น่าสนใจมากนะคะ
http://www.komchadluek.net/2006/09/scoop/p001_49604.php?news_id=49604เผยเบื้องลึกเหตุ ผบ.ทบ.ชิงยึดอำนาจ ตั้งข้อสังเกตแถลงการณ์นายกฯ ฉับไวราวกับร่างขึ้นมาก่อน แฉมีนักการเมืองเตรียมกำลัง 200 คน เตรียมป่วนชุมนุมใหญ่ ก่อนหาช่องเคลื่อนกำลังปราบปราม
หลังเหตุเข้ายึดอำนาจการปกครองอย่างปัจจุบันทันด่วน พลันก็เกิด "เครื่องหมายคำถาม" ว่า เหตุใดคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงออก "คำสั่งฉบับที่ 9/2549" เรื่อง ให้ นายยงยุทธ ติยะไพรัช และ นายเนวิน ชิดชอบ ไปรายงานตัว ?
คำสั่งฉบับดังกล่าวให้เหตุผลว่า "...เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา และอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินของคณะปฏิรูป..."
ปุจฉาข้อแรก ก็คือ นายเนวิน และนายยงยุทธ เป็น "ปัญหา" และ "อุปสรรค" ต่อการบริหารราชการแผ่นดินของคณะปฏิรูปอย่างไร !?
ปุจฉาข้อต่อมา คือ ทำไมจึงต้องเลือก "หมายหัว" เฉพาะสองคนนี้ !?
เพื่อไขปริศนาที่ว่า เราคงต้องย้อนไปตรวจสอบ และ "ตั้งข้อสังเกต" การประกาศ "ภาวะฉุกเฉิน" ข้ามทวีป เมื่อวันที่ 19 กันยายน
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะดูประหลาดใจกับการรัฐประหาร จานด่วนครั้งนี้ และรีบประกาศภาวะฉุกเฉินข้ามทวีปมาอย่างเร่งด่วน ทั้งยังสั่งเด้ง ผบ.ทบ.เข้ากรุที่สำนักนายกฯ แต่ถ้อยแถลงของ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับขัดเกลาด้วยถ้อยคำที่สละสลวย ครบถ้วนตามที่นักกฎหมายมือฉมังพึงจะเขียน
ตามรายงานข่าวของ "ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย" ซึ่งเกาะติดความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ณ มหานครนิวยอร์ก รายงานว่า เมื่อช่วงเวลา 07.00 น. (ตามเวลาสหรัฐ) ซึ่งตรงกับเวลา 19.00 น. ของประเทศไทย เป็นช่วงเวลาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เริ่มรู้ว่ามีความเคลื่อนไหวในการยึดอำนาจ จึงเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้อง และเรียกผู้สื่อข่าวโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) เข้าพบ เพื่อขอให้ประสานสัญญาณเพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ทีวีพูลปฏิเสธให้สัญญาณ ทำให้นายกฯ อารมณ์หงุดหงิด สีหน้าไม่สู้ดี
จากนั้นนายกฯ ให้ทีมงานประสานไปยังสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ส่วนสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และไอทีวี เบื้องต้นยอมรับที่จะลิงค์สัญญาณจากสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ แต่เกิดเหตุขัดข้องไม่สามารถออกอากาศได้ ดังนั้น จึงออกอากาศได้ทางโมเดิร์นไนน์ช่องเดียว
พ.ต.ท.ทักษิณ อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เมื่อเวลาประมาณ 21.15 น. (ภายหลังจากทราบข่าวราวๆ 2 ชั่วโมง)
แถลงการณ์ฉบับที่ 2 และ 3 ถูกอ่านติดต่อกัน อย่างคล่องแคล่ว และถูกต้องตามหลักกฎหมาย ทั้งที่ไม่มี "เนติบริกร" ติดตามไปด้วยแม้แต่คนเดียว
ลองย้อนไปดู (อ่าน) แถลงการณ์ฉบับที่ 1 และ 2 (บางตอน) ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ อ่านได้เพียงรอบเดียว แต่ยังไม่ทันจบก็ถูกทหารบุกไปที่สถานีโทรทัศน์ และสั่ง "ตัดสัญญาณ" การถ่ายทอดสดในเวลาต่อมา...
บางตอนของแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ระบุว่า
"...ในภาวะความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างร้ายแรง...อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5, 6, 11 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548...นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 เวลา 21.15 น. ..."
บางส่วนขอแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ระบุว่า
"...เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างฉุกเฉินและทันท่วงที...จึงให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และให้รายงานตัวต่อ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการนายกรัฐมนตรี..."
แถลงการณ์ฉบับที่ 3 นายกรัฐมนตรีประกาศว่า อาศัยอำนาจตามมาตรา 7 วรรคสี่และหก และมาตรา 10 ของ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ผู้กำกับการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจึงมีคำสั่งดังนี้ ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน มีอำนาจในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในถ้อยแถลงมีคำที่น่าสนใจยิ่ง คือ คำว่า "สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร"
คำถามก็คือ การทำ "รัฐประหาร" แม้จะถือว่าเข้าข่าย "สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง" แต่การรายงานข่าวของสำนักข่าวจากทั่วโลก ที่รับรู้ข่าวการทำรัฐประหารในครั้งนี้ กลับระบุว่า เต็มไปด้วยความสงบเรียบร้อยปราศจากการนองเลือด
หรือยังมีสถานการณ์ฉุกเฉินและมีความร้ายแรงอื่นอีก ?
หากไม่มีการทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน การชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็จะมีขึ้นในเย็นวันที่ 20 กันยายน
เป็นการชุมนุมที่หลายฝ่ายเชื่อว่า จะมีเหตุป่วนชุมนุม จนอาจจะถึงขั้นม็อบชนม็อบ จนถึงขั้นรุนแรงกว่าเหตุการณ์ที่เซ็นทรัลเวิลด์ รวมทั้งสยามพารากอน
ข่าวลับที่ไหลเข้ามายังหน่วยงานข่าวของรัฐนั้น ระบุว่า มีการระดมคนประมาณ 200 คน ซึ่งได้แก่ วินจักรยานยนต์รับจ้าง, รปภ., นักเลงหัวไม้ และลูกจ้างส่วนราชการแห่งหนึ่ง เพื่อมา "ป่วน" การชุมนุม
ประเมินกันว่า สถานการณ์อาจร้ายแรงจนถึงขั้นปาระเบิดสังหาร !!!
ซึ่งหากเกิดเหตุเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าได้เกิด "เหตุฉุกเฉินร้ายแรง" ขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครแล้ว
สมเหตุสมผลที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
สมเหตุสมผลที่จะปลด พล.อ.สนธิ และแต่งตั้งให้ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.ทหารสูงสุด เป็นหัวหน้ารับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
อาจเป็นเรื่องประจวบเหมาะ หรือความรอบคอบที่ต้องเตรียม "ร่างประกาศภาวะฉุกเฉิน" ติดตัวไปในเมืองนอก
ทำให้เวลาแค่ชั่วโมงเศษ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็พร้อมงัดประกาศดังกล่าวมาใช้สกัดการเข้ายึดอำนาจการปกครองของคณะปฏิรูป ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
ขณะเดียวกัน นี่จึงอาจเป็นสาเหตุที่ พล.อ.สนธิ แสดงอาการอึกอัก เมื่อถูกถามว่า คิดไว้นานแค่ไหนก่อนที่จะเข้ายึดอำนาจ ?
ขณะเดียวกัน คำตอบที่ว่า 2 วันนั้นใช่คำตอบที่แท้จริงหรือไม่ ?
ใช่สถานการณ์ที่เรียกว่า "แผนแตก" จนทำให้อีกฝ่ายต้องตัดสินใจชิงลงมือหรือไม่ ?
ทีมข่าวความมั่นคง