ยินดีต้อนรับคุณ,
บุคคลทั่วไป
กรุณา
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
14-01-2025, 23:00
378,182
กระทู้ ใน
21,926
หัวข้อ โดย
9,412
สมาชิก
สมาชิกล่าสุด:
MAN4U
หน้าแรก
ช่วยเหลือ
ปฏิทิน
เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)
|
ทั่วไป
|
สภากาแฟ
|
CTX-ชินฯถึงมือคปค. สตง.ฟัน"วินัย-อาญา"
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า:
[
1
]
ส่งหัวข้อนี้
พิมพ์
CTX-ชินฯถึงมือคปค. สตง.ฟัน"วินัย-อาญา" (อ่าน 728 ครั้ง)
taworn09220
ขาประจำ
ออฟไลน์
กระทู้: 302
CTX-ชินฯถึงมือคปค. สตง.ฟัน"วินัย-อาญา"
«
เมื่อ:
25-09-2006, 14:25 »
CTX-ชินฯถึงมือคปค. สตง.ฟัน"วินัย-อาญา"
โดย ผู้จัดการรายวัน 25 กันยายน 2549 00:07 น.
เปิดคดีโคตรโกงที่จะถูก "สตง.-พาณิชย์" เช็กบิลเป็นล๊อตแรกในสัปดาห์นี้ เผยผลตรวจสอบทุจริตจัดซื้อซีทีเอ็กซ์ถึงมือ "จารุวรรณ" วันนี้ เตรียมยื่น คปค. ตามด้วยเลี่ยงภาษีซื้อขายหุ้นชินคอร์ป เหลือเพียงรอเลขาฯ คุณหญิงอ้อเข้าให้การ แฉบิ๊กสรรพากรหวังพลิกคดี "เรืองไกร" ช่วย "โอ๊ค-เอม"ส่วนนอมินีกุหลาบแก้ว บิ๊กพาณิชย์ต้องให้คำตอบวันนี้ ขณะที่ "แอร์พอร์ตลิงก์-คาร์โก้-ซีดีเอ็มเอ-สมาร์ทการ์ด-กล้ายาง-พืชสวนโลก-หวยบนดิน" รอขึ้นเขียงคิวต่อไป
ภายหลังคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ได้มีคำสั่งให้ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องนั้น แหล่งข่าวในคณะตรวจสอบกิจการพิเศษ สตง. เปิดเผยว่า วันนี้คณะตรวจสอบฯ จะส่งผลสรุปผลการตรวจสอบการทุจริตในโครงการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดในสนามบินสุวรรณภูมิ (ซีทีเอ็กซ์) ให้คุณหญิงจารุวรรณ หากคุณหญิงจารุวรรณตรวจสอบเป็นขั้นตอนสุดท้ายครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว สตง. ก็จะทำเป็นหนังสือรายงานส่งต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พนักงานสอบสวน และคปค. เป็นผู้พิจารณาเพื่อดำเนินคดีต่อไป
"การตรวจสอบที่ประชาชนจับตามองและให้ความสนใจกันมากที่สุดเท่าที่เป็นข่าวเผยแพร่อยู่ในขณะนี้ได้แก่เรื่องกาตรวจสอบเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดหรือซีทีเอ็กซ์9000 ในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นการตรวจสอบที่อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว"
การตรวจสอบทุจริตซีทีเอ็กซ์ จะมีสรุปผลการตรวจสอบโครงการทั้งหมดอย่างละเอียด ตั้งแต่ที่บอร์ดบริษัทท่าอากาศยานสากลแห่งใหม่ หรือบทม.เห็นชอบให้มีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ไปจนถึงการส่งมอบเครื่องซีทีเอ็กซ์ และความเชื่อมโยงของฝ่ายผู้บริหาร บทม. ฝ่ายการเมือง รวมทั้งบริษัทเอกชนทั้งหมด ผลสรุปครั้งนี้จะระบุผู้เกี่ยวข้องและผู้ต้องรับผิดชอบทั้งด้านอาญาและวินัยเป็นรายบุคคล
นอกจากซีทีเอ็กซ์แล้ว การตรวจสอบกรมสรรพากรที่ละเว้นการเก็บภาษีการซื้อขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น นอกตลาดหลักทรัพย์ของนายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ใกล้จะได้ข้อสรุปแล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งกรณีนี้หากตัดสินสิ้นสุดลงแล้วผู้บริหารกรมสรรพากรทั้ง 5 รายที่พยายามออกมาชี้แจงว่าการขายหุ้นครั้งนี้ไม่ต้องเสียภาษีจะต้องมีความผิดและได้รับโทษอย่างขั้นร้ายแรงที่สุดอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ การซื้อขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น จำนวน 1,157 ล้านหุ้น เฉพาะส่วนที่มีชื่อครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ ไม่รวมการถือหุ้นในนามบุคคลอื่น หรือนอมินี ของกองทุนเทมาเส็ก จากสิงคโปร์ ราคาหุ้นละ 49 บาท มูลค่ารวม 7.3 หมื่นล้านบาท ผู้ที่เคยซื้อราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท จาก พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้แก่ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่บุญธรรมคุณหญิงพจมาน 268 ล้านหุ้น (แตกพาร์แล้ว) นายพานทองแท้ ชินวัตร 733 ล้านหุ้น นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 20 ล้านหุ้น หรือ น.ส.พิณทองทา ซื้อหุ้นจากนายพานทองแท้ 367 ล้านหุ้นราคา 1 บาทต้องเสียภาษีส่วนต่างราคาหุ้นที่ซื้อต่ำกว่าราคาตลาดหรือไม่
ผู้บริหารกรมสรรพากรได้ยืนยันหลายครั้งว่า การซื้อขายหุ้นระหว่างเครือญาติชินวัตร ในราคาต่ำกว่าตลาดนั้นไม่ต้องเสียภาษี โดยอ้างว่าการซื้อขายหุ้นดังกล่าว ไม่ถือว่า ผู้ซื้อได้รับประโยชน์จากการโอนหุ้น ซึ่งตีราคาเกินกว่าที่ลงทุน จึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (4) (ช) ตามประมวลรัษฎากร เนื่องจากยังมิได้ก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้ซื้อ จนกว่าผู้ซื้อจะได้ขายหุ้นดังกล่าวไปโดยได้รับผลประโยชน์ ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินที่ลงทุน
โดย สตง.ได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพิ่มกรณีการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปนอกตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ข้าราชการระดับสูงของกรมสรรพากรและกระทรวงการคลัง 5 คน ประกอบด้วย นายศิโรตม์ สวัสดิพาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร นางไพฑูรย์ พงษ์เกสร รองอธิบดีกรมสรรพากร นางเบญจา หลุยเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง นายกริช วิปุลานุสาสน์ นิติกร 9 และนางสาวโมฬีรัตน์ บุญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย
"ขณะนี้ข้อมูลประกอบการพิจารณาเกือบสมบูรณ์แล้ว เหลือเพียงรอเอกสารเพิ่มเติมอีกบางส่วน และเชิญ น.ส.ปราณี เวชพิทักษ์ บุคคลภายนอกซึ่งใกล้ชิดกับตระกูลชินวัตร และอ้างว่าเป็นเลขานุการคณหญิงพจมาน มาให้ข้อมูลเพิ่มอีกครั้ง"
สำหรับ น.ส.ปราณี ก่อนหน้านี้ เป็นผู้ทำหนังสือแจ้งมาที่กรมสรรพากรเพื่อสอบถามว่า การขายหุ้นชินคอร์ปของทายาทอดีตนายกรัฐมนตรี ต้องเสียภาษีหรือไม่ และได้รับคำตอบจากกรมสรรพากร ว่า "ไม่ต้องเสียภาษี"
แฉสรรพากรดิ้นหวังพลิกคดี
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชี ซึ่งยื่นฟ้องกรมสรรพากร กล่าวในฐานะที่ปรึกษาผู้ว่าฯ สตง. ว่า ตนได้ยื่นฟ้องกรมสรรพากรกับศาลแพ่งภาษี เนื่องจากกรมสรรพากรไม่ยอมเก็บภาษีจากกำไรที่ได้จากการซื้อหุ้นราคาถูกว่าราคาในตลาด ซึ่งศาลได้รับฟ้องและนัดสืบสองสถานทั้งฝ่ายโจทย์ และจำเลย กรมสรรพากร ในวันที่ 9 ตุลาคม 2549 แต่ทางอัยการซึ่งเป็นทนายให้กรมสรรพากร ได้ขอให้ศาลแพ่งภาษีส่งเรื่องประธานศาลฎีกา ตีความว่าเรื่องดังกล่าวสามารถขึ้นศาลภาษีได้หรือไม่ โดยหวังจะตีให้คดีนี้ตกไปไม่ได้รับการพิจารณา
กรมสรรพากรคงเกิดอาการกลัวว่าถ้าหากแพ้คดีดังกล่าวในศาลภาษี และต้องเก็บภาษีจากการซื้อขายของผมให้ถูกต้องแล้ว อาจจะมีผลกระทบกับหลายกรณีที่ผ่านมาในการซื้อขายหุ้นของคนในครอบครัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ซื้อขายหุ้นกันไปมานอกตลาดหลักทรัพย์ ในราคาต่ำกว่าราคาในตลาด และเมื่อมีส่วนต่างของรายได้จากการขายหุ้น ก็ยังไม่เคยเสียภาษีเลยแม้แต่บาทเดียวนายเรืองไกรกล่าว
พาณิชย์พร้อมเชือดกุหลาบแก้ว
นอกจากการหลีกเลี่ยงภาษีกรณีการขายหุ้นชินคอร์ปนั้นยังโยงถึงการถือหุ้นแทน (นอมินี) ของบริษัทกุหลาบแก้ว ในการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ซึ่งผิดพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เนื่องจากมีสัมปทานธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวคณะทำงานพิจารณาและกำกับการตรวจสอบการถือหุ้นและการกระทำอื่นที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ที่มีนางสาวอรจิต สิงคาลวณิช อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นประธานได้ชี้ขาดแล้วว่า เป็นนอมินี โดยนางสาวอรจิตยืนยันว่าการตรวจสอบครวถ้วนและสมบูรณ์ หมายถึงกุหลาบแก้วเป็นนอมินี ดังนั้นการซื้อขายชินคอร์ประหว่างครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณกับกลุ่มเทมาเส็ก น่าจะเป็นโมฆะ
ล่าสุดมีรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า จะให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าส่งผลสรุปนอมินีบริษัทกุหลาบแก้วให้ตำรวจในสัปดาห์นี้ โดยนายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หากผลการตรวจสอบบริษัทกุหลาบแก้วมีข้อมูลเพียงพอ ก็จะดำเนินการส่งให้ตำรวจ โดยจะเป็นหน้าที่หลักของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
"แอร์พอร์ตลิ้งก์-คาร์โก้"คิวต่อไป
หลังจากเรื่องเร่งด่วนทั้งสองได้ข้อสรุป สตง.จะเดินหน้าตรวจสอบโครงการระบบขนส่งรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ต ลิงค์) ที่ตอม่อแตกร้าวซึ่งในเงื่อนไขการรับเหมาแบบเทิร์นคีย์ผู้รับเหมาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการแก้ไข แต่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เจ้าของสัมปทานกลับเข้ามารับผิดชอบค่าใช้จ่ายแทน โดยเรื่องนี้บอร์ดรฟท.และผู้ว่าการรฟท.จะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย
และโครงการที่เกี่ยวข้องกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิคือโครงการก่อสร้างอาคารคลังสินค้า หรือคาร์โก้ ในส่วนที่บริษัทบางกอกแอร์เวย์ได้รับสัมปทานไป ซึ่งตามเงื่อนไขการก่อสร้างจะต้องเป็นระบบอัตโนมัติเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการให้มากที่สุด แต่เมื่อก่อสร้างเสร็จกลับไม่มีการใช้ระบบอัตโนมัติตามที่กำหนดไว้ในทีโออาร์โดยอ้างว่าเมื่อดำเนินการด้วยระบบนี้จะทำให้บมจฬท่าอากาศยานไทย ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า
สตง.ยังได้เร่งตรวจสอบโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ว่ามีการแก้ปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยได้จริงหรือไม่ และกรณีค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ทั้งจากส่วนที่เป็นงบประมาณและที่มีการบริจาคผ่านสำนักนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการอย่างโปร่งใสและถึงมือผู้ประสบภัยเพียงใด
การตรวจสอบโครงการส่งเสริมปลูกยางพารา 90 ล้านต้น 1 ล้านไร่ มูลค่าโครงการ 1,440 ล้านบาท ซึ่งสตง.ได้ตั้งข้อสังเกตไว้หลายประเด็น เช่น ผู้เข้าประกวดราคา 3 บริษัท มีกรรมการถือหุ้นไขว้กัน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด เป็นผู้ชนะประกวดราคาผลิตต้นกล้ายาง 90 ล้านต้นให้กับกรมวิชาการเกษตร ไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อ 11 ที่ระบุผู้รับจ้างสัญญาจะไม่เอางานทั้งหมด หรือส่วนใดส่วนหนึ่งไปให้ผู้อื่นรับจ้างช่วงอีกทอดหนึ่ง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้าง กรณีนี้เกษตรกรที่เป็นผู้เข้าร่วมโครงการผลิตต้นกล้ายางให้กับซีพี ร้องเรียนถึงสตง.ให้เข้ามาตรวจสอบเพราะได้รับความเสียหาย เนื่องจากซีพีไม่รับมอบกล้ายางที่ให้ผลิตให้ทำให้ได้รับความเสียหาย รวมทั้งโครงการเซ็นทรัลแล็บหรือแล็บเกษตรที่ใช้งบประมาณก่อสร้าง 1,300 ล้านบาท เนื่องจากไม่สามารถใช้งานได้จริง
ยังมีโครงการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกมาก เช่น โกงลำไย 5 หมื่นตัน หรืองบในการจัดทำโครงการงานเกษตรโลก รวมไปถึงในกระทรวงพาณิชย์ที่การประกันราคาข้าว
ขึงพืด"ซีดีเอ็มเอ"ไอซีที
การประมูลบัตรประชาชนอเนกประสงค์ หรือ สมาร์ทการ์ด ของกระทรวงอซีที ที่มีขั้นตอนที่ส่อไปในทางไม่โปร่งใสและเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกด้วย คาดว่า สตง.จะสามารถสามารถเอาผู้กระทำผิดได้ถึงระดับปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวได้อีกด้วย ยังไม่นับการตรวจสอบกรณีที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เห็นชอบ "โครงการให้บริการเซลลูล่า CDMA" ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคแก่บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด (Hutch) เนื่องจากสงสัยว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวส่อไปในทางไม่โปร่งใส ทำให้กสท เสียประโยชน์ปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท รวมทั้งอาจเป็นการเลี่ยงการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ด้วย
ยังมีการตรวจสอบนโยบาย "หวยบนดิน" ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มี พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ เพื่อนร่วมรุ่น นักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่น 26 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้อำนวยการ โดยสตง.มุ่งสอบประเด็นที่มีการนำรายได้กองสลาก จากการจำหน่ายหวยบนดิน เข้าไปไว้ในมูลนิธิของสำนักงานสลาก หากดูตามกฎหมายแล้วสำนักงานสลาก สามารถทำได้
สตง.พิจารณาถึงเจตนาของการทำนโยบายหวยบนดิน และการนำรายได้ไปใช้ในด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนโครงการประชานิยมของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยด้วย หลายๆ ครั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปตรวจราชการต่างจังหวัด มักนำเงินกองสลากไปใช้ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ แม้ในทางกฎหมายจะไม่สามารถเอาผิดได้ แต่สตง.กำลังดูเจตนาว่าอาจเป็นเรื่องการหาเสียงทางการเมือง เพื่อเลี่ยงการตรวจสอบการใช้เงินของสำนักงานสลาก
ยืดอายุ"จารุวรรณ"ไม่มีกำหนด
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า หลังจากที่คปค.ได้มีประกาศฉบับที่ 12 ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับต่อไป โดยให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 ก.ย. พ.ศ. 2549 พ้นจากตำแหน่ง และให้ผู้ว่าการ สตง.ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 ก.ย.พ.ศ. 2549 คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป และให้อำนาจของคตง.เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการ สตง.นั้น ทางสตง.ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบคดีต่างๆ ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
ซึ่งเรื่องราวการทุจริตที่สตง.ดำเนินการตรวจสอบล้วนแต่อยู่ในความสนใจของประชาชนกันเป็นอย่างมาก การดำเนินการตรวจสอบต่างๆ จะต้องกระทำด้วยความรอบคอบ แม้ว่าคปค.จะมอบอำนาจเต็มในการตัดสินการทุจริตที่เกิดขึ้นของคตง.ให้กับคุณหญิงจารุวรรณเต็มที่ แต่เพื่อความเหมาะสมต้องมีการตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมาอีก 1 ชุด เพื่อตรวจสอบเรื่องราวต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบก่อนพิจารณาว่าการตรวจสอบดังกล่าวเป็นไปอย่างยุติธรรม
ถึงแม้คุณหญิงจะมีอำนาจเต็มแทนที่คตง.แต่การตัดสินใจว่าเรื่องต่างๆ ทุจริตหรือไม่นั้นต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากทุกคนทุกฝ่ายตั้งความหวังในการรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินไว้ที่สตง.ผู้ที่ทำงานต้องทำงานด้วยความกดดันมากขึ้นและต้องทำด้วยความรอบคอบอย่างยิ่ง จึงจำเป็นต้องตั้งคณะทำงานพิเศษที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแต่ละสาขาที่ทำงานอยู่ในสตง.และผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาร่วมทำงานด้วย
ทหารเข้าคุ้มครองสตง.
ในช่วงวันเสาร์ที่ 23 และ อาทิตย์ที่ 24 กันยายนที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตของทาง สตง. ได้ทำงานกันอย่างหนักเนื่องจากต้องรีบสรุปเรื่องการทุจริตในโครงการต่างๆ ให้โดยเร็วที่สุดตามที่ผู้ว่าการ สตง. ได้ประกาศเอาไว้ นอกจากนี้ในวันดังกล่าวได้มีทหารจำนวนหนึ่งของ คปค. ได้เดินทางมาประจำการอยู่ที่ สตง. อีกด้วย โดยคาดว่าเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีผู้ไม่หวังดี ที่อาจเข้ามาใช้กำลังหรือวิธีการใดๆ เพื่อนำข้อมูลการตรวจสอบการทุจริตของ สตง. ออกไปนั่นเอง
บันทึกการเข้า
หน้า:
[
1
]
ส่งหัวข้อนี้
พิมพ์
กระโดดไป:
เลือกหัวข้อ:
-----------------------------
ทั่วไป
-----------------------------
=> ตะกร้าข่าว
=> ห้องสาธารณะ
=> สภากาแฟ
=> ชายคาพักใจ
=> ร้อยรักษ์กวีวรรณ
=> สโมสรริมน้ำ
-----------------------------
ด้านเทคนิค
-----------------------------
=> ปัญหาการใช้งาน
=> ห้องทดสอบ
===> ทดสอบบอร์ดย่อย
Powered by SMF 1.1.20
|
SMF © 2005, Simple Machines
|
Thai language by ThaiSMF
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.256 วินาที กับ 21 คำสั่ง