ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
26-04-2024, 04:21
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  คำสารภาพของจอน 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
คำสารภาพของจอน  (อ่าน 612 ครั้ง)
Cherub Rock
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,183


น้องๆ ช่วยไปบอกผู้หญิงคนนั้นที ว่าเลิกมองผมได้แล้ว


« เมื่อ: 24-09-2006, 17:37 »

ความเห็นของจอนในสถานการณ์ปัจจุบัน (2)  พิมพ์บทความนี้

คำสารภาพของจอน

เมื่อ วานนี้ผมได้พูดถึงผลของสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดการแบ่งแยกทางความคิดของ นักเคลื่อนไหวภาคประชาชนและนักวิชาการรักประชาธิปไตยออกเป็นสองฝ่าย

นักเคลื่อนไหวภาคประชาชนและนักวิชาการรักประชาธิปไตยฝ่ายหนึ่ง (ขอเรียกว่า ‘ฝ่าย ก.’)  กำลัง มีอารมณ์โกรธและมีความเสียใจอย่างยิ่งกับรัฐประหาร ไม่มีความเชื่อใจไว้ใจต่อผู้ที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหารครั้งนี้ว่าจะนำ ระบอบประชาธิปไตยมาสถาปนาโดยเร็ว เพราะมองว่าผู้สนับสนุนการรัฐประหารนั้นรวมไปถึงกลุ่มบุคคลที่น่าจะแสวงหา อำนาจไม่ต่างกับการแสวงอำนาจของกลุ่มทักษิณ (รวมไปถึง ‘กลุ่มอำนาจเก่า’ ที่สูญเสียอำนาจในยุครัฐบาลทักษิณและตอนนี้มีโอกาสฟื้นคืนชีพ)  ทั้ง ยืนหยัดในด้านหลักการที่จะคัดค้านการรัฐประหาร การฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ และการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ไม่ว่าในกรณีใด แม้พวกตนจะไม่ชอบรัฐบาลทักษิณและเคยต่อต้านการกระทำของรัฐบาลทักษิณที่ ละเมิดประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรมมาตลอด แต่ก็ไม่สามารถสนับสนุนการแก้ปัญหาทั้งปวงที่ก่อโดยรัฐบาลทักษิณด้วยวิธี การนอกระบอบประชาธิปไตย

นักเคลื่อนไหวภาคประชาชนและนักวิชาการรักประชาธิปไตยอีกฝ่ายหนึ่ง (ขอเรียกว่า ‘ฝ่าย ข.’) กำลังมีอารมณ์ดีใจโล่งใจเพราะดูเหมือนว่าระบอบทักษิณที่ทำลายระบอบ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม สามารถถูกโค่นล้มไปได้ในที่สุด แม้พวกตนจะไม่ชอบการรัฐประหารและเคยต่อต้านการรัฐประหารมาตลอด แต่ในครั้งนี้มองไม่เห็นทางออกที่เป็นทางอื่น เพราะการออกมาชุมนุมต่อต้านตามระบอบประชาธิปไตยมากเท่าไรก็ไม่ได้ผล ความจริงต้องมองว่ารัฐบาลทักษิณเองก็ได้ก่อรัฐประหารมาก่อนหน้านี้แล้ว รัฐประหารครั้งนี้จึงเป็นรัฐประหารซ้อนเพื่อคืนอำนาจแก่ประชาชน แน่นอนไม่ใช่ทางออกที่พึงปรารถนา แต่เราควรให้โอกาสผู้นำรัฐประหารแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของเขาในเจตนาที่ เขาประกาศ และเราควรจะร่วมมือกับเขาในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นระบอบประชาธิปไตย และการส่งเสริมบทบาทภาคประชาชน

แล้ว ผมได้ย้ำว่ายังมีคนในแวดวงภาคประชาชนอีกไม่น้อย ที่มีแนวคิดและมุมมองกระจายอยู่ระหว่างสองขั้วนี้ (แต่ก็คงไม่มีใครสามารถยืนอยู่บนคมมีดได้ ถึงที่สุดทุกคนก็จะล้มไปข้างใดข้างหนึ่งอยู่ดี)

ความจริงนี่อาจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ขบวนการภาคประชาชนที่เกิดการแบ่งขั้วที่ยืนอยู่แทบจะฝั่งตรงกันข้ามกันเลย  (ยิ่งถ้า ‘ฝ่าย ข.’ ไปร่วมมือใกล้ชิดกับคณะรัฐประหารหรือรัฐบาลที่เป็นผลผลิตจากรัฐประหารครั้งนี้)  สมัย 14 – 6 ตุลา 2516-2519 มีขั้วที่เอากับ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) กับไม่เอา พคท.เถียงกันรุนแรง แต่ก็ยังมีจุดร่วมต่อต้านอำนาจมืดฝ่ายขวาอยู่  หลัง 6 ตุลา ขบวนการภาคประชาชนแทบจะสามัคคีกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแม้นระหว่างฝ่ายเข้าป่ากับฝ่ายสันติวิธี  ในเหตุการณ์พฤษภา 2535 เกิดความร่วมมือกันในวงกว้าง (ความขัดแย้งมีแค่มุมมองเกี่ยวกับจำลอง)  ส่วน การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปีนี้เป็นจุดเริ่มต้น ของรอยร้าวใหม่ แต่ยังมีจุดร่วมกันในการต่อต้านทักษิณดำรงอยู่ จุดต่างอยู่ที่วิธีการต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม (เหมือนทุกครั้ง)  แต่บัดนี้ขั้วทั้งสองกำลังหันกระบอกปืนของจุดยืนใส่กันและกันโดยตรง เพราะไม่มีเรื่องการต่อต้านทักษิณเป็นจุดร่วมอีกแล้ว

ผม อยากเสนอว่าในความขัดแย้งปัจจุบันเรากำลังลืมนึกถึงรากหญ้าแห่งอุดมการณ์ ภาคประชาชนอันได้แก่ประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชน เสรีภาพสื่อ สิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน สันติภาพและความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งผมเชื่อว่ายังคงเป็นอุดมการณ์ร่วมกันทั้งของนักเคลื่อนไหว ‘ฝ่าย ก.’ และ ‘ฝ่าย ข.’

ผม ยืนยันในสิทธิของทั้งสองฝ่ายที่จะแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกทางอื่นต่อ รัฐประหารครั้งนี้ตามความเชื่อของตน ไม่ว่าจะประณามหรือปกปัองคณะรัฐประหาร แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการประณามกันเองอย่างรุนแรงด้วยความสะใจในอารมณ์ เพราะยังมีภารกิจมากมายที่จะต้องทำงานร่วมกันต่อไป  โดยเฉพาะในด้านการปฏิรูปสังคมและการเมือง และถ้าต่อไปปรากฏว่าความกลัวของ ‘ฝ่าย ก.’ กลายเป็นจริง เราก็จะต้องร่วมมือกันทั้งสองฝ่ายในการต่อต้านอำนาจเผด็จการต่อไป  แม้ ในขณะนี้เองเราควรจะต้องสร้างแนวร่วมภาคประชาชนเพื่อรณรงค์เรียกร้องการ เลิกปิดกั้นเสรีภาพสื่อและเสรีภาพการชุมนุมอย่างสงบโดยเร่งด่วน และเรียกร้องธรรมนูญชั่วคราวที่ประกันสิทธิของประชาชน สิทธิชุมชน และเสรีภาพของสื่อ ไม่น้อยไปกว่าระดับที่กำหนดในรัฐธรรมนูญปี 2540

ส่วนระหว่าง ‘ฝ่าย ก.’ กับ ‘ฝ่าย ข.’ มุม มองของใครจะถูกหรือผิดนั้น กาลเวลาย่อมจะต้องพิสูจน์ ผมอยากเสนอว่าเราควรจัดสัมมนาร่วมกันเพื่อประเมินสถานการณ์และสรุปบทเรียน ครั้งแรกในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ (หนึ่งเดือนหลังรัฐประหาร) และครั้งที่สองในวันที่ 19 กันยายน 2550 (หนึ่งปีหลังรัฐประหาร) ถ้าไม่มีใครอื่นจัดผมเสนอให้ประชาไทจัดเอง เพราะฉะนั้นแทนที่จะด่ากันไปด่ากันมา เราร่วมกันประเมินสถานการณ์จากความเป็นจริงและหาทางออกร่วมกันไม่ดีกว่าหรือ ?

ผมมีความเห็นว่าจุดยืนและมุมมองที่ต่างกันระหว่าง ‘ฝ่าย ก.’ กับ ‘ฝ่าย ข.’ มาจากการประเมินที่ต่างกันในเรื่อง

(ก) ระดับความเสียหายต่อสังคมไทยและต่อระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลทักษิณได้ก่อขึ้น  และ

(ข) โอกาสแก้ไขวิกฤติของรัฐบาลทักษิณโดยวิถีทางประชาธิปไตยก่อนที่ความเสียหายจะกลายเป็นความหายนะ

(ค) ระหว่างการดำรงต่อไปของอำนาจทักษิณกับการรัฐประหารระยะสั้นเพื่อฟื้นโครงสร้างประชาธิปไตย อันไหนเลวร้ายน้อยกว่ากัน (lesser evil) 

(ง) ประชาธิปไตยงอกมาจากกระบอกปืนเป็นไปได้หรือไม่

(จ) เป็นไปได้หรือที่กลุ่มผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหารครั้งนี้ (คงไม่ใช่แค่คนที่เป็นหัวหน้าโดยตำแหน่ง) จะไม่แสวงอำนาจแก่ตนเองและพวกพ้องต่อไปเหมือนพวกทักษิณ

และอีกประการหนึ่งมีความแตกต่างที่สำคัญระหว่างผู้ที่พร้อมจะยืดหยุ่นหลักการในสถานการณ์ที่เห็นว่ามีความจำเป็น (‘realistic’) ซึ่งย่อมถูกสงสัยและกล่าวหาได้ว่าเป็นผู้ไร้หลักการ กับผู้ที่ยึดถือหลักการว่า  ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายอย่างไรก็ตาม ตนก็จะยังยืนหยัดในวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น (‘principled’) ซึ่งแน่นอนเป็นผู้ที่ยึดพื้นที่คุณธรรม (‘high moral ground’) แต่ไม่รู้ว่าจะหลง ‘ความถูกต้อง’ ของตัวเอง (‘righteousness’) มากไปหรือเปล่า

คราว นี้ก็มาถึงคำสารภาพของผม เพราะผมได้บอกไว้ในบทความผมตอนที่แล้วว่าผมจะพยายามเปิดเผยจุดยืนของตัวเอง อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย จะบอกให้ !

ผม มีความรู้สึกว่าผมได้หลอกลวงเพื่อนผมเช่นคุณแหม่มหรืออาจารย์ธงชัยที่ผมนับ ถือแต่ไม่รู้จักโดยส่วนตัวว่าผมอยู่ฝ่ายคัดค้านรัฐประหาร เพราะผมรีบออกมาเรียกร้องการคืนสิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งโดยด่วนที่สุด (ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมเห็นว่าเราต้องร่วมกันเรียกร้องอย่างหนักแน่น)

บอกให้ก็ได้ว่าผมอยู่ ‘ฝ่าย ข.’

ที่ รู้ตัวตรงนี้เป็นเพราะว่า เมื่อผมรู้ว่าเกิดรัฐประหารโค่นทักษิณ ผมรู้สึกโล่งใจถึงที่สุดเลย ทั้งยังตื่นเต้น และรู้สึกมีความหวังสำหรับอนาคต อย่างนี้ผมคงไม่สามารถบอกใครได้ว่าผมอยู่ ‘ฝ่าย ก.’ ทั้งๆ ที่ ถ้าถามผมก่อนนั้นว่าผมเห็นด้วยกับการรัฐประหารล้มทักษิณหรือไม่ ผมก็จะตอบว่าผมไม่เห็นด้วย

ผมมีความรู้สึกละอายคล้ายเพื่อนของผมที่เขียนไว้ในอีเมล์ว่า

“ผม ขอแสดงความรู้สึกส่วนตัวว่า รู้สึกโล่งใจในระดับหนึ่งที่มีกระบวนการหยุดอำนาจบ้าคลั่งภายใต้เสื้อ ประชาธิปไตยของอดีตรัฐบาลทักษิณ แม้ว่ากระบวนนั้นจะดูไม่สร้างสรรค์ต่ออายตนะทั้ง ๖ ของนักประชาธิปไตยสุดขั้ว ผมเองก็ขอเรียนว่าไม่ชอบเผด็จการทหารเลย แต่ก็ทุกข์ใจกับเผด็จการประชาธิปไตยของทักษิณมาหลายปีเช่นกัน และแม้ใจจะอยากให้สถานการณ์ค่อยๆ คลี่คลายตัวเอง แต่เมื่อติดตามเหตุการณ์ภาคใต้มาตลอด (และคลุกคลี กับปัญหาภาคใต้มาตั้งแต่เตรียมตัวจบจาก จปร จนเป็นว่าที่ร้อยตรีที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ปัตตานี สะพายเป้ลงรถไฟที่สถานีโคกโพธิ์) จนล่าสุดระเบิดที่หาดใหญ่ ผมตั้งคำถามกับตัวเองทันทีว่าเอาไงดี ปล่อยให้สถานการณ์คลี่คลายตัวเองหรือ มันต่างกับสถานการณ์ใน กทม. หรือภูมิภาคอื่นที่อาจ เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการประชาธิปไตยที่คนไทยกำลังเรียนรู้ แต่เหตุการณ์ภาคใต้ไม่ใช่กระบวนการเรียนรู้ทางประชาธิปไตยครับ ไม่สามารถเสี่ยงให้คลี่คลายตัวเองได้ จะเอาไงกันดี (แล้วลองวิเคราะห์ท่าทีทักษิณกับคนในรัฐบาลด้วยว่าแคร์ปัญหาภาคใต้เพียงใด)

ผมจึงนึกละอายเหมือนกันที่บอกว่ารู้สึกดีขึ้นเมื่อมีการหยุด (ระบอบ) ทักษิณ (ด้วยการรัฐประหาร) แต่ผมหาคำตอบอื่นไม่ได้ ณ เวลานั้น”

ผม เองก็เป็นคนที่ประเมินความเสียหายที่ก่อโดยรัฐบาลทักษิณสูงมากเช่นเดียวกับ เพื่อนของผม (ผมจะอธิบายเหตุผลของผมในตอนต่อไป) ผมถือว่าทักษิณได้วางยาพิษสังคมไทยทั้งสังคมมายาวนานแล้ว ในรูปแบบของรัฐประหารที่มองไม่เห็น ทั้งยังได้สร้างความแตกแยกความขัดแย้งความรุนแรงในสังคมไทยที่ยากจะเยียวยา ได้ (หัวหน้าคณะปฏิรูปพูดถูก)

ดัง นั้น ผมรู้สึกว่ารัฐประหารโค่นทักษิณก็คงไม่สามารถก่อให้เกิดสถานการณ์ที่เลว ร้ายไปกว่านั้น แต่เราพอจะหวังได้ว่าอาจนำไปสู่อะไรที่ดีขึ้น  เสมือนรัฐบาลเปรมในอดีตที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแต่ก็ยังดีกว่ารัฐบาลธานินทร์   (แต่ในยุคนี้ผมไม่เอารัฐบาล ‘เปรม’ อีกนะ)

อย่างไรก็ตามผมมีสันดานเป็นคนเจ้าชู้ และตอนนี้ผมรู้สึกหลงรักและผูกพันกับ ‘ฝ่าย ก.’ มากกว่า ‘ฝ่าย ข.’ (ทั้งๆ ที่ค่อนข้างหมั่นไส้กับโวหารของ ‘ฝ่าย ก.’) เพราะผมผิดหวังกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเสรีภาพสื่อมวลชนโดย คณะรัฐประหาร รวมทั้งการฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญทั้งดุ้นที่เกิดขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าไม่ใช่มาตรการที่จำเป็นสำหรับการรักษาความสงบ

ผมรู้สึกผิดหวังต่อสื่อมวลชนที่ไม่ยอมทำหน้าที่ของสื่อ และผมรู้สึกผิดหวังต่อคนใน ‘ฝ่าย ข.’ ที่อยู่นิ่งเฉย ไม่ออกมาเรียกร้องอะไรเลยจากคณะรัฐประหาร และกลัวว่า ‘ฝ่าย ข.’ บางคนจะกลายเป็น ‘พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช’ และ ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ แห่งอนาคต บอกตรงๆ ว่าผมไว้ใจคนใน ‘ฝ่าย ก.’ มากกว่า ‘ฝ่าย ข.’ ในแง่ของการไม่ทรยศต่อหลักการ แต่ก็มีหลายคนที่อยู่ใน ‘ฝ่าย ข.’ ร่วมกับผมที่ผมไว้ใจเชื่อใจนับถือเช่นเดียวกันกับคนใน “ฝ่าย ก.”

ผม พร้อมจะมองผู้ทำรัฐประหารครั้งนี้ (โดยเฉพาะหัวหน้า) ในแง่ดีและพร้อมที่จะให้โอกาสเขาพิสูจน์เจตนารมณ์ที่เขาประกาศโดยฉับไว นี่เป็นเหตุผลที่ผมตัดสินใจไม่ร่วมการประท้วงรัฐประหารเมื่อวานนี้(22ก.ย.) แต่ระหว่างนี้ถ้าจะให้ผมอยู่เฉยๆ ไม่เรียกร้องการคืนประชาธิปไตยโดยเร่งด่วน ผมก็ยอมไม่ได้ และผมขอเรียกร้องพวกเราใน ‘ฝ่าย ข.’ ทุกคนที่มีความจริงใจในหลักประชาธิปไตยให้ออกมาเคลื่อนร่วมกับ ‘ฝ่าย ก.’ เพื่อการคืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว และผมขอเรียกร้องคนใน  ‘ฝ่าย ก.’ ไม่ให้เรียกร้องแค่รูปแบบประชาธิปไตยเท่านั้นแต่ให้สนใจและใส่ใจในการเรียก ร้องการปฏิรูปทางสังคม เช่นการสร้างหลักประกันในสิทธิชุมชนและความเป็นธรรมทางสังคม รวมทั้งการเสริมอำนาจต่อรองของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม ควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางการเมือง

จอน อึ๊งภากรณ์

23 กันยายน 2549
บันทึกการเข้า

"นายกรัฐมนตรีกำลังใช้รัฐสภาประกอบพิธีกรรมสถาปนาอำนาจของตนเองโดยเห็นรัฐสภาเป็นเพียงแค่ตรายาง และปล่อยให้มีการทำร้ายประชาชนถือว่าหมดความชอบธรรมแล้ว" รสนา โตสิตระกูล
Cherub Rock
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,183


น้องๆ ช่วยไปบอกผู้หญิงคนนั้นที ว่าเลิกมองผมได้แล้ว


« ตอบ #1 เมื่อ: 24-09-2006, 17:38 »

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=5106&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

อันนี้เป็นตอนที่ 1
http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=5076&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai
บันทึกการเข้า

"นายกรัฐมนตรีกำลังใช้รัฐสภาประกอบพิธีกรรมสถาปนาอำนาจของตนเองโดยเห็นรัฐสภาเป็นเพียงแค่ตรายาง และปล่อยให้มีการทำร้ายประชาชนถือว่าหมดความชอบธรรมแล้ว" รสนา โตสิตระกูล
meriwa
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 1,100



เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 24-09-2006, 18:05 »

ไม่ทราบว่า อ.ที่ออกมาค้าน คปค.  เคยดูรายการข่าวที่มีการนำเสนอ  พระรูปหนึ่งที่คอยดูแลแม่ซึ่งเป็นอัมพาต คอยอาบน้ำเช็ดตัวให้ หรือเปล่า       นั่นละครับมันหลักการเดียวกันเลย   ไม่อยากอธิบายมากน่าจะคิดกันได้

การปกครองแต่ละรูปแบบมันมีจุดดีจุดด้อยต่างกันไป ไม่มีอะไรที่ดีไม่มีทีติ   และเมื่อใช้ไปนานๆ มันก็ต้องเสื่อมเป็นธรรมดา  หากมัวแต่ยึดหลักการโดยไม่มองความเป็นจริงว่ามันแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ได้หรือไม่   มันก็เหมือนกับการเดินย่ำอยู่กับที่มากกว่า  ไม่ได้เรียกว่าพัฒนาแต่อย่างไร
บันทึกการเข้า

ผู้ปกครองระดับธรรมดา   ใช้ความสามารถของตน    อย่างเต็มที่
ผู้ปกครองระดับกลาง       ใช้กำลังของคนอื่น             อย่างเต็มที่
ผู้ปกครองระดับสูง           ใช้ปัญญาของคนอื่น           อย่างเต็มที่

                                                                  ...คำคมขงเบ้ง
คนจร(หมอนหมิ่น)
สมาชิกสามัญขั้นที่ 2
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 72


ปัญหาทุกอย่างย่อมมีหนทางแก้ไขอยู่ภายในตัวของมันเอง


« ตอบ #3 เมื่อ: 24-09-2006, 19:07 »

"ผมขอเรียกร้องคนใน  ‘ฝ่าย ก.’ ไม่ให้เรียกร้องแค่รูปแบบประชาธิปไตยเท่านั้นแต่ให้สนใจและใส่ใจในการเรียก ร้องการปฏิรูปทางสังคม เช่นการสร้างหลักประกันในสิทธิชุมชนและความเป็นธรรมทางสังคม รวมทั้งการเสริมอำนาจต่อรองของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม ควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางการเมือง"

เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ...แต่ไม่ใช่ตอนนี้ คนที่เพิ่งผาตัดมากำลังพักพื้น รอให้ร่างกายเริ่มทุเลาก่อนแล้วถึงค่อยทำกายภาพบำบัดมิใช่หรือครับ และอีกอย่างการทำกายภาพไม่ได้อยู่ที่หมอนะครับ แต่มันอยู่ที่คนไข้ว่าจะมีกำลังใจแค่ไหนในการที่จะประคับประคองตัวเองจากความเจ็บปวด..อุปมาอุปมัยเช่นเดียวกันครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24-09-2006, 19:11 โดย คนจร(หมอนหมิ่น) » บันทึกการเข้า

ใจเราเป็นใหญ่ กายเราเป็นบริวาร อย่าให้สิ่งไม่ดีครอบครองจิตใจของเรา#330
หน้า: [1]
    กระโดดไป: