พอดีไปเจอมาครับ เอาไว้รำลึก
ภรณี จุลละครินทร์
นักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ภรณีร่วมชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอถูกยิงเสียชีวิต ศพถูกทุบตีจนแขนและขาหัก
ณ โรงน้ำแข็งเล็ก ๆ โรงหนึ่งบนถนนราษฎรสันติ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เป็นบ้านเกิดของภรณี จุลละครินทร์ วันนี้เหลือเพียงแม่เซียมเกียงและน้องชายคนหนึ่ง พ่อของภรณีเพิ่งเสียชีวิตเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา น้องบางคนก็แต่งงานแยกบ้านไปแล้ว แม่เซียมเกียงและน้องชายคนเล็กของภรณีช่วยกันค้นหารูปภรณีสมัยเรียนชั้นมัธยมมาให้ดู แล้วเล่าเรื่องราวครั้งภรณียังเป็นเด็กให้ฟัง
ภรณีเรียนหนังสือที่โรงเรียนในอำเภอบ้านบึงมาตลอดจนจบชั้นมัธยมปลาย หลังจากนั้นจึงสอบเข้ามหาวิทยาลัย เขาเป็นเด็กเรียนเก่งและเรียบร้อย เขาอยากทำบัญชี จึงเลือกเรียนบัญชี แล้วโชคดีสอบติดคณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ่อแม่ก็ดีใจเพราะเสียค่าใช้จ่ายน้อย เขาบอกกับแม่อย่างภูมิใจว่า หนูจะรับปริญญาตอนอายุ 22 นะ จะไม่ให้ถึงอายุ 24 จะเรียนให้เก่ง ให้แม่ดีใจ ตอนนั้นไม่มีเพื่อนบ้านแถวนี้ไปเรียนธรรมศาสตร์เลย ทุกคนภูมิใจในตัวเขาทั้งนั้น
ภรณีพักอยู่ที่บ้านอาในกรุงเทพฯ และกลับบ้านทุกเสาร์-อาทิตย์ ไม่ค่อยออกไปเที่ยวเตร่ที่ไหน เขาคุยเก่ง จึงสนิทกับทุกคนในบ้าน
แต่แล้วครอบครัวจุลละครินทร์ก็ต้องเผชิญกับเหตุการณ์เศร้าสะเทือนใจ
ตอนนั้นมีงานหมั้นของน้องสาว วันที่ 5 ตุลาก็วุ่น ๆ ไม่ได้ฟังวิทยุ มารู้ตอนหลังว่า วิทยุบอกว่าใครมีลูกอยู่ในนั้นให้ไปพากลับบ้าน แต่เราไม่ได้ฟังวิทยุ
เช้าวันที่ 6 ตุลาคม น้องชายคนเล็กของภรณีบังเอิญดูโทรทัศน์ เขาเริ่มนึกเอะใจว่าอาจเกิดเหตุร้ายขึ้นกับพี่สาว
นั่งดูโทรทัศน์เห็นภาพตำรวจยิงประชาชน แล้วเราก็เอะใจ แต่ผมยังเด็กอยู่ ก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมตำรวจยิงประชาชน ตอนนั้นคิดว่าพี่สาวต้องอยู่ธรรมศาสตร์แน่ ๆ อยากไปตามพี่สาวกลับมา
แม่เซียมเกียงเล่าเหตุการณ์ต่อด้วยเสียงสั่นเครือว่า
พ่อเขาทราบข่าววันที่ 6 ตุลาตอนเย็น หลังกลับจากงานหมั้น มีคนมาซุบซิบกับพ่อ สงสัยจะบอกเรื่องภรณี แต่พ่อเขาไม่ให้ออกไปฟัง พอพ่อเดินกลับเข้ามาก็หน้าซีดเลย ถามว่ามีอะไรเกิดขึ้นเขาก็บอกว่าเขาจะไปกรุงเทพฯ ตอนนั้นแม่คิดในใจว่าไม่ใช่เรื่องดีแน่ ๆ เราสงสัยว่าต้องเป็นเรื่องลูกสาวแน่เลย พ่อเขาไปตามหาที่ธรรมศาสตร์แต่ก็หาไม่เจอ สุดท้ายไปหาที่ป่อเต็กตึ๊ง เพราะมีคนแนะนำให้ไปดู ถ้ามีรูปอยู่ในสมุด แสดงว่าเสียชีวิตแล้ว
ญาติพี่น้องไม่ยอมให้แม่ดูศพ เพราะกลัวแม่จะเป็นอะไรไปอีกคน เพิ่งมารู้ทีหลังว่าภรณีเขาแขนขาหักหมด แม่ได้เห็นแต่ใบหน้า ตอนหลังมีเพื่อนของภรณีคนหนึ่งเป็นตำรวจอยู่ที่กรุงเทพฯ เขาเล่าให้ฟังว่า เขาพยายามเข้าไปห้ามแล้วบอกว่าเป็นเพื่อนกับภรณี อย่ายิงนะ แต่เขาไม่ฟัง เขาเห็นตอนยิงเลย พอภรณีล้มลง คนยิงก็เอาด้ามปืนตีเสียแขนหักขาหักเลย ทำไมต้องทำรุนแรงขนาดนี้ เด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งเท่านั้นเอง น้ำเสียงที่สั่นเครือบอกถึงความปวดร้าวในใจ
แม่เซียมเกียงเล่าต่อไปว่า เธอถูกกล่าวหาว่าเลี้ยงลูกให้เป็นคอมมิวนิสต์ ชาวบ้านหาว่าลูกสาวเป็นญวนตามที่หนังสือพิมพ์ช่วงนั้นกล่าวหา
เพื่อนบ้านบางคนพูดว่า ได้ข่าวว่าลูกสาวเป็นคอมมิวนิสต์ เราก็บอกว่าเป็นคอมมิวนิสต์ได้อย่างไร กลับมาช่วยทำงานบ้านทุกอย่าง บางคนก็ว่าเป็นเวียดนาม จะเวียดนามได้อย่างไรก็เขาเป็นคนบ้านบึง เป็นลูกของเรา หลังงานศพสองสามวัน มีตำรวจมาค้นบ้าน ตอนนั้นกำลังโศกเศร้าอยู่ เราก็ให้ค้น เขาบอกว่าบ้านนี้เป็นคอมมิวนิสต์ พอเจอหนังสือภาษาจีนของอาภรณีเขาก็ยึดไป หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไร
ถ้าเขายังอยู่ตอนนี้ก็คงจะแต่งงานแล้ว อาจเป็นผู้จัดการธนาคารที่ไหนสักแห่ง บางทีอาจเป็นพนักงานบัญชี เพราะเขาเคยบอกอยู่เสมอว่าอยากทำบัญชี เพื่อนของเขาที่ตอนนี้เป็นผู้จัดการยังบอกว่า ถ้าภรณีอยู่ไม่รู้จะเป็นอย่างไร เพราะภรณีเรียนเก่งกว่า
จนถึงวันนี้แม่เซียมเกียงยังคงมีคำถามคาใจ และยังหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ว่า ลูกเราเป็นคนเรียบร้อย น่ารัก ทำไมต้องตีเขาถึงขนาดนี้ แม่ร้องไห้มาตลอด 20 ปี ไม่มีใครมารับผิดชอบ เรียกว่าสูญไปเปล่า ๆ เลยลูกสาวคนหนึ่ง แม่ไม่รู้จะไปคุยและเรียกร้องกับใคร ไม่มีใครมาถามเลย
ไม่มี
วันที่ 6 ตุลาคมของทุกปี ครอบครัวของภรณีจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เธอทุกครั้ง ส่วนน้องชายคนเล็ก เขาพยายามเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับ 6 ตุลาที่จัดขึ้นตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เขาเห็นทำให้เขารู้สึกว่า
ทุกคนที่สูญเสียบุคคลในครอบครัวไป จะรู้สึกเจ็บใจเพราะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เขาต้องสูญเสียลูกไปทั้งคนเพื่ออะไร ลูกเขาทำอะไรผิดหรือ
ผมแปลกใจว่าทำไมคนไทยลืมง่าย ทุกวันนี้ประภาส ถนอม ยังอยู่สบายดีหรือ เขาทำกับประเทศไทยได้ขนาดนี้ ทำไมยังลอยหน้าลอยตาอยู่ได้ ทำไมเขายังอยู่ได้อย่างปรกติสุข ทำไมไม่มีใครสักคนให้คำตอบได้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร
คำถามนี้อาจเป็นปริศนาต่อไป หากสังคมไทยปล่อยให้โศกนาฏกรรมนี้เลือนไปจากความทรงจำ
คงเหลือเพียงครอบครัวของผู้สูญเสีย ที่ยังคงเศร้าใจทุกครั้งเมื่อลมหนาวเดือนตุลามาเยือน
ที่มา : คัดจากนิตยสารสารคดี ปีที่ 12 ฉบับที่ 140 ประจำเดือนตุลาคม 2539 ที่มา
http://www.2519.net/newweb/doc/content3/110.doc