เขาพระวิหาร 2505 เกาะกูด 2549 !?
โดย คำนูณ สิทธิสมาน 11 กันยายน 2549 18:28 น.
ประเทศไทยเสียปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505
โดยผลคำพิพากษาของยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3
ปราสาทเขาพระวิหารตั้งอยู่บนทิวเขาพมนดงรัก ระหว่างประเทศกัมพูชากับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ตัวปราสาทตั้งอยู่ในบริเวณเขตก้ำกึ่งระหว่างอำเภอจอมกระสาน จังหวัดพระวิหาร ของกัมพูชา และบ้านภูมิซรอล อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ของไทย ชื่อเป็นทางการในภาษาเขมรเรียกว่า...
“ศรีศิขเรศวร”
เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเพื่อถวายให้แก่พระอิศวร หรือพระศิวะ เทพสูงสุดของศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ตามตำนานแล้วเชื่อว่าพระองค์ทรงประทับอยู่บนยอดเขาไกรลาส ศูนย์กลางของจักรวาล
ปราสาทเขาพระวิหารสร้างบนหน้าผาเป้ยตาดีของเทือกเขาพนมดงรักที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางถึง 657 เมตร ทำให้เมื่อมองจากแผ่นดินเขมรขึ้นมาจะเห็นตัวปราสาทเหมือนวิหารสวรรค์ ลอยอยู่บนฟากฟ้า
สันนิษฐานว่าปราสาทเขาพระวิหารเริ่มก่อสร้างในพุทธศตวรรษที่ 16 ราวพุทธศักราช 1545 - 1593 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ของขอม และได้มีการสร้างต่อเติมในอีกหลายรัชกาลต่อมา
ตัวปราสาทเขาพระวิหารหันหน้าไปทางทิศเหนือ ด้านหน้าและทางขึ้นปราสาทจึงอยู่ในเขตประเทศไทย แต่ตัวปราสาทส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกัมพูชา
เมื่อปี 2442 พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานภาพข้าหลวงต่างพระองค์ มณฑลอีสาน สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นผู้ค้นพบปราสาทแห่งนี้ แล้วทรงจารึก ร.ศ. ที่ค้นพบ (ร.ศ. 118) และพระนามของพระองค์ไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดีว่า...
“118 สรรพสิทธิ”
ก่อนที่กัมพูชาจะมาอ้างสิทธิการเป็นเจ้าของในอีกกว่า 60 ปีต่อมา
อันเนื่องมาจากสนธิสัญญาที่ประเทศไทยทำกับฝรั่งเศสเมื่อปี 2447 (ค.ศ.1904) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ฝรั่งเศสได้เขียนแผนที่ขีดเส้นพรมแดนขึ้น และจากเส้นแบ่งพรมแดนนั้น ปราสาทเขาพระวิหารจะอยู่ในอาณาเขตของไทย แต่เมื่อมีการทำสนธิสัญญาเพิ่มเติมในปี 2450 ก็มีการกำหนดเขตแดนขึ้นใหม่อีก คราวนี้ทำให้ปราสาทเขาพระวิหารต้องตกไปอยู่ในอาณาเขตของกัมพูชา แต่ไทยก็ไม่ได้ทักท้วงแต่ประการใด เพราะจำเป็นต้องยอมทำตามมหาอำนาจฝรั่งเศสในขณะนั้น จึงเท่ากับเป็นการยอมรับไปโดยปริยาย
ต่อมา เกิดสงครามเรียกร้องดินแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปี 2483 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้ไทยได้ดินแดน 4 จังหวัด คือ ไชยบุรี จำปาศักดิ์ เสียมราฐ และพระตะบอง มาจากกัมพูชา
ปราสาทเขาพระวิหารก็อยู่ในเขตดินแดนที่ไทยได้มาในยุคปลุกกระแสชาตินิยมครั้งนั้นด้วย
แต่ก็เป็นเสมือน “ฤดูกาลอันแสนสั้น” โดยแท้
เพราะภายหลังเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยจำเป็นต้องปรับสภาพตัวเองไม่ให้เป็นผู้แพ้สงครามตามญี่ปุ่น จึงต้องยอมยกดินแดนที่ได้มาทั้ง 4 จังหวัดนั้นให้กับฝรั่งเศสไป จนเมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้ในสงครามอินโดจีนเมื่อปี 2497 ไทยจึงได้ส่งทหารเข้าไปครอบครองพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศรองรับ
ปี 2502 เจ้านโรดม สีหนุ กษัตริย์กัมพูชา ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2502 ว่าประเทศไทยรุกล้ำอธิปไตยกัมพูชา และขอให้ศาลมีคำสั่ง
1. ราชอาณาจักรไทย มีพันธะที่จะต้องถอนหน่วยทหารที่ได้ส่งไปตั้งประจำ ณ บริเวณสิ่งหักพังของปราสาทพระวิหาร ตั้งแต่ค.ศ.1954
2. อำนาจอธิปไตยแห่งดินแดนเหนือปราสาทพระวิหาร เป็นของราชอาณาจักรกัมพูชา
ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับกัมพูชาต้องสะดุดหยุดลง
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ดำเนินการต่อสู้เพื่อยืนยันสิทธิของไทยเหนือดินแดนปราสาทเขาพระวิหาร ทั้งยังขอรับบริจาคเงินจากคนไทยทั้งประเทศคนละ 1 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้คณะทนายความฝ่ายไทยไปต่อสู้ในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือที่รู้จักกันในนามศาลโลก
การไต่สวนพิจารณาคดีเป็นไปอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ปี มีการนัดพิจารณาสืบพยานทั้งหมด 73 ครั้ง
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าคณะทนายความฝ่ายไทยเท่านั้น
ตัวแทนฝ่ายไทยในขณะนั้นคือ ม.จ.วงษ์มหิป ชยางกูร เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเนเธอร์แลนด์
คณะทนายความนอกเหนือจากม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชแล้ว ก็มี อังรี โรแลง ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ในมหาวิทยาลัยบรัสเซลส์ และทนายความประจำศาลอุทธรณ์แห่งกรุงบรัสเซลส์, เซอร์แฟรงก์ ซอสคีส อดีตแอททอร์นี เยอเนราล (พอเปรียบได้กับตำแหน่งอัยการสูงสุด) ในคณะรัฐบาลอังกฤษ, เจมส์ เนวินส์ ไฮด์ เนติบัณฑิตแห่งรัฐนิวยอร์ก ร่วมอยู่ด้วย
จนในที่สุด ศาลโลกก็ตัดสินให้กัมพูชาเป็นฝ่ายชนะคดีด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียงเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ยังผลให้ประเทศไทยต้องยินยอมทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 2 ข้อของกัมพูชา
นับเป็นการเสียดินแดนครั้งสุดท้ายของประเทศไทยในยุครัตนโกสินทร์
พื้นที่ที่เสียไปทั้งหมดประมาณ 150 ไร่
หลังจากการพ่ายแพ้คดี เป็นครั้งแรกที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์สนับสนุนและยินยอมให้นักศึกษาเดินขบวนประท้วงคำตัดสินคดีของศาลโลก และปิดทางขึ้นปราสาทเขาพระวิหารที่อยู่ในเขตแดนไทย เพื่อเป็นการตอบโต้กัมพูชา ดังนั้น หากชาวกัมพูชาต้องการจะขึ้นไปสู่ปราสาทเขาพระวิหาร ก็ต้องอาศัยผ่านทางช่องเขาแคบ ๆ สูงชัน และอันตราย ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ช่องบันไดหัก” แทน เพราะด้านหน้าและทางขึ้น-ลงของปราสาทเขาพระวิหารนั้นอยู่ทางฝั่งประเทศไทย
ระหว่างที่ปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในการดูแลของกัมพูชาแล้ว กัมพูชาสั่งปิดและเปิดให้เข้าชมอยู่หลายครั้ง ตามแต่สถานการณ์ของประเทศ เพิ่งจะเมื่อไม่นานมานี้เอง ด้วยความร่วมมือระหว่างไทยกับกัมพูชา ปราสาทเขาพระวิหารจึงเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวได้อีกครั้งหนึ่ง
สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 2447 (แก้ไขเพิ่มเติม 2450) ยังคงก่อปัญหาไม่รู้จบมาจนทุกวันนี้
โดยเฉพาะเส้นเขตแดนทางทะเล
ที่กัมพูชายึดแนวที่ประกาศไว้เมื่อปี 2515 อย่างเหนียวแน่น
เป็นเส้นเขตแดนที่ผ่าเกาะกูดไปครึ่งหนึ่ง และจะครอบครองแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย
ประวัติศาสตร์ยังไม่มีวี่แววจะซ้ำรอยปี 2505 ทั้งหมดหรอก
เพราะยังไม่มีใครคิดจะนำขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
แต่จะมีความพยายามตกลงกันโดยที่คนไทยไม่รู้หรือเปล่าให้ประเทศไทยยอมรับเส้นเขตแดนนี้ เพื่อแลกกับการเร่งพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย - ผมไม่ยืนยัน!
มาจากที่นี่ครับ
http://www.manager.co.th/lite/ViewNews.aspx?NewsID=9490000114916----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านแล้วก็น่าคิดเหมือนกันแฮะ เพราะรัฐบาลยุคนี้อะไรๆ ก็ทำได้ทั้งนั้นอ่ะ