http://www.bangkokbiznews.com/2006/09/25/w001_140295.php?news_id=140295ผลสอบซีทีเอ็กซ์ชี้ชัด'สุริยะ-ศรีสุข-บทม.'กระทำผิด
25 กันยายน 2549 08:08 น.
เปิดผลสอบอดีตกรรมาธิการวุฒิสภาชุด "ประทิน" นั่งประธาน "กล้านรงค์" เลขานุการ ผลสอบชี้ชัดโยง "สุริยะ-ศรีสุข-เจ้าหน้าที่บทม." กระทำผิดกฎหมายหลายฉบับ ใช้ "วิธีพิเศษ"จ้างกลุ่มไอทีโอ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ภายหลังคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ได้มีคำสั่งให้ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องนั้น วันนี้ (25 ก.ย.) คณะตรวจสอบกิจการพิเศษสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จะสรุปผลการสอบสวนการทุจริตในโครงการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต่อคุณหญิงจารุวรรณ เมื่อผู้ว่าการ สตง. เห็นชอบแล้ว ก็จะทำเป็นหนังสือเพื่อรายงานไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้ง 9 คน ที่ คปค. เพิ่งมีคำสั่งแต่งตั้ง จากนั้น จะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อหัวหน้าคปค. เพื่อพิจารณาเป็นลำดับสุดท้ายโดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ สตง. ได้เร่งสรุปผลสอบซีทีเอ็กซ์แล้ว แต่เป็นการสอบสวนนอกสำนักงานสตง.
แหล่งข่าวจากสตง. เปิดเผยถึงการตรวจสอบการจัดซื้อชุดอุปกรณ์ตรวจสอบวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ว่าในส่วนของสตง.เป็นการตรวจสอบเกี่ยวกับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้งบประมาณเป็นหลัก สตง.ยังได้รับผลการสอบในส่วนของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตการจัดซื้อซีทีเอ็กซ์ ซึ่งมีพลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ ประธาน ซึ่งได้สรุปผลการตรวจสอบไว้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสตง.ก็ได้มีการตรวจสอบการจัดซื้อเสร็จแล้ว คาดว่าภายในสัปดาห์นี้คุณหญิงจารุวรรณ จะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการรวมทั้งเรื่องให้ป.ป.ช.ดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในส่วนของสตง.มีการสรุปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องไว้ชัดเจน มีทั้งประธานกรรมการ บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) ผู้บริหารบทม. รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและที่ปรึกษารัฐมนตรี โดยมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกว่า 10 คน
"คุณหญิงจารุวรรณและป.ป.ช.จะดำเนินการเอาผิดเกี่ยวการจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์เป็นเรื่องแรก เพราะถือว่ากระบวนการตรวจสอบเสร็จสมบูรณ์แล้ว ที่สำคัญมีบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนมากทั้งข้าราชการ นักการเมือง ที่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย อย่างชัดเจนเรื่องหนึ่ง" แหล่งข่าว กล่าว
เปิดผลสอบซีทีเอ็กซ์ชุด "กล้านรงค์" นั่งเลขาฯ
โดยสตง.จะนำผลสอบสวนของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต วุฒิสภา มาประกอบการพิจารณากรณีความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยคณะกรรมาธิการ ชุดนี้ นอกจากจะมีพล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตส.ว.กทม. เป็นประธาน ยังมีนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการ
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการได้ส่งรายงานผลการพิจารณาสอบสวน กรณีการจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับตรวจจับวัตถุระเบิดประจำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหรือเครื่องซีทีเอ็กซ์ 9000 ไปยังกระทรวงคมนาคม แต่ไม่มีการสั่งการให้ดำเนินการใดๆ จากผู้รับผิดชอบ โดยผลการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการระบุชัดเจนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขณะนั้น รวมทั้งประธานกรรมการ บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) และคณะกรรมการบทม.รวมทั้งเจ้าหน้าที่บทม.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
นอกจากนั้น คณะกรรมาธิการ เห็นว่าสมควรบันทึกพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่และผู้บริหารบทม.ไว้ในรายงานฉบับนี้ว่า ในการสอบสวนดังกล่าว คณะกรรมาธิการได้มีหนังสือเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือขอให้มอบหมายนายศรีสุข จันทรางศุ ประธานกรรมการบทม.หรือเจ้าหน้าที่บทม.ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง หรือจัดส่งเอกสารต่อคณะกรรมาธิการรวม 11 ครั้ง แต่ได้รับความร่วมมือน้อยมาก เจ้าหน้าที่ของบทม.มีพฤติกรรมบ่ายเบี่ยง หลีกเลี่ยง ที่จะมาชี้แจงตามคำเชิญ หรือไม่จัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมาธิการ
ผลสอบมัด "ศรีสุข" ผู้บริหารบทม.
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการ ได้แบ่งการสอบสวนออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการจัดซื้อจัดจ้างชุดอุปกรณ์ตรวจจับวัตถุระเบิด ระหว่างบทม.กับกลุ่มไอทีโอ จอยท์เวนเจอร์ ส่วนที่สองเป็นการจัดซื้อจัดจ้างชุดอุปกรณ์ตรวจจับวัตถุระเบิด ระหว่างบทม.กับบริษัท จีอี อินวิชั่น หรือการซื้อตรง และการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมระหว่างบทม.กับกลุ่มไอทีโอ โดยผลการสอบสวนระบุว่า บทม.เป็นหน่วยงานของรัฐ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับของราชการ การที่คณะกรรมการบทม.ยอมทำสัญญาใหม่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มไอทีโอ เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย
จากการสอบสวนดังกล่าว คณะกรรมาธิการ เห็นว่า นายศรีสุข ในฐานะประธานกรรมการ บทม. คณะกรรมการ บทม. ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ บทม. ที่เกี่ยวข้องในการจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์มีความผิดตามกฎหมายหลายบท ต่างกรรมต่างวาระกัน คือ 1.คณะกรรมการต่อรองราคา ซึ่งมีนายอดิเทพ นาคะวิสุทธิ์ ผู้ชำนาญการ 10 เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการต่อรองราคาและจัดจ้างกลุ่มเมอร์ฟีย์ จาห์น แทมส์ แอ็คหรือเอ็มเจทีเอ เป็นผู้ออกแบบปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยในการตรวจสอบสัมภาระแบบ 100% HOLD BAGGAGE IN-LINE SCREENING SYSTEM
ทั้งนี้ คณะกรรมการต่อรองราคา มิได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย กลับเสนอให้ บทม. ยกเลิกการจ้างเอ็มเจทีเอ แล้วเสนอให้จ้างกลุ่มไอทีโอ เป็นผู้ออกแบบปรับปรุงแทน โดยใช้วิธีจ้างงานเพิ่มเติมหรือ VARIATION ORDER ซึ่งเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ บทม. ได้รับความเสียหายอันเป็นความผิดตามมาตรา 11 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
2.คณะกรรมการ บทม. และเจ้าหน้าที่ บทม. รู้อยู่แล้วว่าการดำเนินการโดยวิธี VARIATION ORDER ในงานเปลี่ยนแปลงระบบตรวจสอบสัมภาระ ไม่สามารถกระทำได้ เพราะไม่มีองค์ประกอบที่เอื้อให้กระทำด้วยกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการดังกล่าว แต่กลับมีมติให้ บทม. ออกคำสั่งให้กลุ่มไอทีโอ ดำเนินการเป็น "VARIATION ORDER"
นอกจากนั้น บทม. ยังชี้แจงต่อสาธารณะโดยอ้างว่ากระทำได้ตามข้อ 56 ในสัญญาหลักเดิม เพียงเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจว่า บทม.สามารถสั่งจ้างได้โดยไม่ต้องประกวดราคา แต่ข้อเท็จจริงกลับใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษที่มิชอบ การกระทำของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ บทม. เป็นการจงใจหลบเลี่ยงการกำหนดให้มีคณะกรรมการราคากลาง โดยมีเจตนาเพื่อช่วยกลุ่มไอทีโอ ให้ได้รับประโยชน์โดยมิชอบ ทำให้ บทม.ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 11 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และเป็นความผิดตามมาตรา 11 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
5 บอร์ดบทม.รับคำเชิญแพทริออทฯ
3.คณะกรรมการ บทม. 5 คน คือ นายศรีสุข ประธานกรรมการ พล.อ.สมชัย สมประสงค์ รองประธานกรรมการ นายวิษณุ พูลสุข นายชัยเกษม นิติสิริ และนายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ ยินยอมรับเชิญเดินทางไปดูเครื่องตรวจระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ที่สหรัฐ โดยบริษัทอินวิชั่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องซีทีเอ็กซ์ และนายวรพจน์ ยศะทัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพทริออท บิซิเนส คอนซัลแตนส์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทอินวิชั่น เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นค่าเครื่องบิน ที่พัก อาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
การเดินทางไปดูงานของกลุ่มบุคคลดังกล่าว ควรต้องทราบข้อมูลเครื่องซีทีเอ็กซ์โดยเฉพาะด้านราคา เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างของคณะกรรมการ บทม. อันจะเป็นประโยชน์ต่อบทม.แต่กลับรับราคาเครื่องซีทีเอ็กซ์ตามที่กลุ่มไอทีโอเสนอ ซึ่งมีส่วนต่างของราคาเป็นจำนวนมาก ทำให้ บทม.ได้รับความเสียหาย เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดตามมาตรา 8 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2502 และความผิดตามมาตรา 103 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ประกอบกับ ข้อ 5 (2) ของประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2543 และเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 และมาตรา 13
ชี้ชัดบอร์ดยอมให้ไอทีโอโก่งราคา
4.การจัดจ้างตามสัญญาเพิ่มเติม หรือสัญญา SA#1 เกี่ยวกับงานติดตั้งแท่นเพื่อรองรับเครื่องซีทีเอ็กซ์ งานห้องควบคุม และงานอื่นๆ ซึ่งกลุ่มไอทีโอ ได้เสนอราคาให้ บทม.ตั้งงบประมาณเป็นเงิน 140 ล้านบาท แต่เมื่อมีการทำสัญญาจริงกลุ่มไอทีโอ เสนอราคา 268 ล้านบาท โดยบทม. ยอมรับราคาดังกล่าวและลงนามสัญญา
ส่วนงานเกี่ยวกับระบบสายพานลำเลียง ซึ่งกลุ่มไอทีโอ เสนอราคาให้บทม. ตั้งงบประมาณเป็นเงิน 712 ล้านบาท แต่เมื่อมีการทำสัญญาจริงกลุ่มไอทีโอ เสนอราคารวม 1.4 พันล้านบาท โดยบทม. ยอมรับราคาดังกล่าวและลงนามสัญญา ซึ่งการกระทำของผู้บริหาร บทม. ในกรณีดังกล่าวเป็นการจ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์ของกลุ่มไอทีโอ และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ บทม. อันเป็นความผิดตามมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
5.คณะกรรมการ และผู้บริหาร บทม.ดำเนินการจ้างบริษัท ควอโทรเทค ซึ่งขาดคุณสมบัติตามเงื่อนไขทีโออาร์มาเป็นที่ปรึกษา เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ บทม. อันเป็นความผิดตามมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
สัญญาซื้อตรงส่อนิติกรรมอำพราง
6.กรณี บทม.จ่ายเงินให้กลุ่มไอทีโอ ไปแล้ว 2,990 ล้านบาท แต่กลุ่มไอทีโอ ไม่สามารถส่งเครื่องซีทีเอ็กซ์ 9000 จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สอบสวนเรื่องการให้สินบนของบริษัท จีอี อินวิชั่น การที่ บทม.ไม่บอกเลิกสัญญากับกลุ่มไอทีโอ พร้อมทั้งเรียกเงินคืนและไม่เรียกค่าเสียหายจากการที่กลุ่มไอทีโอ ผิดสัญญา ไม่สามารถส่งมอบเครื่องซีทีเอ็กซ์ได้ตามสัญญา กลับทำสัญญาซื้อขายระหว่างบทม.กลับจีอี อินวิชั่น ที่ส่อว่าเป็นนิติกรรมอำพราง เพื่อให้เห็นว่ามีการทำสัญญาซื้อขายตรง และในขณะเดียวกันได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา SA#1 กับกลุ่มไอทีโอ โดยโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาให้กับกลุ่มไอทีโอ มีผลช่วยให้กลุ่มไอทีโอ ได้เครื่องซีทีเอ็กซ์ 9000 ตามสัญญา
คณะกรรมการบทม. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้ บทม.ได้รับความเสียหายตามมาตรา 8 และมาตรา 11 แห่ง แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
ผลระบุ "สุริยะ"สั่งบอร์ดบทม.
7.การที่คณะกรรมการ บทม. ตัดสินใจกระทำการในข้อ 6. มีพฤติการณ์ต่างๆ อันควรเชื่อได้ว่าได้กระทำไปโดยความรู้เห็นยินยอมและเห็นชอบ หรือมิฉะนั้นก็เป็นการกระทำตามคำสั่งของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขณะนั้น ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของ บทม.โดยตรง เมื่อการกระทำของ บทม. เป็นการช่วยให้กลุ่มไอทีโอ แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบจากการเข้ารับโอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายตรงที่ บทม. ทำกับบริษัท จีอี อินวิชั่น
คณะกรรมาธิการ ระบุว่า การที่นายสุริยะ ให้ความเห็นชอบหรือสั่งให้ บทม. จะทำการอันเป็นความผิดดังกล่าว จึงทำให้นายสุริยะ ตกอยู่ในฐานะเป็นตัวการหรือผู้ใช้ให้คณะกรรมการ บทม.กระทำความผิดดังกล่าวด้วย แต่นายสุริยะ ไม่ได้เป็นพนักงานในองค์การของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ แต่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา การกระทำของนายสุริยะ จึงน่าจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และ157 ประกอบกับมาตรา 83 และมาตรา 84
8.จากหลักฐานที่ปรากฏต่อคณะกรรมาธิการ ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า การที่ บทม.ตัดสินใจทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม SA#1 โดยโอนยกสิทธิตามสัญญาซื้อขายตรงให้กลุ่มไอทีโอ นั้น บทม.ได้ขอหารือหรือขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ซึ่งมีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานก่อนหรือไม่ ในชั้นนี้จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่ามีคณะกรรมการ กทภ.ผู้ใดหรือไม่ ที่ควรต้องถูกสอบสวนดำเนินคดีฐานรวมกระทำความผิดกับคณะกรรมการ บทม. คณะกรรมาธิการ จึงเห็นควรให้มีการสอบสวนต่อไป