ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
19-04-2024, 18:08
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  ระบบเผด็จการประชาธิปไตย 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
ระบบเผด็จการประชาธิปไตย  (อ่าน 606 ครั้ง)
taworn09220
ขาประจำ
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 302


« เมื่อ: 29-09-2006, 09:34 »

ระบบเผด็จการประชาธิปไตย
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ( วันที่ 31 สิงหาคม และ 7 กันยายน 2549 )   
 
ศ.ดร.ลิขิต  ธีรเวคิน
ราชบัณฑิต


คำว่า  “ระบบเผด็จการประชาธิปไตย”  เป็นศัพท์ที่ขัดแย้งกันในตัว  เพราะประชาธิปไตยเป็นระบบการเมืองการปกครองที่อยู่ตรงข้ามกับเผด็จการ  และเมื่อมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแล้วระบบเผด็จการย่อมต้องหายไป  คำว่าระบบเผด็จการแบบประชาธิปไตยจึงจำเป็นต้องมีการขยายความอย่างมีเหตุมีผล  และมีหลักฐานที่จะทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น  ข้อสังเกตก็คือ  สิ่งที่คนทั่วไปเคยได้ยินคือคำว่า  เผด็จการรัฐสภา  หมายความว่า  พรรคการเมืองบางพรรคมีเสียงในสภามาก  การผ่านกฎหมายโดยสภาหรือการลงคะแนนเสียงในสภาใช้ความได้เปรียบของเสียงข้างมากโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง  กระบวนการเช่นนี้เรียกว่าเผด็จการรัฐสภา  แต่คำว่าเผด็จการประชาธิปไตยนั้นมีความหมายที่กว้างกว่า

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมีลักษณะใหญ่ๆ 5 ประการดังต่อไปนี้  คือ ก) มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุกๆ 4 หรือ 5 ปี  ข) ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง  ค)  มีการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน  ง)  มีการใช้หลักนิติธรรมในการบริหารประเทศ  จ)  มีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้นจะประสบความสำเร็จย่อมขึ้นอยู่กับ 3 ตัวแปรหลักๆ ดังต่อไปนี้  คือ 

ตัวแปรที่หนึ่ง  สภาพทางสังคมและเศรษฐกิจต้องเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย  ระบบสังคมนั้นจะต้องประกอบด้วย  ชุมชนเมืองที่มากพอ  มีสื่อมวลชนที่สามารถให้ข่าวสารข้อมูลต่อประชาชน  ประชาชนมีระดับการศึกษาถึงระดับที่มีความตื่นตัวทางการเมือง  มีชนชั้นกลางเป็นจำนวนมากพอ 

ในทางเศรษฐกิจนั้น  สังคมที่เป็นสังคมอุตสาหกรรมหรือเกษตรอุตสาหกรรมซึ่งจะส่งผลถึงการพัฒนาในส่วนของสังคมที่กล่าวมาเบื้องต้น  จะเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้ดีกว่าที่เป็นสังคมเกษตรแบบดั้งเดิม  ซึ่งเป็นสังคมชนบทและการผลิตแบบดั้งเดิม
ตัวแปรที่สอง ได้แก่  โครงสร้างและกระบวนการทางการเมือง  ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับกฎกติกาที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญ  เช่น  รัฐสภาประกอบด้วยสภาที่มาจากการเลือกตั้ง  หรือเลือกตั้งและแต่งตั้งผสมกัน  อำนาจของฝ่ายบริหาร  การตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติ  ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ  กลไกการตรวจสอบการฉ้อราษฎร์บังหลวง  สถาบันจัดการการเลือกตั้ง  การกระจายอำนาจและการปกครองตนเอง  ระบบราชการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  ฯลฯ

ตัวแปรที่สามนี้ซึ่งจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย  คือวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยในหมู่ผู้นำทางการเมืองและในหมู่ประชาชนทั่วไป  เช่น  การมีความเชื่อและศรัทธาในความเสมอภาคของมนุษย์  มีจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย  มีความอดทนอดกลั้น  มีใจนักกีฬา  ฯลฯ 

แต่ในบางสังคมซึ่งมีระดับการพัฒนาสังคมที่ต่างกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ  การเข้าถึงข่าวสารข้อมูล  และระดับการศึกษา  การพยายามพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอาจจบลงด้วยการนำไปสู่ระบบ เผด็จการประชาธิปไตย  ได้  ซึ่งจะอรรถาธิบายได้ด้วยการนำเอาอารยธรรมคลื่นสามลูกของอัลวิน ทอฟเฟอร์ (Alvin Toffler) มาเป็นจุดเริ่มต้น 

อัลวิน ทอฟเฟอร์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ คลื่นลูกที่สาม (The Third Wave) ไว้ว่า  คลื่นอารยธรรมมนุษย์จะประกอบด้วย  คลื่นสังคมเกษตร  คลื่นสังคมอุตสาหกรรม  และคลื่นสังคมข่าวสารข้อมูล  ในคลื่นสังคมเกษตรนั้นประชาชนจะมีข้อมูลจำกัด  มีระดับการศึกษาไม่สูง  ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท  มีฐานะยากจน  ขาดความตื่นตัวทางการเมือง  และอาจจะมีความเชื่อแบบงมงายได้  คลื่นสังคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมใน 300 ปีที่ผ่านมา 

ในสังคมอุตสาหกรรมคนจะอยู่ในเมืองเป็นส่วนใหญ่  เข้าถึงข่าวสารข้อมูล  มีนิสัยการทำงานที่เปลี่ยนไป  คล่องแคล่วว่องไว  ตรงต่อเวลา  ใช้เหตุใช้ผลทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหา  เช่น  การซ่อมเครื่องจักร  รวมกันเป็นกลุ่มจัดตั้งเป็นสหภาพ  รู้จักสิทธิเสรีภาพของตน  มีอำนาจต่อรอง

ในส่วนคลื่นลูกที่สามนั้น  จะประกอบด้วยเทคโนโลยีข่าวสารข้อมูล  คนในคลื่นนี้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีข่าวสารข้อมูล  สมองกล  การผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง  มีความเชี่ยวชาญในตลาดหุ้น  การลงทุน  การเงินการธนาคาร  มีความตื่นตัวและปรับตัวตลอดเวลา  มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาที่จะมีขึ้นอนาคต  คนกลุ่มนี้จะประกอบธุรกิจข่าวสารที่ได้กำไรงาม  มีอำนาจต่อรองสูง

สังคมบางสังคมเช่นสังคมไทย  ประชาชน 60% ยังอยู่ในคลื่นลูกที่หนึ่งหรือประมาณ 35-40 ล้านคน จากประชากร 65 ล้านคน  แต่ส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำกว่า 4-6 ปี  หรือส่วนใหญ่ต่ำกว่า 10 ปี  ทำมาหากินอยู่ในชนบท  มีข้อจำกัดในข่าวสารข้อมูล  ขาดความคิดที่ลึกซึ้ง  มีฐานะที่ยากจน  โดยมีลักษณะคู่แฝดคือ  จนและเขลา 

ส่วนในสังคมคลื่นลูกที่สองจะประกอบด้วย  นักธุรกิจที่ทำการค้าอยู่ในวงการเงิน  การบริการ  และโรงงานอุตสาหกรรม  คนเหล่านี้พุ่งจุดสนใจไปยังการทำกำไร  คอยติดตามข่าวสารของการทำธุรกิจ  เมื่อเกิดการติดขัดด้วยเหตุผลทางการเมืองก็จะเกิดความไม่พอใจ  แต่ถ้ามีโอกาสเข้าอยู่ในวงในโดยเป็นพันธมิตรกับบุคคลที่ได้อำนาจรัฐก็จะฉกฉวยโอกาสดังกล่าว  บุคคลเหล่านี้มีจำนวนน้อยที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างแท้จริง

คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่อยู่ในคลื่นลูกที่สาม  โดยความร่วมมือจากคนบางกลุ่มที่อยู่ในกลุ่มคลื่นลูกที่สอง  ใช้อำนาจเงินที่ได้จากการทำธุรกิจอย่างงดงามโดยอาศัยความอ่อนแอของสังคม  ความบกพร่องของระบบ  ความไม่สมบูรณ์ของกฎหมาย  กฎระเบียบ  และระบบการเมืองการบริหารที่บกพร่อง  ทำให้มองเห็นโอกาสแห่งการได้อำนาจรัฐซึ่งสามารถจะทำการควบคุมสังคมแบบเบ็ดเสร็จได้  โดยมีกรรมวิธีดังต่อไปนี้  คือ

ขั้นตอนแรก  พยายามแทรกตัวเข้าไปเป็นบุคคลที่มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญด้วยตนเองหรือมีตัวแทน  เพื่อจะร่างรัฐธรรมนูญที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการเข้าสู่อำนาจรัฐ  ขั้นตอนต่อมาคือการตั้งพรรคการเมือง  โดยมีฐานการเงินของตนและพรรคพวกที่อยู่ในคลื่นลูกที่สามและคลื่นลูกที่สองบางส่วน  จากนั้นก็ส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งและใช้เงินซื้อคะแนนเสียงจากคนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในคลื่นลูกที่หนึ่งซึ่งยากจนและขาดข่าวสารข้อมูล  ขาดความเข้าใจทางการเมือง ในขณะเดียวกัน  ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นนั้นจะเป็นบุคคลที่เข้ากับคลื่นลูกที่หนึ่งได้อย่างดีเพราะมีภูมิหลังใกล้เคียงกัน  อาจจะก้าวหน้ากว่าเล็กน้อยคือ  เป็นคนที่มีโลกทัศน์  ค่านิยม  บุคลิกของคนคลื่นลูกที่หนึ่งบวกกับคลื่นลูกที่สอง  ผลการเลือกตั้งซึ่งใช้เงินซื้อเสียงนั้นก็จะทำให้พรรคนั้นมีคะแนนเสียงมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร  และถ้าไม่มากพอก็จะใช้วิธีการรวมพรรค  สภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสภาล่างก็จะตกอยู่ในอำนาจของกลุ่มบุคคลที่ตั้งพรรคขึ้นมา  และโดยวิธีการดังกล่าวก็จะเข้าครองอำนาจรัฐในฐานะฝ่ายรัฐบาล  เมื่อกุมอำนาจฝ่ายบริหารและกุมอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติได้  ก็จะสามารถเสนอร่างกฎหมายที่จะเป็นการปูทางเพื่อขยายอำนาจรัฐของตนเพื่อวางนโยบายการพัฒนาประเทศ  และเพื่อปูพื้นสำหรับการได้ประโยชน์จากการประกอบธุรกิจ  ร่างกฎหมายที่เสนอนั้นก็จะผ่านสภาได้โดยไม่ลำบาก  ขณะเดียวกันกฎหมายจะต้องมีการกลั่นกรองโดยสภาสูง  ซึ่งบางส่วนก็จะอยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมืองเนื่องจากมีการจ่ายเงินเดือนสำหรับสมาชิกบางกลุ่มเป็นประจำ 

เมื่อเป็นเช่นนี้การควบคุมสภาล่างและสภาสูงก็จะเสร็จสมบูรณ์  กฎหมายที่ผ่านการร่างเช่นนี้ก็จะกลายเป็นเครื่องมืออันดีสำหรับรัฐบาล  ขณะเดียวกันการควบคุมรัฐบาลโดยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบรัฐสภาอังกฤษ  ก็จะทำให้ถูกเป็นหมันโดยทำให้ฝ่ายค้านมีคะแนนเสียงไม่พอที่จะเปิดอภิปราย  ส่วนการควบคุมโดยใช้องค์กรตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการถอดถอนแบบระบบประธานาธิบดีก็จะไม่สามารถทำงานได้  เพราะองค์กรเหล่านี้ได้รับการแต่งตั้งโดยสภาสูงและมีวิธีการคัดสรรที่พรรคการเมืองที่กุมอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติสามารถแทรกแซงได้  องค์กรทั้งหมดที่ทำหน้าที่ควบคุมก็จะทำงานได้ไม่เต็มที่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย  กระบวนการปกครองบริหาร หรือที่เรียกว่า  ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย  ก็จะกลายเป็นประชาธิปไตยเพียงในรูปแบบ  แต่เนื้อหาจริงๆ เป็นระบบเผด็จการ  เพราะการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จโดยคนกลุ่มเดียว  โดยใช้พรรคการเมืองของตนเป็นบันไดเข้ากุมรัฐสภา  และโดยการสลัดตนเองรอดพ้นจากการควบคุมโดยกระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจและโดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ ที่ทำหน้าที่ควบคุมการได้อำนาจรัฐและการใช้อำนาจรัฐ  การบริหารประเทศเยี่ยงนี้เป็นการบริหารที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ  โดยกุมกลไกการออกกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตนและพรรคพวก  เป็นการบริหารแบบหลักนิติกลวิธี (the rule by law) ไม่ใช่หลักนิติธรรม (the rule of law)  ระบบประชาธิปไตยจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือ (means) ไม่ใช่เป็นเป้าหมาย (end)  ตามที่ผู้นำทางการเมืองบางคนเคยกล่าวไว้

นอกเหนือจากนั้น  นักวิชาการที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ก็ดี  นักนิติศาสตร์ก็ดี  รวมทั้งสื่อมวลชนบางแขนงก็ดี  ก็จะตกอยู่ในอาณัติด้วย  โดยนักเศรษฐศาสตร์จะคอยช่วยเหลือนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการอภิมหาโครงการต่างๆ  นักนิติศาสตร์ก็พยายามหาช่องทางการใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์  โดยเฉพาะการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายในลักษณะของเนติบริกร  ขณะเดียวกันกลุ่มนักธุรกิจซึ่งอยู่วงในก็จะมีส่วนช่วยเสริมด้วยการสนับสนุนการเงินให้กับพรรคเพื่อผลตอบแทน  และสื่อมวลชนบางแขนงก็ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์รัฐบาล  ข้าราชการประจำบางคนจะให้ความร่วมมือเนื่องจากได้รับผลตอบแทนทางตำแหน่งหน้าที่และผลประโยชน์ 

และเพื่อจะให้บุคคลที่อยู่ในคลื่นลูกที่หนึ่งนิยมชมชอบ  ก็จะมีการเสนอนโยบายประชานิยม  ซึ่งในตัวของมันเองไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่ถ้าจุดประสงค์เพียงเพื่อการสร้างความนิยมชมชอบต่อพรรค  เพื่อจะฉวยโอกาสกุมอำนาจรัฐด้วยคะแนนเสียงโดยใช้โอกาสในการหาประโยชน์ในส่วนอื่น  ทั้งภายในประเทศและทั้งการเจรจาธุรกิจต่างประเทศ  ย่อมจะมีผลในทางลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
ที่สำคัญ  การใช้ประสบการณ์และวิธีการบริหารบรรษัท  หรือบริษัท  ในภาคธุรกิจมาบริหารพรรคการเมืองและมาบริหารประเทศในลักษณะของ CEO  จะส่งผลกระทบต่อความเป็นประชาธิปไตยของพรรคการเมืองในแง่การมีส่วนร่วม  การประสานความแตกต่างให้เป็นหนึ่งเดียว  และที่สำคัญส่งผลกระทบโดยตรงต่อคณะรัฐมนตรีซึ่งต้องรับผิดชอบร่วมกัน  เพื่อจะได้เป็นฝ่ายบริหารที่แข็ง (strong executive)  แทนที่จะเป็นหัวหน้าที่มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว (strong leader)  ขณะเดียวกันระบบพรรคที่มีการบริหารแบบบริษัทโดย ส.ส. ถูกแปรสภาพเป็นลูกจ้างพรรค  มีเงินเดือนประจำ  ย่อมส่งผลกระทบต่อคุณลักษณะของ ส.ส. ที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย  ทำให้การปฏิบัติภารกิจของ ส.ส. ขาดความเป็นอิสระและความเป็นตัวของตัวเอง  ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อระบบรัฐสภาเพราะเป็นการทำลายจิตวิญญาณของผู้มีอุดมการณ์  มีเกียรติและศักดิ์ศรี  มีความรับผิดชอบ  และการปฏิบัติภารกิจในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยแทนการเป็นลูกจ้างพรรค  มีหน้าที่รับคำสั่งและกดปุ่มลงคะแนนเสียงเห็นด้วย

สภาวะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  ทำให้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นเพียงรูปแบบหรือหน้าฉาก  แต่ในเนื้อหาเป็นการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จในทุกขั้นตอน  ตั้งแต่การเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจ  การใช้อำนาจ  การครอบงำองค์กรที่ทำหน้าที่การควบคุมการใช้อำนาจรัฐ  เริ่มต้นจากการกุมพรรค  ไปถึงการกุมรัฐสภา  คณะรัฐมนตรี  ระบบราชการทั้งทหารและพลเรือน  และในส่วนอื่นๆ ของสังคม  ระบบนี้คือระบบเผด็จการประชาธิปไตย

แต่สภาพที่กล่าวมาเบื้องต้นนี้เป็นการสะท้อนถึงความอ่อนแอของสังคมทั้งมวลด้วย  เพราะถ้าสังคมมีความแข็งแกร่งมากกว่าที่เป็นอยู่  ประชาชนมีความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น  ประชาชนไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างขายสิทธิ์ขายเสียง  นักธุรกิจไม่เห็นแก่ได้  นักกฎหมายไม่ขาดจริยธรรมแห่งวิชาชีพ  นักการเมืองไม่ขาดอุดมการณ์  นักวิชาการไม่หันเหไปจากจุดยืนที่ถูกต้อง  และผู้ดำรงตำแหน่งบริหารไม่เป็นบุคคลที่เชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงเครื่องมือ  ไม่ใช่เป้าหมายในตัวเอง  และไม่ยึดถือตัวเองเป็นเสาหลัก แต่ยึดถือการทำงานโดยความรับผิดชอบร่วมกัน  เพื่อจะพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยให้ต่อเนื่องและยั่งยืน  เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่  สภาพที่เลวร้ายและน่าเป็นห่วงที่เป็นอยู่ขณะนี้น่าจะไม่เกิดขึ้น

โดยสรุป  ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ขณะนี้อาจจะถูกต้องตามกฎหมาย (legality) แต่ไม่มีความชอบธรรมทางการเมือง (legitimacy) ระบบดังกล่าวนี้อาจจะมีรูปแบบ (form) เป็นประชาธิปไตย  แต่เนื้อหา (substance) ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมอย่างแน่นอน  ที่แน่ๆ ก็คือ  โดยเนื้อหาและความเป็นจริงระบบที่เป็นอยู่นี้เป็นระบบเผด็จการประชาธิปไตย (democratic dictatorship) อย่างถ่องแท้

 
บันทึกการเข้า
ริวเซย์
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 4,637


Worrior in The Blue Armor


เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 29-09-2006, 09:37 »

ขอบคุณครับสำหรับข้อมูล ขยันค้นหาจริงๆแฮะ
บันทึกการเข้า

ถ้ามีแฟนแบบนี้เอาไหมครับ^^


Şiłąncē Mőbiuş
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 5,215



เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 29-09-2006, 09:41 »

ความหมายชัดเจน และ ชัดแจ้งดีครับ
บันทึกการเข้า



“People should not be afraid of their governments. Governments should be afraid of their people.”

. “ประชาชนไม่ควรกลัวรัฐบาลของตนเอง รัฐบาลต่างหากที่ควรกลัวประชาชน” .

. แวะไปเยี่ยมกันได้ที่ http://silance-mobius.blogspot.com/ นะครับ .
หน้า: [1]
    กระโดดไป: