คลังถังแตกรุนแรง
วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2549
ปรากฏการณ์ข่าวกรณีกระทรวงการคลัง เตรียมนำหุ้นเกรดเอ อันเป็นผลจากการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจ ไปเป็นบริษัทมหาชน ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอยู่ในความครอบครองไปแปลงเป็นเงินสด ด้วยการจำนำไว้กับธนาคารออมสิน คือรูปธรรมสะท้อนปัญหาการขาดกระแสเงินสดของกระทรวงการคลังอย่างชัดเจนที่สุด และเป็นอุบัติการที่น่าห่วง น่าวิตกกังวลที่สุด คำอธิบายเหตุผลประกอบพฤติกรรมกระทรวงการคลัง ในการนำหุ้นบลูชิพอย่าง ปตท.-
อสมท.-การบินไทยไปจำนำไว้กับธนาคารออมสิน ที่น่าจะถูกต้อง
ตรงไปตรงมามากที่สุดคือความจำเป็นต้องแสวงหาเงินสดไว้ใช้แก้ขัด มิเช่นนั้นแล้วกระทรวงการคลังอาจต้อง "แปะโป้ง"เงินเดือนข้าราชการ และอาจต้องดึง-ดอง รายจ่ายที่มีการตั้งฏีกาขอเบิกจ่ายอย่างไม่มีกำหนด ความพยายามของกระทรวงการคลังในการดิ้นรนสุดฤทธิ์ เพื่อหวังแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน มิได้จำกัดรูปธรรมให้สัมผัสรับรู้ได้เพียงแค่การนำหุ้นไปจำนำเท่านั้น แต่ยังสังเกตได้จากกรณีที่กรมบัญชีกลาง เคลื่อนไหวประสานความร่วมมือกับบริษัทบัตรเครดิตกรุงไทย ในสังกัดธนาคารกรุงไทย เพื่อจัดทำบัตรเครดิตของหน่วยราชการ อันเป็นการแสดงท่าทีเหมือนกับทุ่มเทความพยายามปิดโอกาสซิกแซกของเหล่าข้าราชการในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เพื่อให้ทุกเม็ดของเงินงบประมาณถูกใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า มีหลักฐานสามารถติดตามตรวจสอบได้
ความจริงที่ซ่อนไว้หลังฉากความพยายาม ในการกระทำที่จะบันดาลความน่าเชื่อว่ากรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มุ่งสร้างประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงิน และทำให้ทุกรายการค่าใช้จ่ายของหน่วยราชการมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยเนื้อแท้แล้วน่าจะเป็นความพยายามขอเปิดวงเงินสินเชื่อกับบริษัทบัตรเครดิตกรุงไทย ในรูปของบัตรเครดิต ซึ่งเป็นเสมือน "ก๊อกพิเศษ" เพื่อรับกับภาวะคับขันทางการเงินของรัฐบาลที่กำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ
ต้นสายปลายเหตุสำคัญที่สุด ซึ่งทำให้กระทรวงการคลังต้องตกอยู่ในสภาพ "ถังแตก" จนน่าเป็นห่วง ถึงขั้นจะต้องจำนำหุ้น ไว้กับสถาบันการเงินของรัฐบาล และกระมิดกระเมี้ยนวิ่งเต้นขอเปิดวงเงินเครดิตพิเศษในรูปบัตรเครดิตกับสถาบันการเงินของรัฐบาล มีอยู่ด้วยกันเพียง 2 ประการ
ประการแรก คือรายได้จากการจัดเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต และภาษีศุลกากร เบื้องลึกของการจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้า มีอยู่หลายส่วนที่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานจัดเก็บมีพฤติกรรม "หลับหูหลับตา" ในการจัดเก็บ โดยไม่ใส่ใจตรวจสอบการสำแดงราคาที่เป็นเท็จ เพื่อประกอบการชำระภาษี อันเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการ "ต้มตุ๋น"หน่วยงานจัดเก็บเป็นเงินมหาศาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดสินค้าประเภทไวน์ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ที่มีการสำแดงราคานำเข้าต่ำกว่าต้นทุนการผลิตไวน์ในประเทศหลายเท่าตัว ซึ่งถูกปล่อยปละละเลยจากทั้งกรมศุลกากร และกรมสรรพสามิตมาหลายยุคหลายสมัย ไม่มีข้อยกเว้นแม้ในยุคสมัยปัจจุบัน
ประการสุดท้าย คือการใช้จ่ายเกินตัว ขาดการดูแลให้สอดคล้องกับการจัดเก็บรายได้ กระทั่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อฐานะทางการเงินภาครัฐ และบานปลายกลายเป็นปัญหาการขาดสภาพคล่อง อัตคัดขัดสนกระแสเงินสด
ชะรอยนโยบายการคลังตอนนี้ จะเป็นนโยบายกู้หนี้ยืมสิน และจำนำทรัพย์สิน ที่สุดแสนจะน่าสมเพชเวทนาอย่างที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจประเทศไทย ...................................................
http://www.siamturakij.com/book/index.php?option=com_content&task=view&id=6767งานนี้สิบทักษิณจะรอดไหมหนอ 