'นาม ยิ้มแย้ม'ระบุชัดพยานพรรคเล็กซัดรับเงิน'ธรรมรักษ์' 21 กรกฎาคม 2549 22:15 น.
"นาม ยิ้มแย้ม" ประธานอนุสอบจ้างพรรคเล็ก ระบุชัด พยานพรรคเล็กซัดรับเงิน "ธรรมรักษ์" แฉ กลาโหม ปิดทาง สอบทหารรักษาการ ชี้สอบคดีเลือกตั้ง 1,000 คดีไม่เคยพบ กกต.สั่งสอบพยานซ้ำซาก
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ศาลสืบพยานโจทก์ครั้งที่สองในคดีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร กกต. ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และส.ว. พ.ศ. 2541 มาตรา 24 กรณีที่ไม่เร่งรัดดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดข้อร้องเรียนกล่าวหาพรรคไทยรักไทย ว่าจ้างพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ให้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง แข่งขันเพื่อหลีกเลี่ยงเกณฑ์ร้อยละ 20 ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
โดยวันนี้นายนาม ยิ้มแย้ม ประธานคณะอนุกรรมการสอบสวนสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีว่าจ้างพรรคการเมืองให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เบิกความถึงขั้นตอนการสอบสวนว่า หลังจากที่เกษียณอายุราชการจากการเป็นผู้พิพากษาแล้ว พยานเข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการสอบสวนการคัดค้านคดีเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2544 มีประสบการณ์สอบสวนคดีกว่า 1,000 คดี สำหรับคดีนี้จำเลยที่1 ร้องขอให้เข้ามาเป็นประธานอนุกรรมการฯแต่ครั้งแรกพยานปฏิเสธ กระทั่งจำเลยที่ 1 รับปากว่าจะให้สรุปความเห็นการสอบสวนอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นจึงได้เข้ามาเป็นประธานคณะอนุกรรมการฯสอบสวนกรณีที่โจทก์ยื่นหนังสือร้องเรียนวันที่ 20 มี.ค. 2549 กล่าวหาพรรคไทยรักไทย จ้างพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ให้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง โดยการสอบปากคำบุคคลต่างๆ ที่ถูกพาดพิง พยานมอบหมายให้อนุกรรมการฯ แบ่งกันสอบปากคำพยานแต่ละกลุ่ม
คณะอนุกรรมการฯประชุมสรุปผลการสอบพยานหลายครั้งก่อนจะได้สรุปมติคณะอนุกรรมการฯ ครั้งแรกในวันที่ 7 เม.ย. 49 ที่เห็นว่า คำร้องเรียนมีมูลและมีพยานหลักฐาน เชื่อมโยงสอดคล้องต้องกัน มีน้ำหนักให้เชื่อได้ว่ามีเจ้าหน้าที่ กกต.หนึ่งคน ปลอมแปลงฐานข้อมูลสำนักงานกกต. เรื่องคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และพบว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ผู้บริหารพรรคไทยรักไทย ว่าจ้างพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย โดยมีมติให้แจ้งข้อหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ด้วยแต่จำเลยทั้งสามยังไม่มีการดำเนินการใดๆ กลับมีคำสั่งให้คณะอนุกรรมการฯสอบพยานเพิ่มเติมในอีกหลายกรณี
ประธานคณะอนุกรรมการฯ เบิกความต่อว่า เมื่อคณะอนุกรรมการฯสอบสวนเพิ่มเติมแล้วมีมติความเห็นเช่นเดียวสำนวนการสอบสวนครั้งแรก โดยวันที่ 21 เม.ย. จำเลยทั้งสามจึงประชุมและมีคำสั่งเสนอให้ยุบพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยเท่านั้น แต่ยังไม่ดำเนินการใดๆกับพรรคไทยรักไทย ซึ่งสั่งให้คณะอนุกรรมการฯสอบสวนเพิ่มเติม โดยให้เรียกบุคคลที่ถูกพาดพิงมาสอบสวนเพิ่มเติมอีก 15 ปาก แต่เมื่อคณะอนุกรรมการฯประชุมร่วมกันเห็นว่า สำนวนการสอบสวนมีน้ำหนักเพียงพอแล้วจึงมีมติวันที่ 4 พ.ค.2549 ไม่สอบสวนบุคคลเพิ่มเติมอีก ทั้งนี้ ประธานอนุกรรมการฯ เบิกความด้วยว่าที่คณะอนุกรรมการฯไม่ได้สอบปากคำ พล.อ.ธรรมรักษ์ นายพงษ์ศักดิ์ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต และพล.ท.ผดุงศักดิ์ กลั่นเสนาะ ผู้ที่ถูกพาดพิงการรับและจ่ายเงิน เนื่องจากการสอบสวนคำร้องเรียนของกกต. ใช้ระบบการไต่สวนที่จะฟังหลักฐานฝ่ายผู้ร้องเป็นหลักแล้วจะสอบพยาน ถ้าเห็นว่าคำร้องมีมูลก็จะให้ผู้ถูกร้องมาชี้แจงแสดงพยานหลักฐานต่อไป โดยเป็นเรื่องที่ กกต. จะดำเนินการตามมาตรา 19 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และสว. พ.ศ. 2541
ส่วนกรณีของนายทวี สุวรรณรัตน์ นายพงษ์ศรี ศิวาโมกข์ และนายธีรชัย จุลพัฒน์ หรือต้อง (ทั้งหมดเป็นผู้ติดต่อพรรคเล็กที่นายชวการ โตสวัสดิ์ ผู้ติดต่อพรรคพัฒนาชาติไทย เคยให้ปากคำว่าทั้งหมดเป็นผู้พาไปพบ พล.อ.ธรรมรักษ์ เพื่อรับเงิน) คณะอนุกรรมการฯได้เรียกมาสอบปากคำแล้วทั้งสามคนไม่มา แต่การสอบสวนคณะอนุกรรมการฯได้ความจากคำให้การของนายชวการ โตสวัสดิ์ พยานรับว่าไปที่ห้องทำงานพล.อ.ธรรมรักษ์ ที่กระทรวงกลาโหม เพื่อรับเงิน ....................................................................................................................................
http://www.bangkokbiznews.com/2006/07/21/w001_122535.php?news_id=122535อย่างไรก็ดี ประธานคณะอนุกรรมการฯ เบิกความยืนยันด้วยว่า การที่จำเลยทั้งสามส่งสำนวนยุบพรรคไทยรักไทย ให้อัยการสูงสุดโดยไม่มีการชี้มูล และแจ้งข้อกล่าวหากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรค ถือว่าขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และส.ว. พ.ศ. 2541 มาตรา 19 วรรคสอง และระเบียบคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ข้อที่ 40 เนื่องจากเป็นการทำให้สำนวนการสอบสวนไม่สมบูรณ์ ซึ่งการเบิกความประธานอนุกรรมการฯปฏิเสธด้วยว่าไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสามมาก่อน
และเมื่อทนายโจทก์ ถามว่าในการทำหน้าที่สอบสวนของพยานที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2544 เคยปรากฏว่าหรือไม่ว่า เมื่อส่งรายงานมติผลสอบสวนแล้ว กกต. ยังสั่งสอบเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง และเมื่อไม่สอบเพิ่มเติม กกต.ได้เรียกสอบพยานเอง ประธานอนุกรรมการฯปฏิเสธว่า ไม่เคยปรากฏเหตุเช่นนี้มาก่อน คดีนี้ถือเป็นครั้งแรก ซึ่งเมื่อคำร้องมีมูล กกต จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ฯและระเบียบ กกต.