ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
15-01-2025, 08:04
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย  (อ่าน 2543 ครั้ง)
snowflake
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3,207



« เมื่อ: 02-09-2006, 20:39 »

ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


นักการเมืองเช่นคุณบรรหาร ศิลปอาชา รวมทั้งคุณทักษิณ ชินวัตร มักพูดเสมอว่า สังคมไทย
เวลานี้เกิดความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แล้วก็เสนอให้หันหน้าเข้าหากัน หรือเสนอตัวว่า
เป็นคนกลางบ้าง เป็นกลางบ้าง

ผมคิดว่าจำเป็นต้องเข้าใจฝักเข้าใจฝ่ายให้ดีเสียก่อนที่จะหันหน้าเข้าหากัน หรือเป็นกลาง
เพราะต้องชัดเจนหน่อยว่าจะเป็นกลางระหว่างอะไรกับอะไร

สังคมไทยเวลานี้ แตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันจริง แต่ไม่ใช่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างพรรค
การเมืองนะครับ คนที่ไม่ชอบพรรค ทรท. ก็ใช่ว่าจะชอบพรรคประชาธิปัตย์หรือชาติไทย
ว่ากันที่จริงแล้วฝักฝ่ายของสังคมเวลานี้ แบ่งออกเป็นฝ่ายที่เอาทักษิณกับฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณ

ในทางการเมือง ฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณเสียเปรียบ เพราะไม่มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งตัวชื่นชอบ
มากเป็นพิเศษ ร้ายไปกว่านั้น ที่ไม่เอาทักษิณก็ไม่ใช่ตัวบุคคลที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร แต่ไม่
ยอมรับวิธีดำเนินการทางการเมือง และวิธีบริหารแบบของคุณทักษิณต่างหาก หลายอย่าง
ในนั้นจะว่าไปก็ไม่ใช่ของคุณทักษิณคนเดียว หากเป็นสิ่งที่นักการเมืองไทยทำกันเป็นปรกติ
อยู่แล้วเวลาได้อำนาจ (ตามความเห็นของผู้ไม่เอาทักษิณ ก็เช่นสนับสนุนหรือหลับตาให้แก่
การฉ้อฉลเอาเปรียบของพรรคพวกบริวาร หรือคนที่ลงทุนให้แก่พรรค)

ร้ายยิ่งไปกว่าที่ร้ายอยู่แล้ว ฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณไม่สามารถสร้างความชัดเจนได้ว่า นโยบาย
อะไรของคุณทักษิณที่ตัวไม่เอาอย่างหัวเด็ดตีนขาด เพราะความไม่พอใจไม่ได้เกิดจากนโยบาย
โดดๆ แต่เป็นเรื่องของนโยบายที่ถูกผลักดันด้วยวิธีดำเนินการทางการเมืองและวิธีบริหารซึ่งตัว
เห็นว่าฉ้อฉลหรือไม่ชอบธรรมต่างหาก

ผมขอยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็นสักสองเรื่อง

ในท่ามกลางการพังทลายของระเบียบการค้าโลกภายใต้การกำกับขององค์กรการค้าโลก คง
ไม่มีใครคัดค้านว่า ไทยจำเป็นต้องสร้างหลักประกันบางอย่างในความไร้ระเบียบนี้ เอฟทีเอก็
อาจเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างหลักประกันดังกล่าว ฉะนั้น จะพูดว่าไม่ได้ต่อต้านการทำเอฟทีเอ
เสียทีเดียวก็ได้ แต่นโยบายเปิดประเทศด้วยเอฟทีเอของคุณทักษิณถูกดำเนินการทางการเมือง
และบริหาร โดยขาดการตรวจสอบและต่อรองจากคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม ทั้งๆ ที่จะมีคนได้และ
คนเสียจากข้อตกลงเหล่านี้จำนวนมาก ในขณะเดียวกันยังมีความห่วงใยว่า การทุ่มลงไปที่
เอฟทีเอเพียงอย่างเดียว โดยไม่สร้างเงื่อนไขการต่อรองอื่นๆ เลย ไม่ว่าจะในการจับกลุ่มกับ
ประเทศอื่นในองค์กรการค้าโลกก็ตาม ในการเกาะกลุ่มของอาเซียนก็ตาม ฯลฯ จะสร้างความ
มั่นคงด้านการค้าให้แก่ไทยละหรือ

การปิดประตูไม่ให้สังคมไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางนโยบายสำหรับประกันผลประโยชน์
ของไทยในการค้าโลกเช่นนี้ ยิ่งทำให้มิติอื่นๆ ของเอฟทีเอในฐานะกลไกอันหนึ่งไม่ถูกพิจารณา
เอาเลย จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้คนพากันตั้งข้อสงสัยว่า เอฟทีเอเหล่านี้ทำกันขึ้นเพื่อสนอง
ผลประโยชน์ทางธุรกิจของบางครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวของคุณทักษิณเอง หรือ
ครอบครัวของบริษัทบริวาร - เป็นข้อสงสัยที่อาจจะเกินเหตุ แต่คุณทักษิณก็ไม่เคยพิสูจน์
ให้เห็นอย่างน่าเชื่อว่าเกินเหตุ

จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ตัวนโยบาย ทำเอฟทีเอโดยตรงที่ฝ่ายไม่เอาทักษิณต่อต้านแต่ไม่ชอบวิธีการ
ที่คุณทักษิณใช้ในการตัดสินใจ และผลักดันนโยบายต่างหาก

สุวรรณภูมิมหานครก็เหมือนกัน ใครๆ ก็คงเห็นด้วยว่าบทเรียนจากดอนเมืองทำให้รู้ว่าเราจำเป็น
ต้องมีกฎหมายพิเศษในการจัดการเกี่ยวกับการใช้ที่ดินในอาณาบริเวณของสนามบินนานาชาติ
แต่จะจัดอย่างไร จัดโดยวิธีไหน เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงเรียนรู้ร่วมกันในสังคม ไม่ใช่คิดเอง
คนเดียวแล้วเอาลูกกระเป๋งที่เป็น ร.ม.ต.มาร้องเย้วๆ อยู่ข้างๆ จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ตัวนโยบาย
จัดการที่ดินและสาธารณูปโภคของสุวรรณภูมิ แต่ฝ่ายไม่เอาทักษิณรับไม่ได้กับวิธีสร้างนโยบาย,
ดำเนินนโยบาย และวิธีบริหารนโยบายต่างหาก และก็เช่นเคยฝ่ายไม่เอาทักษิณก็สามารถชี้ให้
คนอื่นเห็นได้ว่า อาจมีผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวกทับซ้อนอยู่ในนโยบายนั้นแยะ

ฉะนั้นผมเชื่อว่า หากถามฝ่ายไม่เอาทักษิณว่า ไม่เอานโยบายอะไรของทักษิณบ้าง คงต้อง
เถียงกันเละทีเดียว พรรค ทรท.และฝ่ายเอาทักษิณจึงไม่เคยพูดเรื่องวิธีสร้าง, ดำเนิน และ
บริหารนโยบายเลย แต่พูดเฉพาะเรื่องนโยบายอันประเสริฐเลิศดีของตนเองอย่างเดียว เพราะ
รู้อยู่แล้วว่าหลักการของนโยบายเหล่านั้นไม่มีใครเขาต่อต้านคัดค้าน

ผมคิดว่าการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองในสังคมไทยครั้งนี้ มีความลึกกว่าที่เคยแบ่งๆ กันมา
ในอดีต ไม่ใช่เรื่อง "กบเลือกนาย" อย่างที่พูดกันเป็นบางครั้ง (อันที่จริง ขึ้นชื่อว่านายแล้ว
เราก็ควรมีสิทธิเลือก ไม่ว่าเราจะเป็นกบหรือเป็นคน เพราะเราไม่ใช่ทาสอย่างอีสป และไม่ได้
อยู่ในสังคมที่ไม่ยอมรับความเสมอภาคของมนุษย์อย่างอียิปต์โบราณ) ไม่ใช่แค่วิธีการได้มา
ซึ่งอำนาจระหว่างเผด็จการและประชาธิปไตย, ไม่ใช่แค่เรื่องใครจะพัฒนาเก่งกว่ากัน แต่เป็น
เรื่องของแนวทางการพัฒนาโดยตรง, ไม่ใช่เรื่องความจำเริญทางเศรษฐกิจโดดๆ แต่ให้
ความสำคัญแก่ความเป็นธรรมในความจำเริญทางเศรษฐกิจด้วย, ฯลฯ

ประเด็นซึ่งเป็นทางเลือกที่สำคัญเช่นนี้ อาจมีความสำคัญในสังคมไทยมานานแล้ว แต่ไม่เคย
ประสบความสำเร็จที่จะแทรกตัวเข้าไปเป็นทางเลือกทางการเมือง จนกระทั่งบัดนี้ ถ้าไม่มี
คุณ ทักษิณ ชินวัตร และสมุนของเขาเถลิงอำนาจอยู่ในเวลานี้ ทางเลือกเหล่านี้อาจไม่ชัดแก่
ผู้คนในสังคมเท่านี้

ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสังคมขณะนี้ จึงเป็นพัฒนาการทางการเมืองที่มีความสำคัญ
อย่างมาก เพราะประเด็นที่เป็นหัวใจที่แท้จริงของประชาธิปไตยก็ตาม การพัฒนาก็ตาม
โลกาภิวัตน์ก็ตาม ถูกนำขึ้นมาใคร่ครวญตรวจสอบและเรียกร้องการมีส่วนร่วมของประชาชน
อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อีกทั้งมีการนำเอามิติอื่นๆ อันหลากหลายของสิ่งเหล่านี้เข้ามา
พิจารณา อันล้วนเป็นมิติที่ถูกละเลยมาก่อนเกือบทั้งสิ้น จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้
การเมืองไทยสนองตอบประเด็นปัญหาที่เป็นจริงของพลเมือง เช่นหากประชาธิปไตยมี
ความหมายแต่เพียงคนชั้นกลางในเมืองมีสิทธิมีเสียงในการกำหนดนโยบายสาธารณะ
ในขณะที่คนระดับรากหญ้าได้แต่รอคอยการเจือจานเพื่อให้นโยบายที่ตัวเสียเปรียบดำเนินไป
ได้อย่างราบรื่น ประชาธิปไตยก็ไม่มีความหมายแก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ มิติของโอกาสอัน
เท่าเทียมกันของประชาธิปไตยเช่นนี้ ไม่เคยมีความสำคัญในพัฒนาการประชาธิปไตยไทย
(ยกเว้นในช่วงที่ฝ่ายซ้ายมีกำลังกล้าแข็งในเมืองช่วง 2516-19)

และคงเห็นได้ด้วยว่า ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเช่นนี้ ไม่อาจคลี่คลาย (resolved) ลงได้
ด้วยการเลือกตั้ง เพราะเขาไม่ได้เลือกพรรค ไม่ได้เลือกคน แต่เลือกพรรคหรือคนที่จะเป็น
เครื่องมือไปสู่เป้าประสงค์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นเป้าประสงค์ที่แท้จริงของนักการเมือง
หรือพรรคการเมือง

ในขณะที่นักการเมือง ไม่ว่าในฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ยังไร้เดียงสาพอที่จะคิดว่าจำนวนที่นั่ง
ในสภาคือการคลี่คลายความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผมคิดว่าสังคมไทยกำลังคิดอะไร
เลยหน้าไปกว่านั้นมาก และเมื่อสังคมคิด ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีความคิดหลายกระแส ซึ่ง
ขัดแย้งกันเองด้วย

แทนที่จะคิดแต่ว่า ทำอย่างไรสังคมไทยจึงจะหันหน้าเข้าหากัน เลิกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผมกลับ
เห็นว่า การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่ใช่เพื่อเลือกข้าง แต่เลือกแนวทางการบริหารบ้านเมืองที่เรา
ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีมั่งคั่งหรือคนเล็กคนน้อย จะอยู่ร่วมกันอย่างที่ทุกฝ่ายพอมีพื้นที่
หายใจของตัวเองตามสมควร เป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่ดี และเป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่จะทำ
ความก้าวหน้าให้แก่การเมือง, เศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต

เราจำเป็นต้องผ่านความขัดแย้งกัน ผ่านการถกเถียงกัน ผ่านการจัดองค์กรขึ้นมาต่อสู้กันโดยสงบ
ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมที่กำลังมองหาความเปลี่ยนแปลง ถ้านักการเมือง
ประกาศว่าเขาเป็นกลาง ก็หมายความว่าเขาไม่ใช่พลังของความเปลี่ยนแปลง เคยอยู่กันมา
อย่างไรก็อยู่กันไปอย่างนั้น (โดยพวกเขาสบาย)

สังคมไทยสมัยใหม่กำลังเผชิญการทดสอบที่ตัดสินอนาคตของตัวเอง นั่นคือการทดสอบว่า
สังคมนี้มีพลังรองรับความขัดแย้งโดยไม่แตกแยกได้เพียงใด หากสังคมไทยขาดพลังที่จะรองรับ
ความขัดแย้งได้เลย ก็อาจกล่าวได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงซึ่งจะเกิดแก่สังคมไทยในภายภาคหน้า
จะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่กำหนดมาจากภายนอก เพราะภายในไม่มีพลังที่จะกำหนดความ
เปลี่ยนแปลงของตัวเองได้ แปลว่าชะตากรรมของคนไทยจะถูกกำหนดจากภายนอก (พลังตลาดโลก,
ทุนข้ามชาติ, เทคโนโลยีของสังคมอื่น, นโยบายของมหาอำนาจ ฯลฯ) โดยคนไทยไม่มีส่วน
กำหนดชะตากรรมของตนเองเลย

ที่มา มติชน วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10397
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act03280849&show=1&sectionid=0130&day=2006/08/28

เคยเขียนไปในกระทู้ก่อนๆ หลายครั้งแล้วว่า
ไม่ใช่ตัวนโยบายของไทยรักไทยที่ไม่ดี
แต่วิธีการที่คุณทักษิณใช้นั้นแย่ เพราะเป็น
การปฏิบัติแบบเผด็จการรวบอำนาจ
โดยไม่มีการแก้ไข รับฟัง หรือยอมให้สังคม
โดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่พวกเดียวกัน ตรวจสอบได้
และนั่นเป็นเหตุที่มิอาจไว้วางใจท่านให้นำพา
ประเทศต่อไปได้

หวังว่าการแตกแยกเลือกข้างในสังคมปัจจุบัน
จะไม่รุนแรงถึงขั้นเกิดการใช้กำลังปะทะนองเลือด
และเป็นความ “แตกต่างที่ไม่แตกแยก” ได้อย่างแท้จริง
บันทึกการเข้า

Even the smallest person can change the course of the future.
นู๋เจ๋ง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,877



« ตอบ #1 เมื่อ: 02-09-2006, 21:51 »

เฮ้อ !
 Rolling Eyes
บันทึกการเข้า

~จะแน่วแน่...แก้ไข...ในสิ่งผิด~
ชอบแถ
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 3,138



« ตอบ #2 เมื่อ: 02-09-2006, 22:09 »

ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย

เคยเขียนไปในกระทู้ก่อนๆ หลายครั้งแล้วว่า
ไม่ใช่ตัวนโยบายของไทยรักไทยที่ไม่ดี
แต่วิธีการที่คุณทักษิณใช้นั้นแย่ เพราะเป็น
การปฏิบัติแบบเผด็จการรวบอำนาจ
โดยไม่มีการแก้ไข รับฟัง หรือยอมให้สังคม
โดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่พวกเดียวกัน ตรวจสอบได้
และนั่นเป็นเหตุที่มิอาจไว้วางใจท่านให้นำพา
ประเทศต่อไปได้

หวังว่าการแตกแยกเลือกข้างในสังคมปัจจุบัน
จะไม่รุนแรงถึงขั้นเกิดการใช้กำลังปะทะนองเลือด
และเป็นความ “แตกต่างที่ไม่แตกแยก” ได้อย่างแท้จริง

เป็นบทความที่พออ่านได้ แต่ในสภาพความเป็นจริง การตั้งต้นทำอะไรก็ตาม
บางทีก็ต้องยอมเชื่อในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง (ซึ่งก็เรียกว่าเผด็จ
การ) ไม่งั้นงานจะไม่ได้ทำและเสียโอกาส ตรงนี้ที่เปรียบเทียบเป็น quantitative
ไม่ได้ว่า รีบสร้างแต่แพงแต่ก็ใช้ได้ก่อนกับไม่ได้สร้าง อันไหนได้อันไหนเสีย
มากกว่ากัน ตอนจะสร้างอะไรมากหมอมากความมักไม่สำเร็จ แต่ตอนที่กำลัง
สร้างจริงจริงก็ควรจะประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้มากกว่านี้
สุดท้ายถ้ามีคนป่วนจริง ยังไงก็ต้องมีข้อสงสัยอยู่นั่นเอง เพราะมันต้องรีบเหมือน
สนามบินนี่แหละ (คุณลองดูดอนเมืองตอนนี้สิ วันเสาร์อาทิตย์เครื่องบินบินว่อน
รอเข้าแถวลงจอดเสียเวลาเสียน้ำมันเสียโอกาสเท่าไหร่) ถ้าเขาตามสงสัยไม่
เลิก และมีสื่อในมือ สุดท้ายก็ต้องแตกแยก เมื่อเครดิตของผู้รวบอำนาจตัดสิน
ใจทำมันลดลง ความสงสัยก็จะเพิ่ม ยิ่งให้ความเห็นก็ยิ่งไปกันใหญ่ เหมือนกับ
ปัจจุบัน มันเป็นความแตกแยกที่เป็นธรรมชาติและหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ
บันทึกการเข้า
morning star
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,119


don't let them make up your mind


« ตอบ #3 เมื่อ: 02-09-2006, 22:17 »

สังคมบ้านเรานั้นมีความแตกต่างมากมายครับ..เป็นสังคมแห่งความแตกต่างอย่างแท้จริง..เป็นสังคมที่ให้ที่ยืนกับผู้คนหลากหลายชนชาติ หลากหลายศาสนา อยู่ร่วมกันในผืนดินเดียวกันมานานแล้ว

ความแตกแยกในสังคม ไม่ได้เกิดจากความแตกต่างทางความคิดหรอกครับ

ความขัดแย้งเกิดจาก ความรัก และ ความเกลียดชัง ต่อคน ๆ หนึ่ง และ บุคคลกลุ่มหนึ่ง เมื่อมีความรักเพราะเขาให้เราช่วยเหลือเรา เราย่อมขาดเหตุผลพิจารณาในเรื่องส่วนตัวเลวร้ายที่เขาอาจได้ทำไว้..เมื่อเราเกลียดเขาย่อมมองเห็นทุกสิ่งที่เขาทำเป็นเรื่องเสียหายอยู่ร่ำไป..เมื่อแต่ละฝ่ายไม่ได้ใช้เหตุผลในการพิจารณา มันก็ไม่ใช่ความแตกต่างทางด้านความคิดหรอกครับที่ทำให้ประเทศเราเดินมาถึงจุดนี้
บันทึกการเข้า

อย่าเดินตามใคร เพราะเรามีจุดมุ่งหมายของเราเอง
ไทมุง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,543



« ตอบ #4 เมื่อ: 02-09-2006, 22:29 »

ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย


เป็นบทความที่พออ่านได้ แต่ในสภาพความเป็นจริง การตั้งต้นทำอะไรก็ตาม
บางทีก็ต้องยอมเชื่อในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง (ซึ่งก็เรียกว่าเผด็จ
การ) ไม่งั้นงานจะไม่ได้ทำและเสียโอกาส ตรงนี้ที่เปรียบเทียบเป็น quantitative
ไม่ได้ว่า รีบสร้างแต่แพงแต่ก็ใช้ได้ก่อนกับไม่ได้สร้าง อันไหนได้อันไหนเสีย
มากกว่ากัน ตอนจะสร้างอะไรมากหมอมากความมักไม่สำเร็จ แต่ตอนที่กำลัง
สร้างจริงจริงก็ควรจะประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้มากกว่านี้
สุดท้ายถ้ามีคนป่วนจริง ยังไงก็ต้องมีข้อสงสัยอยู่นั่นเอง เพราะมันต้องรีบเหมือน
สนามบินนี่แหละ (คุณลองดูดอนเมืองตอนนี้สิ วันเสาร์อาทิตย์เครื่องบินบินว่อน
รอเข้าแถวลงจอดเสียเวลาเสียน้ำมันเสียโอกาสเท่าไหร่) ถ้าเขาตามสงสัยไม่
เลิก และมีสื่อในมือ สุดท้ายก็ต้องแตกแยก เมื่อเครดิตของผู้รวบอำนาจตัดสิน
ใจทำมันลดลง ความสงสัยก็จะเพิ่ม ยิ่งให้ความเห็นก็ยิ่งไปกันใหญ่ เหมือนกับ
ปัจจุบัน มันเป็นความแตกแยกที่เป็นธรรมชาติและหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ

เห็นต่างจากคุณแถ
บทความนี้เป็นหนึ่งในการประมวลภาพการบริหารประเทศของรักษาการ นรม.

ธีมข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ  ดี
แต่ที่เคลื่อบแคลงคือ มีอะไรซ่อนอยู่ มีการหาประโยชน์ส่วนตัว จากประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่

ใครจะได้ประโยชน์สูงสุด หากมีการทำข้อตกลง
ประเทศหรือบริษัทส่งออกเนื้อไก่แช่แข็ง ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
บันทึกการเข้า
ชอบแถ
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 3,138



« ตอบ #5 เมื่อ: 02-09-2006, 22:37 »

แต่ละเรื่องใหญ่มักมีรายละเอียดมาก คนขี้เกียจอ่านรายละเอียดแล้วให้ความเห็น
มักทำพัง ถ้าแยกเฉพาะกลุ่มที่รู้เรื่องมาให้ความเห็น ก็จะกลายเป็นว่าผลประโยชน์
เข้าไปกลุ่มนั้นอย่างน่าสงสัย อย่างหนังสือชี้ชวนตอนจะขายหุ้นกฟผ. จะมีสักกี่คน
อ่านได้จบเล่ม ก็มันเกือบเท่าเยลโลเพจเจส แต่ที่ไปแพ้ในศาลปกครอง ไม่ได้เกี่ยว
กับรายละเอียดในเล่มนั้น หรือเรื่องราคาน้ำมันอิงสิงคโปร์ตอนแรกมีคนด่าเป็นชุด
ตอนหลัง ทำไมเงียบแล้วตอนนี้ก็อิงสิงคโปร์อย่างเดิม หลายเรื่องมันซับซ้อนเกิน
ให้ความเห็นแย้งครับ
บันทึกการเข้า
ไทมุง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,543



« ตอบ #6 เมื่อ: 02-09-2006, 22:39 »


ใครเสียประโยชน์ที่สุด
ประชาชนผู้ด้อยโอกาสหรือไม่ 

เกษตรกรผู้ปลูกหอม กระเทียม โคเนื้อ โคนม
ผู้ป่วยเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จะอยู่กันอย่างไร
รักษาการ นรม. ควรให้ทีมงานของท่านวางแผนไว้ก่อนว่าจะบรรเทาความเสียหาย
หรือชดเชยได้อย่างไร

หรือจะปล่อยตามยะถากรรม

ที่น่าสงสัยที่สุด  ทำไมท่านไม่ยอมให้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ให้หารืออย่างเปิดเผย และเปิดรับการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
กลัวชาวบ้านรู้เหรอ ว่าท่านและบริวารได้แฝงประโยชน์/ซ่อนอะไรไว้
กลัวประชาชนที่จะได้รับผลกระทบมาประท้วงหน้าทำเนียบ
แล้ว CNN เผยแพร่ข่าวรึไง
ขณะที่รัฐบาลบุช พ่อของท่าน ยังต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่สภาสูง
ถ้าท่านยกย่องนายบุชนักหนา  ทำไมไม่เอาอย่างในเรื่องนี้บ้าง

กลัวอะไรหรือ


บันทึกการเข้า
ปุถุชน
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 10,332



« ตอบ #7 เมื่อ: 02-09-2006, 22:48 »

ผมเห็นด้วยว่าประชาชนส่วนใหญ่นั้น แบ่งฝ่ายเป็น ฝ่ายเอาทักษิณและฝ่ายไม่เอาทักษิณเท่านั้น แต่บอกว่า จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ตัว นโยบาย ทำเอฟทีเอโดยตรงที่ฝ่ายไม่เอาทักษิณต่อต้าน แต่ไม่ชอบวิธีการที่คุณทักษิณใช้ในการตัดสินใจ และผลักดันนโยบายต่างหาก


ขอตั้งคำถามว่า
1. นโยบายกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาทที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ดีหรือไม่ Question
2. นโยบายนำ หวยใต้ดินขึ้นเป็นหวยบนดินถูกต้องหรือไม่ Question
3. นโยบายเผด็จการรัฐสภาเสียงข้างมาก ดำเนินการให้ได้ สส.มากจนฝ่ายค้านไม่สามารถยื่นขออภิปรายไม่ไว้วางใจ ดีหรือไม่ Question
4. นโยบายรัฐตำรวจดีหรือไม่ Question
5. นโยบาย ฯลฯ






บันทึกการเข้า

“หัวใจของการเมือง คือ ความไม่เห็นแก่ตัว หากเห็นแก่ตัวและพรรคของตัวแล้ว จะเห็นแก่มวลชนได้อย่างไร ดังนั้น นักการเมืองควรมีศีลธรรม ยึดถือธรรม บูชาธรรมยิ่งกว่าคนธรรมดา เมื่อเราทราบดีว่า การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบันมีปัญหาที่ต้องแก้ไข หากผู้ที่อาสาเข้ามายังจะใช้วิธีการเดิมๆ อีก ย่อมจะแก้ไขไม่ได้ เพราะปัจจุบันเป็นผลของอดีต และจะเป็นเหตุของอนาคต ต้องคิดให้ดี พูดให้ดี และทำให้ดี ในอนาคตจึงจะมีความหวังได้ มิฉะนั้นผู้สนับสนุนผู้ถูกร้อง(พ.ต.ท.ทักษิณ) จะต้องผิดหวังในที่สุด”


อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประเสริฐ นาสกุล ได้มีคำวินิจฉัยส่วนตัวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีความผิดในคดีซุกหุ้น......
ชอบแถ
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 3,138



« ตอบ #8 เมื่อ: 02-09-2006, 22:56 »

ขอตั้งคำถามว่า
1. นโยบายกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาทที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ดีหรือไม่ Question

ดี ดีมาก ถึง ดีที่สุด

2. นโยบายนำ:?: หวยใต้ดินขึ้นเป็นหวยบนดินถูกต้องหรือไม่ Question
ถูกต้องแน่นอน เคยให้ความเห็นไว้แล้ว

3. นโยบายเผด็จการรัฐสภาเสียงข้างมาก ดำเนินการให้ได้ สส.มากจนฝ่ายค้านไม่สามารถยื่นขออภิปรายไม่ไว้วางใจ ดีหรือไม่ Question
อันนี้ไม่ใช่นโยบาย

4. นโยบายรัฐตำรวจดีหรือไม่ Question
เป็นการประชดประชัน ตำรวจชั้นสัญญาบัตรเด็กเด็กปัจจุบันแทบจะอยู่ด้วยศักดิ์ศรี เพราะการคานอำนาจ ทำให้เวลาเกือบทั้งเวรของตำรวจ
ต้องมาทำเอกสาร ถ้าไม่คิดถึงศักดิ์ศรีความเป็นตำรวจ คงจะลาออกไปหมดแล้วเพราะยิ่งกว่างาน admin โชคดีที่พวกเขายังมีอนาคตที่ดี มี
ผู้ใหญ่ที่เห็นความสำคัญของตำรวจ ไม่ใช่คิดว่าตำรวจเป็นส่วนเกินของสังคม

5. นโยบาย ฯลฯ
บันทึกการเข้า
พรรณชมพู
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 5,073


« ตอบ #9 เมื่อ: 03-09-2006, 10:02 »

มติชนมา มติชนไป

http://www.matichon.co.th/weekly/weekly.php?srctag=MDQwMzAxMDk0OQ==&srcday=MjAwNi8wOS8wMQ==&search=no

อ้างถึง
บทความพิเศษ

บรรทัดสุดท้าย BOTTOM LINE...

มีการกล่าวมานานแล้วว่า

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นพวก "บรรทัดสุดท้าย" หรือพวก "สัมฤทธิผลนิยม"

นั่นคือ มุ่ง หรือหวังไปที่ "ผลสุดท้าย" สูงสุด โดยไม่สนใจวิธีการ

ถึงขนาดมีการกล่าวในเชิงลบ ว่า สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณใช้ประชาธิปไตยเป็นเพียง "วิธีการ" ที่จะก้าวไปสู่ "ผล" ตามที่ตนเองหรือพรรคไทยรักไทยต้องการเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ไม่น่าเชื่อ เพียง 5-6 ปี สถานการณ์จะพลิกผันไปอย่างสิ้นเชิง

พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้เป็นเพียงคนต้องการ "ผลสุดท้าย" ฝ่ายเดียวเท่านั้น

หากแต่มีคนอื่นกำลังใช้แนวทางนี้ กระทำต่อ พ.ต.ท.ทักษิณด้วย

ในวันนี้ ต้องยอมรับว่า วิกฤตต่างๆ ที่ถาโถมเข้าใส่ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นหนักหน่วง รุนแรง ถือเป็นวิกฤตอย่างยิ่ง

วิกฤตซึ่งมี "ผู้ที่กระทำ" ทั้งโดย "เปิดเผย" และ "ไม่เปิดเผย"

และดูจะย้อนศร พ.ต.ท.ทักษิณอย่างสำคัญ

นั่นคือ ไม่สนใจว่าวิธีการที่กระทำต่อ พ.ต.ท.ทักษิณจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าเคลื่อนไหวผ่านการเมือง ชุมนุมประท้วง ตะโกนด่า ดิสเครดิต ทำลายความน่าเชื่อถือ การทำให้เป็นตัวตลก

หรือแม้แต่วิธีการรุนแรงที่กำลังเป็นคำถามว่าจริงหรือไม่จริงนั่นคือ "ลอบสังหาร"

พูดง่ายๆ คือ ฝ่ายตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณไม่สนใจว่าจะเป็นวิธีการตามระบอบประชาธิปไตยหรืออนาธิปไตย

แต่บรรทัดสุดท้ายที่ต้องการ ก็คือ การโค่นล้ม พ.ต.ท.ทักษิณ ลงให้ได้

น่าสนใจว่า ด้วยภาวะเช่นนี้ แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณจะประเมิน "บรรทัดสุดท้าย" ของตนเองอย่างไร!



ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หากติดตามท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณที่แสดงต่อบุคคล กลุ่มบุคคล และต่อสาธารณะ จะพบร่องรอยที่น่า "สนใจ" หนึ่ง

นั่นก็คือ "ความเหนื่อยล้า" "ท้อแท้" ที่ชัดเจน

ตัวอย่างเช่น เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวสุนทรพจน์ในงานมอบรางวัลแก่ผู้ส่งออกสินค้าและบริการดีเด่นปี 2549 พูดตอนหนึ่งว่า

"ในโลกตะวันตก ความสำเร็จของคนจะเป็นแรงจูงใจให้คนที่ไม่สำเร็จในวันนี้สำเร็จในวันหน้า แต่จุดอ่อนของคนในสังคมนี้ที่ทำให้ไม่ก้าวหน้าคือ เรื่องจิตใจ ที่มีความอิจฉาริษยามากกว่าการจะพัฒนาเพื่อความก้าวหน้าของตัวเอง"

"มามอบรางวัลวันนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า คนที่มารับรางวัลมีแต่คนรุ่นหนุ่มสาว ทำให้ผมคิดในใจและมีความรู้สึกเหมือนกันว่า มามอบรางวัลให้ให้รุ่นหนุ่มๆ น้องๆ ลูกๆ เพราะผมแก่มากแล้ว 6 ปีแล้ว แต่ไม่รู้ว่าปีหน้าท่านจะรับจากใคร..."

หรือเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวกับข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ระดับ 9 ขึ้นไป

"สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผมในวันนี้จะสนับสนุนให้คนกล้าเปลี่ยนแปลงอีกเยอะ เพราะสิ่งที่ผมพยายามจะเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ต่อส่วนร่วมมีความขัดแย้งสูง แต่สิ่งที่ผมโดนวันนี้มันทำให้คนท้อใจอีกเยอะ เหลือเชื่อสิ่งที่ผมเจอในวันนี้ไม่เคยคิดว่าจะเกิดในสังคม และตัวผมที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงให้บ้านเมือง ผมต้องเหนื่อยมาก"

"พูดตรงๆ ที่ผมเดินสายวันนี้อยากฝากประสบการณ์ที่เป็นนายกรัฐมนตรีมา 6 ปี ให้ไว้กับกระทรวงต่างๆ และถ้าไม่จำเป็นอย่างยิ่งยวดคงจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเหนื่อยมาก พอสำหรับคนในครอบครัวหนึ่ง แต่ถ้ามันจำเป็นอย่างยิ่งยวดก็ต้องเป็นต่อ เลยคิดว่าสิ่งไหนที่เป็นสิ่งดีๆ ก็อยากจะฝากไว้กับเพื่อนข้าราชการ จะได้ลองไปคิดต่อ เพราะบ้านนี้เมื่องนี้พูดได้สองมุมคือ บ้านเมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว แต่เป็นมุมของความท้อถอย แต่อีกมุมหนึ่งถ้าพูดอีกมุมหนึ่งว่าบ้านเมืองนี้เป็นของเราต้องช่วยคนละไม้คนละมือเพื่อลูกหลานเหลนของเรา นี่คือสิ่งที่ผมจะเดินสาย แต่คงไม่ได้กี่กระทรวงหรอก เพราะว่ามันท้อแท้ใจมาก สิ่งที่เกิดกับผมขณะนี้ปรากฏว่าเห็นสื่อออกมามันไม่มีความเป็นธรรม แย่จริงๆ"

และเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวกับประชาชน 100 คนมาร่วมให้กำลังใจบริเวณหน้าที่ทำการพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ได้กล่าวว่า

"ผมจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อเรียกความสามัคคีให้บ้านเมืองสงบสุขอย่างเร็วที่สุด ที่ผ่านมาการเมืองต่อสู้กันอย่างยาวนาน ทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายบางส่วน ผู้ที่เสียประโยชน์บางส่วน ผู้ที่ไม่ได้ประโยชน์บางส่วน และผู้ที่อุดมการณ์ไม่ตรงกันบางส่วนไปรวมตัวกันทำให้สังคมเกิดความแตกแยก"

จากคำพูดนี้ ดูเหมือน พ.ต.ท.ทักษิณจะยอมรับแล้วว่า "ฝ่ายตรงข้าม" ตนเอง ได้แพร่ขยายออกไปรอบตัวแล้ว



ภาวะที่มี "ฝ่ายตรงข้าม" รอบตัว

ทั้งผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายบางส่วน ผู้ที่เสียประโยชน์บางส่วน ผู้ที่ไม่ได้ประโยชน์บางส่วน และผู้ที่อุดมการณ์ไม่ตรงกัน อย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณว่า

ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณยากอย่างยิ่งที่จะดำรงอยู่บนเส้นทางการเมืองอย่างราบรื่นได้อีกต่อไป

ซึ่งตรงนี้ พ.ต.ท.ทักษิณจะโทษคนอื่นเพียงอย่างเดียวไม่ได้

เพราะเอาเข้าจริง วิกฤตที่สุมรุมอยู่ตรงนี้ เป็นสนิมที่เกิดแต่เนื้อในตน อย่างสำคัญด้วย

พ.ต.ท.ทักษิณคงไม่ปฏิเสธว่า ยามที่ตนเองกุมอำนาจทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้น

ได้ใช้ความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในการลิดรอนคนอื่น มีการกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ว่าในภาคใต้ การปราบปรามยาเสพติด

ใช้ความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในการผลักดันนโยบายทุกด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่สนองตนเองโดยไม่ใส่ใจคนอื่น

ใช้ความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในการเข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระ สื่อ จนนำไปสู่ความไม่น่าไว้วางใจ

ขณะเดียวกัน ยังถูกมองในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การคำนึงถึงแต่พวกพ้อง

หรือแม้แต่การขายกิจการส่วนตัว 7.3 หมื่นล้าน ก็ได้นำไปสู่ความกังขา "ใหญ่"

สิ่งเหล่านี้ เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งที่ ทำให้เกิดภาวะอย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณบอกข้างต้นนั่นแหละว่า ทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายบางส่วน ผู้ที่เสียประโยชน์บางส่วน ผู้ที่ไม่ได้ประโยชน์บางส่วน และผู้ที่อุดมการณ์ไม่ตรงกัน หลอมรวมเป็น "ฝ่ายตรงข้าม" ที่เข้มแข็ง

เข้มแข็งที่จะโค่น พ.ต.ท.ทักษิณลงให้ได้

ทั้งนี้ หมายอาจรวมถึงการลอบสังหารนายกรัฐมนตรีด้วยวัตถุระเบิดในรถยนต์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2549 ด้วย



เหตุการณ์ลอบสังหารดังกล่าว

ต้องถือว่าเป็น "ความรุนแรงขั้นสูงสุด"

แต่กระนั้น สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ คงต้องครุ่นคิดอย่างหนัก

เพราะแทนที่จะได้รับความเห็นอกเห็นใจ ในฐานะ "ผู้ถูกกระทำ"

แต่สังคมกลับมานั่งถกเถียงกันว่า เหตุการณ์จริง หรือจัดฉากขึ้นมา

ซึ่งนี่สะท้อนภาวะความไม่เชื่อมั่น ความไม่ไว้วางใจในตัว พ.ต.ท.ทักษิณอย่างชัดเจน

มองในประเด็น "การลอบสังหาร" เป็นเรื่องจริงก่อน

ถ้าเป็นจริง ก็ชวนให้เกิดคำถามว่า ทำไมถึงมีผู้เกลียดชัง พ.ต.ท.ทักษิณได้มากขนาดถึงขั้นพยายามลอบสังหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ถือว่ารุนแรงที่สุด

และแทบไม่เคยมีผู้นำคนไหนที่มีปริมาณของความเกลียดชังมากถึงขนาดนี้

ที่เป็นเช่นนี้เพราะความที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นบุคคลที่ก้าวร้าว เหยียดหยาม ท้าทาย ไม่รู้จักทำตนให้เป็นที่รัก ใช่หรือไม่

โดยปกติบุคลิกคนไทยนั้นถึงจะเกลียดผู้นำอย่างไร การคิดสังหารนั้นมีน้อยมาก

แต่หากเหตุการณ์ "ลอบสังหาร" เป็นเรื่องจริง

นั่นก็แสดงว่าความเกลียดชังมีมากจนถึงจุดเดือด ถึงขนาดต้อง "ฆ่าแกงกัน" ซึ่งไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะอาจเป็นชนวนของความแตกแยกและรุนแรง จนอาจนำไปสู่การนองเลือดของสังคมโดยรวมได้

ชี้ชัดว่า พ.ต.ท.ทักษิณนั่นเองคือ "อภิปัญหา" ที่นำไปสู่ปฏิบัติการรุนแรงที่กระทำต่อกัน

เมื่อมองเหตุการณ์ลอบสังหาร ในแง่ "การจัดฉาก" ที่หวังต้องการกลบเกลื่อนบางเรื่องยิ่งแล้วใหญ่

เพราะหากสังคมจับได้ไล่ทัน พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะเสื่อมความเชื่อถือลงไป ถึงขั้นล้มละลายเลยทีเดียว

ภาวะเช่นนี้ ย่อมต้องไปขยายความขัดแย้งให้เพิ่มขึ้น และไปกระตุ้นให้คนเกลียด พ.ต.ท.ทักษิณมากขึ้น

เมื่อเกลียดมากขึ้นๆ การคิดขจัดผู้มีอำนาจด้วยวิธีรุนแรงก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว

นี่เป็นภาวะที่สะพรึงกลัวของสังคมไทย ในอนาคตอันใกล้นี้



กล่าวโดยสรุป ขณะนี้ ความเชื่อถือ ความเชื่อมั่นในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ตกต่ำลงอย่างมาก

และภาวะเช่นนั้น พ.ต.ท.ทักษิณก็รู้อยู่เต็มอก และได้สะท้อนผ่านคำพูดอย่างท้อเแท้ เหน็ดเหนื่อย ในหลายวาระ

ขณะที่ภาวะความขัดแย้งของสังคม ก็ได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง

วันนี้ฝ่ายตรงข้ามของระบอบทักษิณ ไม่ได้มีเพียงแค่การเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายพันธมิตรฯ ฝ่ายปัญญาชน คนชั้นกลาง อย่างเปิดเผยเท่านั้น หากแต่มีคู่ความขัดแย้งที่ไม่เปิดเผย และเลือกใช้วิธีการกระทำต่อกันชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน

ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะนำสังคมไปสู่ "ความรุนแรง" สูงมาก

แม้ พ.ต.ท.ทักษิณอาจจะมีความหวังว่า หากเร่งให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว ชัยชนะจากการเลือกตั้งอาจทำให้ตนเองและพรรคไทยรักไทยมีความชอบธรรมที่จะกลับมาบริหารประเทศได้อีกครั้งก็ตาม

แต่คนฉลาดอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็คงประเมินได้ไม่ยากว่า ภาวะแห่งความบานปลายของสถานการณ์ "ทักษิณออกไป" นั้น มีแนวโน้มสูง ที่ทำให้เกิดสภาพ แม้จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

แต่อาจไม่สามารถบริหารประเทศได้ต่อไป

เมื่อมองเห็น "บรรทัดสุดท้าย" มีแนวโน้มที่จะจะมีคำตอบเช่นไรแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณในฐานะ "นักสัมฤทธิผลนิยม" ไม่คิดจะเสียสละอะไรบ้างหรือ

นี่เป็นคำถามที่หลายคนใจจดจ่อรอคำตอบ

และคาดหวังว่า น่าจะเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์

แต่กระนั้น ก็คงต้องทำใจไว้ล่วงหน้าด้วยว่า ถึง พ.ต.ท.ทักษิณจะรู้ว่าบรรทัดสุดท้ายคืออะไร อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณอาจจะทำใจยอมรับการ "ถอย" ไม่ได้

ถอยไม่ได้เพราะความหอมหวนของอำนาจ

ถอยไม่ได้เพราะความหวาดระแวงที่จะถูกตาม "เช็คบิล"

นี่จึงอาจเป็นภาวะที่ทำให้ "รุกก็ไม่ได้ ถอยก็ไม่ได้" มีแต่ต้องฟาดฟันกันให้ล้มตายไปข้างหนึ่ง

หากเป็นเช่นนั้นก็คงเป็นความโชคร้ายสุดสุดของสังคมไทยอีกครั้ง

เพราะคนที่มองเห็นแต่ "บรรทัดสุดท้าย" ที่มีเพียงแต่คำว่า "ชนะ" อย่างเดียว ก็อาจใช้ทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะรุนแรง โหด***มเพียงใด กำจัดฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้สัมฤทธิผล "ชนะ" ให้ได้!

เป้าหมายของทักษิณ คือผลประโยชน์ส่วนตน  ระหว่างการดำเนินการบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี มีความจำเป็นที่จะต้องบริหารราชการแผ่นดินไปด้วย เพราะหากไม่ทำ ก็โดนขับไล่ตั้งแต่เดือนแรกที่รับงานแล้ว  จะมัวหากินอย่างเดียวอยู่ได้อย่างไร

แต่การบริหาราชการแผ่นดินของทักษิณนั้น เป้าหมายสุดท้ายคือผลประโยชน์ส่วนตน ดังนั้นนโยบายอะไรที่คิดกันว่าดีหรือต้องทำนั้น หากทำโดยวิธีของทักษิณ แล้วประเทศจะต้องเสียผลประโยชน์มหาศาล สู้ไม่ทำเสียดีกว่าค่ะ

ตอบคำถามคุณปถุชน

1. นโยบายกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาทที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ดีหรือไม่
-  เป็นนโยบายประชานิยม รวมกันการแจกเงินให้ถึงมือหัวคะแนน ผลก็คือเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนคอยรอรับเศษทานจากรัฐบาล เป็นกองทุนบาปที่ไม่ได้ส่งผลดีอะไรกับชุมชนเท่าที่เสียงเนไปเลยค่ะ

2. นโยบายนำ หวยใต้ดินขึ้นเป็นหวยบนดินถูกต้องหรือไม่
-  นี่เป็นการมอมเมาประชาชนอย่างที่สุด  การออกหวยของรัฐบาลนั้นควรจะเลิกได้แล้ว  โดยเฉพาะรัฐบาลที่คุยว่าทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีอย่างโง้นอย่างงี้ แล้วยังต้องออกหวยอยู่ทำไม  หวยรัฐบาลคือต้นตอของหวยใต้ดิน  งดหวยรัฐบาลหวยใต้ดินที่อิงรัฐบาลก็หมดไป ไม่ต้องยกขึ้นมาบนดินเพื่อมอมเมาประชาชนให้หนักขึ้นไปอีกค่ะ

3. นโยบายเผด็จการรัฐสภาเสียงข้างมาก ดำเนินการให้ได้ สส.มากจนฝ่ายค้านไม่สามารถยื่นขออภิปรายไม่ไว้วางใจ ดีหรือไม่
-   อันนี้ไม่ใช่นโยบายค่ะ  แต่มันเป็นความสกปรกทางการเมือง  เมื่อต้องการโกงประเทศให้สะดวก ก็ย่อมไม่ต้องการให้ถูกจับได้  ฝ่ายค้านมีไว้ตรวจสอบรัฐบาล เมื่อตรวจสอบไม่ได้  รัฐบาลก็โกงสบายไป

4. นโยบายรัฐตำรวจดีหรือไม่
-  อันนี้ก็ไม่ใช่นโยบายอีกนั่นแหละค่ะ  เป็นการเล่นพรรคเล่นพวกธรรมดา  จะเอาตำรวจมาค้ำยันฐานอำนาจไว้ ก็เท่านั้นเอง
บันทึกการเข้า
ปุถุชน
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 10,332



« ตอบ #10 เมื่อ: 03-09-2006, 12:15 »

คุณชอบแถและคุณพรรณชมพู มีความคิดเห็นแตกต่างกัน คงให้คนที่เข้ามาอ่านพิจารณาเอาเองครับ....


เมื่อเริ่มก่อตั้งพรรคไทยรักไทยนั้น ทักษิณไปขายความคิดเห็น/นโยบายของเขาให้กับหมอเสม หมอประเวศ คุณจำลอง หมอเกษม อดีตอัยการสูงสุดคณิต ฯลฯ จะให้พรรคไทยรักไทยทำการเมืองอย่างซื่อสัตย์สุจริต ไม่ซื้อเสียง-ขายเสียง เป็นรัฐบาลที่บริหารบ้านเมืองอย่างซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงธรรม จึงได้รับเสียงสนับสนุนจากคนที่มีชื่อเสียง ผู้นำทางความคิดทางสังคมจำนวนมาก....

ภายหลังมีการพูดในพรรคฯว่า พรรคฯมีนโยบายแบบนี้ อีก 10 ปีก็ไม่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้ จะต้องมีเสียงข้างมากในรัฐสภาจึงจะเป็นรัฐบาลได้ ทำให้ทักษิณเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นใหม่ ติดต่อ"ป๋าเหนาะ"กับลูกทีมเข้ามาร่วมพรรคฯ จึงได้เป็นรัฐบาล...

เมื่อได้อำนาจในการบริหารรัฐบาล ทักษิณได้"ออกลาย" วางเป็น นโยบายของพรรคฯว่าจะต้องมีเสียงข้างมากไม่ให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี จึงดำเนินการกวาดต้อนพรรคการเมืองต่าง ๆ เริ่มจากพรรคเสรีธรรม เป็นต้น จึงเป็นที่มาของเผด็จการรัฐสภาแนวใหม่ โดยยึดครอบครองเสียงมากให้เกินกว่า 300 เสียง... Exclamation

ถ้าพิจารณาถึงตำแหน่งสูงและสำคัญ เช่น ปปง. ดีเอสไอ. กองฉลากฯ  ปปช. ฯลฯ ล้วนแต่เป็นตำรวจทั้งสิ้น เพราะทักษิณไว้ใจเพื่อนร่วมรุ่นและสีเดียวกัน จึงยึดเป็นหลักการหรือนโยบายว่าจะวางตำแหน่งต่าง ๆเพื่อปกป้องและคุ้มครองการกระทำผิดของเขาด้วยการใช้ตำรวจเท่านั้น หลายตำแหน่ง มีคนในพรรคฯเสนอคนสายอื่น ๆ ทักษิณจะอ้างว่าเป็นนโยบายของเขาเอง.... Exclamation


หนามยอกเอาหนามบ่ง

ทักษิณใช้นิติกรบริการและอลัชชีกฎหมายดำเนินการทุจริตทางนโนบายและบกพร่องโดยสุจริตได้ตลอดมา4-5 ปี...

จึงเหิมเกริม ย่ามใจ ปฎิบัติการทุกอย่างบนพื้นฐานกฎหมาย กติกา รัฐธรรมตีความเข้าหาตนเองพูดเองเออเองโดยนิติกรบริการและอลัชชีกฏหมาย ไม่ว่าจะทำการซื้อขาย เครื่องตรวจระเบิดCTX9000 การประมูลสัมปทาน บริการต่าง ๆในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น

วันนี้ด้วยพระปรีชาญาณของในหลวง  สถาบันตุลาการจึงได้สนองพระราชดำริด้วยการใช้กฏหมาย กติกา และรัฐธรรมนูญ เพื่อเอาผิดทักษิณ ตามวิถีตุลาการภิวัฒน์ ผสานกับประชาชนที่เคลื่อนไหวตามสิทธิประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อย่างสันติภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ.... Exclamation

บันทึกการเข้า

“หัวใจของการเมือง คือ ความไม่เห็นแก่ตัว หากเห็นแก่ตัวและพรรคของตัวแล้ว จะเห็นแก่มวลชนได้อย่างไร ดังนั้น นักการเมืองควรมีศีลธรรม ยึดถือธรรม บูชาธรรมยิ่งกว่าคนธรรมดา เมื่อเราทราบดีว่า การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบันมีปัญหาที่ต้องแก้ไข หากผู้ที่อาสาเข้ามายังจะใช้วิธีการเดิมๆ อีก ย่อมจะแก้ไขไม่ได้ เพราะปัจจุบันเป็นผลของอดีต และจะเป็นเหตุของอนาคต ต้องคิดให้ดี พูดให้ดี และทำให้ดี ในอนาคตจึงจะมีความหวังได้ มิฉะนั้นผู้สนับสนุนผู้ถูกร้อง(พ.ต.ท.ทักษิณ) จะต้องผิดหวังในที่สุด”


อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประเสริฐ นาสกุล ได้มีคำวินิจฉัยส่วนตัวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีความผิดในคดีซุกหุ้น......
ThailandReport
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,415


« ตอบ #11 เมื่อ: 03-09-2006, 15:02 »

..

เมื่อเริ่มก่อตั้งพรรคไทยรักไทยนั้น ทักษิณไปขายความคิดเห็น/นโยบายของเขาให้กับหมอเสม หมอประเวศ คุณจำลอง หมอเกษม อดีตอัยการสูงสุดคณิต ฯลฯ จะให้พรรคไทยรักไทยทำการเมืองอย่างซื่อสัตย์สุจริต ไม่ซื้อเสียง-ขายเสียง เป็นรัฐบาลที่บริหารบ้านเมืองอย่างซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงธรรม จึงได้รับเสียงสนับสนุนจากคนที่มีชื่อเสียง ผู้นำทางความคิดทางสังคมจำนวนมาก....

ภายหลังมีการพูดในพรรคฯว่า พรรคฯมีนโยบายแบบนี้ อีก 10 ปีก็ไม่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้ จะต้องมีเสียงข้างมากในรัฐสภาจึงจะเป็นรัฐบาลได้ ทำให้ทักษิณเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นใหม่ ติดต่อ"ป๋าเหนาะ"กับลูกทีมเข้ามาร่วมพรรคฯ จึงได้เป็นรัฐบาล...

เมื่อได้อำนาจในการบริหารรัฐบาล ทักษิณได้"ออกลาย" วางเป็น นโยบายของพรรคฯว่าจะต้องมีเสียงข้างมากไม่ให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี จึงดำเนินการกวาดต้อนพรรคการเมืองต่าง ๆ เริ่มจากพรรคเสรีธรรม เป็นต้น จึงเป็นที่มาของเผด็จการรัฐสภาแนวใหม่ โดยยึดครอบครองเสียงมากให้เกินกว่า 300 เสียง... Exclamation

ถ้าพิจารณาถึงตำแหน่งสูงและสำคัญ เช่น ปปง. ดีเอสไอ. กองฉลากฯ  ปปช. ฯลฯ ล้วนแต่เป็นตำรวจทั้งสิ้น เพราะทักษิณไว้ใจเพื่อนร่วมรุ่นและสีเดียวกัน จึงยึดเป็นหลักการหรือนโยบายว่าจะวางตำแหน่งต่าง ๆเพื่อปกป้องและคุ้มครองการกระทำผิดของเขาด้วยการใช้ตำรวจเท่านั้น หลายตำแหน่ง มีคนในพรรคฯเสนอคนสายอื่น ๆ ทักษิณจะอ้างว่าเป็นนโยบายของเขาเอง.... Exclamation


หนามยอกเอาหนามบ่ง

ทักษิณใช้นิติกรบริการและอลัชชีกฎหมายดำเนินการทุจริตทางนโนบายและบกพร่องโดยสุจริตได้ตลอดมา4-5 ปี...

จึงเหิมเกริม ย่ามใจ ปฎิบัติการทุกอย่างบนพื้นฐานกฎหมาย กติกา รัฐธรรมตีความเข้าหาตนเองพูดเองเออเองโดยนิติกรบริการและอลัชชีกฏหมาย ไม่ว่าจะทำการซื้อขาย เครื่องตรวจระเบิดCTX9000 การประมูลสัมปทาน บริการต่าง ๆในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น

วันนี้ด้วยพระปรีชาญาณของในหลวง  สถาบันตุลาการจึงได้สนองพระราชดำริด้วยการใช้กฏหมาย กติกา และรัฐธรรมนูญ เพื่อเอาผิดทักษิณ ตามวิถีตุลาการภิวัฒน์ ผสานกับประชาชนที่เคลื่อนไหวตามสิทธิประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อย่างสันติภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ.... Exclamation




ผมต้องก้มหัวคารวะให้...การสรุปความ ของคุณปุถุชน ในครั้งนี้ ตรง แม่นยำ และกระชับที่สุด
ในภาวะการณ์ปัจจุบันนี้ครับ

นี่คือ ปุถุชน คนธรรมดา ที่ไม่ธรรมดา...
บันทึกการเข้า

The only thing necessary for the triump of evil is for good men to do nothing !!
สิ่งเดียวที่จะทำให้คนชั่วได้รับชัยชนะ นั่นคือการที่ คนดีๆนิ่งดูดาย !
ชอบแถ
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 3,138



« ตอบ #12 เมื่อ: 03-09-2006, 22:24 »

อยู่ในโลกของอุดมคติเค้าไม่เรียกปุถุชนแล้ว
ประเทศมันเจริญขึ้น ปัญหามีก็ต้องแก้กันไป
ไม่ใช่ถีบหัวส่งกันแบบนี้ ยัดเยียดข้อหาที่ดู
แล้วมันเกินไป สำหรับคนตั้งใจทำงานเพื่อ
ชาติ
บันทึกการเข้า
HILTON (ปาล์มาลี)
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 1,310



« ตอบ #13 เมื่อ: 03-09-2006, 22:29 »

ฝ่ายโง่  และฝ่ายฝ่ายไม่โง่
ฝ่ายดี   และฝ่ายไม่ดี
บันทึกการเข้า
snowflake
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3,207



« ตอบ #14 เมื่อ: 30-05-2007, 21:40 »

ในโอกาสที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการแตกแยก
ขอขุดกระทู้นี้ขึ้นมาอีกครั้ง

เป็นบรรยากาศก่อนหน้ารัฐประหาร 19 ก.ย. 49
พรรคการเมืองต่างๆ กำลังเดินหน้าหาเสียง สู่การเลือกตั้งในเดือน ต.ค. 49

ดูจากความรุนแรงของภาษาที่ใช้ในการตอบกระทู้
แล้วให้สงสัยว่า ความขัดแย้งในเวลานี้ มันเพิ่มขึ้นหรือลดลง?
วัตถุประสงค์ของการยึดอำนาจข้อหนึ่งนั้น คณะรัฐประหารได้มาแก้หรือทำให้แย่ลง?





หวังว่าการแตกแยกเลือกข้างในสังคมปัจจุบัน
จะไม่รุนแรงถึงขั้นเกิดการใช้กำลังปะทะนองเลือด
และเป็นความ “แตกต่างที่ไม่แตกแยก” ได้อย่างแท้จริง



 
บันทึกการเข้า

Even the smallest person can change the course of the future.
Body&Soul
ขาประจำ
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 370



« ตอบ #15 เมื่อ: 30-05-2007, 21:46 »

น้องโนว์เฟะ ทานอาหารมื้อเย็นยังครับ

มาหายา ทำให้เจริญอาหาร มื้อเย็นแถวนี้เป่าครับ
บันทึกการเข้า
qazwsx
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,359


นักธุรกิจและตำรวจ ต้องออกไปจากการเมือง


« ตอบ #16 เมื่อ: 30-05-2007, 21:52 »

แหล่ แล แหล่ แล แล้ แล  แหล่ แล แล แล้  แล้ แหล่ แล แหล...
แต๊ลอ ดัด จา หริด ต่อ แหล
แหล่ แล แล้ แหล่  แล แล แหล่ แหล
...

เพลงอะไรไม่รู้  จำชื่อไม่ได้
ทำนอง "ออ แลง ซายยยยยย"
บันทึกการเข้า

วิหค อัสนี
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 946



« ตอบ #17 เมื่อ: 30-05-2007, 22:05 »

ถ้าแบ่งฝ่ายเถียงกันมายาวนานแล้ว ยังเหมือนพายเรือในอ่าง หาข้อสรุปไม่ได้

...เป็นไปได้หรือไม่ว่า เราตั้งโจทย์ผิด หรือมองข้ามประเด็นสำคัญบางอย่างหรือหลายๆ อย่างไปตั้งแต่แรก??
บันทึกการเข้า

_______ดังนี้แล
__เปลวไฟจักลุกโชน
___หามีวันดับลงได้
_ตราบที่ในมือพวกสูเจ้า
ยังแต่น้ำมันเตาให้ราดรดไป
หน้า: [1]
    กระโดดไป: