ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
24-04-2024, 06:01
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สโมสรริมน้ำ  |  State-Building การสร้างรัฐ : ภารกิจหลังวันสิ้นประวัติศาสตร์--ดร.ไสว บุญมา 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
State-Building การสร้างรัฐ : ภารกิจหลังวันสิ้นประวัติศาสตร์--ดร.ไสว บุญมา  (อ่าน 1822 ครั้ง)
เม็ดทราย
สมาชิกสามัญขั้นที่ 1
**
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 25


เราจะเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน


« เมื่อ: 24-08-2006, 13:54 »

วันนี้เข้าไปอ่านข่าวในประชาชาติธุรกิจ  เห็นบทความดี ๆ จึงอยากนำมาเผยแพร่  และจะวิเคราะห์วิจารณ์อีกครั้งนะครับ...... 



State-Building การสร้างรัฐ : ภารกิจหลังวันสิ้นประวัติศาสตร์

คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์

โดย ดร.ไสว บุญมา



การแตกสลายเมื่อปลายปี 2534 ของสหภาพโซเวียตเป็นเหตุการณ์ใหญ่ในประวัติศาสตร์ เพราะมันเป็นสัญญาณแห่งการพ่ายแพ้อย่างราบคาบของระบบคอมมิวนิสต์และวันสิ้นสุดของสงครามเย็นซึ่งผลาญทรัพยากรของโลกยืดเยื้อมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปี เหตุการณ์นั้นตอกย้ำความเชื่อมั่นในความเหนือชั้นของระบอบประชาธิปไตยให้กับฝ่ายชนะถึงขนาดปราชญ์ทางการเมืองชื่อ Francis Fukuyama เขียนหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งพิมพ์ในปีต่อมาชื่อ The End of History and the Last Man แม้ชื่อของหนังสือจะแปลว่า "วันสิ้นประวัติศาสตร์และมนุษยชาติ" ก็ตาม แต่ความหมายที่ผู้เขียนต้องการสื่อคือ การสิ้นสุดของสงครามระหว่างแนวคิด เพราะต่อไปนี้จะไม่มีแนวคิดไหนสามารถต่อกรกับระบอบประชาธิปไตยได้อีก (โอกาสหน้าอาจจะนำเนื้อหาของเรื่อง The End of History and the Last Man มาเล่า)

ในช่วงเวลา 15 ปีหลังสงครามเย็นยุติ เหตุการณ์เล็กใหญ่ได้ชี้ให้เห็นอย่างแจ้งชัดแล้วว่า ประวัติศาสตร์ซึ่งในที่นี้หมายถึงสงครามอันเกิดจากความแตกต่างทางแนวคิดไม่มีวันสิ้นสุดตราบใดที่มนุษย์ยังไม่สิ้นลมหายใจ ฉะนั้นหลังจากเขียนหนังสือซึ่งทำให้ชื่อของเขาดังกระฉ่อนเล่มนั้นออกมา Francis Fukuyama จึงเขียนอีกหลายเล่ม รวมทั้งเล่มล่าสุดชื่อ State-Building ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2547 เล่มนี้เขาต้องการชี้ให้เห็นความสำคัญของการสร้างรัฐให้แข็งแกร่งเพราะเขาเห็นว่าความอ่อนแอหรือความล่มสลายของรัฐเป็นที่มาของปัญหาใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาเสพย์ติด ความยากจน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โรคติดต่อ หรือผู้ก่อการร้าย เขาแบ่งเนื้อหาของหนังสือออกเป็น 3 ภาคหลักๆ ด้วยกัน ภาคแรกวางกรอบสำหรับวิเคราะห์มิติต่างๆ ของความเป็นรัฐ ภาคสอง วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้รัฐอ่อนแอ และภาคสาม กล่าวถึงผลกระทบที่ความอ่อนแอของรัฐมีต่อสังคมโลก

การสร้างรัฐหมายถึงการก่อตั้งสถาบันหรือองค์กรของรัฐขึ้นมาใหม่และการปรับปรุงให้สถาบันที่มีอยู่แล้วแข็งแกร่งขึ้น ผู้เขียนกล่าวว่า รัฐ (state) เกิดขึ้นครั้งแรกในเมโสโปโตเมีย หรือดินแดนแถวอิรักในปัจจุบัน เมื่อราว 6,000 ปีที่แล้ว ต่อมาจีนพัฒนารัฐขึ้นมาจนมีระบบราชการที่เป็นเลิศ ในสังคมตะวันตกการก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ซึ่งมีอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ขนาดใหญ่พร้อมกับมีระบบราชการ กองทัพ ตัวบทกฎหมาย การเก็บภาษี และระบบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เพิ่งเกิดขึ้นในยุโรปเมื่อราว 400-500 ปีที่ผ่านมานี้เอง หลายส่วนของโลกยังไม่มีรัฐในตอนที่ชาวยุโรปออกไปล่าอาณานิคม หลังจากอาณานิคมได้เอกราชการสร้างรัฐจึงเกิดขึ้น การสร้างรัฐประสบความสำเร็จไม่เท่าเทียมกันในส่วนต่างๆ ของโลก ความอ่อนแอของรัฐเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ ดังที่กล่าวถึงเหตุการณ์ใหญ่อันเกิดจากผู้ก่อการร้ายใช้เครื่องบินโดยสารถล่มนครนิวยอร์กและกรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 กระตุ้นให้ประเทศมหาอำนาจมองเห็นความสำคัญของการสร้างรัฐให้มีความแข็งแกร่งอย่างเร่งด่วนขึ้น

อย่างไรก็ตาม มหาอำนาจเห็นไม่ตรงกันเสียทีเดียวในเรื่องเกี่ยวกับขอบเขตความรับผิดชอบ หรือบทบาทของรัฐ สหรัฐอเมริกามองว่ารัฐควรจะจำกัดขอบเขตของตนให้แคบเข้าไว้โดยยึดหลักว่าสิ่งไหนที่ภาคเอกชนทำได้รัฐไม่ควรทำ ความคิดเช่นนี้เป็นที่มาของแนวนโยบายที่มักเรียกกันว่า "ฉันทามติแห่งวอชิงตัน" (Washington Consensus) ซึ่งไอเอ็มเอ็ฟ หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก ต้องการให้สมาชิกนำไปปฏิบัติ ส่วนมหาอำนาจอื่นมักมองว่าขอบเขตความรับผิดชอบของรัฐควรยืดหยุ่นได้ นอกจากนั้นยังมักมีการถกเถียงกันอีกว่าสถาบันหรือองค์กรต่างๆ ซึ่งสร้างขึ้นในสังคมประชาธิปไตยและบนฐานของวัฒนธรรมตะวันตกนั้นใช้ได้เฉพาะในสังคมตะวันตกเท่านั้นหรือว่าสามารถลอกเลียนเอาไปใช้ที่อื่นได้ หากลอกเลียนเอาไปใช้ได้จะนำไปปลูกฝังในประเทศด้อยพัฒนาอย่างไร

ปัจจัยที่ทำให้สหรัฐอเมริกามองเช่นนั้นอาจเป็นเพราะประเทศของเขาสร้างขึ้นบนฐานของประชาธิปไตยแบบกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นและระบบตลาดเสรีแบบเข้มข้น (ข้อควรสังเกต - สหรัฐประกาศเอกราชในปีเดียวกับอดัม สมิท พิมพ์หนังสือเรื่อง The Wealth of Nations อันเป็นต้นตำรับของระบบตลาดเสรี) อย่างไรก็ตาม ภายในขอบเขตอันจำกัดสำหรับบทบาทของรัฐนั้น สหรัฐมีศักยภาพสูงมากในการบังคับใช้กฎหมายและการให้บริการแก่ประชาชน เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้เขียนอ้างผลงานของ เฮอนานโด เดอ โซโต ซึ่งคนไทยเคยได้ยินชื่อในฐานะผู้เขียนหนังสือเรื่อง "ความลี้ลับของทุน" (The Mystery of Capital ซึ่งมีบทคัดย่ออยู่ในหนังสือชื่อ "คิดนอกคอก ทำนอกคัมภีร์") เขาบอกว่าผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กต้องรอถึง 10 เดือนกว่าจะได้ใบอนุญาต ในขณะที่สหรัฐใช้เวลาเพียง 2 วัน ตัวอย่างเช่นนี้นำไปสู่การพิจารณาหาความสำคัญของ 2 มิติของรัฐ นั่นคือ ขอบเขต (scope) และศักยภาพ (capacity) หรือความแข็งแกร่ง (strength) ของการให้บริการ ณ วันนี้ยังไม่มีข้อสรุปแน่นอนว่าขอบเขตของรัฐควรจะอยู่ตรงไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ตามเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่าความแข็งแกร่งของรัฐซึ่งหมายถึงการมีสถาบันหรือองค์กรที่มีศักยภาพสูงนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

กลุ่มประเทศด้อยพัฒนาไม่ต่างกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในด้านที่มีขอบเขตของรัฐแตกต่างกัน ส่วนที่ต่างกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมากได้แก่ศักยภาพหรือความแข็งแกร่งของสถาบัน เนื่องจากอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาได้แก่ความอ่อนแอของสถาบัน การผลักดันให้ประเทศเหล่านั้นใช้นโยบายใหม่ๆ ก่อนที่จะมีสถาบันที่แข็งแกร่งจึงมักนำไปสู่ปัญหาร้ายแรง เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2540 ซึ่งเมืองไทยเป็นผู้จุดชนวนนั้นเกิดขึ้นเพราะเมืองไทยเปิดให้เงินทุนไหลเข้าออกได้อย่างเสรีก่อนที่สถาบันไทยจะแข็งแกร่งพอ อย่างไรก็ตามผู้เขียนเชื่อว่าประเทศในแถบเอเชียตะวันออกพัฒนาได้รวดเร็วกว่าประเทศละติน อเมริกาและแอฟริกาเพราะมีสถาบันที่มีศักยภาพสูงกว่าในเชิงเปรียบเทียบ

ในด้านสร้างเสริมหรือปฏิรูปสถาบันในประเทศด้อยพัฒนาให้มีความแข็งแกร่ง ผู้เขียนเสนอให้พิจารณา 4 ด้านด้วยกัน คือ 1)ด้านโครงสร้างและการบริหารจัดการองค์กรซึ่งต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารธุรกิจและด้านรัฐประศาสนศาสตร์ 2)ด้านกรอบทางการเมืองซึ่งมีหลายมิติ เช่น ขอบเขตและการกระจายอำนาจ ด้านนี้ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ 3)ด้านฐานทางความชอบธรรมของสถาบันซึ่งต้องปรึกษานักรัฐศาสตร์ อย่างไรก็ตามผู้เขียนเสนอว่าในยุกนี้ฐานทางความชอบธรรมต้องอยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น และ 4)ด้านความกลมกลืนกับวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา

สถาบันเพื่อการพัฒนา เช่น ธนาคารโลก พยายามปลูกฝังและสร้างเสริมสถาบันของประเทศด้อยพัฒนาให้แข็งแกร่งผ่านการให้กู้เงิน ประสบการณ์ชี้ว่าประเทศด้อยพัฒนาที่ต้องการสร้างสถาบันอย่างจริงจังประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ส่วนในประเทศที่ไม่ต้องการสร้างสถาบันอย่างจริงจังประสบความล้มเหลว

ผู้เขียนย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของความพยายามของมหาอำนาจที่จะช่วยสร้างรัฐให้กับสังคมอื่นและสรุปว่ามีอัตราของความสำเร็จต่ำมาก อาณานิคมของอังกฤษที่ประสบความสำเร็จจริงๆ มีเพียงสิงคโปร์กับฮ่องกง ส่วนสหรัฐอเมริกาไม่มีอาณานิคมนอกจากฟิลิปปินส์ แต่เคยส่งทหารพร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญเข้าไปปกครองและช่วยสร้างรัฐในคิวบา เฮติ สาธารณรัฐโดมินิกัน ปานามา นิการากัว และเวียดนามใต้ ในบรรดาประเทศเหล่านี้ยังไม่มีประเทศไหนพัฒนาสำเร็จ



ในภาค 2 ของหนังสือ ผู้เขียนนำทฤษฎีและการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากมาเสนอเพื่อจะชี้ให้เห็นปัจจัยที่ทำให้สถาบันของรัฐในประเทศด้อยพัฒนาอ่อนแอ ปัจจัยต่างๆ อาจแยกให้ง่ายได้เป็น 2 ด้านคือ (1) ด้านวิชาการ เช่น รัฐประศาสนศาสตร์ รัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ซึ่งไม่สามารถฟันธงลงไปได้อย่างแจ้งชัดว่าสถาบันชั้นยอด (optimal) นั้นจะต้องมีส่วนประกอบอะไรโดยเฉพาะเจาะจงบ้าง ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้โครงสร้างและวิธีการบริหารแตกต่างกัน แต่ก็สามารถพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายได้ไม่น้อยกว่ากัน นั่นเป็นตัวชี้บ่งอย่างดีว่าหลักวิชาสำหรับสร้างรัฐนั้นดิ้นได้ และ (2) ด้านวัฒนธรรมในประเทศด้อยพัฒนาเอง ซึ่งคนส่วนใหญ่มักไม่มีระดับมาตรฐานทางคุณธรรมแข็งแกร่งพอที่จะรับมอบอำนาจแล้วนำไปใช้อย่างตรงไปตรงมา

ผู้เขียนกล่าวว่าปัญหาใหญ่ที่ทำให้ฝ่ายวิชาการไม่สามารถฟันธงลงไปว่าสถาบันหรือองค์กรชั้นยอดของภาครัฐนั้นจะต้องเป็นอย่างไรมีอยู่ด้วยกัน 3 อย่างคือ ปัญหาแรกเกี่ยวกับความไม่กระจ่างของจุดมุ่งหมายขององค์กรเอง ความไม่กระจ่างเกิดขึ้นเพราะผู้เป็นเจ้าขององค์กร ซึ่งในระดับประเทศก็คือประชาชนทั้งหมด ไม่สามารถแสดงออกมาได้อย่างแจ้งชัดว่าพวกเขาต้องการอะไร ประชาชนแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีความต้องการต่างกัน ซ้ำร้ายความต้องการนั้นยังมักขัดแย้งกันอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริหารและพนักงานขององค์กรก็มักมองสิ่งต่างๆ ไม่ตรงกัน จุดมุ่งหมายของสถาบันจะแสดงออกมาในรูปไหนในที่สุดขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาตอบโต้อันสลับซับซ้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ซึ่งไม่มีใครสามารถบอกได้ล่วงหน้า

ปัญหาที่ 2 เกี่ยวกับการติดตาม ควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจที่ส่วนต่างๆ ขององค์กรได้รับมอบหมายไป ปัญหานี้มีส่วนแยกย่อยออกไปอีกหลายอย่าง เช่น ต้นทุนของการติดตามและตรวจสอบซึ่งอาจสูงมากจนเกินศักยภาพทางการเงินขององค์กร นอกจากนั้นในบางกรณีตัวชี้วัดอาจยากที่จะออกแบบให้เฉพาะเจาะจงลงไปได้เพราะงานหลักของรัฐมักเป็นการบริการ ซึ่งวัดได้ยากกว่ากิจการค้าขายของภาคเอกชน การติดตามจึงมักอาศัยการดูพฤติกรรมของผู้รับมอบอำนาจ แต่การดูพฤติกรรมก็ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของผู้ดูอีกทอดหนึ่ง สภาพเช่นนี้เปิดโอกาสให้การใช้อำนาจยืดหยุ่นได้และทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ถกเถียงกันได้มากขึ้น ผู้เขียนสรุปว่าตัวแปรที่สำคัญที่สุดได้แก่ ระดับคุณธรรมของผู้นำและประเทศด้อยพัฒนามักหาผู้นำที่มีคุณธรรมสูงไม่ค่อยได้

ปัญหาสุดท้ายเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายในหรือปัจจัยภายนอก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของเทคโนโลยี มีผลต่อการออกแบบของสถาบันให้มีความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพของการทำงานกับความเสี่ยงของการมอบอำนาจให้ส่วนต่างๆ ในปัจจุบันนักวิชาการมักผลักดันให้เกิดการมอบอำนาจไปสู่ท้องถิ่นและส่วนย่อยขององค์กรมากขึ้น ผู้เขียนกล่าวว่าจริงอยู่การกระทำเช่นนั้นอาจเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบัน แต่นั่นอาจเป็นเพียงทางทฤษฎีเพราะในประเทศด้อยพัฒนา การมอบอำนาจให้ท้องถิ่นมักเอื้อให้ผู้กว้างขวางในท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้นและเปิดโอกาสให้พวกเขาใช้อำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้องได้ง่ายขึ้นรวมทั้งการฉ้อราษฎร์บังหลวงซึ่งมีอยู่อย่างดาษดื่นด้วย ผู้เขียนยกคุณภาพของพนักงานของรัฐในอินโดนีเซียและในญี่ปุ่นมาเปรียบเทียบเพื่อชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างสองประเทศนั้น

โดยสรุปแล้ววัฒนธรรมมีความสำคัญที่สุด สังคมไหนมีวัฒนธรรมไม่เหมาะสมกับองค์กร หรือสถาบันยุคใหม่ เช่น ประชาชนยอมรับความฉ้อฉลได้อย่างไม่กระทบกระเทือน หรือมักมีความคิดในแนวว่า "ธุระมิใช่" สังคมนั้นย่อมพัฒนาไปเป็นรัฐที่แข็งแกร่งไม่ได้

ภาค 3 ของหนังสือเกี่ยวกับสังคมโลกจะทำอย่างไรกับรัฐที่อ่อนแอ หรือที่กำลังเดินเข้าสู่ภาวะล่มสลาย เพราะรัฐเหล่านั้นสร้างผลกระทบให้สังคมโลกจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การผลักดันให้ประชาชนอพยพเข้าไปในประเทศอื่น การโจมตีเพื่อนบ้านและการเป็นแหล่งแอบแฝงและฝึกอาวุธของผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ แต่สังคมโลกก็มิได้เห็นพ้องต้องกันทั้งหมดว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้รัฐที่อ่อนแอหรือกำลังล่มสลายแข็งแกร่งขึ้นมาจนสามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้อย่างมั่นคงเช่นเดียวกับรัฐที่ก้าวหน้าอื่นๆ

ในช่วงเวลา 15 ปีหลังสงครามเย็นยุติ สังคมโลกทั้งในรูปของสหประชาชาติและในรูปของมหาอำนาจประเทศเดียว เช่น สหรัฐอเมริกา ส่งความช่วยเหลือเข้าไปในหลายประเทศที่กำลังล่มสลาย รวมทั้งโซมาเลีย เฮติ กัมพูชา บอสเนีย โคโซโว และติมอร์ตะวันออก นอกจากจะพยายามยุติสงครามกลางเมืองและช่วยเหลือประชาชนที่ต้องรับเคราะห์แล้ว สังคมโลกยังพยายามปลูกฝังและสร้างเสริมสถาบันของสังคมเหล่านั้นให้แข็งแกร่งและพัฒนาต่อไปเองได้อีกด้วย มองจากแง่หนึ่งการส่งความช่วยเหลือซึ่งรวมทั้งกองทหารเข้าไปในประเทศเหล่านั้นเป็นการละเมิดอธิปไตยของเขา แต่สังคมโลกก็มักมองว่ามันเป็นหน้าที่ที่จะต้องกระทำ จึงเห็นพ้องต้องกันว่าการส่งทหารเข้าไปยึดครองประเทศเหล่านั้นทำได้ อย่างไรก็ตามประสบการณ์บ่งว่าความพยายามที่จะปลูกฝังและสร้างเสริมสถาบันให้กับประเทศเหล่านั้นประสบผลสำเร็จเพียงจำกัด

ในขณะนี้เรื่องที่สังคมโลกมีความเห็นแตกต่างกันมากได้แก่ ประเด็นเกี่ยวกับจะทำอย่างไรกับปัญหาผู้ก่อการร้ายข้ามชาติซึ่งแฝงตัวอยู่ในประเทศที่มีสถาบันของรัฐอ่อนแอ หรืออยู่ในภาวะใกล้ล่มสลาย นอกจากการโจมตีที่ใช้อาวุธธรรมดาแล้วในวันหนึ่งข้างหน้าผู้ก่อการร้ายอาจใช้อาวุธทำลายล้างสูง จึงสร้างความหวาดกลัวให้แก่สังคมโลกยิ่งขึ้น สหรัฐอเมริกาประกาศที่จะบุกเข้าไปในประเทศที่เป็นที่ซ่อนเร้นของผู้ก่อการร้าย หรือที่แสดงความเป็นศัตรู โดยไม่ต้องรอฟังเสียงใครทั้งสิ้น แต่ประเทศอื่นมักไม่เห็นด้วยและต้องการให้ใช้กฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นมาร่วมกันว่าสังคมโลกจะละเมิดอธิปไตยของประเทศอื่นได้ในกรณีไหนบ้าง การโจมตีอิรักเป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งกำลังสร้างปัญหาอยู่ในปัจจุบัน แต่สหรัฐจะสามารถสร้างรัฐที่แข็งแกร่งขึ้นในอิรักได้หรือไม่ยังเป็นปัญหาคาใจของสังคมโลกอยู่ เนื่องจากผู้เขียนเป็นชาวอเมริกันเหตุผลที่เขานำมาเสนอมักหนักไปในทางจุดยืนของสหรัฐ

ในตอนสุดท้ายของหนังสือ ผู้เขียนเสนอภาค 4 เพียงราวสามหน้ากระดาษ เขากล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับขอบเขต หรือบทบาทของรัฐและเกี่ยวกับประสิทธิภาพ หรือความแข็งแกร่งของรัฐอีกครั้ง และสรุปว่ารัฐไม่จำเป็นต้องมีบทบาทครอบคลุมไปเกือบทุกด้าน หากต้องมุ่งเน้นความแข็งแกร่งเป็นหลัก ปัญหาใหญ่ของสังคมโลกคือจะทำอย่างไรให้ประเทศด้อยพัฒนาเป็นรัฐที่แข็งแกร่งสำเร็จ

ข้อสังเกต - แม้ผู้เขียนจะใช้หน้ากระดาษส่วนใหญ่อธิบายถึงความยากลำบากของการสร้างรัฐให้แข็งแกร่งจากมุมมองของวิชารัฐประศาสนศาสตร์ รัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์และใช้หน้ากระดาษเพียงส่วนน้อยเขียนเกี่ยวกับบทบาทของวัฒนธรรมในประเทศด้อยพัฒนา แต่เป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดว่าอุปสรรคสำคัญของการสร้างสถาบันรัฐให้แข็งแกร่งมิได้อยู่ที่วิชาเหล่านั้นไม่สามารถฟันธงลงไปได้ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หากเป็นเพราะวัฒนธรรมของประเทศด้อยพัฒนา โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับมาตรฐานของพฤติกรรม หรือระดับคุณธรรมของสมาชิกในสังคม ในสังคมที่มีความฉ้อฉลสูงและมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมต่ำ โอกาสที่จะสร้างสถาบันรัฐให้แข็งแกร่งมีน้อย ปราศจากสถาบันรัฐอันแข็งแกร่งโอกาสที่จะพัฒนาไปอย่างยั่งยืนไม่มีเลย ในสมัยหนึ่งผู้ที่นำเรื่องวัฒนธรรมเข้ามาปะปนกับเรื่องพัฒนาเศรษฐกิจมักถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้รังเกียจผิว แต่ในยุคนี้ดูจะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่าถ้าประชาชนในประเทศด้อยพัฒนาไม่ยอมปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมบางอย่างแล้ว ทำนายได้เลยว่าประเทศนั้นจะจมปลักอยู่ในความด้อยพัฒนาต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 
 
บันทึกการเข้า

มีเม็ดทรายอยู่มากมายในแผ่นดินนี้
เมื่อเม็ดทรายหลายเม็ดมารวมกัน
จะก่อให้เกิดเป็นบ้านที่อบอุ่น
และเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งมั่นคง
ประชาราษฎรจะอยู่กันอย่างสงบสุขร่มเย็น.

วันนี้เม็ดทรายหลายเม็ดในประเทศไทย
จะประกาศให้ชาวโลกได้รู้ว่า
พวกเราชาวไทยจะร่วมกันสร้างชาติขึ้นมาใหม่
ด้วยความรักและสามัคคีปรองดอง
เพื่อไปสู่ความไพบูลย์ร่วมกัน
เราขอให้พันธสัญญา.
ThailandReport
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,415


« ตอบ #1 เมื่อ: 24-08-2006, 14:03 »

ผมขออนุญาต สรุปจากการอ่าน เลวๆ เอ๊ย!! เร็วๆของผม


โดยสรุปแล้ววัฒนธรรมมีความสำคัญที่สุด สังคมไหนมีวัฒนธรรมไม่เหมาะสมกับองค์กร หรือสถาบันยุคใหม่ เช่น ประชาชนยอมรับความฉ้อฉลได้อย่างไม่กระทบกระเทือน หรือมักมีความคิดในแนวว่า "ธุระมิใช่" สังคมนั้นย่อมพัฒนาไปเป็นรัฐที่แข็งแกร่งไม่ได้


รัฐไม่จำเป็นต้องมีบทบาทครอบคลุมไปเกือบทุกด้าน หากต้องมุ่งเน้นความแข็งแกร่งเป็นหลัก ปัญหาใหญ่ของสังคมโลกคือจะทำอย่างไรให้ประเทศด้อยพัฒนาเป็นรัฐที่แข็งแกร่งสำเร็จ

มาตรฐานของพฤติกรรม หรือระดับคุณธรรมของสมาชิกในสังคม ในสังคมที่มีความฉ้อฉลสูงและมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมต่ำ โอกาสที่จะสร้างสถาบันรัฐให้แข็งแกร่งมีน้อย ปราศจากสถาบันรัฐอันแข็งแกร่งโอกาสที่จะพัฒนาไปอย่างยั่งยืนไม่มีเลย
 
ถ้าประชาชนในประเทศด้อยพัฒนาไม่ยอมปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมบางอย่างแล้ว ทำนายได้เลยว่าประเทศนั้นจะจมปลักอยู่ในความด้อยพัฒนาต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


สรูป ถ้าเรายัง "ยอมรับ คนฉ้อฉล" - ทั้งคนทั้งรัฐไม่มีวันพัฒนา !!
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24-08-2006, 14:05 โดย ThailandReport » บันทึกการเข้า

The only thing necessary for the triump of evil is for good men to do nothing !!
สิ่งเดียวที่จะทำให้คนชั่วได้รับชัยชนะ นั่นคือการที่ คนดีๆนิ่งดูดาย !
เม็ดทราย
สมาชิกสามัญขั้นที่ 1
**
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 25


เราจะเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน


« ตอบ #2 เมื่อ: 24-08-2006, 14:22 »

เป็นหนังสืออีกเล่มที่เสนอมุมมองการสร้างรัฐที่อาจจะอิงหลักการทางวิชาการมากเกินไป  และยังให้น้ำหนักเรื่องของวัฒนธรรมทางการเมืองน้อยเกินไป  รัฐใดหรือประเทศใดที่คนที่มีสำนึกเพื่อส่วนรวมน้อยเกินไปหรือขาดการมีส่วนร่วมทางการเมือง  มองการเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อและไม่อยากเข้าไปใกล้  รัฐนั้นก็คงไม่ต้องทำนายอนาคต  เพราะการเมืองของรัฐนั้นก็จะเป็นเพียงการเมืองที่ชนชั้นนำเล่นกันในวงของพวกเขาเท่านั้น

นึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งคือ  "รัฐกับการปฏิวัติ"  ที่เขียนโดย  วี.ไอ. เลนิน  ขึ้นมาเลย  ไว้จะลองมาโพสต์เปรียบเทียบมุมมองของนักปฏิวัติคนนี้ดูบ้างถึงการสร้างรัฐของเขา  และการพัฒนาทางทฤษฎีการสร้างรัฐของนักคิดในยุคถัดมาอีกหลายคนที่อาจสามารถหาอ่านได้ในเวบไซด์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน  และอีกคนที่อยากจะกล่าวถึงคือ  อันโตนิโย  กรัมชี  ที่ได้นำเสนอแนวคิดที่ให้สร้าง  "ประชาสังคม"ให้เข้มแข็ง  (อันหมายรวมถึงสถาบันของเอกชนที่อยู่นอกรัฐ  ได้แก่--> สถาบันการศึกษา  สถาบันศาสนา  และสื่อสารมวลชน)  เพื่อใช้ในการต่อกรกับรัฐที่ถูกกุมอำนาจอยู่ในหมู่ทุนผูกขาดกลุ่มน้อยในสังคม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24-08-2006, 14:41 โดย เม็ดทราย » บันทึกการเข้า

มีเม็ดทรายอยู่มากมายในแผ่นดินนี้
เมื่อเม็ดทรายหลายเม็ดมารวมกัน
จะก่อให้เกิดเป็นบ้านที่อบอุ่น
และเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งมั่นคง
ประชาราษฎรจะอยู่กันอย่างสงบสุขร่มเย็น.

วันนี้เม็ดทรายหลายเม็ดในประเทศไทย
จะประกาศให้ชาวโลกได้รู้ว่า
พวกเราชาวไทยจะร่วมกันสร้างชาติขึ้นมาใหม่
ด้วยความรักและสามัคคีปรองดอง
เพื่อไปสู่ความไพบูลย์ร่วมกัน
เราขอให้พันธสัญญา.
เม็ดทราย
สมาชิกสามัญขั้นที่ 1
**
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 25


เราจะเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน


« ตอบ #3 เมื่อ: 24-08-2006, 14:30 »

สวัสดีครับคุณ  ThailandReport

ยินดีมากครับที่เข้ามาร่วมแจม  และอ่านได้รวดเร็วดีมากและขอขอบคุณในคำวิเคราะห์บทความนี้อีกครั้งครับ
บันทึกการเข้า

มีเม็ดทรายอยู่มากมายในแผ่นดินนี้
เมื่อเม็ดทรายหลายเม็ดมารวมกัน
จะก่อให้เกิดเป็นบ้านที่อบอุ่น
และเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งมั่นคง
ประชาราษฎรจะอยู่กันอย่างสงบสุขร่มเย็น.

วันนี้เม็ดทรายหลายเม็ดในประเทศไทย
จะประกาศให้ชาวโลกได้รู้ว่า
พวกเราชาวไทยจะร่วมกันสร้างชาติขึ้นมาใหม่
ด้วยความรักและสามัคคีปรองดอง
เพื่อไปสู่ความไพบูลย์ร่วมกัน
เราขอให้พันธสัญญา.
ThailandReport
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,415


« ตอบ #4 เมื่อ: 24-08-2006, 14:33 »

ด้วยความยินดีครับ แต่....ผมยังมะได้วิเคราะห์เยย
ผมแค่เลียนแบบคุณ ภัทร
  (Pro Team Tukky)....เรื่องตัดแปะ ฮ่าๆๆๆๆ


และก็สรุป มั่วๆใส่ไปแค่ 1 บรรทัดเอง งับ!!  Tongue out Embarassed
บันทึกการเข้า

The only thing necessary for the triump of evil is for good men to do nothing !!
สิ่งเดียวที่จะทำให้คนชั่วได้รับชัยชนะ นั่นคือการที่ คนดีๆนิ่งดูดาย !
หน้า: [1]
    กระโดดไป: