ศาลปกครองรับคำร้อง'สคบ.'ฟ้องเพิกถอนแปรรูป'ปตท.'
6 กันยายน 2549 19:45 น.
ศาลปกครองสูงสุด รับคำร้องขององค์กรผู้บริโภค ฟ้องเพิกถอนแปรรูป ปตท. พร้อมสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสาม คือ"ครม.-ทักษิณวิเศษ" ส่งคำให้การแก้คำฟ้องภายใน 30 วัน
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับฟ้องคดีดำหมายเลข ฟ.47/2549 ที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น.ส.รสนา โตสิตระกูล ว่าที่ ส.ว.กรุงเทพฯ ในฐานะกรรมการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค น.ส.สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรเพื่อผู้บริโภค (สอบ.) นางภินันท์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ และ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ผู้ประสานงานชมรมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม
โดยยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการ นายกรัฐมนตรี และนายวิเศษ จูภิบาล รักษาการ รมว.พลังงาน เป็นผู้ถูก ฟ้องที่ 1-3 กรณีข้อพิพาทเรื่องความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลา ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 เพื่อการแปรรูปกิจการ ปตท. ตามมติครม.วันที่ 21 ส.ค.2544 ขัดต่อ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542
โดยศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสาม จัดทำคำให้การแก้คำฟ้อง เพื่อยื่นต่อศาลภายใน 30 วันตามกระบวนการพิจารณาคดี อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคำสั่งรับฟ้องแล้ว ศาลขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายพึงงดเว้น และระมัดระวังในการ วิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็น หรือกระทำการใด ๆ ในลักษณธที่จะเป็นการชี้นำการพิจารณา พิพากษาคดีด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับคดีนี้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้ฟ้องทั้งห้า ขอให้ศาล ปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ยกเลิก เพิกถอน พระราชกฤษฎีกาแปรรูปกิจการ ปตท. ทั้ง 2 ฉบับเนื่องจากกระบวนการแปรรูป ปตท. ขัดกับ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ทั้งในเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง บมจ.ปตท. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยนายมนู เลียวไพโรจน์ อดีต ประธานกรรมการเตรียมการจัดตั้ง บมจ.ปตท. และนายวิเศษ จูภิบาล อดีตกรรมการเตรียมการจัดตั้ง ฯ กระทำผิด พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ฯ มาตรา 12 และ 18 ที่ได้ถือหุ้นใน บมจ.ปตท. ทั้งที่กฎหมายห้ามไว้ นอกจากนี้การเตรียมการจัดตั้ง บมจ.ปตท. ก็ไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประชาชนโดยไม่เปิดเผย และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2543
และยังปรากฏด้วยว่าในการตรา พรฎ.กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ ฯ มีเจตนาไม่สุจริต ที่ส่งผลให้ บมจ.ปตท. มีอำนาจมหาชนของรัฐในการเวนคืนที่ดิน การประกาศเขต และรอนสิทธิเหนือพื้นดินของเอกชน ที่มีผลทำให้มีการนำทรัพย์สินบางอย่างอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่ไม่สามารถซื้อขายได้ให้ไปอยู่ในการถือ ครองเอกชนที่แสวงหากำไร
มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ปลื้มศาลรับฟ้องคดี ปตท.
นางรสนา โตสิตระกูล ที่ปรึกษามูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งรับฟ้องกรณี ปตท. ว่าเรื่องนี้เป็นที่น่ายินดีที่ถูกนำมาพิจารณาในกระบวนการของศาล
ซึ่งในขั้นตอนต่อไป ทางผู้ถูกฟ้องซึ่งประกอบไปด้วย คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะต้องส่งข้อมูลชี้แจงไปยังศาล และ ศาลจะส่งข้อมูลดังกล่าวมาให้ผู้ฟ้อง และ ผู้ฟ้องก็สามารถยื่นข้อมูลเพิ่มเติมไปหักล้างคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องได้
ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่ากระบวนการต่าง ๆ จะพิจารณาเสร็จสิ้นเมื่อใด โดยกรณีการฟ้องร้องให้เพิกถอนการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) ใช้เวลาประมาณ 5 เดือน แต่ในกรณี ปตท. ซึ่งกระบวนการยุ่งยากกว่า ไม่แน่ใจว่าจะใช้เวลานานมากกว่ากรณี กฟผ.หรือไม่
นางรสนา กล่าวด้วยว่า ยินดีปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของศาล ที่ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายพึงงดเว้นหรือระมัดระวังการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นนำเสนอข่าว หรือกระทำการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการชี้นำการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล อันอาจเป็นการละเมิดอำนาจศาลหรือดูหมิ่นศาลหรือตุลาการ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สื่อมวลชนมีการเสนอข่าวของการฟ้องร้องที่คลาดเคลื่อนไม่เป็นผลดีต่อผู้บริโภค ทางมูลนิธิฯ เตรียมชี้แจงต่อสื่อมวลชนถึงการดำเนินการฟ้องร้องในครั้งนี้
ทั้งนี้ มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจสิทธิประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 และศาลมีคำสั่งลงวันที่ 6 กันยายน 2549 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีจัดทำคำให้การแก้คำฟ้องยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด
http://www.bangkokbiznews.com/2006/09/06/w001_135490.php?news_id=135490