คำพูดสดๆ จากปากทักษิณ ก่อนถูกเอาไปบิดเบือน เหลือเท่าที่เห็นในหัวข้อกระทู้เมินเสียงติงรัฐบาลเผด็จการทักษิณอหังการแก้รธน.ไม่มีในความคิดเหน็บปชป.อยากซักฟอก"เติ้ง"มาแปลกแหกคอกรับเป็นเจ้าภาพลุยปีหน้า
Source - แนวหน้า (Th)
กรุงเทพฯ--11 ธ.ค. 2003 --แนวหน้า
แก้รัฐธรรมนูญปิดช่องโหว่รัฐบาลเผด็จการส่อเป็นหมัน"ทักษิณ"เมินเสียงเตือนประกาศเปรี้ยงไม่เคยมีอยู่ในความคิดย้ำมองไม่เห็นความจำเป็น อ้างประชาธิปไตยไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายเท่ากับการบริหารประเทศแล้วทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี เย้ยฝ่ายค้านสงสัยอยากจะเปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคการเมืองประสานเสียงหนุนแก้รธน.กระหึ่ม"เติ้ง"ฉีกใบสั่งนายกฯส่งมือกฎหมายพรรคศึกษาแล้วเตรียมเสนอแก้ปีหน้า ส่วนปชป.ยังเหนียมไม่ขอเป็นเจ้าภาพ
พ.ต.ท.ทักษิณชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้ออกมาปฏิเสธข้อเรียกร้องของอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)อย่างสิ้นเชิง โดยยืนยันว่า รัฐบาลยังไม่มีความคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเนื่องจากเห็นว่า ยังไม่มีความจำเป็น หากจะพิจารณาควรดูที่กฎหมายลูกหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมากกว่า
ในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันพุธที่ 10 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลว่า เนื่องจากปัญหาทางปฏิบัติส่วนใหญ่มาจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวรัฐธรรมนูญไม่ค่อยมีปัญหามากทั้งนี้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใดที่ต้องแก้ไขบ้างนั้น ไม่ขอวิจารณ์เพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ คงต้องมาดูกันอีกครั้ง
ท่าทีปฏิเสธดังกล่าว มีขึ้นหลังจากอดีตส.ส.ร.ได้ออกมายอมรับว่า พวกเขาคาดไม่ถึงว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะเปิดช่องให้เกิดรัฐบาลเผด็จการจากการครองเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จของพรรคการเมือง ส่งผลให้ไม่สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้
พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ตอนนี้ปัญหาของบ้านเมืองมีเยอะต้องรีบแก้ไข โดยเฉพาะความเป็นอยู่ของประชาชน ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดีและสวยงาม แต่ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย เป็นเพียงเครื่องมือในการบริหารประเทศ เป้าหมายของการบริหารคือการทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีมีความผาสุก ประเทศมีความก้าวหน้า
"สมมุติเราจะขับรถไปแก้ปัญหาให้ชาวบ้านในชนบท บางทีต้องใช้รถปิกอัพออฟโรด ไม่ต้องเอารถโรลสรอยซ์ไปหรอก อย่างไรก็ตามอะไรที่ต้องแก้ไขก็ต้องแก้ไข แต่ต้องเอาประชาชนมาเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่เพื่อเอาชนะคะคานกันทางการเมือง เพราะนั่นเป็นการเห็นแก่ตัว ใช้ไม่ได้"นายกรัฐมนตรี กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้องค์กรอิสระและฝ่ายค้านเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ช่วงที่รัฐธรรมนูญบังคับใช้มาครบ 5 ปี ก็มีการเปิดโอกาสให้เสนอแก้ไขก็ยังไม่มีใครเสนอแต่อย่างใดส่วนที่ฝ่ายค้านจะขอแก้ไขในการประชุมสภาสมัยหน้านั้น ความจริงเมื่อก่อนฝ่ายค้าน ไม่คิดแก้ไข สงสัยว่าคงอยากจะอภิปรายฯตนมากกว่า
ขณะเดียวกันได้มีหลายฝ่ายทั้งแกนนำพรรคการเมือง และนักวิชาการ ออกมาประสานเสียงกระหึ่มให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้กระทั่งพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคชาติไทย โดยนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย แสดงความเห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และขณะนี้ได้ให้ฝ่ายกฎหมายพรรคชาติไทยไปพิจารณาว่าขะแก้ไขในมาตราใดบ้างทั้งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
"กฎหมายเหล่านี้เชื่อมโยงและเกี่ยวพันกันหมด ดังนั้นในเดือนมกราคมนี้ทางพรรคจะมีการพิจารณากันทั้งกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายอื่นๆ แต่ไม่ทราบว่าจะทันการเลือกตั้งปี 2548 หรือไม่"นายบรรหาร กล่าว
ด้านนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองหัวหน้าพรรคชาติไทย เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ ตนไม่อยากเห็นพรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหวเสนอแก้ไขในประเด็นตัวแทนพรรคการเมืองเข้าไปกรรมการสรรหาในองค์กรอิสระนั้น แต่อยากเห็นภาคประชาชนออกมาเสนอมากกว่า
นายสมศักดิ์ ให้เหตุผลว่า หากพรรคการเมืองที่มีส่วนได้ส่วนเสียมาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียเองจะตอบคำถามสังคมอย่างไร จึงเป็นเรื่องยากและไม่เหมาะสม ในเมื่อเราเป็นผู้ร่างกติกาขึ้นมาก็ต้องเคารพกติกา ไม่ใช่ไม่ชอบกติกาแล้วมาเสนอเปลี่ยนกติกาเสียเอง เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
เช่นเดียวกับนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กล่าวเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายน่าจะเข้ามามีส่วนร่วมหรือหารือร่วมกัน เพื่อความเป็นเอกภาพและความเป็นเอกฉันท์ ไม่ใช่เรื่องที่ใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าภาพ สำหรับพรรคชาติพัฒนามีการพิจารณาอยู่บ้าง แต่จะแก้ไขในประเด็นใดนั้นแล้ว แต่ปัญหาในแต่ละเรื่อง
ขณะที่นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาประกาศตัวหนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้เคยเรียกร้องในประเด็นดังกล่าวมาแล้วโดยเฉพาะในประเด็นการสรรหาองค์กรอิสระ เนื่องจากเชื่อว่ามีอำนาจการเมืองเข้าไปแทรกแซง
นายบัญญัติ กล่าวว่า ทุกคนมองว่ารัฐธรรมนูญเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ไม่ต้องการแตะต้อง แต่ส่วนตัวเห็นว่าไม่เป็นความจริง เพราะรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้หากพบว่ามีปัญหา และเจตนารมณ์ของผู้ยกร่างก็ระบุไว้ว่าองค์กรอิสระสามารถเสนอแก้ไขได้ เมื่อใช้ไปครบ 5 ปีแล้ว
"น่าจะมีสักหน่วยงานไปประมวลเอาข้อที่น่าจะได้รับการแก้ไขที่เกี่ยวข้องกับหลายๆองค์กรมารวมกัน และขออย่ากลัวว่าหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว จะมีคนพ่วงเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามา ในสิ่งที่ไม่ควรพ่วงเข้ามาแก้ไขด้วย จะถูกสังคมประณามเอง ซึ่งเห็นว่าไม่มีอะไรน่าจะกังวล"นายบัญญัติ กล่าว
และจากการติดตามพบว่าขณะนี้เริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันบ้างแล้ว แต่ยังไม่กล้าประกาศต่อสาธารณะให้ชัดเจนว่ามีประเด็นใดบ้างที่ต้องแก้ไข ซึ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ มีคณะทำงานศึกษาอยู่ แต่ไม่ประสงค์จะเป็นเจ้าภาพเสนอแก้ไข อยากให้มีหน่วยงานที่เป็นกลางเสนอจุดประเด็นมากกว่า
อย่างไรก็ดีนายบัญญัติ กล่าวว่า หากท้ายที่สุดไม่มีใครเอาใจใส่ ทางพรรคก็จะมาประมวลเพื่อหยั่งเสียงว่า มีความเห็นคล้อยตามกันมากแค่ไหน และประเด็นใดน่าที่จะแก้ไข โดยจะดำเนินการในสมัยประชุมหน้า ซึ่งอาจจะมีการหารือกับองค์กรอิสระด้วยว่า มีปัญหาอะไรจะได้นำมาพิจารณาร่วมกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกัน สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)จัดเสวนาเรื่อง"ครึ่งรอบ(นักษัตร)รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนกับการพัฒนาประเทศไทย : ผลสำเร็จและข้อควรปรับปรุง โดยนายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาฯ และอดีตประธาน ส.ส.ร. ยังคงย้ำว่า ควรที่จะมีการแก้ไขกฎหมายลูกมากกว่ากฎหมายแม่บท
ขณะที่นายเดโช สวนานนท์ อดีตส.ส.ร.ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ระบุว่า ส.ส.ร.คาดไม่ถึงจะเปิดช่องให้เกิดรัฐบาลเผด็จการภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังคงย้ำใจข้อผิดพลาดเดิม เพราะคาดไม่ถึงว่าในอนาคตจะมีพรรคการเมืองได้เสียงเกิน 400 เสียง ซึ่งยอมรับว่า สมมุติฐานของส.ส.ร.ขณะนั้นผิดพลาด และไม่นึกว่าจะมาเร็วขนาดนี้
อดีตส.ส.ร.ผู้นี้เรียกร้องให้มีการทบทวนแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะหากปล่อยเป็นอยู่ต่อไป การตรวจสอบนายกรัฐมนตรี จะยิ่งทำได้ยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะกับพรรคการเมืองที่วางเป้าหมายไว้จะกวาดที่นั่งส.ส.ให้ได้ 400 ที่นั่ง ตรงนี้ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะในอนาคตดูแล้วฝ่ายค้านไม่มีโอกาสใช้เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญได้เลย
"ยอมรับว่าสมมุติฐานที่ตั้งไว้คลาดเคลื่อน จำเป็นต้องแก้ไข แม้แต่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ใช้เสียงส.ส.1ใน5 ก็สามารถแก้ไขได้ แต่หากการอภิปรายนายกฯต้องใช้เสียงส.ส.200เสียงจึงเป็นไปได้ยากกว่าการแก้รัฐธรรมนูญเสียอีก"นายเดโช กล่าว
และเห็นด้วยที่จะมีการทบทวนแก้ไขกฎหมายลูกโดยเฉพาะประเด็นการสังกัดพรรคการเมืองที่ควรจะให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดระเบียบบริหารจัดการพรรคการเมืองให้ชัดเจนกว่าปัจจุบัน
ส่วนนายเกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม อดีตส.ส.ร. กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันประเด็นที่น่าห่วงใยคือการตรวจสอบฝ่ายบริหารซึ่งปัญหาที่พบคือขณะนี้เอื้ออาทรต่อคู่สัญญาเอกชนที่มีสัมปทานกับรัฐที่ผ่านมาทำให้รัฐเสียค่าโง่เกือบ 2 หมื่นล้านบาท จึงต้องมีการตรวจสอบเพื่อถ่วงดุลทางการเมืองได้
"ระบอบประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ ต้องมีการตรวจสอบที่เข้มแข็ง หากการตรวจสอบไม่ได้ผล ความเสียหายต้องเกิดขึ้นแน่นอน ดังนั้น ต้องทบทวนสิ่งที่กำหนดในรัฐธรรมนูญแล้วเกิดปัญหาและการตรวจสอบต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้"นายเกริกเกียรติ กล่าว
ขณะที่นายอมร รักษาสัตย์ อดีต ส.ส.ร. และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสนอแก้กฎหมายลูกแทนที่จะแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกฎหมายลูกของ กกต.ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งนี้เห็นว่าการมีรัฐบาลพรรคเดียวเป็นเรื่องน่าพึงประสงค์แต่การมีรัฐบาลของคนเพียงคนเดียวหรือแกนนำกลุ่มเดียวเป็นสิ่งไม่ถูกต้องเพราะประชาธิปไตยจะต้องมีการตรวจสอบ
"วันนี่เราต้องเลือกเอาระหว่างผู้นำที่เก่งกาจสามารถคนเดียวแบบข้ามาคนเดียว หรือจะเอาผู้นำเก่งปานกลาง แต่รู้จักใช้คนทำงานเป็นทีมได้ ค่อยๆมาแก้ไขปัญหาของชาติด้วยหลักยุติธรรม แต่วันนี้มีใครเชื่อหรือไม่ว่าผู้สมัครส.ส.ใช่เงินหาเสียงไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือการที่ส.ว.ไปรับเงินจากพรรคการเมืองนั้น ถูกต้องหรือไม่"นายอมร กล่าว
นายสมบัติ ธำรงธัญญาวงศ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ จากนิด้า ระบุว่า ผลผลิตจากรัฐธรรมนูญปัจจุบันทำให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากขึ้นเพราะคุมเสียงข้างมากในสภาฯ หากอนาคตรัฐบาลได้ 400 เสียง ตามที่ประกาศไว้จริง ก็ไม่สามารถตรวจสอบนายกฯๆได้ ยิ่งจะทำให้ไม่มีระบบการตรวจสอบมากขึ้น
"ท้ายที่จะเกิดปัญหาสภาตรายาง เพราะการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันมีข้อจำกัดในเรื่องของเงื่อนไขจำนวนผู้ยื่นเรื่อง แม้รัฐธรรมนูญจะมีส่วนดีที่เปิดโอกาสให้มีองค์กรอิสระ มีวุฒิสภา แต่วันนี้ไม่มีใครมั่นใจว่า ส.ว.มีความเป็นกลาง บางคนพูดว่า ส.ว.ก็รับเงินจากรัฐบาล"นักวิชาการผู้นิ้ กล่าว
ก็พูดเกินไปจริงๆ น่ะแหละ ไม่ได้เฉลียวใจว่าเกิดเลือกตั้งแล้ว
ชนะถล่มทลาย ขึ้นมา เรื่องนี้จะเป็นปัญหาได้จริงๆ ต้องยอมรับความตั้งใจจริงของพรรคฝ่ายค้าน ที่ช่วยกัน
แพ้ย่อยยับ ในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้คำพูดของทักษิณเป็นเรื่องจนได้