เปิดผลสอบซีทีเอ็กซ์ชุด "กล้านรงค์" นั่งเลขาฯ
โดยสตง.จะนำผลสอบสวนของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต วุฒิสภา มาประกอบการพิจารณากรณีความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยคณะกรรมาธิการ ชุดนี้ นอกจากจะมีพล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตส.ว.กทม. เป็นประธาน ยังมีนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการ
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการได้ส่งรายงานผลการพิจารณาสอบสวน กรณีการจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับตรวจจับวัตถุระเบิดประจำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหรือเครื่องซีทีเอ็กซ์ 9000 ไปยังกระทรวงคมนาคม แต่ไม่มีการสั่งการให้ดำเนินการใดๆ จากผู้รับผิดชอบ โดยผลการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการระบุชัดเจนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขณะนั้น รวมทั้งประธานกรรมการ บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) และคณะกรรมการบทม.รวมทั้งเจ้าหน้าที่บทม.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
นอกจากนั้น คณะกรรมาธิการ เห็นว่าสมควรบันทึกพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่และผู้บริหารบทม.ไว้ในรายงานฉบับนี้ว่า ในการสอบสวนดังกล่าว คณะกรรมาธิการได้มีหนังสือเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือขอให้มอบหมายนายศรีสุข จันทรางศุ ประธานกรรมการบทม.หรือเจ้าหน้าที่บทม.ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง หรือจัดส่งเอกสารต่อคณะกรรมาธิการรวม 11 ครั้ง แต่ได้รับความร่วมมือน้อยมาก เจ้าหน้าที่ของบทม.มีพฤติกรรมบ่ายเบี่ยง หลีกเลี่ยง ที่จะมาชี้แจงตามคำเชิญ หรือไม่จัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมาธิการ ผลสอบมัด "ศรีสุข" ผู้บริหารบทม. ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการ ได้แบ่งการสอบสวนออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการจัดซื้อจัดจ้างชุดอุปกรณ์ตรวจจับวัตถุระเบิด ระหว่างบทม.กับกลุ่มไอทีโอ จอยท์เวนเจอร์ ส่วนที่สองเป็นการจัดซื้อจัดจ้างชุดอุปกรณ์ตรวจจับวัตถุระเบิด ระหว่างบทม.กับบริษัท จีอี อินวิชั่น หรือการซื้อตรง และการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมระหว่างบทม.กับกลุ่มไอทีโอ โดยผลการสอบสวนระบุว่า บทม.เป็นหน่วยงานของรัฐ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับของราชการ การที่คณะกรรมการบทม.ยอมทำสัญญาใหม่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มไอทีโอ เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย
จากการสอบสวนดังกล่าว คณะกรรมาธิการ เห็นว่า นายศรีสุข ในฐานะประธานกรรมการ บทม. คณะกรรมการ บทม. ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ บทม. ที่เกี่ยวข้องในการจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์มีความผิดตามกฎหมายหลายบท ต่างกรรมต่างวาระกัน คือ 1.คณะกรรมการต่อรองราคา ซึ่งมีนายอดิเทพ นาคะวิสุทธิ์ ผู้ชำนาญการ 10 เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการต่อรองราคาและจัดจ้างกลุ่มเมอร์ฟีย์ จาห์น แทมส์ แอ็คหรือเอ็มเจทีเอ เป็นผู้ออกแบบปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยในการตรวจสอบสัมภาระแบบ 100% HOLD BAGGAGE IN-LINE SCREENING SYSTEM
ทั้งนี้ คณะกรรมการต่อรองราคา มิได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย กลับเสนอให้ บทม. ยกเลิกการจ้างเอ็มเจทีเอ แล้วเสนอให้จ้างกลุ่มไอทีโอ เป็นผู้ออกแบบปรับปรุงแทน โดยใช้วิธีจ้างงานเพิ่มเติมหรือ VARIATION ORDER ซึ่งเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ บทม. ได้รับความเสียหายอันเป็นความผิดตามมาตรา 11 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
2.คณะกรรมการ บทม. และเจ้าหน้าที่ บทม. รู้อยู่แล้วว่าการดำเนินการโดยวิธี VARIATION ORDER ในงานเปลี่ยนแปลงระบบตรวจสอบสัมภาระ ไม่สามารถกระทำได้ เพราะไม่มีองค์ประกอบที่เอื้อให้กระทำด้วยกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการดังกล่าว แต่กลับมีมติให้ บทม. ออกคำสั่งให้กลุ่มไอทีโอ ดำเนินการเป็น "VARIATION ORDER"
นอกจากนั้น บทม. ยังชี้แจงต่อสาธารณะโดยอ้างว่ากระทำได้ตามข้อ 56 ในสัญญาหลักเดิม เพียงเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจว่า บทม.สามารถสั่งจ้างได้โดยไม่ต้องประกวดราคา แต่ข้อเท็จจริงกลับใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษที่มิชอบ การกระทำของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ บทม. เป็นการจงใจหลบเลี่ยงการกำหนดให้มีคณะกรรมการราคากลาง โดยมีเจตนาเพื่อช่วยกลุ่มไอทีโอ ให้ได้รับประโยชน์โดยมิชอบ ทำให้ บทม.ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 11 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และเป็นความผิดตามมาตรา 11 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
5 บอร์ดบทม.รับคำเชิญแพทริออทฯ 3.คณะกรรมการ บทม. 5 คน คือ นายศรีสุข ประธานกรรมการ พล.อ.สมชัย สมประสงค์ รองประธานกรรมการ นายวิษณุ พูลสุข นายชัยเกษม นิติสิริ และนายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ ยินยอมรับเชิญเดินทางไปดูเครื่องตรวจระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ที่สหรัฐ โดยบริษัทอินวิชั่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องซีทีเอ็กซ์ และนายวรพจน์ ยศะทัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพทริออท บิซิเนส คอนซัลแตนส์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทอินวิชั่น เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นค่าเครื่องบิน ที่พัก อาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
การเดินทางไปดูงานของกลุ่มบุคคลดังกล่าว ควรต้องทราบข้อมูลเครื่องซีทีเอ็กซ์โดยเฉพาะด้านราคา เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างของคณะกรรมการ บทม. อันจะเป็นประโยชน์ต่อบทม.แต่กลับรับราคาเครื่องซีทีเอ็กซ์ตามที่กลุ่มไอทีโอเสนอ ซึ่งมีส่วนต่างของราคาเป็นจำนวนมาก ทำให้ บทม.ได้รับความเสียหาย เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดตามมาตรา 8 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2502 และความผิดตามมาตรา 103 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ประกอบกับ ข้อ 5 (2) ของประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2543 และเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 และมาตรา 13
ชี้ชัดบอร์ดยอมให้ไอทีโอโก่งราคา 4.การจัดจ้างตามสัญญาเพิ่มเติม หรือสัญญา SA#1 เกี่ยวกับงานติดตั้งแท่นเพื่อรองรับเครื่องซีทีเอ็กซ์ งานห้องควบคุม และงานอื่นๆ ซึ่งกลุ่มไอทีโอ ได้เสนอราคาให้ บทม.ตั้งงบประมาณเป็นเงิน 140 ล้านบาท แต่เมื่อมีการทำสัญญาจริงกลุ่มไอทีโอ เสนอราคา 268 ล้านบาท โดยบทม. ยอมรับราคาดังกล่าวและลงนามสัญญา
ส่วนงานเกี่ยวกับระบบสายพานลำเลียง ซึ่งกลุ่มไอทีโอ เสนอราคาให้บทม. ตั้งงบประมาณเป็นเงิน 712 ล้านบาท แต่เมื่อมีการทำสัญญาจริงกลุ่มไอทีโอ เสนอราคารวม 1.4 พันล้านบาท โดยบทม. ยอมรับราคาดังกล่าวและลงนามสัญญา ซึ่งการกระทำของผู้บริหาร บทม. ในกรณีดังกล่าวเป็นการจ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์ของกลุ่มไอทีโอ และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ บทม. อันเป็นความผิดตามมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
5.คณะกรรมการ และผู้บริหาร บทม.ดำเนินการจ้างบริษัท ควอโทรเทค ซึ่งขาดคุณสมบัติตามเงื่อนไขทีโออาร์มาเป็นที่ปรึกษา เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ บทม. อันเป็นความผิดตามมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
สัญญาซื้อตรงส่อนิติกรรมอำพราง 6.กรณี บทม.จ่ายเงินให้กลุ่มไอทีโอ ไปแล้ว 2,990 ล้านบาท แต่กลุ่มไอทีโอ ไม่สามารถส่งเครื่องซีทีเอ็กซ์ 9000 จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สอบสวนเรื่องการให้สินบนของบริษัท จีอี อินวิชั่น การที่ บทม.ไม่บอกเลิกสัญญากับกลุ่มไอทีโอ พร้อมทั้งเรียกเงินคืนและไม่เรียกค่าเสียหายจากการที่กลุ่มไอทีโอ ผิดสัญญา ไม่สามารถส่งมอบเครื่องซีทีเอ็กซ์ได้ตามสัญญา กลับทำสัญญาซื้อขายระหว่างบทม.กลับจีอี อินวิชั่น ที่ส่อว่าเป็นนิติกรรมอำพราง เพื่อให้เห็นว่ามีการทำสัญญาซื้อขายตรง และในขณะเดียวกันได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา SA#1 กับกลุ่มไอทีโอ โดยโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาให้กับกลุ่มไอทีโอ มีผลช่วยให้กลุ่มไอทีโอ ได้เครื่องซีทีเอ็กซ์ 9000 ตามสัญญา
คณะกรรมการบทม. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้ บทม.ได้รับความเสียหายตามมาตรา 8 และมาตรา 11 แห่ง แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
ผลระบุ "สุริยะ"สั่งบอร์ดบทม. 7.การที่คณะกรรมการ บทม. ตัดสินใจกระทำการในข้อ 6. มีพฤติการณ์ต่างๆ อันควรเชื่อได้ว่าได้กระทำไปโดยความรู้เห็นยินยอมและเห็นชอบ หรือมิฉะนั้นก็เป็นการกระทำตามคำสั่งของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขณะนั้น ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของ บทม.โดยตรง เมื่อการกระทำของ บทม. เป็นการช่วยให้กลุ่มไอทีโอ แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบจากการเข้ารับโอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายตรงที่ บทม. ทำกับบริษัท จีอี อินวิชั่น
คณะกรรมาธิการ ระบุว่า การที่นายสุริยะ ให้ความเห็นชอบหรือสั่งให้ บทม. จะทำการอันเป็นความผิดดังกล่าว จึงทำให้นายสุริยะ ตกอยู่ในฐานะเป็นตัวการหรือผู้ใช้ให้คณะกรรมการ บทม.กระทำความผิดดังกล่าวด้วย แต่นายสุริยะ ไม่ได้เป็นพนักงานในองค์การของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ แต่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา การกระทำของนายสุริยะ จึงน่าจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และ157 ประกอบกับมาตรา 83 และมาตรา 84
8.จากหลักฐานที่ปรากฏต่อคณะกรรมาธิการ ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า การที่ บทม.ตัดสินใจทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม SA#1 โดยโอนยกสิทธิตามสัญญาซื้อขายตรงให้กลุ่มไอทีโอ นั้น บทม.ได้ขอหารือหรือขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ซึ่งมีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานก่อนหรือไม่ ในชั้นนี้จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่ามีคณะกรรมการ กทภ.ผู้ใดหรือไม่ ที่ควรต้องถูกสอบสวนดำเนินคดีฐานรวมกระทำความผิดกับคณะกรรมการ บทม. คณะกรรมาธิการ จึงเห็นควรให้มีการสอบสวนต่อไป
ผมคัดลอกจากกรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 กันยายน 2549 มาให้อ่าน
คนต่อต้านทักษิณ คนรักความสุจริต เที่ยงธรรม ชังการฉ้อราษฏร์บังหลวง
จะได้รับรู้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวข้องการคอร์รั่ปชั่น
ในการซื้อเครื่องตรวจสอบระเบิด CTX9000 อย่างไร
พวกเราจะได้รับรู้ว่า ทักษิณ สุริยะ นิติกรบริการ และแกนนำพรรคไทยรักไทย
พูดตรงข้ามความจริงหรือไม่ พวกเขาและคนรักทักษิณใน
เสรีไทยเว็บบอร์ดได้บิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างไร
พวกเราจะได้รับรู้ว่าคนรักทักษิณ สาวกฯ หวอรูมทั้งในและนอก
เสรีไทยเว็บบอร์ดโง่เง่า ยอมให้ทักษิณ "นิติกรบริการ" และแกนนำพรรค ทรท.
ครอบงำความคิดเห็นและวิสัยทัศน์อย่างไร
นอกจากโง่เง่าตามการครอบงำแล้ว ยังพยายามทำตัวเหมือนพวกหมาหางด้วนด้วย ปล. คนรักทักษิณ จะอาศัยวิธีดั่งเดิมที่ใบบอกสั่งสอน อบรมให้ใช้ เช่นการบิดเบือน การทำลายความเชื่อของบุคคลที่ตรวจสอบ ที่ให้ข่าว หรือ ด่าหยาบคาย ต่อไปหรือไม่