ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
20-04-2024, 21:16
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  **5 ปี กับระบบการศึกษาไทยภายใต้อุ้งเท้าไทยรักไทย** 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
**5 ปี กับระบบการศึกษาไทยภายใต้อุ้งเท้าไทยรักไทย**  (อ่าน 1385 ครั้ง)
*bonny
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,459



« เมื่อ: 18-04-2006, 09:06 »

พรรคไทยรักไทยในยุคแรกๆ ชูประเด็นปฏิรูปการศึกษาเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล  โดย..สมอ้างว่า การศึกษาที่ผ่านมานั้น ล้มเหลว ทำให้เด็กไทยคิดไม่เป็น เอาแต่กวดวิชา และไม่มีการพัฒนา

พอเข้ามาจับงานปุ๊บ ก็ปรับเปลี่ยนทุกอย่างเท่าที่ตัวเองคิดว่า นี่คือ สิ่งที่ถูกต้องและสมควรจะเป็น โดยลอกเลียนแบบมาจากวัฒนธรรมตะวันตก  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อังกฤษและอเมริกา ที่เป็นต้นแบบของระบบการศึกษาที่คนไทยหลายคนบูชายกย่อง

สิ่งที่ไม่เคยทำการบ้านมาเลย คือ ศึกษาผลกระทบในการดำเนินนโยบายหลักนั้นๆ ในระยะสั้นและระยะยาว  ไม่ใช่เฉพาะแวดวงการศึกษาเท่านั้นแต่เป็นทุกกระทรวงที่รัฐบาลไทยรักไทย ริเริ่ม คิดใหม่ ทำใหม่ ออกมาตรการใหม่ๆ  สุดท้าย คนรับกรรมมักเป็นข้าราชการในกระทรวง หรือไม่ก็ พี่น้องประชาชน  ลูกหลานของประชาชนในอนาคต  ไม่เชื่อจับมาไล่เรียงดูสิครับ  แตะนโยบายคิดใหม่ ทำใหม่ ตรงไหน บรรลัยเป็นแถบๆ ไม่ว่า..ผู้ว่าซีอีโอ..กองทุนหมู่บ้าน..๓๐ บาท..ปราบปรามผู้มีอิทธิพล..โอท็อป..ท่องเที่ยว..สมาร์ทการ์ด..หวยบนดิน..พักหนี้ ฯลฯ

เพียงแต่ต้องหยิบเอามาว่ากันที่ "เนื้อแท้"  ไม่ใช่ "เปลือกนอก" อย่างที่พยายามโฆษณาชวนเชื่อ

กระทรวงศึกษาธิการ คือ หนูลองยาที่รัฐบาลเริ่มทดลองแล้วยาไม่ได้ผล เปลี่ยนตัวหมอมาแล้ว ๖ คนในระยะเวลา ๕ ปี  คนไข้ยังคงเป็นคนเดิม (เด็กนักเรียน) ยาก็ตำรับเดิม เพียงแต่เปลี่ยนสูตรยาไปมาหลายๆ ครั้ง  เพราะเชื่อว่า รักษาโรคได้แน่  สุดท้าย คนไข้อาการทรุดหนัก

แม้สุดท้ายเชื่อว่า คนไข้จะหายและออกจากโรงพยาบาลได้ แต่ร่างกายและสมองไม่แน่ว่าจะใช้การได้เหมือนปกติ  แต่บรรดาหมอฝึกหัดก็จะพากันไชโยโห่ร้อง บอกกับสาะรณชนว่า "นี่ไง เห็นไหม กลับบ้านได้แล้ว"  แม้มันจะเดินซึมกะทือเหมือนมัมมี่ก็เถอะ

ระบบแอดมิทชั่น ดีกว่า ระบบเอ็นทรานซ์เดิมแน่หรือ
จริงๆ ตอบไม่ได้แน่ชัดหรอกครับว่า อย่างไหนดีกว่ากัน เพราะมันมีดีคนละแง่  แต่ผมขอยกตัวอย่างให้ฟังว่า

ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่สามารถจัดการแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบเอ็นทรานซ์ได้  เพราะขนาดของประเทศและประชากรในวัยที่จะเข้ามหาวิทยาลัยมีจำนวนมาก  ระบบการศึกษาของเขาไม่ได้มีศูนย์รวมอยู่ที่ส่วนกลางเหมือนของเรา  เอกชนสามารถกำหนดมาตรฐานและหลักสูตรการศึกษาได้เองพอสมควร  โดยมีเป้าหมายเพียงเพื่อให้เด็กมีคุณภาพเพียงพอที่มหาวิทยาลัยยอมรับ

นอกจากนี้..
ในระดับอุดมศึกษาแล้ว อเมริกาเป็นประเทศที่มีสาขาวิชาให้เลือกเรียนมากที่สุดในโลกก็ว่าได้  ไม่ว่า เด็กจะถนัดอะไรก็มีสาขาวิชาให้เลือกเรียนในระดับปริญญาได้ครอบคลุมหมด  แม้แต่..สาขาตำนานร็อกเอลวิส เพลสลีย์ ก็ยังเปิดสอนในระดับปริญญาได้

ผิดกับของประเทศไทยลิบลับ  เราจัดระบบการศึกษาเพื่อกวาดต้อนให้เด็กมาแย่งกันในสาขาวิชาที่ค่อนข้างจำกัด อ้างเพื่อการยอมรับของสังคมเมื่อจบออกไป  ดังนั้น หลักสูตรพื้นฐานในระดับมัธยมปลาย จึงต้องบรรจุกลุ่มวิชาพื้นฐานที่ใกล้เคียงกันมาก แม้ว่า ความถนัดของเด็กจะแตกต่างกันฟ้ากับดินก็ตาม  เพราะเป้าหมายคือ การแข่งขันกันเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชายอดนิยม  ได้แก่  กลุ่มวิทยาศาสตร์ คือ แพทย์ เภสัช วิศวะ  กลุ่มศิลปะ คือ อักษร นิเทศ ศึกษาศาสตร์ นิติ รัฐศาสตร์ และกลุ่มกลางๆ คือ บัญชี สถาปัตย์ คอมพิวเตอร์

เนื่องจากตลาดแรงงานทั้งภาครัฐและเอกชนมีอัตรารองรับคนที่จบออกมาทำงานได้อยู่แค่นั้น

ในเมื่อไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานตรงนี้ได้  การใช้วิธีสอบเอ็นทรานซ์ ก็ยังดูว่า ง่ายและเป็นธรรมต่อสังคมมากกว่าแอดมิทชั่น

การจัดให้มีการทดสอบวิชาพื้นฐานทั้ง ONET และANET ก็ไม่ได้ทำให้เด็กรู้สึกแตกต่างจากการสอบเอ็นทรานซ์เลย คือ ยังต้องดูหนังสือเข้มข้น ยังต้องเข้าโรงเรียนกวดวิชาเหมือนเดิม

ในประเทศแถบเอเซียอื่นๆ เช่น สิงคโปร์  เกาหลี และ ญี่ปุ่น ก็ยังใช้การสอบเอ็นทรานซ์อยู่ และใช้มาช้านานแล้ว  ไม่มีปัญหาอะไร ทุกฝ่ายยอมรับ

เรื่องความแตกต่างของการศึกษาของเด็กในกรุงและชนบท เขาก็มีโครงการต่างๆ มากมาย ที่เป็นโควต้าสำหรับเด็กที่ด้อยโอกาสกว่า  ของเราก็มีเช่นกัน ในมหาวิทยาลัยที่อยู่ภูมิภาค เด็กสามารถใช้คะแนนสอบม.ปลายสมัครเข้าเรียนในบางสาขาวิชาได้เลยโดยไม่ต้องสอบแข่งขัน

แต่ที่เขายินดีมาสอบแข่งขัน ก็เพื่อทางเลือกที่ดีกว่า ในมหาวิทยาลัยชื่อดังๆ ต่างหาก  ไม่ใช่ระบบการศึกษาไม่เปิดโอกาส

ยังจำได้ไหม?

ใครที่คิดออกแบบโครงการ Child Center ขึ้นมา แล้วสร้างความปั่นป่วนให้กับเด็กและครูในโรงเรียนมากมาย ลงท้ายกลายเป็นเรื่องขบขัน  เพราะระบบนี้ใช้กันในเมืองนอก แต่เมืองไทย ลืมไปได้เลย เพราะการอบรมสั่งสอนในวัยเยาว์ของเรากับชาวต่างประเทศมันผิดกันลิบลับมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว

เด็กฝรั่งถูกสร้างภูมิคุ้มกันในการช่วยตัวเองมาตั้งแต่แบเบาะ ต้องทานอาหารเอง ตั้งแต่ยังจับช้อนไม่มั่น กินจนเปรอะไปทั้งหน้า เพื่อที่จะได้อาหารเข้าปากสักคำหนึ่ง อาจต้องเสียของไปหลายคำ  แต่นั่นคือ การเรียนรู้ที่จะช่วยตัวเองโดยพ่อแม่เฝ้าดูและแนะนำ

ของเราจะใช้วิธีป้อนเข้าปาก  จนกว่า เด็กจะเดินได้ ถือช้อนได้เองอย่างมั่นคง และไม่ทำหกเลอะเทอะ

นั่นเป็นวิชาแรกของชีวิต คือ ทำอย่างไรจึงจะดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเองในสังคม  

ใครที่มีลูกหลานเรียนโรงเรียนนานาชาติคงจะรู้นะครับถึง ความแตกต่างโดยสิ้นเชิงของระบบการศึกษา

แล้วใครที่ไปยืนสอนวิชาคณิตศาสตร์หมูๆ ให้เด็กม.ปลายโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง?

คุณครูทักษิณไปสร้างอะไรที่แปลกประหลาดที่นั่น  เพราะสิ่งที่ท่านสอนและสร้าง ต้องทำกับเด็กประถมต้น ไม่ใช่เด็กม.ปลาย  เพราะสิ่งที่ท่านสอน คือ ให้เขาคิดโจทย์และทางแก้ได้เอง เป็นสิ่งดี แต่ควรบ่มเพาะตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ ไม่ใช่มาใช้กับเด็กม.ปลายที่เขากำลังจะเอ็นทรานซ์แล้ว  พอคุณครูทักษิณสอนจบชั่วโมง ทุกอย่างก็จบสิ้นที่ตรงนั้น  ไม่มีกรนำไปใช้อีก  เพราะ..มันใช้ไม่ได้  มันไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาของเด็กม.ปลายที่เขากำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย และเนื้อหาที่สอน  ก็เบสิคเกินกว่าที่จะทำให้เด็กที่เรียนคณิตศาสตร์สามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้

ถ้างั้นคุณครูทักษิณทำไปทำไม?

ก็ไม่รู้ว่า ผมจะตอบตรงใจพวกท่านหรือเปล่า  แต่ขอบอกว่า ก็เหมือนคราวที่ท่านขอนั่งเครื่องบินเอฟ 16 นั่นแหละครับ  คือ ท่านได้ประโยชน์คนเดียว ในขณะที่ประชาชนและประเทศได้แต่ทำตาปริบๆ

ขอกลับมาที่ปัญหาการศึกษาของชาติในเวลานี้อีกสักหน่อยนะครับ..

สิ่งที่รัฐบาลนี้พยายามอ้างเพื่อให้นำระบบการสอบคัดเลือกแบบแอดมิทชั่นและ การสอบโอเน็ท เอเน็ท มาใช้ คือ จะทำให้เด็กเครียดน้อยลง และไม่ต้องพึ่งโรงเรียนกวดวิชา

แต่ผลที่ปรากฏในทุกวันนี้ กลับเป็น เด็กเริ่มเครียดกับผลการเรียนตั้งแต่มัธยมต้นไปจนถึงมัธยมปลาย  เพราะกลัวว่า คะแนนGPA ของตนจะไปฉุดผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

จากเดิมไปเรียนกวดวิชากันตอน ม.5 ม.6  ตอนนี้ต้องไปตั้งแต่ ม.3 จนถึง ม.6 เลยทีเดียว  และต้องเอาใจครูผู้สอนมากขึ้นด้วย เพราะพวกเขากลายเป็นคนที่สามารถตัดสินอนาคตของเด็กได้ด้วย

ตายล่ะสิทีเนี้ย..!

ครูหนุ่มๆ บ้ากามอยากให้นักเรียนสาวๆ ทำรายงานพิเศษเพื่อคะแนนพิศวาสก็จะทำได้ง่ายขึ้น

ผมไม่ได้กำลังกล่าวหาครูนะครับ แต่ใครก็บอกไม่ได้ว่า ไม่มีครูประเภทนั้นอยู่

ส่วนการลดการกวดวิชาลงของเด็ก  ผมคิดว่า เป็นไปไม่ได้ สถานกวดวิชาชื่อดัง ทุกวันนี้ ก็ยังต้องโอนเงินเข้าบัญชีก่อนล่วงหน้าหลายเดือนเช่นเดิม  ยิ่งมีปัญหาให้เห็นเช่นนี้ ผู้ปกครองก็จะยิ่งกลัว รีบจองคิวกวดวิชามากขึ้นอย่างแน่นอน

ในเมื่อยังมีการคิดผลคะแนนในการเรียนชั้นมัธยม และยังมีการทดสอบข้อสอบกลางอยู่เช่นนี้  มีแต่ยิ่งต้องกวดวิชาหนักกว่าเดิมเท่านั้นแหละครับ  เพราะต้องให้ผลการเรียนโดดเด่นตั้งแต่ต้นมาเลย

ภาระคงต้องต้องกับเด็กไทยหัวโตต่อไปครับ  เพราะรัฐบาลไม่เคยศึกษาผลกระทบที่จะเกิดจากการใช้นโยบายอย่างผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น

ทางแก้ของระบบการศึกษาของชาติที่ควรเป็น

หนทางที่ดีที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงให้น้อยที่สุด

นั่นคือ สัจธรรมครับ  ดีที่สุด เปลี่ยนน้อยที่สุด แต่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด  ใช้ได้กับทุกปัญหาของสังคม

การที่ให้เปลี่ยนน้อยที่สุด เพราะอะไร?

เพราะการดำรงชีวิตแบบสังคมไทย ไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนด้วย  เราอนุรักษ์การดำรงชีวิตแบบไทย การเลี้ยงดูเด็กๆ แบบไทยๆ มาตั้งแต่เกิด เหตุไฉนต้องไปให้เขาเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในวัยที่กำลังเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ

ให้เขารับกรรมฝ่ายเดียว  โดยรัฐบาลและพ่อแม่ผู้ปกครองได้แต่มองดูผลกระทบ  ช่วยอะไรเขาไม่ได้เลยจริงๆ

ถ้ารัฐบาลคิดจะเปลี่ยนระบบการศึกษาจริงๆ  ต้องเริ่มตั้งแต่พื้นฐานในวัยเยาว์  ไม่ใช่อย่างที่ทำอยู่ในเวลานี้

ผมกำลังจะหาข้อสรุปของปัญหาอย่างไร? จึงลงทุนพูดมาจนยืดยาวเช่นนี้

ครับ ผมกำลังจะบอกท่านนายกรัฐมนตรี ผ่านรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ให้บอกผ่านข้าราชการกระทรวงศึกษาทุกคนว่า

พวกท่านต้องไม่ดีแต่คิด เก่งแต่คิด เล็งผลเลิศ อย่างเดียว

พวกท่านต้องไม่เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาที่มีมาช้านานอย่างฉับพลันและรวดเร็วจนไม่มีใครตามทัน นอกจากคนที่คิดระบบนี้เท่านั้น

เอาล่ะครับ  ไหนๆ ก็ริเริ่มมาแล้ว เราจะหันกลับไปใช้ระบบเอ็นทรานซ์คงไม่ได้แล้วกระมัง  
มาหาทางลงของปัญหาการศึกษาของชาติกันดีกว่า

หากผมได้เป็นผู้รับผิดชอบ  การค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจะเป็นสิ่งที่ผมทำ แม้ผลงานจะไม่เห็นในระยะเวลาที่ผมดำรงตำแหน่ง แต่คนที่สืบสานต่อไปจะทำต่อได้ และเด็กๆ ในอนาคตจะได้อานิสงค์จากนโยบายที่ผมดำเนินไปในวันนี้

เรื่องแรกที่จะทำ คือ ผมจะตัดวิธีการคิด GPA ที่สะสมมา ไม่ให้นำมาคำนวณเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนที่กำหนดอนาคตเด็ก  เหตุผล คือ ไม่ต้องการให้เด็กเครียดทุกๆ ปี
ในระบบแอดมิทชั่น  ผลการเรียนในชั้นมัธยมต้องอยู่ในดุลพินิจของกรรมการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสาขานั้นๆ อยู่แล้ว  ให้อยู่ในดุลพินิจว่า พวกเขาควรนำมาใส่ใจมากเท่าใด แต่ไม่ควรซีเรียสมาก เพราะเรายังไม่สามารถจัดให้มีมาตรฐานการศึกษาที่เท่าเทียมกันได้ทั้งประเทศ

สิ่งต่อมา คือ ผมจะให้มีการสอบ ONET ANET โดยสำนักทดสอบกลางเช่นนี้เหมือนเดิม  เพราะผลการเรียนของเด็กม.ปลาย ก็ต้องใช้ข้อสอบมาตรฐานเดียวกันวัดผล เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว  เพียงแต่ต้องใช้คนที่มีมาตรฐานรองรับ และใช้วิธีการเพื่อให้แน่ใจว่า ระบบการทดสอบนี้ มีมาตรฐานและความเป็นธรรมมากที่สุด  (ข้อสำคัญคือ จะทำให้เชื่อได้อย่างไร ในเมื่อคนในกท.ศึกษา  ไม่ใช่คนเก่งทุกคน  ขึ้นมาเพราะใช้เส้นสายทางการเมือง  ใช่หรือไม่ล่ะ?)

และประการสุดท้าย ผลสอบและผลการเรียนที่ยื่นต่อสาขาวิชาและมหาวิทยาลัยที่เด็กเลือกเรียน ตามระบบแอดมิทชั่นให้เป็นไปตามนั้น  แต่เปิดโอกาสให้แต่ละมหาวิทยาลัยจัดทดสอบความถนัด และความสามารถของเด็กตามความต้องการของสถาบัน  ซึ่งวิธีนี้ จะทำให้ได้คนคุณภาพที่เหมาะสมกับสาขาวิชานั้นๆ

ต้องยอมรับความจริงครับว่า สถาบันการศึกษาดีๆ มีน้อย แต่คนอยากเรียนมีเยอะ  ดังนั้น การสอบเข้าแข่งขันจำเป็นต้องมีอยู่ต่อไปไม่ว่า ปัจจุบันหรืออนาคต  เด็กเองก็ประสงค์จะสอบแข่งขันเพื่อทางเลือกที่ดีกว่า  ไม่ใช่ ไม่มีที่เรียนซะที่ไหน  

จึงอย่าได้คิดขจัดความเครียดให้กับเด็กเลยครับ แค่อย่าเพิ่มความเครียดให้ก็ถือว่า เป็นบุญคุณมากแล้ว
บันทึกการเข้า

ประเทศชาติมีภัย  เสรีไทยร่วมกอบกู้
dekdoodee
สมาชิกสามัญขั้นที่ 1
**
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 38


เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 18-04-2006, 09:27 »

ผมก็เป็นเด็กคนนึงที่เอนท์ปรนี้ ขอบอกว่าระบบห่วยมากๆครับ คนทำก็ไร้ความรับผิดชอบ


ปล. เค้าถามว่าระบบพร้อมมั้ย มันบอกว่า พร้อมครับ แต่ไม่สเถียร
บันทึกการเข้า

หยุดระบอบนายทุนข้ามชาติ ฟื้นฟูความพอเพียงตามแนวพระราชดำริเพื่อให้คนไทยลืมตาอ้าปากได้
maninbox
สมาชิกสามัญขั้นที่ 2
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 74



« ตอบ #2 เมื่อ: 18-04-2006, 19:49 »

ระบบ เอน สิ้นความขลังตั้ง แต่ปีที่แล้วแล้วละคับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
    กระโดดไป: