http://www.bangkokbiznews.com/2006/09/24/w017_139388.php?news_id=139388 นักวิชาการ นักคิด ผู้นำทางสังคม หนุน คณะปฏิรูป แนะเร่งคืนอำนาจโดยเร็ว 20 กันยายน 2549 20:38 น.
หลังเกิดเหตุการณ์คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อคืนวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา นักวิชาการ นักคิด ผู้นำทางสังคม ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
โดยหลักการต่างเห็นถึงเงื่อนไขความจำเป็นที่เกิดขึ้น และแม้จะไม่เห็นด้วยในหลักการ แต่เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว จึงได้เสนอทางออกต่างๆ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองตามเจตนารมณ์ที่ได้แสดงไว้กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ปริญญา เชื่อเจตนา ทหารอยากแก้วิกฤติ
ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง การรัฐประหาร ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่า
เชื่อว่าคณะปฏิรูปมีเจตนาต้องการแก้วิกฤติที่เกิดขึ้น จากการแถลงการณ์ที่บอกว่าไม่ต้องการเข้ามาบริหารประเทศเอง แต่ต้องการแก้วิกฤติประเทศ ซึ่งต่างจากการปฏิวัติเมื่อ ปี พ.ศ.2534 ที่เป็นการแย่งอำนาจกัน ซึ่งในปี พ.ศ.2534 มีการตั้งพรรคการเมือง และใช้การยึดทรัพย์มาเป็นประเด็นในการต่อรองกัน ถึงได้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ตามมา แต่ครั้งนี้เชื่อ ผบ.ทบ.จะแก้วิกฤติประเทศ โดยส่วนตัว ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ แต่เมื่อทำไปแล้ว จะทำอย่างไรให้บ้านเมืองเสียหาย บอบช้ำน้อยที่สุด การปฏิวัติ รัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ เหมือนกับการรักษามะเร็งด้วยวิธีการใช้คีโม มันแรงมาก แม้รักษามะเร็งได้ แต่ร่างกายมันตายไปด้วย การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มันใช้เวลานาน ตอนปี 2535 กว่าจะเลือกตั้งได้ก็ใช้เวลา 13 เดือน ทั้งที่ พล.อ.สุจินดา บอกจะใช้เวลาให้มีการเลือกตั้งภายใน 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติครั้งนี้ เชื่อว่าจะไม่นำไปสู่ความรุนแรง ถ้าคณะปฏิรูปไม่ได้ทำให้เกิดชนวน เพราะคณะปฏิรูปบอกว่าจะไม่เข้ามาบริหารประเทศเอง แต่จะต้องทำให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว
แนะทางออกใช้รัฐธรรมนูญบางส่วนจัดเลือกตั้งโดยเร็ว
การปฏิวัติครั้งนี้ตนคิดว่า หากจะให้บอบช้ำน้อยสุดคือ เพียงงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา แต่คณะปฏิรูปเลิกหมด อาจจะเป็นเพราะท่านไม่รู้ หรือจะเป็นประเพณีของการปฏิวัติรัฐประหาร ที่เมื่อกระทำการแล้ว จะต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ เพราะการเลือกตั้งตนคิดว่าจะต้องมีให้เร็วที่สุด เข้าใจว่าผู้นำกองทัพท่านคงไม่ทราบว่าไม่เลิกก็ได้ เพียงแค่งดใช้บางมาตรา เช่น ข้อที่ว่านายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.
การยึดอำนาจทุกครั้งในอดีตที่ผ่านมา นอกจากฉีกรัฐธรรมนูญยกเลิก ครม. สภาผู้แทน และจะยุบพรรคการเมืองเสมอ ยกเว้นครั้งเดียวคือ 2534 ทำให้เลือกตั้งได้เร็ว แต่ก็ต้องใช้เวลา 13 เดือน จึงจะเลือกตั้งได้ แต่ครั้งนี้ไม่ทราบว่าจะยุบพรรคการเมืองหรือไม่ ถ้ายุบจริงจะใช้เวลานานกว่าจะให้มีการเลือกตั้ง
ผมไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ แต่หากจะให้เสนอแนะ เห็นว่าสามารถที่จะใช้คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองเองออกคำสั่งนำรัฐธรรมนูญกลับมาใช้ในบางมาตรา เพื่อให้ทุกอย่างเดินไปเร็วขึ้น หากจะรอฉบับใหม่มันไม่ทัน มันใช้เวลาเป็นปี" "
เสนอดำเนินการยึดทรัพย์โดยศาล
ส่วนการยึดทรัพย์ ในการตัดสินว่าใครทำผิดกฎหมายหรือไม่ต้องใช้กระบวนการของศาล กลไกเรามีอยู่แล้ว ควรเอากลับมาไว้ก่อน อาจจะตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ก่อนส่งศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งใช้เวลาดำเนินการไม่นานนักใช้เวลาไม่ถึงปี เพราะมีศาลเดียวจบ ไม่มีอุทธรณ์ และสามารถอายัดทรัพย์ไว้ก่อนได้
นอกจากนี้ ไม่ควรใช้คำสั่งคณะปฏิรูป และกฎอัยการศึก และคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน ซึ่งอำนาจยกเลิกเป็นของนายกรัฐมนตรีสามารถเลิกได้
คณะปฏิรูปจะต้องดูบทเรียน รสช.อย่าเข้าไปแตะ อย่าไปยุ่งในการร่างรัฐธรรมนูญไม่เช่นนั้น จะตกอยู่ในบ่วง เพราะ พล.อ.สุจินดา ก็พูดว่าจะไม่บริหารเหมือนกัน แต่ในที่สุด ก็เกิดการนองเลือด หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นทหารเสียหายมาก ถูกประชาชนบอยคอต
นอกจากนี้ หากเราไม่วางกฎเกณฑ์ให้ชัดเพื่อให้เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหารเป็นครั้งสุดท้าย เพราะเมื่อ 2535 ก็พูดว่าครั้งนั้นจะเป็นครั้งสุดท้าย แต่หลังจากนั้น 15 ปี มันก็เกิดขึ้นอีก แล้วเมื่อไรรัฐธรรมนูญบ้านเมืองเราจะเข้มแข็งเสียที รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะต้องอยู่ให้สั้นที่สุด คิดว่าประมาณ 4-5 เดือน จะต้องมีการเลือกตั้ง
"เสน่ห์" ระบุรัฐประหารเป็นทางออกที่เหลืออยู่ นายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึง
เหตุการณ์รัฐประหาร ว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นทางออกที่เหลืออยู่ ความจริงเรื่องนี้ถูกพูดกันมานานแล้ว เพียงแต่สถานการณ์ถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้น และคณะผู้กระทำการก็คงตระหนักว่า สิ่งที่ทำเป็นอย่างไร เพราะจากคำแถลงการณ์ที่ออกมาเมื่อคืนนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ต้องการทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด "อย่ามองว่ามันถอยหลัง เพราะเราถอยหลังมาจนถึงจุดแล้ว และรัฐธรรมนูญถูกต้อนเข้ามุม
ดังนั้น ส่วนตัวผมมองว่ามันไม่ใช่เรื่องเดินหน้าหรือถอยหลัง แต่เป็นเรื่องของการแก้สถานการณ์ และหลังจากนี้ ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนและสื่อมวลชนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป"
สำหรับการคืนอำนาจให้ประชาชนในระยะต่อไป อย่ามองการคืนอำนาจเพียงแค่การเลือกตั้งหรือการแก้รัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น แต่จะต้องคืนอำนาจให้ท้องถิ่นให้รากหญ้า โดยกระจายอำนาจออกไป เพราะที่ผ่านมา ไม่มีการกระทำอย่างนี้กระบวนการตรวจสอบจึงไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ