"ฟ้าเดียวกัน: การต่อสู้ของพันธมิตรที่มีคุณสนธิอยู่ด้วย มันมีกระบวนการหลังพิงวัง ตรงนี้สร้างความอึดอัดให้ฝ่ายซ้ายจำนวนมากในพันธมิตรหรือไม่?
ปัญหาในเรื่องปรากฏการณ์หลังพิงวังมีมาตลอด และมีความอึดอัดเพราะเป็นกระแสที่เราก็ต่อต้านมาตลอด ถึงขนาดฝ่ายซ้ายมาขอคุยให้ ครป.ถอยออกมา แต่เราต้องยอมรับว่า การสู้กับระบอบทักษิณ เมื่อภาคประชาชนเห็นว่าระบอบทักษิณเป็นตัวปัญหา แต่ภาคประชาชนเองไม่มีกำลังพอที่จะโค่นล้มคุณทักษิณได้ ฉะนั้นก็ต้องเชื่อมประสานกับพลังอื่น ไม่ว่าจะพลังชนชั้นกลาง พลังทุนนิยมในชาติ พลังศักดินา ก็ต้องร่วมกันเพื่อจัดการคุณทักษิณ เพราะพลังศักดินาโดด ๆ ก็จัดการคุณทักษิณไม่ได้ ต้องมาเชื่อมประสานกับพลังของภาคประชาชน ดังนั้นก็เลยเกิดธงหลายผืนในที่ชุมนุม
ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าเราจะจัดลำดับความสำคัญอย่างไร เราอาจจะไม่ได้ทั้งร้อยในการต่อสู้ครั้งนี้ แต่เมื่อต่อสู้แล้วไม่มีใครอยากแพ้ จึงเป็นเหตุให้เราไม่ถอย
ฟ้าเดียวกัน: ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เหมือนพลังศักดินาสามารถยืมมือพลังประชาชนในการจัดการและดึงอำนาจคืนจากคุณทักษิณ พลังศักดินาอาจจะยืมมือเรา แต่ที่แน่ๆ คือ เราไม่ได้รับธงเขามาเคลื่อน?
ผมไม่ปฏิเสธว่าหลังการรัฐประหาร พลังศักดินาเกิดใหม่ ระบอบอำมตยาธิปไตยสามารถเห็นได้ชัดเจนภายใต้โครงสร้างรัฐบาลใหม่ ตรงนี้เราก็ต้องสรุปบทเรียนว่า จะจัดการกับการเกิดใหม่ของพลังศักดินาหรือระบอบอำมาตยาธิปไตยได้อย่างไร และที่ทางของประชาชนหรือการเมืองแบบใหม่ที่สู้กันมาทั้งชีวิตจะอยู่ตรงไหน เราจะทำอย่างไรเพื่อสร้างพื้นที่ของเราขึ้นมาในการกำหนดให้วาระของประชาชนเข้าไปในรัฐธรรมนูญใหม่ และต้องผลักดันให้ก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญปี 2540
ส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับในสังคมไทยคือ องค์อำนาจในสังคมไทยมีหลายองค์อำนาจ ไม่ใช่แค่ทุนใหม่กับฝ่ายประชาชนเท่านั้น พลังศักดินา ระบอบอำมาตยาธิปไตย มีอยู่จริง มีอำนาจที่เป็นจริง มีการเคลื่อนไหวปฏิบัติการในตัว และมีการปรากฏตัวออกเป็นช่วง ๆ ดังนั้นเราจึงไม่ควรมองข้ามองค์อำนาจส่วนนี้ อีกทั้งระบบอำนาจนิยมยังเข้ามาแทนที่ระบบความคิดใหม่ๆ ในสังคมไทยได้อย่างง่ายดาย เห็นได้จากคนชื่นชมรัฐประหารและเห็นด้วยกับรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ ตรงนี้เป็นการบ้านที่ท้าทายบทใหม่
ผมยังไม่อยากไปสรุปว่านี่เป็นระบอบใหม่ เพราะการทำรัฐประหารครั้งนี้อาจนำไปสู่โอกาสใหม่ๆ พูดแบบนี้ฝ่ายซ้ายบางคนอาจจะหมั่นไส้ แต่ผมคิดว่านี่เป็นโอกาสใหม่ที่จะได้ทบทวนเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเข้มข้น ถ้าไม่มีรัฐประหารครั้งนี้ เศรษฐกิจพอเพียงไม่มีทางเกิด เพียงแต่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงในแนวทางอำมาตยาธิปไตยจะกล้าพูดเรื่องกระจายอำนาจมั้ย จะกล้าพูดเรื่องการปฏิรูปที่ดินไหม แต่ถึงที่สุดอย่างน้อยก็ได้ทบทวนว่าเรามีเศรษฐกิจทางเลือก
นายกฯคนใหม่ส่งสัญญาณตั้งแต่วันแรกเลยว่า จะใช้ GNH (Gross National Happiness) หรือความผาสุกของประชาชน แทนดัชนีตัวเลขทางเศรษฐกิจ ผมจึงเชื่อว่าอาจมีโอกาสใหม่ ๆ เกิดขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เรารู้สึกว่าล้าหลัง ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะไปจัดการโอกาสใหม่นี้อย่างไร จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำให้ทางเลือกใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติได้อย่างไร ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หรือการลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ กล้าพูดว่าจะเอาการกระจายรายได้มาเป็นวาระแห่งชาติ ผมไม่เคยได้ยินมาในรอบทศวรรษ แต่วันนี้พูดเรื่อง Green GDP (ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่รวมเอาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปเป็นปัจจัยหนึ่งในการคำนวณ) แต่ก็ต้องไปเช็คว่าหม่อมอุ๋ย คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ หรือพลเอกสุรยุทธ์ เข้าใจจริงหรือเปล่า จะกล้าแตะลงไปในระดับโครงสร้างหรือเปล่า ไม่เช่นนั้นก็เป็นแค่การฟอกตัวของอำนาจนิยมใหม่ หรือเป็นการแปรรูปของระบอบอำมาตยาธิปไตยในคราบของอำนาจใหม่เท่านั้น ถ้ามองในมุมนี้ การบ้านอาจจะซับซ้อนกว่าระบอบทักษิณด้วยซ้ำ เพราะเราต้องช่วงชิงและต่อกรกับกลุ่มอำนาจเก่า
ฟ้าเดียวกัน: มองบทบาทของคนอย่างพลเอกเปรมอย่างไรบ้าง?
พลเอกเปรมเป็นสัญลักษณ์ของระบอบอำมาตยาธิปไตย จริง ๆ ระบอบนี้ไม่ได้หายไปจากสังคมไทย แม้จะมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ตาม ถ้าเราดูบทบาทของพลเอกเปรมก็จะเห็นชัด เพียงแต่พื้นที่ของระบอบนี้คับแคบลงในระดับหนึ่ง เพราะการเติบโตของพื้นที่ภาคประชาชนที่มากขึ้น ซึ่งเป็นการท้าทายระบอบนี้โดยตรง ขณะเดียวกัน ระบอบอำมาตยาธิปไตยก็ถูกท้าทายจากทุนใหม่ ซึ่งเป็นพลังที่พาคุณทักษิณขึ้นสู่อำนาจ เราอาจจะพูดว่า ระบอบศักดินายืมพลังจากประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณหรือว่าทุนใหม่ก็เป็นไปได้ แต่ผมคิดว่า พลเอกเปรมไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของการคงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีพลเอกเปรมแล้วระบอบประชาธิปไตยจะเต็มใบ แต่เป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายอำนาจนิยมหรือระบอบอำมาตยาธิปไตยที่ยังมีพื้นที่ที่แน่นอนในสังคมการเมืองไทย
วันนี้ก็เห็นโดยพฤตินัยได้อย่างชัดเจนว่า พลเอกเปรมใช้อำนาจนั้นผ่าน คปค. ท่านนั่งบัญชาการอยู่ที่บ้านสี่เสาฯ และไม่มีใครคิดว่าท่านจะกล้าทำ หรือไม่มีใครคิดตอนที่นั่งร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่า การรัฐประหารครั้งนี้องคมนตรีจะมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเปิดเผยขนาดนี้ "