การปรับระบบการเมือง (3)โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
วันที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11139 มติชนรายวัน
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01080951§ionid=0130&day=2008-09-08ครั้งที่แล้ว ผมพูดถึงการเติบโตของคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป ส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้อาศัยอยู่ในเขตเมือง
ปัญหาทางการเมืองของพวกเขาก็คือ อำนาจที่เคยมีในการควบคุมการเมืองระดับชาติได้หมดไปโดยสิ้นเชิง (เหลือเท่ากับคนในชนบท) เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรค ทรท.ได้คะแนนเสียงท่วมท้น เพราะตอบรับความเปลี่ยนแปลงในชนบท ซึ่งส่วนใหญ่กลายเป็นคนชั้นกลางระดับล่างไปแล้ว
ระบอบรัฐธรรมนูญ (ที่เริ่มด้วยรัฐธรรมนูญ 2540) ซึ่งพวกเขามีส่วนในการผลักดันอย่างแข็งขัน กลับดึงเอาอำนาจทางการเมืองที่พวกเขาเคยมีไปจากเขาเสีย เบื้องหน้าคือความไม่แน่นอนในนโยบายสาธารณะต่างๆ เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้อยู่ในความควบคุมของเขาอีกแล้ว แม้แต่โกงกินอย่างโจ่งแจ้ง (คนชั้นกลางในเขตเมืองไม่ได้รังเกียจการคอร์รัปชั่น แต่รังเกียจความโจ่งแจ้ง เพราะเท่ากับท้าทายอำนาจของพวกเขาโดยตรง) เสียงก่นด่าของเขาก็ไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลอีกต่อไป ตราบเท่าที่รัฐบาลนั้นยังสามารถรักษาเสียงของชนบทไว้ได้
ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องเข้าใจความว้าวุ่นใจของคนชั้นกลางในเขตเมืองปัจจุบันให้ดี มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีความเห็นใจเหลือสำหรับข้อเรียกร้องและการสร้างสายสัมพันธ์ทางการเมืองของเขาในช่วงนี้
พวกเขากลายเป็นพันธมิตรกับทุกฝ่ายที่มีผลประโยชน์เหนียวแน่นอยู่ในระบบการเมืองแบบเดิม กับทหารซึ่งพวกเขาเคยลุกขึ้นมาสู้เพื่อลดอำนาจของกองทัพในการเมืองลงมาแล้ว กับฝ่ายจารีตนิยมซึ่งเขาเคยแอบซุบซิบเสียดสีมาก่อน กับฝ่ายตุลาการ กับนายทุนนักธุรกิจบางกลุ่ม หรือแม้แต่กับระบบราชการซึ่งพวกเขาเคยเห็นว่าไร้สมรรถภาพและได้แต่เป็นเครื่องมือของนักการเมือง
ในด้านอุดมการณ์ เขาไม่ต้องการ (หรือบางคนอ้างว่า "ยัง" ไม่ต้องการ) ให้ประชาธิปไตยไทยขยายตัวมากไปกว่านี้ พวกเขาไม่ไว้ใจกระบวนการของประชาธิปไตย หวาดระแวงว่ากระบวนการนั้นย่อมทำลายสถานะของตนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ "ปฏิรูปการเมือง" กลายเป็นคำขวัญและคำปลุกใจของพวกเขา แต่ก็ไม่มีข้อเสนอใดๆ นอกจาก "การเมืองใหม่" ซึ่งผู้นำพันธมิตรเป็นผู้เสนอ พวกเขาหยาบหยามความเสมอภาคทางการเมืองอย่างออกหน้าผมมองทั้งหมดเหล่านี้ว่ามาจากความสับสนว้าวุ่นใจอย่างหนัก เพราะโดยธรรมชาติของคนชั้นกลางแล้ว ยากที่เขาจะเป็นพันธมิตรที่ถาวรกับกองทัพ หรือฝ่ายจารีตนิยมซึ่งส่วนหนึ่งเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความไม่เสมอภาคตลอดมา ซ้ำเก็บเกี่ยวในลักษณะที่กระทบต่อพวกเขาด้วย (เช่น ถูกไล่ที่สร้างศูนย์การค้า) ในขณะเดียวกันพวกเขาก็อยากเห็นการพัฒนาทุนนิยมไทยให้มีความเป็นธรรมและโปร่งใสมากขึ้น ... ในโลกที่ไร้ความเสมอภาค พวกเขาไม่ได้อยู่ข้างบน
นอกจากนี้ พวกเขายังสำนึกถึงความผูกพันระหว่างสังคมไทยและสังคมโลก การเผชิญหน้าทางการเมืองที่ต้องกินเวลานานๆ เช่นนี้ ย่อมกระทบต่อการท่องเที่ยว, หรือแม้แต่การพึ่งพาตลาด, ทุน และเทคโนโลยีจากต่างชาติในระยะยาวอย่างแน่นอน และทั้งหมดเหล่านั้นคือความมั่นคงทางเศรษฐกิจของพวกเขา
อารมณ์ของคนชั้นกลางในเขตเมืองที่เราเห็นจึงเป็นสภาวะชั่วคราว การเรียกร้องทางการเมืองที่สุดโต่งเช่นนั้น ขัดกับธรรมชาติของคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปเอง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะสงบไปเองเมื่อเวลาผ่านไป เพราะระบบการเมืองที่สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นมาก่อน อันจะทำให้การแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ของคนชั้นกลางระดับล่างในชนบท และคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปในเขตเมือง เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายได้
ในท่ามกลางความขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงด้านสังคม-เศรษฐกิจเช่นนี้ คู่ขัดแย้งไม่ได้มีเพียงพันธมิตร กับ นปช.หรือพรรค พปช. นี่เป็นเพียงผิวนอกของปรากฏการณ์เท่านั้น (น่าสนใจที่จะตั้งข้อสังเกตว่าทั้งสองฝ่ายต่างเป็น "นอมินี" ของอะไรอื่นที่เป็นความคาดหวังของคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งหลากหลายมากทั้งคู่-ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว) ตราบเท่าที่ระบบการเมืองยังไม่ปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลงได้ ความขัดแย้งถึงขั้นบาดหมางจนนำไปสู่ความรุนแรงย่อมเกิดขึ้นได้และดังที่กล่าวแล้ว ผมไม่คิดว่าเราสามารถเสนอการปรับระบบการเมืองให้เป็นอย่างไรได้โดยอัตโนมัติ เพราะการปรับระบบการเมืองของทุกสังคมย่อมเกิดขึ้นจากปัจจัยที่สลับซับซ้อน ต้องอาศัยการต่อสู้, ต่อรอง, รณรงค์, ประท้วง, ขัดขืน (อย่างอารยะหรือไม่ก็ตาม), ปราบปราม, และอาจเป็นความรุนแรง ของกลุ่มต่างๆ จำนวนมากในสังคม กลุ่มนั้นได้นิด กลุ่มนี้เสียหน่อย แต่ไม่มีกลุ่มใดได้เต็มตามความคาดหวังหรือความอยาก สถานะเดิมของระบบเปลี่ยนไป จนกว่าระบบการเมืองที่เหมาะสมจะบังเกิดขึ้น การเมืองจึงจะเริ่ม "นิ่ง" ในกติกาใหม่ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับ ไม่ว่าอย่างเต็มใจหรือจนใจ
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราทำอะไรไม่ได้เสียเลย อย่างน้อยผมคิดว่าเราน่าจะสามารถช่วยกันป้องปรามการใช้ความรุนแรงได้ และแม้ว่าสังคมไทยอาจแตกแยกกันอย่างหนักในช่วงนี้ อย่างน้อยก็มีฉันทามติร่วมกันว่า เราต้องหลีกเลี่ยงความรุนแรง ดังจะเห็นได้จากความเห็นที่สอดคล้องกันของหลายกลุ่มเมื่อเกิดการปะทะกันจนถึงชีวิตระหว่างพันธมิตร และ นปช.
และส่วนนี้แหละครับที่เราต้องช่วยกันคิดว่า เราสามารถตระเตรียมอะไรได้อีกบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง มิฉะนั้นแล้ว เราจะต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องให้หลีกเลี่ยงความรุนแรงหลังจากเลือดตกยางออกจนถึงเสียชีวิตกันอีกหลายครั้ง
ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอของผมว่า เรา-สังคมไทย-ทำอะไรได้บ้าง
ระยะสั้น
1/ เพื่อให้คนชั้นกลางในเขตเมืองเชื่อมั่นต่อระบบรัฐสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องทำให้พวกเขาวางใจได้ว่าการตรวจสอบฝ่ายบริหาร (ทุกระดับ-ซึ่งต้องรวมข้าราชการทุกประเภทด้วย) อาจทำได้อย่างเข้มข้น จำเป็นต้องสร้างกลไกการตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้อย่างไรก็พึงทำ ในขณะเดียวกัน ต้องเปิดให้กระบวนการตรวจสอบอาจเริ่มต้นจากประชาชนได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ฝ่ายคนชั้นกลางระดับล่างและกลางขึ้นไป
ส่วนหนึ่งของความว้าวุ่นใจของคนชั้นกลางในเขตเมืองขณะนี้ มาจากความพยายามของพรรค พปช.ในการทำสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าลดทอนประสิทธิภาพของการตรวจสอบ หรือทำให้การตรวจสอบไม่บรรลุผล เช่น ความพยายามจะแก้รัฐธรรมนูญ การท้าทายความชอบธรรมของคณะกรรมการตรวจสอบบางชุด, การอ่านรัฐธรรมนูญให้อำนาจตรวจสอบของรัฐสภาลดลง, ฯลฯในระยะหลังนี้ ศาลได้เข้ามามีบทบาทด้านการตรวจสอบฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติด้วยเช่นกัน และทำความพอใจให้แก่คนชั้นกลางในเขตเมืองมาก ในขณะที่คนชั้นกลางระดับล่างไม่ต่อต้านคัดค้าน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ละเอียดอ่อน ในระยะยาวแล้ว จำเป็นต้องมีกระบวนการแบ่งแยกถ่วงดุลระหว่างอำนาจตุลาการและอำนาจบริหาร-นิติบัญญัติที่ชัดเจนและสมดุลกว่านี้ แต่ประเด็นนี้ยังไม่ใช่โอกาสที่จะยกขึ้นมาในช่วงนี้
2/ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การประท้วงของฝ่ายพันธมิตร เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบ สิทธิการประท้วงในที่สาธารณะ (ที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นจนเกินไป) จึงเป็นสิ่งจำเป็นและต้องประกันให้คงอยู่ตลอดไป แต่การประท้วงในพื้นที่สาธารณะทำได้หลายลักษณะ ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการปิดถนนยึดสนามบินเสมอไป ฉะนั้นจึงควรประกันเสรีภาพในด้านนี้อย่างมั่นคง โดยเฉพาะใน "สื่อ" ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสื่อตามประเพณี, สื่อทางเลือกรวมทั้งสื่อวิทยุชุมชน, สื่อบนพื้นที่ไซเบอร์, สื่อแจก, และพื้นที่ทางกายภาพต่างๆ (เช่น วัด, ศาลาประชาคม, ทางเท้า, ป้ายโฆษณา, ใบปลิว ฯลฯ)
หลักประกันเสรีภาพในด้านนี้ นอกจากกฎหมายที่เปิดให้แก่เสรีภาพอย่างเต็มที่แล้ว ต้องหมายถึงสมรรถภาพของสื่อเองด้วย จำเป็นต้องถ่วงดุลระหว่างผลประโยชน์ทางธุรกิจกับหน้าที่ของสื่อให้ดี
ตรงกันข้ามกับการประกันเสรีภาพ ในระยะ 4-5 ปีมานี้ เสรีภาพของสื่อกลับถูกคุกคามมากขึ้น แม้แต่รัฐบาลและสภาที่มาจากการรัฐประหาร ก็กลับออกกฎหมายควบคุมและคุกคามเสรีภาพของสื่อเสียเอง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นต้น (นอกจากประเทศไทยโชคร้ายที่เกิดรัฐประหารขึ้นใน พ.ศ.2549 แล้ว ประเทศไทยยังตกอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไร้เดียงสาเท่ากับรัฐบาลที่การรัฐประหารใน พ.ศ.2519 นำมาให้ เป็นเวลาประมาณ 1 ปีเหมือนกัน)
3/ ความโปร่งใสของฝ่ายบริหาร (ซึ่งรวมระบบราชการด้วย) มีความจำเป็น นอกจากกฎหมายสิทธิในข้อมูลข่าวสารของทางราชการแล้ว (ซึ่งควรปรับปรุงให้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น) อันที่จริงสถานะของประเทศไทยในโลก ย่อมมีความลับของทางราชการน้อยมากอยู่แล้ว สิ่งใดที่อ้างว่าเปิดเผยไม่ได้เพราะเป็นความลับ ควรถูกตรวจสอบจากสถาบันอื่นๆ นอกจากคณะกรรมการข่าวสารข้อมูลด้วย เช่นกรรมาธิการของรัฐสภา เป็นต้น
4/ ประเด็นของความขัดแย้งต่างๆ ในสังคม ควรถูกเปิดออกให้ทั่ว อย่าปล่อยให้มีการจำกัดประเด็นปัญหาสำคัญของสังคมให้เหลือเพียงหนึ่งหรือสองประเด็น เช่นประเด็นเขาพระวิหาร นอกจากมิติที่ฝ่ายพันธมิตรยกขึ้นมาแล้ว ยังมีมิติอื่นๆ ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน (หรืออาจจะมากกว่าด้วย) อีกมาก ซึ่งสื่อทุกประเภทล้มเหลวที่จะสะท้อนมิติเหล่านี้ออกมา เช่นเดียวกับการแก้รัฐธรรมนูญ นอกจากตัวรัฐธรรมนูญเองไม่สมประกอบแล้ว ยังมีกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกจำนวนมาก ซึ่งไม่เคยมีใครหยิบขึ้นมาพิจารณาเลย
นอกจากนี้เรายังมีปัญหาอื่นๆ ที่สังคมควรมีโอกาสได้ช่วยกันคิดและวางนโยบายอีกมาก เช่น นโยบายพลังงาน, นโยบายสร้างดุลยภาพในความสัมพันธ์กับจีนซึ่งทำความเดือดร้อนแก่เพื่อนบ้านโดยไม่ใส่ใจ, นโยบายข้าว, น้ำตาล, น้ำมันพืช, ฯลฯ, นโยบายการขนส่งสินค้า และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ประเด็นปัญหาเหล่านี้กลับไม่ถูกนำมาพิจารณาเลย ทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นเรื่องของสองขั้ว
นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งถามผมว่า ทำอย่างไรจึงจะให้สองฝ่ายคือพันธมิตรกับรัฐบาลได้จับเข่าคุยกัน ผมถามเขาว่า แล้วคุณไม่อยากยื่นเข่าไปให้เขาจับคุยกันบ้างหรือ พวกเราทั้งหมดหายไปไหน เราก็มองเห็นปัญหาอื่นๆ อีกมากที่ถ้าการจับเข่าคุยกันได้ผล เราก็อยากยื่นเข่าและมือไปให้เขาจับและจับเขาเหมือนกันสังคมไทยทั้งสังคมนั้นแทนได้ด้วยพันธมิตร และ พปช.เท่านั้นหรือ? การสร้างญัตติสาธารณะควรเป็นอำนาจและโอกาสของคนทุกกลุ่มไม่ใช่หรือ?ผมตั้งใจจะให้จบเรื่องในตอนนี้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกนั่นเอง ขออภัยทั้งผู้อ่านและ บ.ก.เป็นอย่างสูง ขอต่อในฉบับหน้าว่าด้วยเรื่องเรา-สังคมไทย-พึงทำอะไรได้อีกบ้างในระยะยาว