ทัศนะวิจารณ์
กาแฟดำ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2551 05:00:00
เมื่อต้องเลือกระหว่างวิชาชีพ กับสำนึกชั่วดีในยามวิกฤติ ผมเขียนคอลัมน์ที่ตีพิมพ์เมื่อวานนี้ ก่อนจะได้อ่าน "บันทึกทูตไทยถึงบัวแก้ว"
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ก่อนจะได้ข่าวกัปตัน การบินไทย ประกาศว่าถ้า ส.ส. ของพรรครัฐบาลที่มีส่วนทำให้เกิด "ตุลาฯทมิฬ" เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เป็นผู้โดยสาร เขาจะไม่ขับเครื่องบินลำนั้น
ก่อนที่จะมีข่าวว่าหมอบางคนที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จะไม่รับรักษาคนไข้ ที่เป็นฝ่ายกระทำต่อผู้ชุมนุมจ นต้องบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก
ข่าวนักการทูต หมอ นักบิน ซึ่งล้วนเป็นคนมีเกียรติและศักดิ์ศรี ปฏิเสธจะทำหน้าที่ ที่มโนธรรมตนเองเตือน ว่าไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม เป็นประเด็นน่าคิดน่าใคร่ครวญยิ่งนัก
เพราะโดยหลักแห่งจริยธรรมวิชาชีพแล้ว หมอไม่มีสิทธิจะไม่รักษาคนไข้ด้วยเหตุผลว่าเขาหรือเธอมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน หรือด้วยเหตุผลของเพศ ศาสนา หรือ ชนชั้น
โดยหลักสากลแล้ว กัปตันเครื่องบินก็ย่อมจะไม่ปฏิเสธผู้โดยสารเพียงเพราะเขาหรือเธอมีสถานะทางสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง
และนักการทูตในฐานะข้าราชการประจำโดยหน้าที่ก็จะต้องชี้แจงกับรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ตามคำสั่งของกระทรวงการต่างประเทศ
เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเขาปฏิเสธที่จะทำหน้าที่ด้วยเหตุผลอะไร?
ตอบได้ว่า ด้วยความสำนึกแห่งความเป็นคนไทยในยามที่จะต้องแสดงจุดยืนของตนเอง แน่นอนว่าโดยหลักวิชาชีพแล้ว พวกเขาย่อมรู้ว่าการปฏิเสธที่จะทำหน้าที่ของตนเป็นสิ่งผิดหลักปฏิบัติ
และรู้ต่อไปด้วยว่าอาจจะถูกหัวหน้าหน่วยงานของตนเพ่งเล็ง สอบสวน และ ถึงขั้นลงโทษ
แต่ในยามบ้านเมืองวิกฤติ ในยามที่มโนธรรมของสุจริตชน ต้องตอบตัวเองว่าจะทำงานรับใช้ใคร เพื่ออะไร และสำนึกแห่งชั่วดีกระตุ้นเตือนให้ปัจเจกชนทุกคน ต้องเลือกข้างระหว่างธรรมกับอธรรม คนที่ถือว่าเป็นมืออาชีพ ก็ต้องตัดสินใจว่าจะยืนอยู่ตรงจุดไหนของสังคม
การยืนอยู่ตรงกลาง การแสดงความลังเล และ การทำประหนึ่งว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นในบ้านเมืองหรือยังคงทำหน้าที่เดิมตามปกตินั้น ย่อมมิใช่วิสัยของผู้ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง จดหมายของ "เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศหนึ่งในเอเชีย" ที่ปฏิเสธที่จะชี้แจงกับรัฐบาลประเทศนั้นๆ ตามคำสั่งของกระทรวงการต่างประเทศนั้น ให้เหตุผลดั่งที่วิญญูชนผู้มีสติปัญญาพึงจะคิด
เพราะคนระดับเอกอัครราชทูต ระดับนายแพทย์ ระดับกัปตันสายการบินแห่งชาติ ย่อมแยกแยะได้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความเท็จ อะไรคือคำสั่งการไร้จริยธรรม และอะไรคือสำนึกแห่งความเป็นมืออาชีพของตน
"ท่านทูต" ผู้นี้ถามอย่างผู้มีสติปัญญาครบถ้วน ในฐานะคนไทยที่รับผิดชอบว่า จะให้ท่านอธิบายกับรัฐบาลนั้นๆ ได้อย่างไร ในเมื่อท่านในฐานะคนไทยเอง ยังไม่เชื่อตามที่กระทรวงการต่างประเทศให้แถลงเลย ท่านถามในจดหมายเปิดผนึกฟ้องคนไทยที่เป็นเจ้าของประเทศตอนหนึ่งว่า "...จะอธิบายอย่างไรว่ามาตรการของตำรวจ ระลอกแล้วระลอกเล่าตลอดวันที่ 7 ตุลาคม เป็นการกระทำที่เป็นไปตามกฎหมาย มาตรฐาน และ หลักปฏิบัติสากล...?"
"จะอธิบายอย่างไรกับมาตรการอันรุนแรงเกินกว่าเหตุของตำรวจ อันนำมาซึ่งการเสียชีวิตและบาดเจ็บของคนไทยจำนวนมาก...?"
"การชี้แจงสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือยังมีความเคลือบแคลงในข้อเท็จจริง หรือภาพเพียงบางส่วน รังแต่จะทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ชี้แจงไปด้วย..."
นี่คือ ถ้อยคำที่ออกมาจาก "ความสำนึก" ของคนเป็นตัวแทนของประเทศไทยในต่างแดน ที่ต้องทำหน้าที่ตามมาตรฐานที่คนไทยรับได้และที่สังคมโลกตรวจสอบได้
เป็นความสำนึกที่ตอบตัวเองได้ ว่าเขาไม่ใช่ขี้ข้าของนักการเมืองที่บังเอิญขึ้นมามีอำนาจในแผ่นดิน
แน่นอน ทั้งหมอ นักบิน และ นักการทูต ที่แสดงจุดยืนไม่ยอมทำหน้าที่ของตนเพื่อต่อต้านการกระทำของรัฐบาลต่อประชาชนนั้น ย่อมรู้ดีว่าตนกำลังเสี่ยงกับการถูกลงโทษและกล่าวหาจากบางวงการ
แต่ในยามบ้านเมืองวิกฤติและความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมโดยส่วนรวมแล้ว เราเคารพในการกล้าตัดสินใจที่จะยกเว้นการปฏิบัติตามหลักการแห่งวิชาชีพบางข้อ
เพื่อแสดงความกล้าหาญจากสำนึกแห่งมโนธรรมต่อสังคม
พวกเขาเลือกแล้วระหว่างการทำหน้าที่ตามปกติแล้วรู้สึกผิดต่อวิญญาณของคนไทยที่ถูกทำร้าย และสังหาร กับการปฏิเสธที่จะรับใช้อธรรมเพื่อให้สังคมที่หดหู่รันทดและสิ้นหวังได้เห็นแสงสว่างเล็กๆ
แสงสว่างที่เรียกว่า "มโนสำนึก" ของคนกล้าในยามบ้านเมืองวิกฤติ (เข้ามาร่วมแสดงความเห็นในยามบ้านเมืองวิกฤติ ได้ที่
www.oknation.net/blog/black และ
www.suthichaiyoon.com ตลอด 24 ชั่วโมง)
http://www.bangkokbiznews.com/2008/10/10/news_301992.php "การยืนอยู่ตรงกลาง การแสดงความลังเล และ การทำประหนึ่งว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นในบ้านเมืองหรือยังคงทำหน้าที่เดิมตามปกตินั้น ย่อมมิใช่วิสัยของผู้ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง......."!!!
ความ'เป็นกลาง' ของพวกเขามีประโยชน์อะไรสำหรับสังคมไทย ประเทศไทย และระบอบประชาธิปไตย......?