![Laughing](http://oldforum.serithai.net/Smileys/default/icon_lol.gif)
ขอเล่าเรื่อง การโต้กลอนสด ยุคของ 4 มือทองธรรมศาตร์ ปี 2505
ที่มี
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นิภา บางยี่ขัน ดวงใจ รวิปรีชา
ทวีสุข ทองถาวร เป็นนักกลอนซึ่งก็มีแข่งขันกับต่างสถาบัน เช่นจุฬาฯ ศิลปากร ประสานมิตร หอการค้า
ช่วงนั้น วงการ วรรณศิลป์ เป็นที่นิยมกัน มีการแข่งขัน โต้วาทีกลอนสด
แข่งสักวา กาพ์ห่อโคลง หรือกรรมการ ขึ้นกระทู้ แล้วให้ 2 ทีม เขียนแข่งกันในเวลา 5 นาที
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ยุทธศาสตร์กลอนสด
กลางหอประชุมแห่งหนึ่ง.... หนุ่มสาว 8 คนอยู่บนเวทีในอิริยาบถที่แตกต่างกัน 4 คนดูนิ่งสงบ
เงียบขรึม บางคนอมยิ้มน้อยๆ อย่างมั่นใจ ขณะที่หนึ่งในนั้นถือไมโครโฟนไว้แน่น
อีกฟากหนึ่งของเวที คน 4 คนสุมหัวกันอย่างเคร่งเครียด พลางจดกลอนลงบนกระดาษอย่างรีบร้อน...
หัวข้อกระทู้คราวนั้นคือ "ดอกไม้"
หญิงสาวบนเวทีจากทีมที่ยืนสงบนิ่งนั้นก็จับไมโครโฟนขึ้นมาร่าย
"ดอกเอ๋ยดอกไม้ สีสดใส กลิ่นกรุ่นละมุนหอม"
ไมค์ถูกส่งต่อให้นักกลอนหนุ่มอย่างรวดเร็ว
"
เก็บมาร้อยมาลัยได้ดมดอม ดอกไม้ปลอมก็ยังเห็นเป็นดอกไม้"
คนที่รับลูกต่อไปแบบไม่พักคือนักกลอนสาว
"
ทุกครั้งที่ไหว้พระอธิษฐาน พนมมือถือพานกรานกราบไหว้" "
ขอดอกไม้ที่ร้อยสร้อยมาลัย ส่งผลให้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเอย" ปิดบทโดยนักกลอนหนุ่ม
..........
เหตุการณ์เช่นนี้ทำเอาทีมกลอนที่เผชิญหน้ากับ 4 มือทองอึ้งมานักต่อนักแล้ว
เพราะกลอนบทที่เห็นนี้ แต่งออกมาแบบที่เรียกว่าส่งไมโครโฟนต่อไมโครโฟน
ไม่มีการร่างบนกระดาษแต่อย่างใด หลังสิ้นเสียงบอกหัวข้อจากกรรมการด้วยความรวดเร็ว
กวีซีไรต์เล่าเคล็ดลับประชันกลอนสดของพวกเขาว่า "ดวงใจ รวิปรีชา กับ ทวีสุข ทองถาวร
จะออกกลอนไวพอๆ กัน ส่วนมากจะเป็นดวงใจออกก่อน
มีบ้างที่เราสลับทวีสุขขึ้นก่อนในการโต้กลอนสด
คนแรกจะเอื้อยตามกระทู้ หรือเรียกว่าการ "จับบท" คนที่สองจะ "แจงบท"
โดยขยายความจากกลอน 2 วรรคแรก และคนที่สามจะเสนอความต่าง
คือการเปรียบเทียบ ในที่นี้คือนิภา บางยี่ขัน
และสุดท้ายจะเป็นผมรับผิดชอบสองวรรคสุดท้ายที่จะเสนอบทสรุป
ดังนั้นวรรคต่อวรรคไม่ขาดช่วง กลอนของเราจึงไม่เคยแพ้ใคร"
นิภา บางยี่ขันกล่าวไว้ "ทวีสุขจะเริ่มก่อน เขาคิดไวมาก ต่อด้วยดวงใจที่ออกกลอนไว
ต่อมาก็ที่พี่ แล้วก็เนาวรัตน์เป็นคนสุดท้าย ได้การเตรียมแบบนี้จากการซ้อมที่รู้ว่าใครเป็นคนยังไง"
"เราฝึกแบบแจกแจงหน้าที่ ทุกคนเชี่ยวชาญกลอนอยู่แล้ว มันไปโดยอัตโนมัติ
อย่างทวี กับผม ก็พูดเล่นกันเป็นกลอนสดประจำ
คนที่พูดได้ก็มีพี่
ภิญโญ มีวานิช จรุงกิจอนันต์ สุจิตต์ วงษ์เทศ คนหลังนี่ยังโต้กันอยู่บ่อยๆ
เคยนั่งแท็กซี่มากรุงเทพฯ โต้กันมา ตลอดทางเป็นโคลงจนแท็กซี่งง"
กวีซีไรต์เล่าถึงการฝึกฝนที่แทบจะฝังเข้าไปในชีวิตประจำวัน
ส่วนบุคลิกประจำตัวแต่ละคนของ 4 มือทอง เนาวรัตน์สรุปไว้ว่า "ดวงใจเหมือนเป็นน้องน้อย
มีอารมณ์ขัน กล้าคิดกล้าพูด กล้าแสดงออก เขาจะร้องไห้ก็ร้อง มีความเป็นตัวเอง
ทวีสุขนี่จะโฉบเฉี่ยว หวือหวา เจ้าอารมณ์ไม่แพ้กัน แต่ไม่เคยทะเลาะกัน มีแต่ฉอดๆ กันเต็มที่
ผมกับนิภานี่จะนิ่ง นิภานี่ยิ่งนิ่งใหญ่ มีอารมณ์ขันลึกๆ"
ซึ่งก็กลายมาเป็นส่วนผสมอันลงตัวของ 4 มือทองในยุคกาพย์กลอนรุ่งเรืองหลังกึ่งศตวรรษ
2 ตำนานผู้จากไป กับ 2 ตำนานผู้คงอยู่
24 กุมภาพันธ์ 2546 ดวงใจ รวิปรีชา จากไปอย่างสงบ และเกือบสองปีต่อมา
วงการนักกลอนก็เสียมือทองคนที่สองคือ ทวีสุข ทองถาวร ไปเมื่อ 5 ธันวาคม 2547
เนาวรัตน์ในฐานะกวีซีไรต์ มองโอกาสของการเกิดมือทองรุ่นใหม่เอาไว้ว่า
"จะมีอีกไหมขึ้นอยู่กับยุคสมัย ตอนนี้ความนิยมเรื่องแบบนี้เบาบางลง การแข่งขันเรื่องนี้ก็น้อยลง
จะมีก็พวกนักเรียนซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่รู้เป็นยังไง จัดแข่งกลายเป็นทีมหนึ่งแค่ 3 คน
เพราะเวลาแข่ง 3 คนกลายเป็นสุมหัวกัน มันเลยช้า ส่วนมากจะเอาคนเก่งคนหนึ่งเป็นหลัก
อีก 2 คนไม่รู้ทำหน้าที่อะไร มันสับสนไม่เหมือนในสมัยก่อน
ตอนนี้ขึ้นอยู่กับชุมนุมจะทำกิจกรรมไหม ต้องคิด หาคนมาฝึกแล้วจะเกิดขึ้นได้"
สิ่งที่เขาอยากบอกที่สุดกับเพื่อนรัก 2 คนที่ล่วงลับไปคือ "ภูมิใจที่ครั้งหนึ่งได้ใช้ชีวิตด้วยกัน
จนสามารถสร้างกิจกรรมเคลื่อนไหวทางวรรณกรรมด้วยการเล่นกาพย์กลอน
จะหาที่เป็นใจเดียวกันแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว ต่อให้มีใครมาแทนคงไม่ได้
สมัยก่อนไม่คิดแบบนี้ เพิ่งมาคิด แต่ก่อนรู้แค่รู้ใจกัน"
เนาวรัตน์ทิ้งท้ายไว้ว่า "ทวีสุขกับดวงใจ ทั้งคู่มีพื้นฐานอารมณ์ที่มีความสุข
และมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ แม้ตายแล้วก็ยังมีชีวิตอยู่ในใจผมและมีชีวิตด้วยตัวของเขาเอง"
ข้อมูล คัดย่อบางส่วน -จากหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------