http://thailand.ahrchk.net/mainfile.php/2006st/126/จดหมายเปิดผนึกถึงรองนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย จากกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (31-07-06)
เพื่อการเผยแพร่โดยทันที
24 กรกฎาคม 2549
AHRC-OL-034-2006
จดหมายเปิดผนึกถึงรองนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย จากกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
นายสุรเกียรติ เสถียรไทย
รองนายกรัฐมนตรี
สำนักนายกรัฐมนตรี
ถนนพิษณุโลก
ดุสิต กรุงเทพฯ
โทรสาร 02-2811359
เรียน คุณสุรเกียรติ
โลกกำลังถาม: คุณสมบัติของท่านที่สมัครเป็นเลขาธิการสหประชาชาติคืออะไร
กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission-AHRC) ได้ศึกษาการลงสมัครเป็นเลขาธิการสหประชาชาติของท่านด้วยความสนใจมาตั้งแต่ปี 2547 เราขอเรียนตามตรงว่าเรางงงวยยิ่ง แม้จะพยายามอย่างยิ่งยวด เราก็ไม่สามารถหาคุณสมบัติในตัวท่านที่เหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวได้เลย ด้วยการที่จบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เราคิดว่าท่านจะเข้าใจว่าการรักษาหลักการเรื่องนิติรัฐและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเป็นสิ่งสำคัญเพียงใด และเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนโดยระบบสากลโดยเฉพาะสหประชาชาติอย่างไร ทว่า เมื่อพิจารณาจากการทำงานของรัฐบาลของท่าน ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี 2544 ถึง 2548 และหลังจากนั้นก็ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี (โดยมีความรับผิดชอบพิเศษในด้านกิจการระหว่างประเทศ) ก็ยิ่งหาหลักฐานมาพิสูจน์ความเข้าใจดังกล่าวของท่านได้ยากยิ่ง เราขอใช้โอกาสนี้ในการกล่าวถึงข้อมูลบางประการโดยอ้างอิงถึงกฎหมายระหว่างประเทศและสนธิสัญญาและกลไกของสหประชาชาติเป็นการพิเศษ ดังต่อไปนี้
1. ไม่เป็นภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติ: คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียเป็นหนึ่งในกลุ่มและบุคคลต่าง ๆ ที่ได้เสนอตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาว่าหากประเทศไทยต้องการพัฒนาประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของตน ประเทศไทยจำต้องเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี อันที่จริงแล้ว กระทรวงที่ท่านดูแลอยู่นั้นมีหน้าที่หลักในการนี้ แต่ประเทศไทยก็ยังไม่ได้ลงนามอย่างไม่มีคำอธิบาย
2. ประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอใด ๆ ขององค์กรสหประชาชาติหลัก ๆ : คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียไม่เคยได้รับทราบว่ามีความพยายามใด ๆ ในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะหลัก ๆ ที่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เสนอไว้เมื่อปี 2548 หลังจากที่ผู้แทนประเทศไทยในกรุงเจนีวาได้ล้มเหลวในความพยายามที่จะซุกซ่อนการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงต่าง ๆ ไว้ให้พ้นสายตา ข้อเสนอของสหประชาชาติที่ท่านได้เพิกเฉยมีดังต่อไปนี้
1) ให้การสนับสนุนงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทยที่ดีขึ้น และมีการทบทวนงานดังกล่าว (รัฐบาลของท่านไม่ได้กระทำการใด ๆ ต่อกรณีความพยายามคุกคามชีวิตของคณะกรรมการท่านหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้)
2) สืบสวนจำนวนการฆาตกรรม จำนวนมากเกิดปกติ ที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงสงครามต้านยาเสพติดในปี 2546 (ไม่มีผู้ใดถูกสืบสวนหรือขึ้นศาล)
3) สืบสวนกรณีการฆ่าหมู่ในภาคใต้เมื่อปี 2547 (ผู้ที่รอดชีวิตจากการฆ่านั้นกลับถูกดำเนินคดีในขณะที่ผู้กระทำผิดในหน่วยงานของตำรวจและทหารกลับได้รับการเลื่อนขั้น)
4) สืบสวนกรณีการฆ่าและการอุ้มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวทางสังคม (ไม่มีการสืบสวนที่สำเร็จหรือการดำเนินคดีใด ๆ)
5) พิจารณาจัดตั้งหน่วยงานพลเรือนที่เป็นอิสระเพื่อสืบสวนข้อร้องเรียนต่อตำรวจ (ไม่มีหลักฐานว่ามีการพิจารณาตามข้อเสนอนี้)
6) ทำให้พรบ.สถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดภาคใต้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ (มีการออกพรบ.สถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่ได้มีการปรับแก้ แม้ผู้ชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติจะประณามเรื่องวิสามัญฆาตกรรม การพิจารณาคดีอย่างไร้กฎเกณฑ์หรืออย่างไร้กระบวนการ)
7) เปลี่ยนกระบวนการเพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถร้องเรียนการถูกสั่งจำคุกของตนได้ และสามารถเข้าถึงทนายความและแพทย์ได้โดยทันใด (ไม่ได้ดำเนินการ และไม่มีหลักฐานว่ามีการพิจารณาเพื่อจะปฏิบัติตามข้อเสนอนี้)
สืบสวนข้อกล่าวหาคดีการทรมาน การกักขังอย่างผิดกฎหมาย และการตายในระหว่างพิจารณาคดี (ไม่มีการสืบสวนหรือการดำเนินคดี)
9) ยุติการล่ามโซ่ผู้ต้องขังที่ดำเนินการเป็นกิจวัตร (ผู้ต้องขังยังถูกตรวนอยู่)
3. ไม่ร่วมมือกับกระบวนการพิเศษของสหประชาชาติ : เรายังไม่ได้ข้อมูลว่า มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ในเรื่องการทรมาน การอุ้ม การวิสามัญฆาตกรรม หรือการละเมิดรุนแรงอื่นใดในประเทศ ที่ถูกร้องเรียนกับคณะทำงานหรือผู้นำชัญพิเศษของสหประชาชาติ ที่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมเลย ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยยังตั้งใจปฏิเสธคำร้องขอมาเยือนประเทศไทยของผู้ชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการวิสามัญฆาตกรรมที่ได้ขอมาหลายครั้ง และประเทศไทยยังไม่ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติที่ต้องการมาเยือนแบบเดียวกัน โดยไม่มีเหตุผล
4. ไม่ได้รับเลือกให้เข้าเป็นสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่เพิ่งตั้งขึ้น : ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น และเหตุผลอื่น ๆ ที่เราไม่ได้กล่าวในที่นี้เพื่อเป็นการรวบรัด
ในขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียทราบว่าท่านได้ลงโทษนักข่าวในประเทศไทยที่ได้เสนอเรื่องการละเมิดรุนแรงและปัญหาที่หยั่งลึกอื่น ๆ เนื่องจากรายงานข่าวเหล่านั้นสร้างภาพที่ไม่ดีต่อการสมัครเข้ารับตำแหน่ง และเมื่อมีคนถูกตีจนตายในพื้นที่เขตท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ เนื่องจากได้ทำลายรูปปั้นพระพรหม ท่านก็แสดงความมุ่งมั่นต่อสิทธิมนุษยชนโดยการแสดงความสงสารต่อรูปปั้นนั้น
ท่านควรจะยอมรับว่าสำหรับคนที่พยายามจะเป็นเลขาธิการสหประชาชาติ ประวัติการมีส่วนร่วมกับสหประชาชาติและหน่วยงานอื่น ๆ ของสหประชาชาติเช่นนี้เป็นประวัติที่ไม่ดีเลย ที่จริงแล้ว เราควรเรียนว่าเป็นการไม่เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างดื้อดึงและการเพิกเฉยอย่างตั้งใจ
กล่าวโดยสรุป เราไม่อาจเข้าใจได้ว่าท่านจะคาดถึงการเป็นเลขาธิการสหประชาชาติได้อย่างไรจากการที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ปฏิเสธที่จะเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศหลัก ๆ ของสหประชาชาติ และไม่พิจารณาหรือดำเนินการตามข้อเสนอที่มีเหตุผลขององค์การสนธิสัญญาของสหประชาชาติและยังกีดกันผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติออกไป
เรายังไม่อาจเข้าใจได้ด้วยว่า ท่านจะคาดถึงการเป็นเลขาธิการสหประชาชาติได้อย่างไรจากการที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลที่มีนโยบายวิสามัญฆาตกรรมและอุ้มประชากรของตนเอง รัฐบาลที่ยอมรับการทรมานโดยตำรวจของตน รัฐบาลที่เป็นที่รับรู้ไปทั่วโลกว่าเป็นศัตรูกับเสรีภาพในการพูด รัฐบาลที่ไม่ปกป้องแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) รวมถึงนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม ผู้นำชุมชน นักข่าว และคนที่เสี่ยงชีวิตอื่น ๆ อีกในประเทศไทย จำนวนรวมนับพัน ๆ คน และรัฐบาลที่ได้สร้างความเสียหายแก่หลักนิติรัฐ
ตามที่ท่านจะได้เข้าใจ บทบาทของเลขาธิการสหประชาชาติในขณะนี้ในประวัติศาสตร์โลกนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เราคาดหวังว่าจะได้ผู้ที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่ง เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของท่านแล้วเราจึงมีความกังวล ดูเหมือนว่าท่านจะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจนั้นได้เนื่องจากรัฐบาลของท่านได้คุกคามชีวิตและสถาบันต่าง ๆ จำนวนนับไม่ถ้วนในประเทศ และหากเป็นเช่นนี้ความเสียหายที่ท่านอาจจะก่อในระดับโลกคงไม่อาจประมาณได้ ด้วยการที่ทำงานอยู่ในภูมิภาคนี้ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียคงต้องรับคำตำหนิไปด้วยหากผู้สมัครชาวเอเชียที่ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมได้รับตำแหน่งนี้และทำให้ชีวิตของประชาชนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกลำบากไปด้วย ด้วยเหตุผลนี้ เราจึงจำต้องเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ขึ้นมา
เราเชื่อมั่นว่าเมื่อถึงเวลาลงคะแนน ชุมชนระหว่างประเทศจะมีกังวล มีสามัญสำนึก และมีความรับรู้ร่วมกันถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาบูรณภาพของสหประชาชาติ หากเป็นเช่นนั้น เราคาดหวังว่าท่านจะไม่ดื้อรั้นลงสมัคร
ยกเว้นเสียแต่ว่าท่านจะสามารถตอบคำถามว่าท่านมีคุณสมบัติอื่นใดที่เหมาะสมต่อการเป็นเลขาธิการสหประชาชาติด้วยความเคารพ
บาซิล เฟอร์นันโด
กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
ผู้อำนวยการ
.......................................................................................................
ลองมาช่วยนายสุรเกียรติตอบกันหน่อยว่าเขามีคุณสมบัติใดที่เหมาะสมต่อการเป็นเลขาธิการสหประชาชาติ