"ดร.ปณิธาน วัฒนายากร"ชี้
แผนลอบสังหาร “ทักษิณ” มีพิรุธเพียบ ทั้งน้ำหนักของระเบิดกับรัศมีการทำลายล้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เผย
รัฐบาลจงใจยัดเยียดข้อมูลลอบทำร้ายผู้นำให้กับประชาชน ขณะเดียวกันยังพยายามชี้ให้เห็นว่ามีการวางแผนและเตรียมการเป็นอย่างดี ระบุ
คนอยู่เบื้องหลังหวังผลกระทบทางด้านจิตใจมากกว่าเอาชีวิตกัน ดร.ปณิธาน วัฒนายากร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ตั้งข้อสังเกตถึงการจับกุมรถยนต์บรรทุกระเบิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผ่านทางรายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV คืนวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ตนขอแสดงความเสียใจที่แนวโน้มของความรุนแรงจะกลับมาใหม่ หลังจากที่เชื่อว่า เรามีสังคมเป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีการศึกษาและมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น สังคมเริ่มเป็นพหุสังคม มีการตรวจสอบถ่วงดุล จึงไม่นึกว่าจะกลับไปสู่ยุคของการใช้กำลังความรุนแรงอีก อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันชัดเจนว่า กำลังมีการกลับไปสู่การใช้เครื่องมือที่มีความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นกรณีการคุกคามฝ่ายต่างๆ ซึ่งถ้าพูดง่ายๆ ว่า กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ รัฐบาลจะต้องออกมาชะลอไม่ให้จุดวิกฤติตรงนี้เข้าไปสู่จุดที่เรียกว่า จุดเดือดหรือจุดปะทะทำให้เกิดการนองเลือด
ดร.ปณิธาน กล่าวว่า ท่ามกลางสภาวะความตึงเครียดมันมีความสับสนเกิดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบ รวมทั้ง
การพยายามที่จะวางระเบิดนั้น ออกมาในลักษณะที่มีความขัดแย้งกันอยู่
ซึ่งถ้าฟังการรายงานข่าวของหน่วยงานทางภาครัฐบาลจะพยายามระบุว่า เป็นความพยายามลอบสังหารผู้นำ ที่มีการวางแผน และเตรียมการเป็นอย่างดี มีการใช้วัตถุที่สลับซับซ้อน มีการวางแผนชี้เป้าอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เข้าข่ายขบวนการก่อการร้ายสากล เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีอยู่ในเมืองไทย เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลปฏิเสธอยู่เสมอว่าไม่มีขบวนการเหล่านี้ ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญด้านก่อการร้ายมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้ง ก่อนที่จะบ่งชี้ว่า เป็นการกระทำของกลุ่มใดกันแน่
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเปรียบเทียบให้เห็นถึงการระเบิดครั้งใหญ่ๆ ที่ผ่านมาในอดีตว่า เมื่อปี 2536 มีการใช้
ระเบิดขนาดใหญ่ในรถบรรทุก 6 ล้อ บรรจุในแท็งค์น้ำ มีส่วนประกอบของปุ๋ยผสมแอมโมเนียไนเตรท ผสมกับทีเอ็นที เพื่อทำให้ระเบิดมีพลังมากขึ้น โดยขณะนั้นเจ้าหน้าที่เชื่อว่า เป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม "เฮซบอลเลาะห์" ที่เคลื่อนไหวอยู่ในประเทศเลบานอน
ครั้งนั้นฝ่ายความมั่นคงประมาณว่า รถบรรทุกคันดังกล่าวได้บรรทุกระเบิดน้ำหนัก 2 ตัน มีรัศมีทำลายล้างประมาณ 1 กิโลเมตร ถ้านำมาเปรียบเทียบกับระยะรัศมีทำลายล้างที่เจ้าหน้าที่ได้กล่าวอ้างมาในวันที่ 24 สิงหาคมนั้น คงไม่เหมือนกัน เนื่องจากน้ำหนักระเบิดที่จับได้มีเพียง
67 กิโลกรัม แต่ครั้งนั้นเกือบสองตัน ตนอยากจะนำภาพเหตุการณ์ระเบิดที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2546 มาเปรียบเทียบให้ดู เนื่องจากในครั้งนั้นมีการ
ใช้สารประกอบถึง 300 กิโลกรัม ทำให้อานุภาพการทำลายล้างกินบริเวณกว้าง ที่สำคัญการบรรทุกระเบิด
ต้องใช้รถขนาดใหญ่ 2 ถึง 3 คัน ไม่ใช่รถเก๋งเหมือนอย่างนี้
ดร.ปณิธาน กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่บอกไม่ได้ว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้มีทิศทางอย่างไร สวนทางกับรัฐบาลที่มีสูตรออกมาแล้วว่า มันอันตรายร้ายแรง และปักชื่อว่ามีการกระทำดังกล่าวจริง ซึ่งถ้านำมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายๆ ที่ทั่วโลก ก็พบว่า แนวโน้มหรือแรงจูงใจยังไม่น่าทำให้เชื่อว่าเป็นการลอบสังหารรักษาการนายกรัฐมนตรีจริง อีกทั้งนักวิชาการยังเชื่อว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว หวังผลกระทบทางด้านจิตใจมากกว่าที่จะตั้งใจเอาชีวิตกัน
ที่มา
http://www.manager.co.th/lite/ViewNews.aspx?NewsID=9490000108217