองโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม  ในสมัยรัฐบาลคุณอานันท์ในปี 2535 มีการออกกฎหมายไปมากกว่า 400 ฉบับ  ดังนั้นช่วง 6 เดือน- 1 ปีเป็นระยะอันตรายที่ทั้งสื่อมวลชนและภาคประชาชนต้องจับตามอง

กรรณิการ์  กิจติเวชกุล:
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเอฟทีเอเป็นมรดกบาปของระบอบทักษิณ  มันมีข้อกังขามากมาย เช่น เรื่องความไม่โปร่งใส ผลประโยชน์ทับซ้อน  ที่กังวลที่สุดขณะนี้ คือ คณะที่ปรึกษาต่างประเทศ และที่ปรึกษาเศรษฐกิจบางส่วนมีส่วนร่วมในการสร้างมรดกบาป  พยายามช่วยเหลือในการเซ็นเอฟทีเอโดยละเมิดรัฐธรรมนูญ 

ในเชิงผลประโยชน์ทับซ้อน  ในการเซ็นกับจีน  มีการขยับวงโคจรของไอพีสตาร์  และบางกลุ่มทุนได้ข้อมูลภายในจากการเซ็น  สามารถส่งสินค้าไปได้ง่ายดายโดยไม่ถูกตรวจสอบอย่างละเอียด  ในเอฟทีเอกับออสเตรเลีย  ทำให้กลุ่มไอพีสตาร์ตั้งสถานีภาคพื้นในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้  สินค้าที่ขายดิบขายดีคือ การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์  ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่ผูกพันกับรัฐบาลชุดที่แล้ว  มีการนำเข้าสินค้าราคาถูก เช่น เหล็ก ทองแดง  ซึ่งผู้ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเปิดโรงงานไว้ล่วงหน้า  ดังนั้น จึงน่าสนใจว่ามีการใช้ข้อมูลภายในหรือไม่  รวมทั้งตั้งแต่มีเอฟทีเอ  อุตสาหกรรมแปรรูปนมจำนวนมากไม่ยอมใช้นมดิบของเกษตรกรไทยอีกเลย 

ในวันเดียวกันกับที่โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯประนามการรัฐประหารในไทย  ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศท่าทีว่าพร้อมที่จะเดินหน้าเจรจาถ้ามีรัฐบาลโดยไม่ได้บอกว่ารัฐบาลต้องมาจากประชาชนหรือไม่  ย้อนหลังในปี 2535 รัฐบาลรสช. ที่มีคุณอานันท์เป็นนายกรัฐมนตรี  ช่วงนั้น สหรัฐฯกดดันไทยเพื่อจะตัดสิทธิจีเอสพี  โดยต้องการให้ไทยแก้พรบ. สิทธิบัตร  จริงๆแรงกดดันมีมาตั้งแต่ช่วงยุครัฐบาลพลเอกเปรม  แต่นักวิชาการและภาคประชาสังคมส่งข้อมูลเรื่องผลกระทบไปให้  ช่วงพลเอกชาติชาย มีนักกิจกรรมและงานวิจัยหลายชิ้นออกมาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น  แต่เมื่อมีการรัฐประหาร  รัฐบาลรัฐประหารต้องการสร้างการยอมรับจากต่างประเทศ  ให้เห็นว่าเป็นรัฐบาลโลกาภิวัฒน์  ดังนั้น จึงยอมแก้ไข พรบ. สิทธิบัตร  จะเห็นว่ารัฐบาลยุคก่อนๆมีการยอมรับว่าจะมีผลกระทบ  แต่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารจะมีความอ่อนไหวต่อการยอมรับของนานาประเทศ  ดังนั้น เราไม่อยากให้ปี 2549 เป็นเหมือนปี 2535  แต่เมื่อดูคณะที่ปรึกษาเราค่อนข้างวิตกกังวล  เพราะนอกจากจะสร้างมรดกบาปแล้ว  ยังไม่มีความกล้าทางจริยธรรมในการออกมาบอกถึงผลกระทบที่แท้จริงที่จะมีต่อประเทศ  บางส่วนเห็นว่าฝรั่งเป็นพระเจ้า  อีกประการสำคัญ คือ กระทรวงพาณิชย์โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญามีการแก้ไขพรบ.สิทธิบัตร  ที่ผ่านมา รัฐบาลทักษิณไม่ยอมเอาเอฟทีเอเข้าสู่การพิจารณารัฐสภา  ขณะเดียวกันก็มีการแก้กฎหมายไว้ก่อนเพื่อรองรับเอฟทีเอ  หนึ่งในนั้นคือ พรบ.สิทธิบัตร  ร่างสุดท้ายขณะนี้อยู่ที่กระทรวงพาณิชย์และกำลังจะส่งเข้า ครม. มีข้อเรียกร้องของสหรัฐฯที่ยื่นในการเจรจารอบ 6 ที่ผ่านมาบรรจุอยู่ไม่ต่ำกว่า 80% รวมถึงเรื่องที่ใหญ่ที่สุด คือการตัดการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตร  หรือ pre-grant opposition

เมื่อเดือนกว่าที่ผ่านมา  กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ไปประท้วงบริษัท GSK เพราะมีการนำยาเก่ามารวมเป็นยาใหม่  มีการคัดค้านมาโดยตลอด โดยการยื่นคัดค้านตามกฎหมาย  แต่พรบ.ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. นั้นกำลังจะเอาเรื่องการคัดค้านก่อนการให้สิทธิบัตรออก  โดยอ้างว่าจะเป็นสากล  แต่จริงๆแล้ว ทุกประเทศมีกระบวนการเรื่องการคัดค้านการออกสิทธิบัตรทั้งสิ้น ยกเว้นสหรัฐฯและประเทศที่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯไปแล้ว

**************************

บันทึกการเข้า
นู๋เจ๋ง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,877



« ตอบ #1 เมื่อ: 30-09-2006, 06:47 »

อย่าซี้ซั้วเลย เรื่องนี้
FTA เปรียบได้เหมือน อาวุธโจมตีและยึดครองประเทศกันได้เลย
ยังไงต้องผ่านประชาพิจารณ์และรัฐสภา
เป็นเรื่องของอธิปไตยทางเศรษฐกิจ

โดนสิงคโปร์ไปดอกนึงแล้ว อย่าให้พลาดท่าเสียที เมกา จีน ญี่ปุ่น อีกล่ะ
บันทึกการเข้า

~จะแน่วแน่...แก้ไข...ในสิ่งผิด~
อังศนา
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
กระทู้: 1,860


Can't fight the moonlight!


เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 30-09-2006, 10:00 »

อยากถามผู้รู้ค่ะ.. ถ้าเราไม่สามารถยกเลิกข้อตกลง FTA ที่เสี่ยแม้วทำไว้ได้ 
(ก็เห็นๆ อยู่ว่าไม่ผ่านสภา และเราเสียเปรียบเพราะมีผลกระทบกับเกษตรกรมหาศาล)
เป็นไปได้ไหมที่เราจะไม่ทำสัญญาต่อเมื่อถึงกำหนด เช่น กับ US ในปี ๒๕๕๐
คู่สัญญาจะสามารถกดดันเราอย่างไรบ้าง
..ข้าพเจ้าไม่ค่อยกระดิกหูเรื่องเศรษฐกิจค่ะ แต่อยากรู้จริงๆ
 

บันทึกการเข้า

แม้ผืนฟ้า มืดดับ เดือนลับละลาย 
ดาวยังพราย ศรัทธา เย้ยฟ้าดิน (จิตร ภูมิศักดิ์)
หน้า: [1]
    กระโดดไป: