ข้อจำกัดของรัฐบาลที่ความน่าเชื่อถือบกพร่อง
Limitations of a government that cannot be trusted
29 มิถุนายน 2549
เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก ผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในเดือนพฤษภาคม 2549 ที่จัดเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 3,349 ล้านบาท ส่งสัญญาณอันตรายถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังของปี 2549 และความเสี่ยงที่การจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายประกอบกับสถานการณ์การเมืองที่มีแนวโน้มว่าจะมีความขัดแย้งที่รุนแรงต่อไปอีก และมีความเป็นไปได้ที่จะยังไม่มีการเลือกตั้งภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 ทำให้การพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ.2550 ยิ่งล่าช้าออกไปอีก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2550 เพราะจะไม่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนของปีงบประมาณ 2550 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2549ภายใต้สถานะของการเป็นรัฐบาลรักษาการซึ่งมีความจำกัดในการใช้นโยบายการคลัง หากเป็นรัฐบาลที่ประชาชนมีความเชื่อถือจะสามารถใช้เครื่องมืออื่นนอกเหนือจากการอัดฉีดงบประมาณลงสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ด้วยเหตุที่รัฐบาลรักษาการชุดนี้เป็นรัฐบาลที่ความน่าเชื่อถือบกพร่อง ทำให้มีข้อจำกัดในการใช้เครื่องมืออื่น ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในทางทฤษฎี รัฐบาลสามารถเล่นกับความคาดหวังของประชาชนได้ เพราะหากประชาชนเชื่อถือในคำประกาศนโยบายของรัฐบาล จะทำให้ประชาชนปรับพฤติกรรมไปตามทิศทางของนโยบายก่อนที่รัฐบาลจะเริ่มใช้นโยบายที่ได้ประกาศออกมา ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจได้แม้ว่ารัฐบาลยังไม่ได้ดำเนิน นโยบายนั้นเสียด้วยซ้ำเช่น กรณีที่รัฐบาลประกาศว่าจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งมวลชน หากประชาชนเชื่อว่ารัฐบาลจะดำเนินโครงการดังกล่าวจริง จะส่งผลทำให้นักลงทุนและประชาชนปรับตัวไปลงทุนมากขึ้นตามแนวเส้นทางของขนส่งมวลชน ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวโดยที่รัฐบาลยังไม่ได้เริ่มโครงการดังกล่าว หรือกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อในอนาคตได้ และสามารถคาดการณ์ได้ว่า ในภาวะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น ธปท.จะใช้นโยบายดอกเบี้ยสูง ทำให้ประชาชนปรับตัวล่วงหน้าโดยลดการใช้จ่ายและการลงทุน ซึ่งจะมีผลทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อลดลงโดยที่ ธปท.ยังไม่ได้ทำอะไรอย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่ผ่านมาของรัฐบาลชุดนี้ได้ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือ และยังมีพฤติกรรมที่ทำให้องค์กรอื่นของรัฐที่ทำหน้าที่ดูแลนโยบายเศรษฐกิจของประเทศถูกลดความน่าเชื่อถือลงด้วยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การประกาศนโยบายต่าง ๆ แล้วไม่ทำตามนโยบายนั้นจริง เช่น โครงการเมืองใหม่นครนายก โครงการศูนย์กลางการซื้อขายพลังงานในภูมิภาค รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงจำนวนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลประกาศออกมาอย่างใหญ่โตแต่ไม่ได้ดำเนินการจริง ทำให้นักลงทุนและประชาชนที่ปรับตัวล่วงหน้า เพื่อไปลงทุนในพื้นที่และกิจการที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวต้องประสบกับ
ความเสียหาย
ประการต่อมาคือความไม่เชื่อถือในความโปร่งใสของรัฐบาลในการจัดทำโครงการต่าง ๆ เพราะรัฐบาลชุดนี้มีพฤติกรรมที่ทำให้ประชาชนสงสัยว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันและมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการจัดทำโครงการขนาดใหญ่ ทำให้ประชาชนไม่เชื่อว่าโครงการลงทุนต่าง ๆ ของรัฐบาลจะเป็นไปอย่างโปร่งใส และยังมีความกังวลว่าโครงการของรัฐจะไม่ประสบความสำเร็จเพราะอาจจะถูกต่อต้านจากประชาชนเป็นจำนวนมาก
รัฐบาลยังส่งสัญญาณที่ขัดแย้งกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะการที่ผู้มีอำนาจในกระทรวงการคลังแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท.อย่างชัดเจน ทำให้สังคมเกิดความเชื่อที่ว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายการคลังที่ขัดแย้งหรือหักล้างกับนโยบายการเงินของ ธปท. ซึ่งอาจจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินขาดประสิทธิภาพ จนทำให้ ธปท.ไม่สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าหมายได้
พฤติกรรมในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ประกอบกับความไม่โปร่งใส และการแสดงท่าทีในการกำหนดนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับหน่วยงานอื่นของรัฐ ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือต่อคำประกาศนโยบายของรัฐบาล สังเกตได้จากแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศจะ
ก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง แต่มีประชาชนจำนวนมากที่ไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะทำจริงหรือจะทำได้จริง
ประชาชนและนักลงทุนจึงไม่กล้าที่จะขยับตัวไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศออกมา ทำให้ไม่มีแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจอันเกิดจากความเชื่อมั่นของประชาชน อาการรอคอยและเฝ้าดูจึงยังดำเนินอยู่ต่อไปผมจึงขอเสนอให้รัฐบาลสร้างความชัดเจนของนโยบายว่าจะทำโครงการอะไร เมื่อใด อย่างไร โครงการจะแล้วเสร็จเมื่อใด และแสดงหลักฐานว่ารัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอในการดำเนินโครงการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนซึ่งไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะดำเนินการจริง สำหรับการดำเนินโครงการเมกะโปรเจกต์ รัฐบาลควรศึกษาอย่างรอบคอบ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเพียงพอ รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญด้วยหลักเกณฑ์ที่เป็นวิชาการ ตลอดจนดำเนินการอย่างโปร่งใสโดยกำหนดรายละเอียดของโครงการอย่างชัดเจนก่อนการเปิดประมูล และการเปิดเผยสัญญา รวมทั้งยกเลิกการให้นายกรัฐมนตรีและนักการเมืองเข้ามาเป็นคณะกรรมการพิจารณาการประมูล ในสถานะของรัฐบาลรักษาการ แม้มีความจำกัดในการใช้นโยบายการคลัง แต่หากรัฐบาลมีพฤติกรรมที่น่าเชื่อถือ โดยการส่งสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ถูกต้อง และกำหนดโยบายที่มีความชัดเจนและมีเสถียรภาพ รัฐบาลคงไม่ยากลำบากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดังที่เกิดขึ้นในเวลาขอเสนออย่างสร้างสรรค์
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์