ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
19-04-2024, 22:33
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  เรื่องยุ่งๆ ในกองทัพ บทนำมติชน 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
เรื่องยุ่งๆ ในกองทัพ บทนำมติชน  (อ่าน 853 ครั้ง)
soco
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,842



« เมื่อ: 02-09-2006, 12:58 »

วันที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10402

เรื่องยุ่งๆ ในกองทัพ

บทนำมติชน



แม้การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารในแต่ละปีที่ผ่านมา จะมีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นที่ครึกโครม เรื่องฝ่ายการเมืองนำโดยนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าไปจัดการเพื่อให้การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารทั้งในกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองบัญชาการทหารสูงสุด เป็นที่พึงพอใจของตนและพรรคพวก โผรายชื่อนายทหารในตำแหน่งสำคัญที่นายทหารอยากดำรงตำแหน่งจะถูกหนังสือพิมพ์นำเสนอรายข่าว จากนั้นโผก็จะพลิกไปมา มีการให้สัมภาษณ์ของผู้นำเหล่าทัพ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ขณะเดียวกันคนที่คั่วจะขึ้นตำแหน่งก็จะตอบคำถามผู้สื่อข่าวหรือไม่ก็หลบหน้าไม่อยากเจอผู้สื่อข่าวจะได้ไม่ต้องพูดจาอะไร แต่สำหรับในปีนี้ เกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

หลังจากมีการงัดข้อ ซึ่งเห็นได้จากคำพูดที่ให้สัมภาษณ์ของนายทหารระดับสูงและผู้นำเหล่าทัพบางคน อันเกิดจากความขัดแย้งของนายทหารที่โยงไปถึงฝ่ายการเมืองในคณะรัฐมนตรี เสียงวิเคราะห์วิจารณ์จากคนภายในกองทัพ และคนนอกกองทัพบอกว่า ทหารแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ที่กำลังต่อสู้กันอยู่และส่งผลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ พล.อ.มนตรี สุภาพร จเรทหารทั่วไปได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอย่างชัดแจ้งว่า ฝ่ายการเมืองได้เข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ต่อมาในการประชุมสภากลาโหม เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พล.อ.มนตรีก็นำเรื่องนี้เข้าไปพูดในที่ประชุมสภากลาโหม ที่ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้ถึงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ถ้าหากเอาคนของนักการเมืองมาดำรงตำแหน่งก็จะทำให้ทหารที่ดีมีความสามารถ อยู่ในระเบียบวินัยไม่วิ่งเต้นก็จะหมดขวัญกำลังใจในการทำงานหรือสู้รบ

นอกจากนี้ นายทหารระดับนายพล 4 นาย จาก 3 เหล่าทัพ ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ระบุถึงการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายของ พล.อ.ธรรมรักษ์ในการแต่งตั้งโยกย้ายในกองทัพ เพราะอยู่ระหว่างมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งและไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของ กกต. ในหนังสือเขียนทำนองว่า จะยื่นคำร้องไปยังศาลปกครองและผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐมนตรีกระทำเช่นนี้ได้หรือไม่ ขอให้ พล.อ.เปรมแสดงความเห็นต่อองค์กรอิสระทั้งสอง

จริงอยู่, การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารยังไม่เกิดขึ้น คำสั่งยังไม่ออก ถ้าจะมีก็แค่เพียงรายชื่อ ซึ่งยังเห็นไม่ตรงกันระหว่างรายชื่อทื่ผู้นำเหล่าทัพเสนอขึ้นไป และถูกโต้แย้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในบางตำแหน่ง ทั้งนี้อาจจะมีคนอื่นจากฝ่ายการเมืองเข้าไปร่วมรับรู้และตัดสินใจ ยิ่งนานวัน ข่าวลือก็จะระบาดไปในหมู่ทหาร ข่าวจริงข่าวเท็จไม่สามารถตรวจสอบได้ ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่วิกฤต ไม่เพียงแต่ประชาชนเท่านั้นที่แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ในกองทัพก็มีการแบ่งเป็นรุ่นและแบ่งเป็นพวก ข่าวลือปฏิวัติซึ่งควรจะหมดไปแล้ว ไม่ควรจะลือก็ยังลือกันอยู่ และคุมเชิงกันของแต่ละฝ่าย ดังนั้น ถึงจะยังไม่มีการประกาศรายชื่อการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร แต่โดยข้อเท็จจริงก็มีความเกี่ยวพันกันระหว่างฝ่ายการเมืองที่มักจะเข้ามาล่วงลูกและเปลี่ยนโผการแต่งตั้งโยกย้าย

อาจจะมีปัญหาและข้อขัดแย้งอยู่บ้างสำหรับการจัดสรรนายทหารไปลงตำแหน่งที่สำคัญๆ แต่ถ้าถือกฎเกณฑ์ของกฎระเบียบและธรรมเนียมปฏิบัติที่ถือว่า กองทัพเป็นของชาติและของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เคยกล่าวไว้ การพิจารณาเลือกใครหรือไม่เลือกใครจะต้องคำนึงระบบอาวุโส ความรู้ความสามารถ ความมีคุณธรรมจริยธรรมเป็นเกณฑ์ การแต่งตั้งนายทหารที่อาวุโสไม่ถึงข้ามหัวคนอื่น หรือทำงานเข้ากับคนอื่นไม่ได้ จะดีก็แค่เป็นรุ่นหรือกลุ่มพวกเดียวกับคนมีอำนาจแต่งตั้ง อย่างนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง

ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายนายทหารหรือตำรวจหรือข้าราชการพลเรือน อยู่ที่ผู้บังคับบัญชาในส่วนข้าราชการประจำกับในส่วนของนักการเมือง ทำอย่างไรถึงจะไม่ขัดต่อหลักการที่ควรจะเป็น การแต่งตั้งโยกย้ายที่อธิบายไม่ได้ว่าทำไมถึงเลือกคนนี้ จะเกิดผลดีกับส่วนรวมคือ ประเทศชาติหรือผลดีกับตนเอง โดยจะใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางการเมือง ในเวลาเลือกตั้งก็ให้นายทหารไปสั่งทหารผู้ใต้บังคับบัญชาและครอบครัวให้เลือกผู้สมัครหรือพรรคที่ตนเองเป็นหนี้บุญคุณ การแต่งตั้งด้วยเกณฑ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้

ปฏิกิริยาแห่งความไม่พอใจและไม่ไว้วางใจผู้บังคับบัญชาจากฝ่ายการเมืองที่เกิดในหมู่ทหารอย่างน้อยก็ พล.อ.มนตรีคนหนึ่ง และนายทหารยศนายพลอีก 4 นาย ที่กล้าหาญลงชื่อตนเองในจดหมายยื่นถึง พล.อ.เปรมแน่นอน ย่อมจะถูกต่อว่าจากเพื่อนหรือผู้บังคับบัญชา แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เกิดผลดี เพราะใครที่กำลังจะดึงเอาทหารไปรับใช้การเมืองเพื่อประโยชน์ของตัวเองจะได้รู้และหยุดการกระทำนั้นเสีย ไม่เช่นนั้นการเปิดโปงอาจจะมีต่อไปอีก

หน้า 2<
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
    กระโดดไป: