เกรเดียนท์(Gradient) และอัตรา (Rate)
หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวถึงภูเขาสูงชันมีเกรเดียนท์ของความสูงมาก กระแสลมแรงเพราะมีเกรเดียนท์ของความดันอากาศสูง กลิ่นน้ำหอมกระจายไปทั่วบริเวณจนรู้สึกหอมฉุนเพราะมีเกรเดียนท์ของความเข้มข้นของน้ำหอมสูง ในทางตรงกันข้าม เนินเขาที่มีความลาดชันต่ำย่อมแสดงว่ามีเกรเดียนท์ของความสูงน้อย กระแสลมอ่อน ๆ แสดงว่ามีเกรเดียนท์ของความดันอากาศน้อย และกลิ่นน้ำหอมที่กระจายไปทั่วบริเวณจนรู้สึกหอมจาง ๆ แสดงว่ามีเกรเดียนท์ของความเข้มข้นของน้ำหอมน้อย จากสิ่งที่กล่าวมานี้สามารถนิยามคำว่า เกรเดียนท์ ได้ดังนี้
เกรเดียนท์ของปริมาณใด ๆ คือ อัตราส่วนระหว่างปริมาณที่เปลี่ยนแปลงต่อระยะทางที่เปลี่ยนแปลงไป
เมื่อ H = ระดับความสูงของพื้นที่
P = ความดันอากาศ
C = ความเข้มข้นของน้ำหอม
S = ระยะทาง
เกรเดียนท์ที่มีค่าเป็นบวก แสดงว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อระยะทางเพิ่มขึ้น เช่น ความดันอากาศที่กรุงเทพฯ 1,000 มิลลิบาร์ และความดันอากาศที่เชียงใหม่ 1,007 มิลลิบาร์ ระยะทางจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ 700 กิโลเมตร เกรเดียนท์ของความดันอากาศระหว่างกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ คำนวณได้ดังนี้
G.P B-->C = (1007 - 1000) / (700-0)
= 7/700
= 1/100 มิลลิบาร์/กิโลเมตร
หมายความว่า เกรเดียนท์ของความดันอากาศระหว่างกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่มีค่าเพิ่มขึ้น 1 มิลลิบาร์ ต่อระยะทางที่เพิ่มขึ้น 100 กิโลเมตร
ในทางตรงกันข้ามเกรเดียนท์ที่มีค่าเป็นลบ แสดงว่ามีปริมาณลดลงเมื่อระยะทางเพิ่มขึ้น เช่น เกรเดียนท์ของความดันอากาศระหว่างเชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ คำนวณได้ดังนี้
G.P C-->B = (1000 - 1007)/(700-0)
= -7/700
= -1/100 มิลลิบาร์/กิโลเมตร
หมายความว่า เกรเดียนท์ของความดันอากาศระหว่างเชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ มีค่าลดลง 1 มิลลิบาร์ต่อระยะทางที่เพิ่มขึ้น 100 กิโลเมตร
ในกรณีเกรเดียนท์ของระดับความสูง ก็เช่นเดียวกันกับเกรเดียนท์ของความดันอากาศ เกรเดียนท์จากระดับความสูงที่สูงมากลงมายังระดับความสูงที่น้อยกว่าจะมีค่าติดลบ ซึ่งในทางตรงกันข้ามเกรเดียนท์จากระดับความสูงน้อยขึ้นไปยังระดับความสูงที่สูงกว่าจะมีค่าเป็นบวก
เกรเดียนท์ของความเข้มข้นของน้ำหอมเป็นบวกเมื่อคิดจากบริเวณที่มีกลิ่นหอมน้อยไปยังบริเวณที่มีกลิ่นหอมมาก และเกรเดียนท์ของความเข้มข้นของน้ำหอมมีค่าติดลบเมื่อคิดจากบริเวณที่มีกลิ่นหอมมากไปยังบริเวณที่มีกลิ่นหอมน้อยกว่า
เกรเดียนท์ของปริมาณใด ๆ ต่อระยะทางที่เพิ่มขึ้นสั้นมาก ๆ จนเกือบเป็นจุด เรียกว่า อนุพันธ์เทียบกับระยะทาง (Derivative with respect to distance) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของปริมาณใด ๆ ณ ตำแหน่งนั้นต่อระยะทางที่เปลี่ยนแปลงไปสั้นมากจนเกือบเป็นจุด
ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณใด ๆ ต่อเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป กรณีนี้จะไม่เรียกว่า เกรเดียนท์ แต่เรียกว่า อัตรา (Rate) เช่น การเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ โดยรถยนต์จะใช้เวลา 7 ชั่วโมง อัตราการเปลี่ยนแปลงระยะทางต่อเวลา
(S2-S1) / (t2-t1) = (700-0)/(7-0)
= 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงระยะทางที่เป็นช่วงยาวไม่เป็นจุด เช่นเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงเวลาที่เป็นช่วงยาวถึง 7 ชั่วโมง มิใช่การเปลี่ยนแปลงที่เวลาใดๆ จึงเรียกว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงระยะทางต่อเวลาของการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่นี้ว่าอัตราเร็วเฉลี่ย
อัตราการเพิ่มขึ้นของความดันอากาศที่เชียงใหม่เพิ่มขึ้นจาก 1,0007 มิลลิบาร์ เป็น 1,021 มิลลิบาร์ ตั้งแต่เวลา 19:00 นาฬิกา ถึงเวลา 21: 30 นาฬิกา หมายถึง อัตราเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นของความดันอากาศที่จังหวัดเชียงใหม่
= (1,021 - 1,007) / (21:30 - 19:00)
= 14 มิลลิบาร์ / 3.5 ชั่วโมง หรือเท่ากับ 4 มิลลิบาร์ต่อชั่วโมง
ในกรณีนี้เป็นการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย เนื่องจากในช่วงแรกอาจมีการเพิ่มขึ้นมากแล้ว เพิ่มขึ้นน้อยลงในช่วงหลัง หรืออาจมีการเพิ่มขึ้นเท่ากันตลอดเวลา หรือมีการเพิ่มขึ้นในช่วงแรกน้อย แต่เพิ่มขึ้นในช่วงหลังมากก็ได้
ถ้าต้องการทราบว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงปริมาณใดๆ ขณะนั้นเป็นเท่าใด ช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปจะต้องสั้นมากจนเกือบเป็นศูนย์ เรียกการเปลี่ยนแปลงเทียบกับเวลาที่สั้นมากนี้ว่า อนุพันธ์เทียบกับเวลา (derivative with respect to time)
การเปลี่ยนแปลงของปริมาณใดๆ เฉพาะตำแหน่งที่กำหนด เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เรียกว่า อนุพันธ์เทียบกับเวลาหรืออัตราการเปลี่ยนแปลงปริมาณตามเวลา ณ ตำแหน่งที่กำหนด การเปลี่ยนแปลงของปริมาณใดๆ เฉพาะเวลาที่กำหนดเมื่อตำแหน่งเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เรียกว่า อนุพันธ์เทียบกับระยะทางหรือเกรเดียนท์ของการเปลี่ยนแปลงปริมาณจามระยะทาง ณ เวลาที่กำหนด
--------------------------------------------------------------------------------
ที่มา: เอกสารประกอบการสอน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2542, วิชาบูรณาการ
หมวดการศึกษาทั่วไป รหัสวิชา 999211 คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวัน
http://www.school.net.th/library/snet2/knowledge_math/gradrate/gradrate.htm-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
วิธีการกำจัดกลิ่นด้วยอีเอ็ม
EM กำจัดกลิ่นได้อย่างหมดจด โดยไม่มีสารตกค้าง
อีเอ็มจะกำจัดกลิ่นหรือดับกลิ่นได้แทบทุกชนิด ยกเว้นกลิ่นที่เกิดจากสารเคมี ( อีเอ็มไม่สามารถย่อยสลายสารเคมีได้ ) ดังนั้นการใช้อีเอ็มกำจัดกลิ่นจึงไม่ควรใช้ร่วมกับสารเคมีใดๆ เพราะจะทำให้อีเอ็มตายหรือเสื่อมสลายไปได้ จุลินทรีย์อีเอ็มเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่มีประโยชน์ต่อทั้งพืชและสัตว์รวมไปถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย 100% ไม่มีอันตรายใดๆต่อพืชและสัตว์ทุกชนิด ไม่มีสารเคมีเจือปน อีเอ็มไม่ต้องการอากาศ ดังนั้นหลังการใช้อีเอ็มทุกๆครั้งต้องรีบปิดฝาให้สนิททันที ใช้ในแต่ละครั้งพอประมาณตามที่ต้องการ และส่วนที่นำออกมาใช้งานควรใช้ให้หมดในคราวเดียวกัน การเก็บอีเอ็มควรเก็บให้ห่างจากแสงแดด อุณหภูมิที่ 30 45 องศาเซลเซียส กรณีอีเอ็มบรรจุอยู่ในขวดและทำให้ขวดบรรจุบวม ( ก๊าซที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาของอีเอ็ม ) วิธีแก้ไขคือคลายฝาขวดเล็กน้อย เพื่อระบายก๊าซออก เสร็จแล้วให้หมุนกลับทันที ( ปิดฝาขวด )
วิธีการใช้อีเอ็มกำจัดกลิ่นเน่าเสีย กลิ่นเหม็น กลิ่นคาว กลิ่นสาบ ฯลฯ จากสิ่งปฏิกูลต่างๆ
1 ) จากมูลสัตว์ กลิ่นปัสสาวะจากฟาร์มสัตว์เลี้ยง เช่น ฟาร์มสุนัข ฟาร์มสุกร ฟาร์มโคกระบือ ฯลฯ
วิธีการ : การใช้ในครั้งแรก นำ EM สดแบบเพียวๆโดยไม่ผสมน้ำ เทลงในบัวรดน้ำ ( บัวรดน้ำต้นไม้ ) หรือถังสำหรับฉีดพ่นต่างๆ แต่ต้องล้างให้สะอาดก่อน ระวังอย่าให้มีสารเคมีตกค้าง ( เพราะจะไปทำลายอีเอ็ม ) หลังจากนั้นก็นำอีเอ็มไปรดหรือฉีดพ่นลงบนพื้นที่มีมูลสัตว์หรือบริเวณที่มีกลิ่นเน่าเหม็น กรณีที่มูลสัตว์เพิ่มขึ้นทุกๆวันหรือมีสิ่งปฏิกูลเพิ่มขึ้นทุกวันในปริมาณที่มากก็ควรใช้อีเอ็มรดทุกวัน แต่ถ้าปริมาณสิ่งปฏิกูลและกลิ่นมีไม่มาก ใช้อีเอ็มรด 3-4 วันหรืออาทิตย์ละครั้งก็ได้ แล้วแต่ปัญหาของแต่ละท่าน
การใช้ในครั้งที่สองและครั้งต่อๆไป ให้นำอีเอ็มผสมกับน้ำ อัตราส่วน 1 : 1 ( กรณีต้องการเข้มข้นสูง ) หรือ 1 : 5 หรือ 1 : 10 , 20 , 30
ตามความต้องการ ถ้ากลิ่นแรงก็อาจใช้ความเข้มข้นสูง 1 : 1 หรือ 1 : 5 เป็นต้น ถ้ากลิ่นไม่แรงมากนักก็อาจใช้ความเข้มข้นน้อยลง 1 : 50 หรือ 1 : 100 ก็ได้ การใช้อีเอ็มใช้บ่อยได้ตามความต้องการ ไม่มีอันตรายใดๆต่อพืชและสัตว์ ช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น
2 ) จากบ่อเกรอะ ส้วม ห้องน้ำ ตามบ้านที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนี่ยม โรงพยาบาล โรงแรม ฯลฯ
ใช้อีเอ็มสดไม่ผสมน้ำเทลงในบ่อเกรอะ / โถส้วม / ท่อน้ำทิ้ง โดยใช้อีเอ็ม 1 ลิตรต่อสิ่งปฏิกูลขนาด 1000 ลูกบาศก์ กรณีคอนโดมิเนี่ยม โรงแรม โรงพยาบาล ซึ่งมีปริมาณสิ่งสกปรกมากอาจใช้ความเข้มข้นเพิ่มขึ้น ใชบ่อยได้ตามความต้องการ
3 ) จากตลาดสด ร้านอาหาร ซึ่งตลาดสดและร้านอาหารจะมีเศษพืชผักและไขมันสัตว์ทับถมกันเกิดการเน่าเสียทำให้ส่งกลิ่นไปทั่วบริเวณ การใช้อีเอ็มกำจัดกลิ่นเหล่านี้ รดหรือราดอีเอ็มสดไม่ผสมน้ำลงในบ่อหรือหลุมที่รวมเศษอาหารหรือตะแกงดักไขมัน การใช้อีเอ็มกับท่อที่ไขมันอุดตันก็ทำเช่นเดียวกัน โดยการเทราดอีเอ็มลงในท่อที่อุดตันแล้วปล่อยทิ้งไว้ให้อีเอ็มย่อยสลายไขมันตามธรรมชาติ ข้อควรระวังคือห้ามใช้อีเอ็มร่วมกับสารเคมีเด็ดขาด
http://www.bangkokshow.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=347588อีเอ็ม ( EM ) คืออะไร?
คำว่า EM ย่อมาจาก Effective Microorganisms หมายถึง กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง ศ.ดร.เทรูโอะ ฮิงะ นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญสาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยริวกิว เมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น เริ่มค้นคว้าทดลองตั้งแต่ปี พ.ศ 2510 และค้นพบ EM เมื่อ พ.ศ. 2526
จากการค้นคว้าพบความจริงเกี่ยวกับจุลินทรีย์ว่ามี 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มสร้างสรรค์ เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีคุณภาพ มีประมาณ 10 %
2. กลุ่มทำลาย เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่เป็นโทษ ทำให้เกิดโรค มีประมาณ 10 %
3. กลุ่มเป็นกลาง มีประมาณ 80 % จุลินทรีย์กลุ่มนี้หากกลุ่มใด มีจำนวนมากกว่ากลุ่มนี้จะสนับสนุนหรือร่วมด้วย
ดังนั้น การเพิ่มจุลินทรีย์ที่มีคุณภาพลงในดิน ก็เพื่อให้กลุ่มสร้างสรรค์มีจำนวนมากกว่า ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้จะช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้กลับมีพลังขึ้นมาอีกหลังจากที่ถูกทำลายด้วยสารเคมีจนดินตายไป
จุลินทรีย์มี 2 ประเภท
1. ประเภทต้องการอากาศ (Aerobic Bacteria)
2. ประเภทไม่ต้องการอากาศ (Anaerobic Bacteria)
จุลินทรีย์ทั้ง 2 กลุ่มนี้ ต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และสามารถอยู่ร่วมกันได้ จากการค้นคว้าดังกล่าว ได้มีการนำเอาจุลินทรีย์ที่ได้รับการคัดและเลือกสรรอย่างดีจากธรรมชาติ ที่มีประโยชน์ต่อพืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม มารวมกัน 5 กลุ่ม (Families) 10 จีนัส (Genues) 80 ชนิด (Spicies) ได้แก่
กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์พวกเชื้อราที่มีเส้นใย (Filamentous fungi) ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งการย่อยสลาย สามารถทำงานได้ดีในสภาพที่มีออกซิเจน มีคุณสมบัติต้านทานความร้อนได้ดี ปกติใช้เป็นหัวเชื้อผลิตเหล้า ผลิตปุ๋ยหมัก ฯลฯ
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์พวกสังเคราะห์แสง (Photosynthetic microorganisms) ทำหน้าที่สังเคราะห์สารอินทรีย์ให้แก่ดิน เช่น ไนโตรเจน (N2) กรดอะมิโน (Amino acids) น้ำตาล (Sugar) วิตามิน (Vitamins) ฮอร์โมน (Hormones) และอื่นๆ เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ดิน
กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมัก (Zynogumic or Fermented microorganisms) ทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้ดินต้านทานโรค (Diseases resistant) เข้าสู่วงจรการย่อยสลายได้ดี ช่วยลดการ พังทลายของดิน ป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชบางชนิด สามารถบำบัดมลพิษในน้ำเสียที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษต่างๆ ได้
กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์พวกตรึงไนโตรเจน (Nitrogen fixing microorganisms) มีทั้งพวกที่เป็นสาหร่าย (Algae) และพวกแบคทีเรีย (Bacteria) ทำหน้าที่ตรึงก๊าซไนโตรเจนจากอากาศเพื่อให้ดินผลิตสารที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต เช่น โปรตีน (Protein) กรดอินทรีย์ (Organic acids) กรดไขมัน (Fatty acids) แป้ง (Starch or Carbohydrates) ฮอร์โมน(Hormones) วิตามิน (Vitamins) ฯลฯ
กลุ่มที่ 5 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์พวกสร้างกรดแลคติก (Lactic acids) มีประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อรา และแบคทีเรียที่เป็นโทษ ส่วนใหญ่เป็นจุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการอากาศหายใจ ทำหน้าที่เปลี่ยนสภาพดินเน่าเปื่อย หรือดินก่อโรคให้เป็นดินที่ต้านทานโรค ช่วยลดจำนวนจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคพืชที่มีจำนวนนับแสน หรือให้หมดไป นอกจากนี้ยังช่วยย่อยสลายเปลือกเมล็ดพันธุ์พืช ช่วยให้เมล็ดงอกได้ดีและแข็งแรงกว่าปกติอีกด้วย
ลักษณะทั่วไปของ EM
EM เป็นจุลินทรีย์ กลุ่มสร้างสรรค์ เป็นกลุ่มที่มีประโยชน์ หรือ เรียกว่ากลุ่มธรรมะ ดังนั้น เวลาจะใช้ EM ต้องคำนึงถึงอยู่เสมอว่า EM เป็น สิ่งมีชีวิต การดูแลเก็บรักษา
1. หัวเชื้อ EM สามารถเก็บได้นานประมาณ 1 ปี โดยปิดฝา ให้สนิท
2. อย่าทิ้ง EM ไว้กลางแดด และ อย่าเก็บไว้ในตู้เย็น เก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิปกติ
3. ทุกครั้งที่แบ่งไปใช้ต้องรีบปิดฝาให้สนิท เพื่อไม่ให้เชื้อโรค หรือจุลินทรีย์ในอากาศที่เป็นโทษ เข้าไปปะปน
4. การนำ EM ไปขยายต่อ ควรใช้ภาชนะที่สะอาด และใช้ให้หมดในระยะเวลาที่เหมาะสม
ข้อสังเกตพิเศษ
หาก EM เปลี่ยนเป็นสีดำ มีกลิ่นเหม็นเน่า ถือว่า EM ตาย ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อีก ให้นำ EM ที่เสียผสมน้ำรดกำจัดหญ้าและวัชพืชที่ไม่ต้องการได้
กรณีเก็บไว้นานๆ จะมีฝ้าขาวเหนือผิวน้ำ แสดงว่า EM พักตัว เมื่อเขย่าภาชนะ ฝ้าสีขาวจะสลายตัว กลับไปอยู่ในน้ำเหมือนเดิมนำไปใช้ได้
เมื่อนำไปขยายเชื้อในน้ำและกากน้ำตาล จะมีกลิ่นหอมและ เป็นฟองขาวๆ ภายใน 2-3 วัน ถ้าไม่มีฟอง น้ำนิ่งสนิทแสดงว่าการหมักขยายเชื้อยังไม่ได้ผล
จุลินทรีย์ EM มีประโยชน์อย่างไร
การใช้จุลินทรีย์สด หรือ EM สด หมายถึงการใช้จุลินทรีย์ EM จากโรงงานผลิต หรือ ผู้จำหน่ายที่ยังไม่ได้ทำการแปรสภาพ
วิธีใช้และประโยชน์ EM สด
1.ใช้กับพืช (ปุ๋ยน้ำ)
ผสมน้ำในอัตรา 1 : 1000 (EM 1 ช้อนโต๊ะ กากน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ : น้ำ 10 ลิตร) ใช้ ฉีด พ่น รด ราด พืชต่างๆ ให้ทั่วจากดิน ลำต้น กิ่ง ใบ และนอกทรงพุ่ม
พืช ผัก ฉีด พ่น รด ราด ทุก 3 วัน
ไม้ดอก ไม้ประดับ เดือนละ 1 ครั้ง การใช้จุลินทรีย์สด ในดิน ควรมีอินทรีย์วัตถุปกคลุมด้วย เช่น ฟางแห้ง ใบไม้แห้ง ฯลฯ เพื่อรักษาความชื้นและเป็นอาหารของจุลินทรีย์ต่อไป
2. ใช้ในการทำ EM ขยาย ปุ๋ยแห้ง
3. ใช้กับสัตว์ (ไม่ต้องผสมกากน้ำตาล)
ผสม EM 1 ช้อนโต๊ะ : น้ำ 200 ลิตร ให้สัตว์กินทำให้ แข็งแรง
ผสม EM 1 ช้อนโต๊ะ : น้ำ 10 ลิตร ใช้พ่นคอกให้สะอาดกำจัดกลิ่น
หากสัตว์เป็นโรคทางเดินอาหารให้กิน EM สด 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับอาหารให้สัตว์กิน ฯลฯ
4. ใช้กับสิ่งแวดล้อม
ใส่ห้องน้ำ - ห้องส้วม ในโถส้วมทุกวันๆ ละ 1 ช้อนโต๊ะ (หรือ สัปดาห์ละ 1/2 แก้ว) ช่วยให้เกิดการย่อยสลาย ไม่มีกาก ทำให้ส้วมไม่เต็ม
กำจัดกลิ่น ด้วยการผสมน้ำและกากน้ำตาล ในอัตราส่วน 1 : 1 : 1,000 (EM 1 ช้อนโต๊ะ : กากน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ : น้ำ 1 ลิตร) ฉีด พ่น ทุก 3 วัน
บำบัดน้ำเสีย 1 : 10,000 หรือ EM 2 ช้อนโต๊ะ : น้ำ 200 ลิตร
ใช้กำจัดเศษอาหาร หรือ ทำปุ๋ยน้ำจากเศษอาหาร
แก้ไขท่ออุดตัน EM 1 ช้อนโต๊ะ ใส่ 5-7 วัน / ครั้ง
ฉีดพ่นปรับอากาศในครัวเรือน
กำจัดกลิ่นในแหล่งน้ำ
วิธีใช้และประโยชน์ EM ขยาย
1. ใช้กับพืชเหมือน EM สด
2. ใช้กับสัตว์ o ผสม น้ำ 1 : 100 ฉีดพ่นคอก กำจัดแมลงรบกวน o ผสม น้ำ 1 : 1,000 ล้างคอก กำจัดกลิ่น o ผสม น้ำ ในอัตรา : 1 : 500 หรือ 2 ช้อนโต๊ะ : น้ำ 10 ลิตร เพื่อหมักหญ้าแห้ง ฟางแห้ง เป็นอาหารสัตว์
3. ใช้ทำปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยแห้ง เหมือนใช้ EM สด
4. ใช้กับสิ่งแวดล้อม เหมือนใช้ EM สด
การเก็บรักษาจุลินทรีย์ EM
จุลินทรีย์ EM สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน 1 ปี อย่างน้อย 6 เดือน ในอุณหภูมิปกติ ไม่เกิน 45-50 องศาเซลเซียลโดยปิดฝาให้สนิท อย่าให้มีอากาศเข้า และอย่าเก็บไว้ในตู้เย็น
ทุกครั้งที่แบ่งไปใช้ต้องรีบปิดฝาให้สนิท
การนำจุลินทรีย์ EM ไปขยายต่อ ควรใช้ภาชนะที่สะอาด และใช้ให้หมดภายในเวลาที่เหมาะสม
การเก็บไว้หลายๆ วัน โดยไม่มีการเคลื่อนไหว ในภาชนะจะมีฝ้าขาวเหนือผิวน้ำ นั่นคือการทำงานของจุลินทรีย์ที่ฟักตัว เมื่อเขย่าแล้วทิ้งไว้ชั่วขณะ ฝ้าขาวจะสลายตัวกลับไปอยู่ในจุลินทรีย์เหมือนเดิม
เมื่อนำไปขยายเชื้อในน้ำและกากน้ำตาล จุลินทรีย์จะมีกลิ่นหอมและเป็นฟองขาวๆ ภายใน 2-3 วัน ถ้าไม่มีฟองดังกล่าวแสดงว่า การหมักขยายเชื้อยังไม่ได้ผล
จุลินทรีย์ EM ที่นำไปขยายเชื้อแล้ว
ควรใช้ภายใน 7 วันหลังจากหมักได้ที่แล้ว ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพที่อาจเกิดจากความไม่สะอาดของภาชนะ และสิ่งสกปรกแปลกปลอมจากอากาศ เพราะจุลินทรีย์ส่วนใหญ่ไม่ต้องการอากาศ
ถ้าใช้ไม่หมดภายใน 3 วัน ต้องปิดฝาให้สนิทด้วยพลาสติก เพื่อไม่ให้อากาศเข้า ก่อนใช้ทุกครั้งต้องตรวจดูก่อนว่ายังมีกลิ่นหอมอมเปรี้ยว
อมหวานหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่ายังใช้ได้
การประยุกต์ใช้ปุ๋ยชีวภาพ
ปัจจุบัน EM ได้รับความนิยมขยายไปสู่ชาวโลก เนื่องจากเป็นจุลินทรีย์ที่ไม่มีพิษภัย มีแต่ประโยชน์ ถ้าสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง และมุ่งเน้นการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้การขยายการใช้ EM ไป สู่เกษตรกรและองค์กรทั่วโลกแล้วกว่า 30 ประเทศ อาทิ International Nature Farming Reserch Center Movement (INFRC) JAPAN, EM Research Orgnization (EMRO) JAPAN, International Federation of Agriculture Movement (IFOAM) GERMANY เป็นต้น และ California Certified Organics Farmers ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเกษตรธรรมชาติได้ให้คำรับรองเมื่อ คศ.1993 ว่าเป็นวัสดุประเภทจุลินทรีย์ (Microbial Innoculant) ที่ปลอดภัยและได้ผลจริง 100 %
สำหรับในประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้นำไปวิเคราะห์แล้วรับรองว่าจุลินทรีย์ EM ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ จึงสามารถนำ EM ไปใช้ประโยชน์ได้หลายประการ
http://www.bangkokshow.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=346390-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ชีวิตหลังความตาย ภาค 2 ตอน กลิ่น หลังความตาย
โดย Uncle fat 31 สิงหาคม 2548 09:14 น.
หลังจากสร้างความฮือฮาและก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย กับการเสวนาเรื่อง ชีวิตหลังตาย : ชีวิตใหม่ที่ต้องเตรียมตัว กับแนวความคิดของ ดร.สนอง วรอุไร อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทพิสูจน์เรื่อง ผี และ เทวดา
มาคราวนี้ โครงการผู้จัดการสุขภาพก็ได้หยิบยกเรื่องนี้มาเสวนากันอีกครั้ง ในงานอุทยานอนุรักษ์สุขภาพ ครั้งที่ 14 ณ บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม และใช้ชื่องานว่า ชีวิตหลังตาย : ชีวิตใหม่ที่ต้องเตรียมตัว (ตอนที่ 2) ทั้งนี้ โดยมี รศ.ดร.อาภรณ์ เชื้อประไพศิลป์ อาจารย์มหาวิทยาสงขลานครินทร์ ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ความรู้
ชีวิตหลังความตาย ภาค 2 จะแตกต่างจากภาคแรกอย่างไร ต้องติดตาม....
รศ.ดร.อาภรณ์ เชื้อประไพศิลป์ จาก ม.สงขลานครินทร์
รศ.ดร.อาภรณ์ อธิบายให้ฟังว่า ชีวิตที่จะเกิดใหม่จะเกิด ดี หรือ ไม่ดี นั้นขึ้นอยู่สภาพชีวิตก่อนตายว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งระหว่างที่มีชีวิตทำบุญหรือบาปไว้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ก่อนที่วิญญาณจะออกจากร่าง หากคนคนนั้นยังมีความรู้สึกโกรธ เมื่อเกิดใหม่เขาจะมีอารมณ์เศร้าหมองอยู่ตลอดเวลา
ทว่า ถ้าคนก่อนตายมีจิตใจผ่องใส ร่าเริง อารมณ์ดี เมื่อเกิดในภพใหม่จะมีร่างกายผิวพรรณผ่องใส เพราะฉะนั้นหากสังเกตจะพบได้ว่าใบหน้าของแต่ละคนสามารถบ่งบอกถึงความสุขความทุกข์ได้ทางสีหน้าและแววตา
หน้าตาที่บ่งบอกถึงความผ่องใส ถ้าจะเปรียบเทียบกับเทวดา ซึ่งเทวดาจะมีหลายระดับชั้น โดยดูจากรัศมีที่เปล่งประกายออกจากเทวดา ก็เหมือนมนุษย์เรายังมีคนหลากหลายระดับมีทั้งระดับสูง กลาง และต่ำ แล้วมนุษย์ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับกลาง ซึ่งก็คือพวกเรานี่แหละ
ในประเด็นนี้ รศ.ดร.อาภรณ์ขยายความเพิ่มเติมว่า ความเชื่อนี้เกิดจากการที่ตนเองนั่งวิปัสสนากรรมฐาน พร้อมกันนี้ยังได้ศึกษาเกี่ยวกับการเตรียมตัวตาย โดยมีผลการศึกษาวิจัยของนักศึกษาปริญญาเอกยืนยัน โดยมีเรื่องเล่าในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งว่ามีคุณหมอที่เสียชีวิตประมาณ 7 วัน มาตรวจคนไข้ตอนตี 2 ซึ่งคุณหมอมีจิตผูกพัน ความกังวลว่าจะต้องมาตรวจอาการคนไข้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลหลายแห่งจะมีการทำบุญห้อง ICU เนื่องเพราะห้องที่มีคนไข้เสียชีวิตจำนวนมากแล้ววิญญาณของพวกเขายังวนเวียนอยู่ในห้องนั้น จึงทำให้คนไข้บางรายบอกว่ามีคนมาดึงขาดึงแขนหรือปลุกให้ตื่น
รศ.ดร.อาภรณ์ ให้คำแนะนำด้วยว่า ทุกคนควรเตรียมตัวตายเสียแต่เนิ่นๆ รวมทั้งญาติที่กำลังจะตายด้วย โดยก่อนตายควรไหว้พระ ตั้งสติ มีสมาธิ และมีจิตใจดีงามคิดแต่เรื่องดีๆ พร้อมปล่อยวางอย่าเก็บเรื่องหนักๆ หรือหวงสมบัตินอกกาย หากมัวแต่หวงสมบัติคิดว่าบ้านที่ดินเป็นของเรา เวลาตายไปเราอาจไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์แต่อาจเกิดเป็นเทวดาเจ้าที่คอยดูแลสมบัติ
วาระสุดท้ายของชีวิตญาติพี่น้องควรไปให้กำลังใจโดยเลือกพูดคุยเรื่องที่ประทับใจในอดีตเพื่อระลึกถึงความทรงจำดีๆ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่สามารถร่วมพูดคุยได้ แต่เขาสัมผัสได้ หรือแสดงความรักด้วยการสัมผัสมือ กุมมือไว้โดยไม่ต้องพูดแต่ผู้ป่วยจะมีสัมผัสหนึ่งจะรู้ว่าคุยอะไรกับเขาบ้าง ส่วนเรื่องที่ญาติไม่ทำก็คือร้องไห้ฟูมฟาย พูดเรื่องที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สบายใจ เพราะเขาจะไปอย่างไม่สงบ
ยกตัวอย่างเช่น มีอยู่ครั้งหนึ่ง ดิฉันไปเยี่ยมคนไข้วัย 90 กว่าปี ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ดิฉันถามก็ได้ความว่าผู้ป่วยมีความศรัทธาหลวงปู่ทวด จึงแนะนำญาติให้นำพระพุทธรูปหลงปู่ทวดมาตั้งบูชาไว้หัวเตียง คนไข้มีความสุข และก่อนจะสิ้นใจมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส
ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้าน ผศ.ดร.บรรจบ กล่าวเสริมว่า การเกิดการตายเป็นเรื่องที่ทุกศาสนาสอน แต่ศาสนาพุทธจะสอนให้คนทำความดี เพราะการตายส่งผลต่อการเกิดว่า จะได้เกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ หรือจะเกิดเป็นอะไรในภพหน้า
วิญญาณของผู้ตายจะเห็นร่างเดิมและเห็นญาติพี่น้อง เพียงแต่ญาติไม่เห็นเขา เขาจึงมาในรูปของกลิ่น แล้วกลิ่นยังบ่งบอกด้วยว่าเขาจะไปอยู่ภพไหน อย่างกลิ่นดอกไม้ จะเกิดเป็นเทพ กลิ่นธูปเทียน เกิดเป็นเทวดา และกลิ่นเหม็น จะเป็นเปรตหรืออยู่ในนรกนอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่า ถ้าลูกตายก่อนพ่อแม่ หรือคนที่ฆ่าตัวตาย และประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิต มีความเชื่อว่าไม่ควรนำกระดูกไว้ในบ้านให้นำไว้ที่วัด เพราะว่าเป็นการตายที่ไม่เป็นธรรมชาติผศ.ดรบรรจบให้ข้อมูลทิ้งท้าย
....และทั้งหมดนั้นคือ ส่วนหนึ่งขององค์ความรู้ที่นำมาเสนอให้ได้รับทราบ ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่อย่างไร เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะตัดสินใจ
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9480000117759----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ความเชื่อและคำสอนทางพุทธศาสนา จิตตสังเขป
โดย
สุจินต์ บริหารวนเขตต์
บทที่ ๙
จิต ๘๙ ดวงซึ่งต่างกันนั้น จำแนกโดยประเภทของภูมิคือระดับขั้นของจิตเป็น ๔ ภูมิ คือ
กามาวจรภูมิ ๑
รูปาวจรภูมิ ๑
อรูปาวจรภูมิ ๑
โลกุตตรภูมิ ๑
จิตที่เป็นกามาวจรภูมิ ได้แก่ กามาวจรจิต ๕๔ ดวงในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายความหมายของกามาวจรจิต ๔ นัย มีข้อความว่า
นัยที่ ๑ บทว่า กามาวจร ได้แก่จิต อันนับเนื่องในกามาวจรธรรมทั้งหลาย คือ เป็นจิตที่อยู่ในขั้นของกาม (คำเต็ม คือ กามาวจร แต่ตัดบทหลังออกเหลือเพียงกามเท่านั้นได้) โดยท่องเที่ยวอยู่ในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงเป็นจิตขั้นกาม เป็นกามาวจรจิต
ทุกขณะในชีวิตประจำวันเป็นกามาวจรจิต เมื่อไม่ใช่จิตระดับอื่นที่ละเอียดกว่า ประณีตกว่าขั้นกาม เมื่อใดที่อบรมเจริญกุศล จิตที่สงบขึ้นโดยมีรูปเป็นอารมณ์ จนจิตสงบมั่นคงขึ้นถึงขั้นอัปปนาสมาธิ เป็นฌานจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์ ขณะนั้นก็เป็นรูปาวจรภูมิหรือรูปวจรจิต พ้นจากระดับของกาม และเมื่อจิตสงบมั่นคงกว่าขั้นนั้นอีก โดยเป็นจิตที่สงบแนบแน่นในอารมณ์ที่พ้นจากรูปก็เป็นอรูปวจรจิต และจิตที่ละเอียดประณีตกว่าอรูปาวจรจิต คือ โลกุตตรจิตซึ่งประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานจึงเป็นโลกุตตรภูมิ ฉะนั้น จิตที่ต่างกันโดยภูมิ คือ จิต ๘๙ ดวง จำแนกเป็น
กามาวจรจิต ๕๔ ดวง
รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง
โลกุตตรจิต ๘ ดวง
ขณะใดที่ไม่ใช่รูปาวจรจิต อรูปวาจรจิต โลกุตตรจิต ขณะนั้นต้องเป็นกามาวจรจิต
ชื่อว่า "กาม" เพราะอรรถว่า อันสัตว์ใคร่กาม กามมี ๒ อย่างคือ กิเลสกาม ๑ วัตถุกาม ๑
กิเลสกาม ได้แก่ ฉันทราคะ คือ โลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ยินดี พอใจติดข้องในอารมณ์
วัตถุกาม คือ สภาพธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดี ความพอใจ ความปรารถนา ฉะนั้น วัตถุกาม ได้แก่ วัฏฏะ ซึ่งเป็นไปในภูมิทั้ง ๓ คือ ทั้งกามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ เพราะไม่พ้นจากการเป็นวัตถุที่ยินดีพอใจของกิเลสกาม ตราบใดที่ยังดับโลภะไม่ได้ก็ยังมีวัตถุกาม คือ สภาพธรรมซึ่งเป็นที่ยินดี พอใจของกิเลสกาม
กามาวจรจิตซึ่งยินดี พอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั้นเหนียวแน่นมาก แม้ว่ารูปจะปรากฏเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อยเหลือเกิน คือ ชั่วขณะที่กระทบจักขุปสาทคือตา เสียงก็ปรากฏเพียงชั่วขณะทีเล็กน้อยเหลือเกิน คือ ชั่วขณะที่กระทบกับโสตปสาท กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ก็เช่นเดียวกัน ล้วนเป็นปริตตธรรม คือ เป็นสภาพที่ปรากฏเพียงเล็กน้อยแล้วก็ดับไป แต่จิตยินดีพอใจติดข้องในปริตตธรรมนั้นอยู่เสมอ เพราะการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของปริตตธรรมนั้นๆ จึงดูเสมือนไม่ดับไป
ความเพลิดเพลินยินดีพอใจในกามอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่หมดสิ้น แม้ว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอื่นๆ ก็เกิดสืบต่อทำให้เกิดความหลงติดยินดี พอใจในรูปเสียง ฯลฯ สืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ เมื่อเห็นรูปใดก็ตามซึ่งเป็นที่ พอใจแล้ว ก็อยากจะเห็นอีกบ่อยๆ เมื่อได้ยินเสียงที่พอใจแล้วก็อยากได้ยินเสียงนั้นอีก กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็เช่นเดียวกัน เมื่อบริโภครสใดที่พอใจแล้วก็อยากบริโภคนั้นซ้ำๆ อีก ความยินดีพอใจติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกวันซ้ำแล้วซ้ำอีกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง
เมื่อชอบสิ่งใดก็อยากจะเห็นสิ่งนั้นอยู่ตลอดเวลาได้ไหม ไม่ได้ เพราะสังขารธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา เมื่อรสอร่อยเกิดขึ้นปรากฏ ความพอใจก็อาศัยลิ้นเกิดขึ้น ขณะความพอใจในกลิ่นที่ปรากฏ ขณะนั้นความพอใจทางตา หู ลิ้น กาย ก็ไม่เกิด เพราะจิตเกิดขึ้นทีละขั้นเท่านั้น จะมีจิต ๒ ดวงเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้เลย ทุกคนพอใจใจสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏสลับกันทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ไม่ใช่พอใจเฉพาะสีเดียว เสียงเดียว กลิ่นเดียว รสเดียว และโผฏฐัพพะเดียวเท่านั้น ทั้งนี้เพราะความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะสะสมสืบต่อกันอยู่เรื่องๆ ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต
ฉะนั้น กามาวจรจิต คือ จิตขั้นกามที่ท่องเที่ยวไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นจิตที่ยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นจิตที่ไม่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ บางท่านบอกว่าทำบุญแล้วอยากจะเกิดในสวรรค์ สวรรค์ก็ไม่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่เป็นกามอารมณ์ที่ประณีตกว่าอารมณ์ในโลกมนุษย์
ฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตาย ขณะใดที่จิตสงบไม่ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ คือ ไม่เป็นฌานจิต และไม่เป็นโลกุตตรจิตขณะนั้นก็เป็นกามาวจรจิต ขณะหลับและตื่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึกต่างๆ นั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเลย แต่เป็นจิตขั้นกามคือกามาวจรจิตทั้งสิ้น
ผู้ที่ไม่ใช่พระอนาคามีพระและอรหันต์นั้น ยังมีความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แสดงว่าความพอใจในกามอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นละได้ยากเพียงใด และถึงแม้ว่าจะอบรมเจริญความสงบถึงขั้นฌานจิตและเกิดในพรหมโลก ก็ยังละความยินดี พอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่ได้เป็นสมุจเฉท เมื่อยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ก็ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก คือ เป็นผู้ยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉะนั้นจึงไม่ควรประมาทกิเลส และจะต้องเข้าใจสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ตามเหตุผล จึงจะสามารถอบรมเจริญปัญญาที่ดับกิเลสได้จริงๆ เป็นสมุจเฉท
ส่วนคำว่า "วัตถุกาม" นั้นมีความหมายกว้างกว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดทั้งสิ้น เมื่อเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจก็เป็นวัตถุกาม คือ เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจของรูปพรหมบุคคลนั้น เมื่อเกิดเป็นพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ รูปพรหมภูมินั้นก็เป็นวัตถุกาม คือ เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจของพรหมบุคคลนั้น ผู้ที่เกิดในอรูปพรหมภูมิ อรูปพรหมก็เป็นวัตถุกาม คือ เป็นที่ตั้งของความยินดี พอใจของอรูปพรหมบุคคลนั้นได้ โลภเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่ยินดีพอใจ ติดข้องอารมณ์ทุกอย่างนอกจากโลกุตตรธรรมเท่านั้น ฉะนั้น นอกจากโลกุตตรธรรมแล้ว ธรรมอื่นๆ จึงเป็นวัตถุกาม คือ เป็นที่ตั้ง เป็นที่ยินดีพอใจของโลภะได้
ความหมายของกามาวจรจิตนัยที่ ๑ คือ เป็นจิตขั้นกามไม่พ้นไปจากกาม
นัยที่ ๒ เป็นจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามภูมิ ๑๑ คืออบายภูมิ ๔ มนุสสภูมิ ๑ และสวรรค์ ๖ ชั้น
นัยที่ ๓ ชื่อว่า กามาวจรจิต เพราะว่าย่อมท่องเที่ยวไปด้วยสามารถแห่งการกระทำให้เป็นอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ย่อมท่องเที่ยวไปในจิตนั้นๆ ด้วยสามารถแห่งการกระทำให้เป็นอารมณ์ แม้เพราะเหตุนั้นๆ ชื่อว่า กามาวจร
ถ้าจะให้เข้าง่ายคือ จิตใดก็ตามที่เกี่ยวเนื่องเป็นไปในกาม คือ รูป เลียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ จิตนั้นเป็นกามาวจร
ถาม พระอรหันต์มีกามาวจรจิตไหม
ตอบ มี เมื่อพระอรหันต์เห็นรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา รูปารมณ์เป็นกามอารมณ์ จิตเห็นจึงเป็นกามาวจรจิต ไม่ว่าจะเป็นจิตของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก หรือจิตของบุคคลใดขณะใดๆ ก็ตามที่มีกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ จิตนั้นเป็นกามาวจรจิต
นัยที่ ๔ อีกอย่างหนึ่ง จิตใดย่อมยังปฏิสนธิให้ท่องเที่ยวไปในกาม กล่าวคือ กามภพ (อบายภูมิ ๔ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖) เหตุนั้น จิตนั้นชื่อว่า กามาวจร
ทุกท่านที่อยู่ในโลกมนุษย์นี้ เพราะกามาวจรจิตทำให้กามปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในมนุษย์ ซึ่งเป็นกามภูมิ
ผู้ที่เจริญสมถภาวนาจนจิตสงบถึงขั้นอัปปนาสนธิเป็นรูปฌานจิตหรืออรูปฌานจิต ถ้าฌานจิตไม่เสื่อม และฌานจิตเกิดก่อนจุติจิต ฌานกุศลจิตนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดในโลกนี้ แต่ปัจจัยให้เกิดรูปพรหมภูมิหรือในอรูปพรหมภูมิตามขั้นของฌานนั้นๆ คือ การอบรมเจริญสมถภาวนา การเจริญสติปัฏฐานซึ่งยังไม่พ้นไปจากกาม ฉะนั้น จึงทำให้ปฏิสนธิในกามภูมิ
คำว่า "ภูมิ" มี ๒ ความหมาย คือ หมายถึงจิตซึ่งเป็นภูมิของสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกัน ๑ และหมายถึง "โอกาส" คือ สถานที่เกิดของสัตวโลก ๑ โลกมนุษย์เป็นภูมิ คือสถานที่เกิดภูมิ ๑ ในที่เกิดทั้งหมด ๓๑ ภูมิ
เมื่อจิตต่างกันเป็นประเภทๆ และจิตแต่ละประเภทนั้นก็วิจิตรต่างกันมาก ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของสัตวโลกก็ต้องต่างกันไป ไม่ใช่มีแต่มนุสสภูมิ คือโลกนี้โลกเดียว และแม้ว่าจะเป็นกามวจรกุศล กำลังของศรัทธา ปัญญา และสัมปยุตตธรรมคือเจตสิกทั้งหลายที่เกิดรวมด้วยในขณะนั้นก็วิจิตรต่างกันมาก จึงจำแนกให้ได้รับผล คือ เกิดในสุคติภูมิต่างๆ ไม่ใช่แต่ในภูมิมนุษย์เท่านั้น
สำหรับอกุศลกรรมก็เช่นเดียวกัน ขณะที่ทำอกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ถ้าสังเกตจะรู้ความแตกต่างกันของอกุศลกรรม ว่าหนักเบาด้วยอกุศลธรรมเพียงไร บางครั้งก็ประกอบด้วยความพยาบาทมาก บางครั้งก็ไม่ได้ประกอบด้วยความพยาบาทรุนแรง บางครั้งก็ขาดความเพียร ไม่ได้มิวิริยะอุตสาหะที่จะทำร้ายเบียดเบียน แต่เป็นการกระทำซึ่งประกอบด้วยเจตนาเพียงเล็กน้อยและสัตว์เพียงเล็กๆ นั้นตายลง เมื่อแต่ละกรรมที่ได้กระทำไปนั้นประกอบด้วยสัมปยุตธรรม คือเจตสิกขั้นต่างๆ อกุศลกรรมซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลวิจิตรต่างๆ กัน ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดที่เหมาะที่ควรแก่กรรมนั้นๆ ก็ย่อมต้องมีมาก ไม่ได้มีแต่เฉพาะมนุสสภูมิแห่งเดียวเท่านั้น
คำว่า "ภูมิ" หมายถึงโอกาสโลกซึ่งเป็นสถานที่เกิดของสัตวโลกทั้งหมด ๓๑ ภูมิ ตามระดับขั้นของจิต คือ กามภูมิ ๑๑ ภูมิ รูปพรหม ๑๖ ภูมิ อรูปพรหม ๔ ภูมิ รวมโอกาสโลกซึ่งเป็นสถานที่เกิดของสัตวโลกทั้งหมดมี ๓๑ ภูมิ คือ ๓๑ ระดับขั้น ซึ่งสถานที่เกิดแต่ละขั้นนั้นมีมากว่านั้น คือ แม้แต่ภูมิของมนุษย์ก็ไม่ได้มีแต่โลกนี้โลกเดียว ยังมีโลกมนุษย์อื่นอีกด้วย
กามภูมิ ๑๑ ภูมินั้นเป็นอบายภูมิ ๔ มนุษย์ ๑ และสวรรค์ ๖ ซึ่งขอกล่าวถึงเพียงย่อๆ คือ
อบายภูมิ ๔ ได้แก่ นรก ๑ สัตว์เดรัจฉาน ๑ ปิตติวิสัย (เปรต) ๑ อสูรกาย ๑
นรกไม่ใช่มีเพียงแต่แห่งเดียวหรือขุมเดียว นรกขุมใหญ่ๆ มีหลายขุม เช่น สัญชีวนรก กาฬสุตนรก สังฆาตนรก โรรุวนรก มหาโรรุวนรก ตาปนรก มหาตานนรก และอเวจีนรก นอกจากนรกใหญ่ ก็ยังมีนรกย่อยๆ ซึ่งในพระไตรปิฏกก็ไม่ได้กล่าวถึงโดยละเอียดมากนัก เพราะจุดประสงค์ที่พระผู้ภาคทรงแสดงภูมิต่างๆ ก็เพื่อทรงแสดงให้เห็นเหตุและผลของกุศลกรรมและอกุศลกรรม สิ่งใดซึ่งไม่สามารถที่เห็นชัดประจักษ์ด้วยตา ก็ย่อมไม่เป็นสิ่งที่ควรแสดงเท่ากับสภาพที่สามารถจะพิสูจน์โดยอบรมเจริญปัญญาให้รู้ได้
การเกิดในอบายภูมิ ๔ นั้น ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมหนักก็เกิดในนรก ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมที่หนักมากก็เกิดในมหานรกที่สุดจะทรมาน คือ อเวจีนรก และเมื่อพ้นจากขุมนรกขุมใหญ่ๆ แล้ว ก็เกิดในนรกขุมย่อยๆ อีก เมื่อยังไม่หมดผลของอกุศลกรรม ขณะที่กระทำอกุศลกรรมนั้นไม่คิดเลยว่า ภูมินรกรออยู่แล้วข้างหน้า แต่ว่ายังไปไม่ถึง เพราะว่ายังอยู่ในโลกนี้ก็ยังไม่ไปสู่ภูมิอื่น แม้ว่าเหตุคืออกุศลกรรมมีแล้ว เมื่อทำอกุศลกรรมแล้วย่อมเป็นปัจจัยให้ไปสู่อบายภูมิใดภูมิเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว
ผลของอกุศลกรรมที่เบากว่านั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดอบายภูมิอื่น เช่น เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน จะเห็นได้ว่าสัตว์ดิรัจฉานนั้นมีรูปร่างประหลาดๆ ต่างๆ นานา บางชนิดมีขามาก บางชนิดมีขาน้อย บางชนิดไม่มีขาเลย มีปีกบ้าง ไม่มีปีกบ้าง อยู่ในน้ำบ้าง อยู่บนบกบ้าง มีรูปร่างลักษณะ ต่างๆ มากมาย ตามความวิจิตรของจิต มนุษย์มีตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ผิวพรรณวัณณะ ความสูงต่ำก็ยังวิจิตรต่างๆ กัน ไม่เหมือนกันเลย ไม่ว่าจำนวนคนโลกนี้จะมากสักเท่าไรก็ตาม รวมทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตด้วย แต่สัตว์ดิรัจฉานก็ยิ่งวิจิตรต่างกันมากกว่ามนุษย์ ทั้งสัตว์น้ำ สัตว์บก และสัตว์ที่บินได้ ซึ่งก็ย่อมเป็นไปตามกรรม อันเป็นเหตุให้มีรูปร่างวิจิตรนั้นๆ
ผลของอกุศลกรรมที่น้อยกว่านั้นเป็นปัจจัยให้เกิดในภูมิของ เปรต ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า ปิตติวิสัย เปรตทรมานด้วยความหิวโหยอยู่เสมอ และภูมิของเปรตก็วิจิตรต่างๆ กันมาก
มนุษย์ทุกคนมีโรคประจำตัวประจำวันคือ โรคหิว ซึ่งจะว่าไม่มีโรคไม่ได้ เพราะความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง ลองหิวมากแล้วจะรู้สึก ถ้าหิวนิดหน่อยแล้วรับประทานอาหาร ซึ่งถ้าเป็นอาหารอร่อยๆ ก็เลยลืมว่าแท้จริงนั้นความหิวไม่ใช่ความสบายกายเลย เป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไขบรรเทาให้หมดไป คนที่หิวมากเมื่อไม่ได้รับประทานอาหาร ก็จะรู้สภาพที่เป็นความทุกข์ของความหิวว่าถ้าหิวมากๆ กว่านั้นจะเป็นอย่างไร
ท่านผู้หนึ่งมีมิตรสหายมาก วันหนึ่งท่านรับโทรศัพท์ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น ไม่ได้รับประทานอาหาร พอค่ำก็เลยรู้สึกว่าหิวที่แสนทรมาน ใช้คำว่าแสบท้องหรือแสบไส้นั้นเป็นอย่างไร และท่านก็ไม่สามารถรีบร้อนรับประทานเพื่อแก้หิว เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็จะเป็นลม เป็นอันตรายต่อร่างกายท่านต้องค่อยๆ บริโภคแก้ไขความหิวไปทีละน้อย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นลม นี่ก็แสดงให้เห็นว่าความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง เป็นโรคประจำวันที่ยังไม่ค่อยพูดถึงโรคอื่นๆ แล้วอย่างนี้ผู้ที่เป็นเปรตจะหิวสักแค่ไหน ในภูมิเปรตไม่มีการค้าขาย ไม่มีกสิกรรม จะไปปลูกข้าวทำนา หุงข้าวเองหรือซื้อขายอะไรกับใครเพื่อให้ได้อาหารมาบริโภคก็ไม่ได้ การเกิดเป็นเปรตนั้นเป็นผลของอกุศลกรรม เปรตใดอนุโมทนากุศลที่บุคคลอื่นกระทำแล้วอุทิศไปให้ กุศลจิตที่อนุโมทนานั้นเป็นปัจจัยให้ได้อาหารที่เหมาะสมแก่ภูมิของตนบริโภค หรืออาจจะพ้นสภาพของเปรตโดยจุติแล้วปฏิสนธิในภูมิอื่น เมื่อหมดผลของกรรมที่ทำให้เป็นเปรตต่อไป
อบายภูมิ อีกภูมิหนึ่ง คือ อสูรกาย การเกิดเป็นอสุรกายเป็นผลของอกุศลกรรมที่เบากว่า อกุศลกรรมอื่น เพราะผู้ที่เกิดเป็นอกุศลกรรมนั้นไม่มีความรื่นเริงใดๆ อย่างในภูมิมนุษย์และสวรรค์ ในภูมิมนุษย์มีหนังสืออ่าน มีหนังละครดู มีเพลงฟัง แต่ในอสุรกายภูมิไม่สามารถที่จะแสวงหาความเพลิดเพลินสนุกสนานได้เหมือนในสุคติภูมิ
เมื่อกุศลกรรมมีต่างกัน ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดย่อมต่างกันออกไปตามเหตุ คืออกุศลกรรมนั้นๆ
สำหรับภูมิซึ่งเป็นของกามาวจรกุศลมี ๗ ภูมิ คือ มนุษย์ ๑ ภูมิ สวรรค์ ๖ ภูมิ
ในพระไตรปิฏกแสดงภูมิที่เกิดของมนุษย์ว่า มนุสสภูมิ คือที่เกิดของมนุษย์นั้น มี ๔ ทวีป คือ
๑. ปุพพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาสิเนรุ
๒. อมรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขาสิเนรุ
๓. ชมพูทวีป (คือโลกนี้) อยู่ทางทิศใต้ของภูเขาสิเนรุ
๔. อุตตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาสิเนรุ
ผู้ที่ในโลกนี้ซึ่งเป็นชมพูทวีปก็เห็นแต่ชมพูทวีป ไม่ว่าจะท่องเที่ยวไปที่ใดก็เห็นแต่อารมณ์ต่างๆ ของชมพูทวีป ยังไม่สามารถที่ไปถึงทวีปอื่น ซึ่งเป็นโลกของมนุษย์อื่นอีก ๓ โลก
สวรรค์มี ๖ ภูมิ ตามลำดับคือ
สวรรค์ภูมิที่ ๑ คือ จาตุมหาราชิกา มีเทวดาซึ่งเป็นใหญ่ ๔ องค์คือ
ท้าวธตรัฏฐ เป็นเทพผู้เป็นใหญ่ทางทิศตะวันออก มีชื่อว่าอินทะ เป็นผู้ปกครองคันธัพพเทวดา (คนธรรพ์)
ท้าววิรุฬหก เป็นเทพผู้เป็นใหญ่ทางทิศใต้ หรือบางครั้งเรียกว่า ยมะ เป็นผู้ปกครองกุมภัณฑ์เทวดาด้วย
ท้าววิรูปักข เป็นเทพผู้เป็นใหญ่ทางทิศตะวันตก บางครั้งมีชื่อว่า ท้าววรุณ เป็นผู้ปกครองนาคเทวดา
ท้าวกุเวร เป็นเทพผู้ใหญ่ทางทิศเหนือ บางครั้งมีชื่อว่า ท้าวเวสสุวัณณ เป็นผู้ปกครองยักขเทวดา
สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาเป็นสวรรค์ชั้นต้น ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากภูมิมนุษย์ สวรรค์ซึ่งเป็น ภูมิของเทพนั้นสูงขึ้นๆ ตามระดับความประณีตของสวรรค์
สวรรค์ภูมิที่ ๒ คือ ดาวดึงส์ อยู่สูงกว่าสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา มีพระอินทร์เป็นจอมเทพ ทุกท่านคงได้ยินชื่อสวนสวรรค์ในชั้นดาวดึงส์บ่อยๆ สวนสวรรค์ในชั้นดาวดึงส์มี ๔ ข้อ คือ สวนนันทวันอยู่ทางทิศตะวันออก สวนจิตรลดาวันอยู่ทางทิศตะวันตก สวนมิสสกวันอยู่ทางทิศเหนือ สวนผารุสกวันอยู่ทางทิศใต้
สวรรค์ภมิที่ ๓ คือ ยามา
อยู่สูงกว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
สวรรค์ภูมิที่ ๔ คือ ดุสิต
อยู่สูงกว่าสวรรค์ชั้นยามา
สวรรค์ภูมิที่ ๕ คือ นิมมานรดี
อยู่สูงกว่าสวรรค์ชั้นดุสิต
สวรรค์ภูมิที่ ๖ คือ ปรนิมมิตวสวัตตดี
อยู่สูงกว่าสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
ใครอยากจะอยู่สวรรค์ชั้นไหน เมื่อไม่ใช่พระอรหันต์ก็ยังต้องเกิดอีก แต่จะเกิดที่ไหน คงไม่ถึงพรหมภูมิ เพราะการที่จะเกิดเป็นพรหมบุคคลในพรหมภูมิได้นั้น ต้องเป็นผลของฌานกุศลที่ไม่เสื่อมตามที่กล่าวแล้ว ฉะนั้น ก็คงจะเกิดในกามภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะเป็นอบายภูมิหรือสุคติภูมิตามเหตุ คือ กรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้วในสังสารวัฏฏ์
รูปวจรภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของรูปพรหมบุคลมี ๑๖ ภูมิ คือ
ปฐมฌานภูมิ มี ๓ ภูมิ คือ
ปาริสัชชภูมิ ๑ (เป็นที่เกิดของผู้ที่บรรลุปฐมฌานกุศลจิตที่มีกำลังอ่อน)
ปุโรหิตาภูมิ ๑ (เป็นที่เกิดของผู้ที่บรรลุปฐมฌานกุศลจิตที่มีกำลังปานกลาง)
มหาพรหมาภูมิ ๑ (เป็นที่เกิดของผู้ที่บรรลุปฐมฌานกุศลจิตที่มีกำลังประณีต)
ทุติยฌานภูมิ มี ๓ ภูมิ เป็นที่เกิดของผู้ที่บรรลุทุติยฌานโดยจตตุถนัย และตติยฌานโดยปัญจกนัย คือ
ปริตตาภาภูมิ ๑
อัปปมาณาภูมิ ๑
อาภัสสราภูมิ ๑
ตติยฌานภูมิ มี ๓ ภูมิ เป็นที่เกิดของผู้ที่บรรลุตติยฌานโดยจตุตถนัย และจตุตถฌานโดยปัญจกนัย คือ
ปริตตสุภาภูมิ ๑
อัปปมาณสุภาภูมิ ๑
สุภกิณหาภูมิ ๑
จตุตถฌานภูมิ มี ๗ ภูมิ คือ
เวหัปผลาภูมิ ๑ เป็นที่เกิดของผู้ที่บรรลุจตุตถฌานโดยจตุตถนัยและปัญจมฌานโดยปัญจกนัย
อสัญญสัตตาภูมิ ๑ เป็นที่เกิดของผู้ที่บรรลุปัญจมฌานที่มีแต่รูปปฏิสนธิ ไม่มีจิตเจตสิกเกิดเลย
อวิหาภูมิ ๑*
อตัปปาภูมิ ๑*
สุทัสสาภูมิ ๑*
สุทัสสีภูมิ ๑*
อกนิฏฐาภูมิ ๑*
* สุทธาวาส ๕ ภูมิ เป็นที่เกิดของพระอนาคามีบุคคลผู้ได้จตุตถฌานโดยจตุตถนัย หรือปัญจมฌานโดยปัญจกนัย
อรูปพรหมภูมิ มี ๔ ภูมิ เป็นภูมิที่เกิดของผู้ที่บรรลุอรูปฌาน (ปัญจมฌานที่เพิกรูปแล้วมีอรูปเป็นอารมณ์) ตามลำดับขั้น คือ
อากาสานัญจายตนภูมิ ๑
วิญญาณัญจายตนภูมิ ๑
อากิญจัญญายตนภูมิ ๑
เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ๑
ในอรูปพรหม ๔ ภูมินี้ มีแต่นามขันธ์ คือ จิตและเจตสิกไม่มีรูปใดๆ เกิดเลย
ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต จุฬนีสูตร พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของโลกและจักรวาลไว้ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่โดยละเอียดอย่างที่บางท่านสงสัยใคร่รู้ แต่ก็แสดงให้เห็นพระปัญญาบารมีของพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงเป็นโลกวิทู คือ ผู้ทรงรู้แจ้งโลกทั้งสิ้น
ลักษณะของจิตประการที่ ๔ คือ อนึ่ง จิตแม้ทุกดวงชื่อว่าจิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม (เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) ทำให้จำแนกจิตออกเป็นประเภทต่างๆ ได้หลายนัย เช่น โดยชาติ ๔ ได้แก่ เป็นกุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ โดยภูมิ ๔ คือ กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต
กามาวจรจิต มีทั้ง ๔ ชาติ คือ เป็นอกุศลก็มี เป็นกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี นอกจากกามาวจรจิตแล้ว จิตระดับที่สูงกว่านั้นไม่เป็นอกุศล คือ รูปาวจรจิตที่เป็นอกุศลไม่มี อรูปาวจรจิตที่เป็นอกุศลไม่มี โลกุตตรจิตที่เป็นอกุศลไม่มี (และที่เป็นกิริยาไม่มี)
ฉะนั้น รูปาวจรจิตจึงมี ๓ ชาติ คือ กุศล วิบาก กิริยา รูปาวจรกุศลจิตเป็นเหตุให้รูปาวจรวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิเป็นพรหมบุคคลในพรหมโลก ภูมิหนึ่งภูมิใดในรูปพรหม ๑๕ ภูมิและรูปา วจรปัญจมฌานเป็นปัจจัยให้รูปปฏิสนธิเป็นอสัญญสัตตาพรหมบุคคลในอสัญญสัตตาพรหมภูมิ ๑ ภูมิ รูปาวจรกิริยาเป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ขณะที่เป็นรูปฌานจิตขั้นต่างๆ
อรูปวาจรจิตก็มี ๓ ชาติ คือ กุศล วิบาก กิริยา โดยนัยเดียวกัน
รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต เป็นมหัคคตจิต ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายความหมายของ "มหัคคตะ" ว่า ชื่อว่า มหค?คต เพราะถึงความเป็นสภาวะอันใหญ่ เพราะสามารถข่มกิเลสได้ เพราะมีผลไพบูลย์
กิเลสเป็นสิ่งที่ข่มไม่ได้ง่าย เพราะพอเห็นก็เกิดพอใจหรือไม่พอใจ แต่ในขณะที่จิตเป็น อัปปนาสมาธิเป็นฌานจิตนั้น จิตสงบแนบแน่นในอารมณ์ทางมโนทวาร ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้โผฏฐัพพะ ขณะที่เป็นฌานจิต ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลานานเท่าไรก็ตาม ภวังคจิตจะไม่เกิดคั่นแทรกเลย ไม่เหมือนกับเวลาที่เป็นกามาวจรจิต ซึ่งเป็นขณะที่เล็กน้อยและสั้นมากเป็นปริตตธรรม เพราะเห็นชั่ววาระสั้นๆ ได้ยินชั่ววาระสั้นๆ คิดนึกชั่ววาระสั้นๆ ขณะที่เป็นกามาวจรจิตนั้น รู้อารมณ์หนึ่งๆ ชั่ววาระที่สั้นจริงๆ เมื่อจักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรู้รูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาดับไป ภวังคจิตก็ต้องเกิดต่อทันทีก่อนที่มโนทวารวิถีจิตจะรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อจากจักขุทวารวิถีจิต กามาวจรธรรม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และจิตที่รู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจึงเป็นปริตตธรรม แต่มหัคคตจิตซึ่งได้แก่ รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิตนั้นถึงความเป็นสภาวะอันใหญ่ เพราะสามารถข่มกิเลสได้ จึงเป็นมหัคคตจิต
ขณะที่เป็นอัปปนาสมาธิ คือ ฌานจิตเกิดดับสืบต่อกันนั้น ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้โผฏฐัพพะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และไม่คิดนึกเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใดๆ เลย จึงชื่อว่าสามารถข่มกิเลส แต่เมื่อฌานจิตดับหมดแล้ว กามาวจรจิตก็เกิดต่อเมื่อวิถีจิตเกิดขึ้นทางทวารต่างๆ อกุศลชวนวิถีก็เกิดได้ถ้าไม่ใช่กุศล เพราะเมื่อยังไม่ได้ดับกิเลส เป็นสมุจเฉท เมื่อเห็นแล้วอกุศลจิตก็เกิดขึ้น เมื่อได้ยินแล้วอกุศลจิตก็เกิด เมื่อกายกระทบสัมผัสแล้วอกุศลจิตก็เกิด มีใครรู้บ้างว่าอกุศลจิตเกิดอยู่เรื่อยๆ เมื่อไม่รู้ก็ไม่ได้ข่มและไม่ได้อบรมเจริญหนทางที่จะดับกิเลส
ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่เห็นโทษของอกุศลจิตซึ่งเกิดสืบต่อจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ ก็ได้พยายามหาทางที่จะข่มกิเลส และรู้ว่าทางเดียวที่จะข่มกิเลสได้ คือ ต้องไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส และไม่รู้โผฏฐัพพะ เพราะถ้าเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส และรู้โผฏฐัพพะ ก็กั้นกิเลสไม่ได้ เมื่อรู้อย่างนี้จึงอบรมเจริญกุศลจิตที่ทำให้สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ จนถึงอัปปนาสมาธิ ซึ่งไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสใดๆ นอกจากอารมณ์ที่ทำให้จิตเป็นกุศลสงบมั่นคงแนบแน่นทางใจเพียงอารมณ์เดียวเท่านั้น อัปปนาสมาธิซึ่งเป็นฌานจิตนั้นไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส เพราะเมื่อฌานจิตไม่เกิด กิเลสก็เกิด ชั่วขณะที่เป็นรูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิตนั้นเป็นสภาวะอันใหญ่ เป็นมหัคคตะ เพราะข่มกิเลสได้โดยไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่เหมือนพระอนาคามีบุคคลซึ่งเห็นแต่ดับความยินดีพอใจในรูป ได้ยินแต่ดับความยินดีพอใจในเสียง ได้กลิ่นแต่ดับความยินดีพอใจในกลิ่น ลิ้มรสแต่ดับความยินดีพอใจในรส กระทบสัมผัสแต่ดับความยินดีพอใจในเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหวที่ปรากฏ ฉะนั้น จิตจึงต่างกันเป็น ๔ ภูมิ คือ ๔ ระดับขั้น
รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิตมี ๓ ชาติ คือกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑
โลกุตตรจิตมี ๒ ชาติ คือ เป็นโลกุตตรกุศลประเภท ๑ เป็นโลกุตตรวิบากประเภท ๑ ไม่มี โลกุตตรกิริยาจิต โลกุตตรจิตมี ๘ ดวง คือ
โสตาปัตติมัคคจิต เป็นโลกุตตรกุศล
โสตาปัตติผลจิต เป็นโลกุตตรวิบาก
สกทาคามิมัคคจิต เป็นโลกุตตรกุศล
สกทาคามิผลจิต เป็นโลกุตตรวิบาก
อนาคามิมัคคจิต เป็นโลกุตตรกุศล
อนาคามิผลจิต เป็นโลกุตตรวิบาก
อรหัตตมัคคจิต เป็นโลกุตตรกุศล
อรหัตตผลจิต เป็นโลกุตตรวิบาก
โลกุตตรกุศลจิต เป็นปัจจัยให้โลกุตตรวิบากจิตเกิดสืบต่อทันที ไม่มีจิตอื่นเกิดคั่นได้เลย กุศลอื่นทั้งหมดไม่สามารถที่จะให้ผลทันที คือ ไม่ทำให้วิบากจิตเกิดสืบต่อจากกุศลจิตได้ทันที แต่โลกุตตรกุศลเป็นปัจจัยให้โลกุตตรวิบากเกิดสืบต่อทันที โดยไม่มีจิตอื่นคั่นระหว่างโลกุตตรกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุ และโลกุตตรวิบากจิตซึ่งเป็นผลเลย ทันทีที่โสตาปัตติมัคคจิตซึ่งเป็นโลกุตตรกุศลดับ โสตาปัตติผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบากก็เกิดสืบต่อทันที ทันที่ที่อนาคามิมัคคจิตซึ่งเป็นโลกุตตรกุศลดับ อนาคามิผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบากจิตก็เกิดสืบต่อทันที ทันที่อรหันตมัคคจิตซึ่งเป็นโลกุตตรกุศลดับ อรหัตตผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบากจิตก็เกิดสืบต่อทันที
ฉะนั้น โลกุตตรวิบากจิตทั้ง ๔ จึงไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจภวังคกิจและจุติกิจ ไม่เหมือนโลกียกุศลวิบากและอกุศลวิบากเมื่อโลกุตตรกุศลจิตดับ โลกุตตรวิบากจิตก็เกิดขึ้นมีนิพพานเป็นอารมณ์ต่อจากโลกุตตรกุศลทันที ฉะนั้น ผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบากจิตนั้น จึงเป็นชวนวิถีจิตเช่นเดียวกับโลกุตตรกุศลจิต ผลจิตเป็นวิบากจิตประเภทเดียวเท่านั้นที่เป็นชวนวิถีจิต ทำชวนกิจและมีนิพพานเป็นอารมณ์ โลกุตตรกุศลจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวในสังสารวัฏฏ์ โดยดับกิเลสเป็นสมุจเฉทตามขั้นของโลกุตตรกุศลจิตนั้นๆ แต่โลกุตตรวิบากจิตที่เกิดต่อจากโลกุตตรกุศลจิตนั้น เกิดดับสืบต่อกันโดยมีนิพพานเป็นอารมณ์อีก ๒ หรือ ๓ ขณะตามประเภทของบุคคล
พระโสดาบันบุคคลยังเกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ แต่ปฏิสนธิจิตของพระโสดาบันไม่ใช่โสตาปัตติผลจิต ทำกิจปฏิสนธิแล้วแต่ว่าพระโสดาบันบุคคลนั้นจะเกิดในภูมิใด วิบากจิตระดับภูมินั้นๆ ก็ทำกิจปฏิสนธิในภูมินั้น คือ ถ้าพระโสดาบันบุคคลนั้นเกิดในสวรรค์ กามาวจรวิบากจิตก็ทำกิจปฏิสนธิ ถ้าพระโสดาบันบุคคลนั้นเกิดในพรหมภูมิใด รูปาวจรวิบากจิตหรืออรูปวจรวิบากจิตก็ทำกิจปฏิสนธิในภูมินั้นๆ
ฉะนั้น คำว่า ภูมิ มี ๒ ความหมาย คือ หมายถึง ระดับขั้นของจิต ๑ และหมายถึงภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของสัตวโลก ๑
ภูมิซึ่งเป็นระดับขั้นของจิตมี ๔ ภูมิ คือ
กามาวจรจิต ๑
รูปาวจรจิต ๑
อรูปาวจรจิต ๑
โลกุตตรจิต ๑
ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของสัตวโลก หมายถึง โอกาสโลก ซึ่งเป็นสถานที่เกิดของสัตวโลก มี ๓๑ ภูมิตามระดับขั้นของจิต คือ
กามภูมิ ๑๑ ภูมิ
รูปพรหมภูมิ ๑๖ ภูมิ
อรูปพรหมภูมิ ๔ ภูมิ
คำถามทบทวน
๑. กิเลสกามและวัตถุกามต่างกันอย่างไร
๒. ปริตตธรรมคืออะไร
๓. พระพุทธเจ้ามีกามาวจรจิตไหม
๔. คำว่าภูมิหมายถึงอะไรบ้าง
๕. สุทธาวาสภูมิคืออะไร ใครเกิดในสุทธาวาสภูมิได้
๖. รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิตมีกี่ชาติ
๗. โลกุตตรจิตมีกี่ชาติ
๘. มหัคคตจิตได้แก่จิตอะไร
๙. โลกุตตรจิตเป็นวิถีจิตอะไร
๑๐. โลกุตตรวิบากจิตทำกิจอะไร
๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๓
http://www.dhammastudy.com/thpar10.html