ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
19-03-2024, 11:13
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  คุณธรรม : ใครสร้าง? สร้างอย่างไร? 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
คุณธรรม : ใครสร้าง? สร้างอย่างไร?  (อ่าน 1200 ครั้ง)
Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« เมื่อ: 28-09-2008, 15:09 »

วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11158 มติชนรายวัน

คุณธรรม : ใครสร้าง? สร้างอย่างไร?

โดย บุญยิ่ง สอนศรี

เรามักได้ยินคำว่า "คุณธรรม" จากวิทยุ จากโทรทัศน์ จากการพูดคุยในวงสนทนา หรือจากหนังสือพิมพ์เสมอๆ

คำนี้เริ่มปรากฏเป็นทางการใน พ.ร.บ.การศึกษาฯ พ.ศ.2542 คือ "ความรู้คู่คุณธรรม" หมายถึง "เก่งและดี"

ผู้เขียนสงสัยมานานแล้วว่า ที่เราพูดถึง "คุณธรรม" หรือ "ความดี" กันนั้น คนทั่วไปรู้หรือไม่ว่าคืออะไร? เป็นสิ่งของ หรือเป็นคุณสมบัติของคนดี หรือพูดถึงคุณธรรมบ่อยๆ ก็คงเป็นคนมีคุณธรรมแล้ว

ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าสังคมไทยชอบรูปแบบมากกว่าเนื้อหา เช่น อยากได้ใบปริญญามากกว่าองค์ความรู้

ไปงานสวดพระอภิธรรมก็บ่นว่าพระสวดเป็นภาษาบาลีฟังไม่รู้เรื่อง ถ้าเป็นคนใฝ่รู้จริง เพียงแต่ไปหาหนังสือสวดมนต์ที่มีคำแปลมาอ่าน ก็จะรู้เนื้อหาจริงๆ ได้ ประชาธิปไตยต้องเลือกตั้งเท่านั้น เป็นต้น

คำว่า "คุณธรรม" ก็เช่นกัน หลายคนพูดตามๆ กันไป แต่อาจไม่เข้าใจความหมายก็ได้

ก่อนอื่นขอเล่าประสบการณ์ในการสัมภาษณ์คนเข้าทำงานประมาณเกือบ 100 คน หนึ่งในคำถามที่ถาม คือ "ศีล 5" มีคนตอบเป็นภาษาบาลีได้ถูกต้อง 3 คน ตอบเป็นภาษาไทยเรียงข้อได้ถูกต้องประมาณ 10 คน นอกนั้นตอบถูกแต่สลับข้อบ้าง ตอบได้บางข้อบ้าง จนตอบไม่ได้เลยก็มี

และมีผู้เข้าสัมภาษณ์คนหนึ่งถามผู้เขียนว่า ที่ถามเขาเกี่ยวกับศีล 5 นั้น เกี่ยวข้องกับงานที่เขาจะทำอย่างไร

วันนั้นผู้เขียนตอบว่า "ศีล 5 เป็นมาตรฐานขั้นต่ำของคนดี เพราะคนที่ปฏิบัติศีล 5 เป็นประจำ จะเป็นคนมีเบญจธรรม คือ มีเมตตา มีอาชีพสุจริต มีความสำรวมในกาม มีสัจจะ มีสติ" หลังจากที่ตอบไปแล้วไม่รู้ว่าเขาจะเข้าใจหรือไม่

หลายปีมาแล้ว ผู้เขียนสอนให้นักศึกษาทำความดี แต่ถูกย้อนถามว่าความดีคืออะไร แค่ไหนเรียกว่าดี

ขณะนั้นได้แต่นิ่งอึ้งไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร หลังจากนั้นได้พยายามสอบถามผู้รู้บ้าง ฟังปาฐกถาธรรมบ้าง ฟังพระธรรมเทศนาบ้าง

บางท่านบอกว่า ความดี เรานำไปคุยต่อได้ เพราะสิ่งที่เราทำไม่ดีมักไม่อยากให้คนอื่นรู้

คำตอบนี้ไม่จริงเสมอไป เพราะเราจะพบว่า คนที่ไปเล่นการพนัน ไปเที่ยวบาร์ ไปหลอกผู้หญิง ก็มักนำมาคุยกันอย่างสนุกสนานประหนึ่งว่าเป็นวีรบุรุษ ต่อมาจึงได้พบว่าแนวทางการสร้างคุณธรรม-ความดี นั้นมีอยู่ในคำสอนของพระพุทธศาสนา คือ "ละความชั่ว สร้างความดี ทำจิตให้ผ่องใส" นั่นเอง

รายละเอียดที่จะทำให้บรรลุทั้ง 3 กิจกรรมนั้น มีหลักธรรมให้ประพฤติปฏิบัติถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ สำหรับคนธรรมดาอย่างเราเห็นตัวเลข 84,000 ก็คงท้อใจแล้ว

ผู้เขียนขอแนะนำหลักธรรมเพียงบางประการเพื่อให้คนธรรมดาอย่างเราเริ่มนำมาประพฤติปฏิบัติ ดังนี้

ละความชั่ว พระพุทธทาสสอนไว้ง่ายมาก "อย่าเบียดเบียนเขา" แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ผู้เขียนขอแนะนำว่า "อย่าทำให้ใครเดือดร้อน" นั่นคือ ปฏิบัติศีล 5 อย่างสม่ำเสมอ

สร้างความดี เมื่อเราไม่ทำความชั่ว จึงเป็นการทำความดีเฉพาะตัว แต่คนธรรมดาอย่างเราไม่ได้อยู่เพียงลำพัง มีพ่อแม่ มีญาติพี่น้อง มีครอบครัว มีเพื่อน มีสังคม จึงต้องมีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน การที่เราจะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ต้องเป็นคนที่มีคุณธรรม ผู้เขียนขอแนะนำหลักธรรมเพื่อเป็นการเริ่มต้นในการสร้างความดี-คุณธรรม เช่น สังคหวัตถุ 4 พรหมวิหาร 4 สัปปุริสธรรม ฆราวาสธรรม เป็นต้น

สังคหวัตถุ 4 ประกอบด้วย ทาน-ให้ ปิยวาจา-พูดไพเราะ อัตถจริยา-ทำตัวเป็นประโยชน์ สมานัตตตา-ทำตัวเสมอต้นเสมอปลาย ผู้รู้บางท่านคิดเป็นภาษาไทยเพื่อง่ายในการปฏิบัติ "โอบอ้อมอารี วจีไพเราะ สงเคราะห์ประชาชน วางตนพอดี"

พรหมวิหาร ประกอบด้วย เมตตา-รัก ปรารถนาให้ได้ดี กรุณา-สงสาร ปรารถนาให้พ้นทุกข์ มุทิตา-ยินดีกับความสำเร็จของคนอื่น อุเบกขา-วางเฉย เห็นอกเห็นใจความผิดหวังของคนอื่น

สัปปุริสธรรม ประกอบด้วย รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้ชุมชน รู้บุคคล กล่าวโดยรวมคือ รู้เรา รู้เขา รู้ว่าการทำอย่างนี้จะเกิดผลอะไร รู้ว่าผลอย่างนี้เกิดมาจากเหตุใด รู้จักพอ รู้กาลเทศะ รู้จักสังคมของตัวเราเอง

ฆราวาสธรรม ประกอบด้วย สัจจะ ทมะ-ข่มใจ ขันติ จาคะ-เสียสละ

หลักธรรมที่กล่าวข้างต้น แต่ละคำ แต่ละวลี พอเข้าใจความหมายได้ไม่ยาก (คำอธิบายที่ละเอียด มีผู้รู้เขียนไว้มากมายในหนังสือธรรมะ ตลอดจนในเว็บไซต์เกี่ยวกับธรรมะ) ผู้ใดประพฤติปฏิบัติสม่ำเสมอ ก็ถือได้ว่าเป็นคนมีคุณธรรม แม้บางคนอาจไม่เคยรู้จักหลักธรรมเหล่านี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเหล่านั้นเป็นคนไม่มีคุณธรรม เพราะถ้าการดำเนินชีวิตของเขาเป็นไปตามหลักธรรมที่กล่าวมาแล้ว ก็เป็นคนมีคุณธรรมเหมือนกัน ผู้ใดอยากรู้ว่าตัวเรามีคุณธรรมหรือไม่ ก็ลองใช้หลักธรรมดังกล่าวเป็นเกณฑ์ เทียบดูว่าการกระทำที่ตนเอง ประพฤติปฏิบัติอยู่ ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีเพี้ยนไปบ้างหรือไม่ถูกต้อง ก็ปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มี "ความดี-คุณธรรม"

ทำจิตให้ผ่องใส สำหรับคนธรรมดา ผู้เขียนขอแนะนำเพียงให้ "คิดทางบวก" ก็ได้ แต่ผู้ใดมีความสามารถทำสมาธิ ปฏิบัติกรรมฐานได้ก็ยิ่งดี

ดังนั้น คุณธรรม-ความดี จึงต้องสร้างโดยการประพฤติปฏิบัติด้วยตนเอง เพียงแต่พูดไม่ได้ คนอื่นสร้างแทนไม่ได้ ซื้อไม่ได้ แต่สร้างได้โดยเริ่มปฏิบัติหลักธรรมดังกล่าว ถ้าผู้ใดต้องการมีคุณธรรมสูงขึ้น ก็มีหลักธรรมให้ปฏิบัติอีกมากมาย

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นคุณธรรม-ความดีเฉพาะตัว เมื่อผู้ใดได้เป็นนักปกครอง หรือผู้บริหาร พระพุทธเจ้าได้สอนไว้ด้วย ธรรมของนักปกครอง ได้แก่ "ทาน ศีล ความเสียสละ ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน ความเที่ยงธรรม"

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินใช้หลักธรรมนี้ในการปกครองประเทศ ก็เรียกว่า "ทศพิธราชธรรม"

ถ้าคนธรรมดาใช้จะเรียกว่า "ธรรมของนักปกครอง"

หลังจากเราได้รู้จักหลักธรรมต่างๆ เพื่อปฏิบัติให้เป็นคนมีคุณธรรมแล้ว ท่านลองทำแบบฝึกหัด โดยประเมินคนรอบข้างของเรา ว่าเขามีคุณธรรมมากน้อยเพียงใด

เริ่มต้นจากคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี เป็นต้น

ผลการประเมินจะทำให้เรารู้ว่าเขาเป็นคนอย่างไร มีคุณธรรมมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นคนใกล้ชิดที่ท่านสามารถชี้แนะเพื่อให้เขาปรับปรุงตัวได้ ก็เป็นการทำ "ทาน" ชนิดหนึ่ง

ส่วนคนที่ท่านไม่สามารถชี้แนะได้ ก็ต้องใช้ "อุเบกขา-เห็นใจเขาที่ยังเข้าไม่ถึงธรรม" และติดต่อกันน้อยๆ จนถึงไม่คบค้าด้วย ไม่เลือกเข้าไปเป็นผู้บริหารองค์กร

ข้อมูลที่ท่านสามารถนำมาใช้ในการประเมิน หาได้จากการให้สัมภาษณ์ของบุคคลต่างๆ ในหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น

เช่น บางคนบอกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ดี แต่พอได้ประโยชน์ ก็อ้างว่าทำตามรัฐธรรมนูญ บางคนไม่มีสัจจะ วันนี้พูด พรุ่งนี้บอกไม่ได้พูด บางคนแสดงความคิดเห็นไว้ พอคนเขาไม่เห็นด้วยไม่กล้ามาชี้แจง แต่ให้คนอื่นมาแก้ตัวแทน ทั้งๆ ที่ตัวคนนั้นก็ยังอยู่ บางคนซื้อปริญญา บางคนให้คนไปสอบแทน คนเหล่านี้มีคุณธรรมหรือไม่

อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่รัฐสภาซึ่งเป็นสถานที่อันทรงเกียรติ ในการประชุมร่วมฯ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2551 มีผู้อภิปรายว่า ท่านนายกรัฐมนตรี (ณ วันนั้น) มีทศพิธราชธรรม (ควรใช้ธรรมของนักปกครอง เพราะตามพจนานุกรม ทศพิธราชธรรมใช้กับพระเจ้าแผ่นดิน) มีสมาชิกสภาถกเถียงกันว่า "ทศพิธราชธรรม" เป็นราชาศัพท์หรือไม่

ไม่มีข้อสรุปในที่ประชุม แต่คนที่ถูกยกย่องคงวาสนาไม่ถึงจึงต้องมีอันเป็นไป
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28-09-2008, 15:17 โดย Can ไทเมือง » บันทึกการเข้า

moon
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 780


« ตอบ #1 เมื่อ: 28-09-2008, 15:22 »

ขอบคุณครับลุง เข้าไปอ่านใน WOM มาแล้วเมื่อเช้าครับ

ขอบคุณมากๆ ครับ 
บันทึกการเข้า
Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 28-09-2008, 15:32 »

คุณธรรม มันอยู่ไม่ใกลตัวเราหรอก แต่เราไม่ได้ค้น ไม่ได้รื้อออกมาดู

เวลาเจอบทความโดนใจ ก็เอามาฝากกัน เตือนสติกันเอง

ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ก็ยังนับว่า ได้ใคร่ครวญในธรรม

เหมือนไปวัดนั่นแหละ วัดใจตัวเอง
บันทึกการเข้า

moon
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 780


« ตอบ #3 เมื่อ: 28-09-2008, 15:41 »

 
บันทึกการเข้า
numdee
สมาชิกสามัญขั้นที่ 3
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 116



« ตอบ #4 เมื่อ: 28-09-2008, 22:51 »

อาเมน 
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
    กระโดดไป: