ทีชเชอร์วอทช์ โชว์ข้อมูลเบื้องต้นครูไทย งานหนัก-งานมั่ว-แก่ประชุม- ขาดสอนเพียบ กว่าครึ่งคิดอยากเออลี่ สคบศ.วอนรัฐเร่งดูแลครู เก็บครูไว้กับงานสอน-เพิ่มเจ้าหน้าที่ธุรการ ก่อนครูถอดใจ พร้อมชี้ผลสำรวจปัญหานักเรียน พื้นฐานย่ำแย่-ขาดวินัย-ก้าวร้าว คือปัญหาหนักอกครูที่สุด
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติและหัวหน้าโครงการ Child Watch เปิดเผยถึงโครงการติดตามสภาวการณ์ทำงานของครูหรือ Teacher Watch อันเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันรามจิตติกับ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) ว่า จากข้อมูลผลการสำรวจเบื้องต้นซึ่งขณะนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่จากข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างเท่าที่ได้ประมาณสองพันกว่าคนจากทุกจังหวัด ทำให้เห็นข้อมูลภาพรวมที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ การที่ครูส่วนใหญ่สอนค่อนข้างหนักโดยมีชั่วโมงสอนเฉลี่ยถึง 21 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ครูส่วนใหญ่ยังต้องรับผิดชอบงานธุรการต่างๆ ในโรงเรียนเนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่ธุรการเป็นการเฉพาะ โดยเฉลี่ยครูต้องมีตำแหน่งบริหารหรือธุการอีกคนละ 1-2 ตำแหน่ง และครูส่วนใหญ่ใช้เวลาถึงร้อยละ 10 -20 ของเวลาสอนปกติไปกับงานธุรการ นอกจากนี้ครูกว่าร้อยละ 45.5 จำเป็นต้องขาดสอนแทบทุกสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งประมาณ 2 คาบ โดยสาเหตุอันดับหนึ่งคือการต้องไปฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้ให้กับตนเอง รองลงมาคือ การติดประชุม ส่วนภาระที่ครูหนักใจที่สุดกับไม่ใช่เรื่องการสอนแต่เป็นภาระเรื่องการทำฐานข้อมูล การจัดทำรายงานต่างๆ ให้กับโรงเรียนและส่วนกลาง เช่น รายงานการประเมินผล เป็นต้น โดยมีครูถึงร้อยละ 46.1 ระบุถึงความหนักใจในเรื่องนี้ซึ่งสูงกว่าข้ออื่นๆ ทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าครูถึงร้อยละ 50 ที่เริ่มถอดใจกับอาชีพครู โดยร้อยละ15 ระบุว่าตนเคยคิดอยากเปลี่ยนอาชีพ ในขณะที่ร้อยละ 62.5 ระบุว่าหากมีโครงการเกษียณก่อนอายุเกิดขึ้นอีกตนคิดจะเข้าร่วมโครงการ สำหรับปัญหานักเรียนที่ครูรู้สึกหนักใจมากที่สุดพบว่า อันดับหนึ่งคือปัญหาพื้นฐานความรู้อ่อน ร้อยละ 97.2 อันดับสองคือ ปัญหาการขาดวินัยและความรับผิดชอบร้อยละ 93.6 และอันดับสาม คือปัญหาก้าวร้าวทะเลาะวิวาท ร้อยละ 89.6 นอกนั้นยังพบว่าครูร้อยละ 50.6 ยังไม่เห็นด้วยกับหลักการโอนโรงเรียนไปสังกัดองค์กรท้องถิ่น เนื่องจากยังไม่มั่นใจในความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถึงร้อยละ 48.2
ดร.อมรวิชช์ฯ ชี้แจงว่าภายในเวลาประมาณเดือนเศษๆ ผลการสำรวจจากโรงเรียนทั้งหมดราว 1,350 โรงครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างครูทั้งหมดราว13,500 คนน่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ โดยจะสามารถแยกเป็นสภาวการณ์ครูรายจังหวัดได้อีกด้วย พร้อมกับข้อมูลความต้องการการพัฒนาในวิชาชีพ ซึ่งทางสถาบันรามจิตติกำลังประสานกับ สคบศ.ในการนำข้อมูลดังกล่าวมาพัฒนาเป็นรูปแบบการพัฒนาครูในระดับพื้นที่ พร้อมกับการนำร่องในพื้นที่จังหวัดบางแห่งต่อไป
ทางด้านนายสันทัด สินธุพันธ์ประทุม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ได้ให้ความเห็นว่า จากข้อมูลโครงการ Teacher Watch แม้จะเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น แต่จากกลุ่มตัวอย่างเท่าที่วิเคราะห์ไปแล้วกว่าสองพันตัวอย่างก็สามารถให้ภาพรวมที่น่าสนใจหลายประการ โดยตนอยากวิงวอนรัฐบาลให้นำข้อมูลนี้ไปพิจารณาหาแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาสภาวะการทำงานของครูให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการเน้นให้ครูมีเวลากับการเตรียมสอนและการสอน ตลอดจนการตรวจการบ้านนักเรียนอย่างเต็มที่ และลดภาระงานธุรการของครูลงโดยขอให้รัฐบาลพิจารณาจัดสรรอัตราเจ้าหน้าที่ธุรการสารบรรณและการเงินให้โรงเรียนของรัฐโดยด่วน มิฉะนั้นจะยิ่งมีผลกระทบสูงต่อคุณภาพการเรียนการสอนซึ่งจากผลการประเมินของ สมศ.ก็เห็นชัดอยู่แล้วว่ามีโรงเรียนต่ำกว่ามาตรฐานร่วมสองหมื่นโรง นอกจากนี้ หากรัฐไม่แก้ปัญหาเรื่องนี้ให้เร็วพอ ยังอาจมีผลถึงการสูญเสียครูดีๆ ที่ถอดใจออกจากการเป็นครูมากขึ้นด้วย