ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
29-03-2024, 14:49
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  ร่วมสร้างการเมืองใหม่กันครับ ใกล้ชนะแล้ว จะสร้างอย่างไร แบบไหน 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
ร่วมสร้างการเมืองใหม่กันครับ ใกล้ชนะแล้ว จะสร้างอย่างไร แบบไหน  (อ่าน 970 ครั้ง)
chaturant
ขาประจำ
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 499



« เมื่อ: 01-09-2008, 18:49 »

จะสร้างการเมืองใหม่แบบไหน และอย่างไร
 

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 3 กรกฎาคม 2551 13:52 น.
 
 
       การปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคม ให้ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะและความรู้สูงขึ้น
       
       ปัญหาการเลือกตั้งแบบซื้อเสียงขายเสียง ใช้อำนาจระบบอุปถัมภ์ การหาเสียงแบบประชานิยมที่ทำให้ได้แต่ ส.ส., ส.ว. และรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของนายทุน ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางส่วนน้อย สาเหตุสำคัญคือ เราเข้าใจผิดหรือถูกทำให้เข้าใจผิดว่าการเลือกตั้งคือประชาธิปไตย ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางใช้การเลือกตั้งเป็นหนทางและอ้างความชอบธรรมในการหาอำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ส่วนประชาชนที่ส่วนใหญ่ถูกการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารบรรษัทข้ามชาติทำให้ยากจน การศึกษา และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่ำ ก็ใช้การเลือกตั้งเป็นการต่อรองหาผลประโยชน์เฉพาะหน้าเล็กๆน้อยๆเท่าที่พอจะหาได้ (คนจนคิดว่าขายเสียงได้ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรให้ขายได้เลย)
       
       ปัญหานี้ปัญญาชนคนชั้นกลางจะไปคิดว่าประชาชนเลือกไม่เป็น เลือกคนไม่ดีเข้ามา ควรเปลี่ยนไปใช้วิธีการสรรหาผู้แทนน่าจะดีกว่าวิธีเลือกตั้งคงไม่ถูก หากมีการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปสื่อมวลชน และปฏิรูปด้านอื่นๆ เพื่อกระจายทรัพย์สินรายได้ การศึกษา ฐานะทางสังคมสู่ประชาชนอย่างเป็นธรรม การเลือกตั้งก็จะเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นเหมือนในประเทศอื่นๆ
       
       การปฏิรูปการเมืองตั้งแต่ปี 2540 ล้มเหลว เพราะชนชั้นกลางคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งในกรอบของประชาธิปไตยแบบทุนนิยมเป็นใหญ่ ไม่ได้เข้าใจว่าปัญหาที่แท้จริงคือตัวโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยมผูกขาด และระบบอภิสิทธิชน ที่จะต้องมีการผ่าตัดปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ให้เกิดความเป็นธรรมและสิทธิเสรีภาพในหมู่ประชาชนอย่างแท้จริง จึงจะสร้างประชาธิปไตยทางการเมืองได้
       
       ทางออกที่สำคัญคือต้องสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ - การปฏิรูปที่ดิน การคลังงบประมาณ การกระจายทรัพย์สิน รายได้ ที่เป็นธรรม การจัดตั้งองค์กรที่กลุ่มต่างๆต่อรองได้อย่างเท่าเทียมกันเพิ่มขึ้น และประชาธิปไตยทางสังคม - ประชาชนเข้าถึงการศึกษา และสื่อสารมวลชนที่มีคุณภาพ รวมทั้งเข้าถึงกฎหมายได้อย่างเท่าเทียมกัน มีการพัฒนาวัฒนธรรม (วิธีคิด วิธีปฏิบัติ) ประชาธิปไตยในครอบครัว สถานศึกษา ที่ทำงาน ชุมชน และในระดับประเทศอย่างจริงจัง ประเทศไทยจึงจะมีทางปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง มาแทนที่ลัทธิเลือกตั้งและเผด็จการเสียงข้างมากในรัฐสภาได้
       
       การพัฒนาความรู้และการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองของพลเมือง
       
       การสรรหาผู้แทน แทนการเลือกตั้ง อาจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้บางส่วน แต่ไม่ใช่วิธีที่แก้ปัญหาที่ดีอย่างยั่งยืน อย่างเช่นการสรรหา ส.ว. ครึ่งหนึ่งเมื่อต้นปี 2551 โดยองค์กรนิติบุคคล มูลนิธิต่างๆ เสนอรายชื่อราว 1 พันกว่าคน มาให้คณะกรรมการสรรหา 7 คน ซึ่งมาจากประธานองค์กรอิสระบางแห่งและจากผู้พิพากษาเป็นผู้คัดเลือกโดยการประชุมกันเองเพียงไม่กี่ครั้งนั้น เป็นวิธีที่ไม่เป็นธรรมและไม่มีประสิทธิภาพ ขึ้นอยู่กับความรู้และการคิดเองของกรรมการสรรหา แม้การสรรหาครั้งแรกนี้จะได้ ส.ว. ที่มีคุณภาพพอสมควร แต่ก็อาจจะไม่ใช่ดีที่สุดการสรรหาคราวหน้าจะมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนหรือขัดแย้งตามมา เพราะ ส.ว. มีอำนาจในการคัดเลือกและถอดถอนคณะกรรมการองค์กรอิสระได้ด้วย วิธีการสรรหา สว. แบบนี้จึงไม่ใช่หลักการประชาธิปไตยที่มีเหตุผล น่าจะหาวิธีอื่น เช่น ให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อเลือกกันเอง หรือให้ประชาชนเป็นผู้ลงคะแนนเลือก น่าจะดีกว่าให้กรรมการ 7 คนมาเลือก
       
       การให้องค์กรนิติบุคคลเสนอชื่อ ควรขยายถึงกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ สหภาพแรงงาน กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย ให้กว้างขวางกว่าแค่ผู้จดทะเบียนเป็นสมาคม ซึ่งดูจากการเสนอชื่อ ส.ว.คราวที่แล้ว กรณีแค่สมาคมศิษย์เก่าหรือสมาคมสารพัดประเภทที่อาจมีแค่ประธานและกรรมการเพียงไม่กี่คนก็เสนอเข้ามาได้ การเสนอชื่อควรจะมาจากองค์กรแบบประชาธิปไตยที่มีสมาชิกมากพอสมควร และมีกระบวนการเลือกเสนอชื่อกันอย่างเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่ประธานสมาคมเล็กๆเสนอชื่อตัวเองก็ได้แล้ว
       
       ผู้เขียนขอเสนอ 2 เรื่อง คือ 1. ให้มีการแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงไม่ใช่การเลือกประธานาธิบดี และไม่เกี่ยวกับระบอบสาธารณรัฐ เพราะพระมหากษัตริย์ไทยเป็นประมุขของประเทศตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว นายกรัฐมนตรีเป็นเพียงผู้นำฝ่ายบริหาร ซึ่งที่ผ่านมาก็มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม คือเลือก ส.ส.ก่อน แล้ว ส.ส. ทั้งสภาค่อยมาเลือกนายกฯอีกครั้ง วิธีนี้ประชาชนจำนวนมากเลือกส.ส.โดยพิจารณาแค่ประโยชน์เฉพาะหน้าในท้องถิ่นของพวกเขา แต่ถ้าให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีต่างหากจากการเลือก ส.ส. ด้วย ประชาชนจะได้พิจารณาถึงผู้ที่จะมาเป็นผู้นำในการบริหารประเทศอย่างจริงจังมากขึ้น พรรคการเมืองต้องหาวิธีคัดเลือกคนเพื่อส่งแข่งขันกันในเรื่องความสามารถและนโยบายเพิ่มขึ้นนายกฯ นายกฯจะรับผิดชอบต่อประชาชนโดยตรงมากขึ้น จะตั้งรัฐมนตรีได้ตามความเหมาะสมโดยไม่ต้องพึ่งมุ้งเล็กมุ้งน้อยที่จะต้องไปเอาส.ส.ท้องถิ่นมาเป็นรัฐมนตรี คราวนี้นายกฯ ก็ต้องรับผิดชอบ แทนที่จะโทษคนอื่น ปัจจัยอื่น
       
       2. ให้มีสภา ส.ส. สภาเดียว แต่ให้มีที่มา 3 ทางคือ
       
       1. ส.ส. แบบแบ่งเขต น่าจะเป็นเขตเดียว เบอร์เดียว และคนชนะต้องได้คะแนนเกิน 50% ของผู้ใช้สิทธิจึงจะได้เป็น ส.ส. ถ้าเลือกรอบแรก คนที่ได้คะแนนสูงสุดได้ไม่เกิน 50% ต้องคัดคนที่ได้ที่ 1 และที่ 2 มาให้ประชาชนเลือกรอบ 2 ในสัปดาห์ถัดไป วิธีนี้จะซื้อเสียงให้ถึง 50% ได้ยากขึ้น และต้องปฏิรูป กกต. ให้ควบคุมและลงโทษคนซื้อเสียงอย่างจริงจัง
       
       2. ส.ส.แบบสัดส่วน ควรคิดคะแนนรวมทั้งประเทศ และไม่กำหนดคะแนนรวมขั้นต่ำ ถ้าคะแนนรวมเข้าเกณฑ์ เช่น 1% ได้ ส.ส. 1 คน ก็ให้เป็นไปตามนั้น จะได้แข่งขันกันในเรื่องนโยบายและช่วยให้พรรคเล็กที่เป็นตัวแทนเกษตรกร คนงาน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นักสังคมนิยม ฯลฯ มีโอกาสเกิดได้ วิธีนี้พรรคการเมืองจะแข่งกันในเรื่องนโยบายมากกว่าตัวคน และทำให้ประชาชนสนใจเรียนรู้ปัญหาสังคมมากขึ้น
       
       3. ส.ส. ที่มาจากกลุ่มอาชีพ อาจจะถือว่ามาแทน ส.ว.ก็ได้ น่าจะแบ่งเป็น 5 กลุ่มใหญ่ คือ 1. เกษตรกร 2.พนักงาน,ลูกจ้างรวมทั้งข้าราชการ ทหารตำรวจ 3. เจ้าของกิจการ 4.ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย เช่น ทนายความ สถาปนิก หมอ ศิลปินนักแสดง ช่าง คนรับจ้าง พ่อค้ารายย่อย ฯลฯ 5.ประชาชนกลุ่มพิเศษ เช่น นักศึกษา แม่บ้าน ผู้เกษียณอายุ คนว่างงาน พระภิกษุ ชนกลุ่มน้อย ผู้พิการ ฯลฯ

       
       การจะทำให้การเลือกตั้งมีโอกาสได้ ส.ส. ให้มีคุณภาพคือ
       
       1. ต้องใช้กฎหมายและระบบตรวจสอบควบคุม เช่น ปฏิรูป ปปช.ให้เป็นองค์กรอิสระที่เข้มแข็งแบบในฮ่องกง สิงคโปร์ ทำให้ ส.ส.มีโอกาสโกง หาผลประโยชน์ทับซ้อนได้ยากขึ้น และมีโอกาสถูกลงโทษ ถูกถอดถอนได้ง่ายกว่าเดิม
       
       2. ต้องป้องกันและปราบปรามการซื้อเสียงอย่างเป็นระบบ รวมทั้ง กกต.ต้องช่วยพรรคเล็กให้มีโอกาสโฆษณานโยบายผ่านสื่อต่างๆได้ แม้จะไม่มีเงินทุนของตนเอง
       
       การปฏิรูปที่มาของ กกต. และพัฒนาระบบตรวจสอบ กกต. ให้มีประสิทธิภาพ จะแก้ปัญหา กกต. ที่ยังขาดประสิทธิภาพและมีโอกาสถูกซื้อได้ โดยเฉพาะในระดับจังหวัดและเขตเลือกตั้ง ควรมีวิธีรับสมัครคัดเลือก กกต. ที่เข้มงวด ให้ค่าตอบแทนคนเป็น กกต. สูงแต่มีบทลงโทษในกรณีทุจริตสูงเป็น 2 เท่า จัดสรรงบและให้อำนาจหน้าที่ให้องค์กรพัฒนาเอกชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งทำงานคู่ไปกับ กกต.
       
       การเมืองใหม่จะเป็นไปได้ ต้องปฏิรูปการศึกษาและสื่อมวลชนในเชิงคุณภาพ ให้ช่วยประชาชนมีความรู้เรื่องการเมืองเศรษฐกิจและสังคม และมีการจัดตั้งองค์กรประชาชน เช่น สหภาพแรงงาน กลุ่มเกษตรกร สมาคมอาชีพ สหกรณ์ผู้ผลิตและผู้บริโภค ฯลฯ ที่มีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างเป็นตัวของตัวเองเพิ่มขึ้น ช่วยให้ประชาชนไทยมีความคิดสติปัญญา รู้ว่าการพัฒนาประเทศมีทางเลือกอื่น เช่น สังคมนิยมประชาธิปไตย สหกรณ์ เศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง แบบยั่งยืน เศรษฐกิจแบบชาวพุทธ ฯลฯ การเมืองใหม่จะเป็นไปได้จริง ต้องมีเศรษฐกิจแบบใหม่และสังคมแบบใหม่ที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ(ความเป็นพี่น้อง)ค่อนข้างมากด้วย เราจึงจะนำประเทศไทยออกจากวงจรของนักการเมืองที่ชั่วร้าย และพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ได้

 http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9510000078252


ผมเห็นด้วยน่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01-09-2008, 18:58 โดย chaturant » บันทึกการเข้า
chaturant
ขาประจำ
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 499



« ตอบ #1 เมื่อ: 01-09-2008, 18:53 »

ยุทธศาสตร์การศึกษาใหม่
 
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 31 กรกฎาคม 2551 09:56 น.
 
 
       ประเทศไทยอาจถึงคราวที่จะต้องยกเครื่องแผนการศึกษากันครั้งใหม่ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า โลกได้เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วเกินกว่าที่ระบบการศึกษาที่เราใช้อยู่นี้จะตามทัน
       
       การที่จะปรับระบบการศึกษาเสียใหม่นั้น เราควรที่จะวางแผนกันไว้ล่วงหน้า ในระยะยาวแผนการศึกษาควรวางไว้ต่ำกว่า 50 ปี และเราควรตั้งเป้าหมายที่สำคัญๆ ไว้ดังนี้
       
       ประการที่หนึ่ง คือ ศักยภาพของประเทศในด้านการผลิตโดยมองจากทรัพยากร การที่เรามีพื้นฐานจากภาคการเกษตรมิได้หมายความว่า เรายกระดับเกษตรกรรมขึ้นมาสู่ภาคการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมไม่ได้
       
       ในที่นี้หมายความว่า เรายกระดับเกษตรกรรมให้มีมิติการผลิตที่ผลผลิตสามารถแปรรูปไปในเชิงอุตสาหกรรมมิได้ทั้งหมด
       
       ประการที่สอง ศักยภาพของคน เรามีจำนวนประชากรที่อยู่ในภาคแรงงานการเกษตรมาก ทรัพยากรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ได้รับการศึกษาซึ่งไม่ได้โยงไปถึงสิ่งที่เขาจะกลับไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เลย ลูกหลานชาวนาไปเรียนรู้วิชาการไม่เกี่ยวกับการเกษตร แต่หากมีการเปลี่ยนเกษตรกรรมให้เป็นอุตสาหกรรมการเกษตรก็จะมีวิชาเกิดใหม่ๆ ซึ่งแตกสาขาให้พวกลูกหลานของชาวนาได้เข้ามาเรียนรู้ได้
       
       ประการที่สาม มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นหรือในต่างจังหวัดไม่จำเป็นต้องสอนหรือใช้หลักสูตรส่วนกลาง แต่อาจเป็นมหาวิทยาลัยเน้นการเกษตรหรือเทคโนโลยีการเกษตรหรือเทคโนโลยีทั่วๆ ไป และควรเน้นภูมิภาคเพื่อต่อยอดให้นักศึกษาในภูมิภาคเรียนรู้เพื่อรับใช้ท้องถิ่น
       
       ประการที่สี่ การเปิดงาน ว่าจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมให้กว้างขวางในท้องถิ่นโดยให้ประโยชน์ด้านภาษีกับบริษัทฯ ห้างร้าน และโรงงานทั้งนี้ให้มีเงื่อนไขว่าจ้างแรงงานท้องถิ่น และมีผู้บริหารมาจากคนในท้องถิ่นด้วย
       
       ประการที่ห้า จัดเตรียมข้อมูลระดับประเทศถึงลักษณะจำแนกความแตกต่างทั้งด้านกายภาพและความต้องการของแต่ละท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคโดยดูศักยภาพ และโอกาสที่ภูมิภาคเหล่านั้นจะเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านจนตั้งเป็นเครือข่ายได้
       
       การเตรียมข้อมูลก็เพื่อรวบรวมสร้างฐานข้อมูลใหม่เพื่อนำมาวางแผนยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อการศึกษาในอนาคต โดยฐานข้อมูลควรสามารถที่จะปรับปรุงเพิ่มเติมได้เรื่อยๆ เป็นรายปีและทุกปี
       ขั้นตอนการวางแผน
       
       จัดระบบประชาพิจารณ์ระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาคขึ้นมาจนถึงระดับชาติ
       
       ทั้งนี้ต้องเริ่มให้มีการวิพากษ์วิจารณ์หลักสูตรในทุกระดับ โดยมีการคัดเลือกนักเรียน, ครู, อาจารย์, มาช่วยให้ข้อมูล
       
       ในการวิพากษ์วิจารณ์ให้มีข้อเสนอแนะในการตัดบางวิชาออกใหม่ หรือเสริมวิชาเข้ามาใหม่
       
       ให้มีการแบ่งวิชา ที่เป็นวิชาเชิงทฤษฎีกับวิชาเชิงปฏิบัติที่ชัดเจน
       
       และให้แบ่งวิชาที่เกี่ยวกับการเกษตรออกมาต่างหาก
       
       รวมทั้งให้แยกวิชาเทคโนโลยี และการออกแบบ (ทุกรูปแบบ) ออกมาด้วย
       
       กำหนดให้วิชาด้านการเกษตรให้แยกสาขาออกมาให้มากที่สุด เช่น วิชาการศึกษาเรื่องพันธุ์ข้าวก็ควรเรียนตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้น และควรมีหนังสือสำหรับเด็กออกมา นอกจากเรื่องพันธุ์ข้าวไทย, ข้าวต่างประเทศ การเพาะปลูก การใช้เทคโนโลยี ฯลฯ ก็ควรเรียนรู้เรื่องการตลาดฯ การแข่งขัน การส่งออก ควบกันไปด้วย
       
       ขั้นตอนปฏิบัติ
       
       เมื่อมีการประชาพิจารณ์ในระดับชาติแล้ว ควรนำกระบวนการเข้าสู่การประยุกต์ใช้ โดยในการนี้ให้ทางสถาบันราชภัฎฯ เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสถาบันดังกล่าวจะชี้แนะและเสริมในการผลิตบุคลากรหรือเพื่อทำการสอนในระดับโรงเรียนโดยเฉพาะในภูมิภาคให้เป็นไปตามแผน
       
       แผนยุทธศาสตร์
       
       ก่อนจะวางยุทธศาสตร์ ควรนำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาของประเทศต่างๆ มาศึกษาให้ละเอียดเสียก่อน
       
       ประเทศไทยควรวางตำแหน่งเด่นชัดว่าเราจะเป็นแหล่งผลิตอาหาร และแหล่งให้การศึกษาด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุดในด้านเทคโนโลยีด้านอาหารของโลก
       
       นอกจากนี้เราต้องมีเป้าหมายว่าเราจะมีผู้เชี่ยวชาญ นักการศึกษา และนักวิจัยด้านอาหารมากที่สุด มีคุณภาพที่สุด
       
       ขณะเดียวกันไทยก็จะมีอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปอาหารจากภาคการเกษตรที่มีคุณภาพและก้าวหน้าโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่ดีที่สุดด้วย
       
       ไทยยังมีเทคโนโลยี, การออกแบบผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่ล้ำหน้า
       
       การกำหนดเป้าหมายเช่นนี้ จะทำให้เราวางแผนยุทธศาสตร์การศึกษาได้ล่วงหน้าไปหลายปี
       
       และย่อยหลักสูตรด้านการศึกษาออกมาแตกย่อยได้หลากหลายยิ่งขึ้น
       
       ที่ผมเขียนเรื่องนี้ก็เพราะประเทศที่เขาก้าวหน้าเป็น เขาได้ทำเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เพราะทุกประเทศใช้การศึกษาในการเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนคนทำให้เขาก้าวหน้า ประเทศของเขาพลิกโฉมหน้าทันสมัยยิ่งขึ้นครับ
 
http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9510000089958


ลองอ่านดูครับ เข้าท่าดี  ไม่ใช่ 70/30 ที่มันพยายามบิดเบือนแน่นอน

 
บันทึกการเข้า
chaturant
ขาประจำ
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 499



« ตอบ #2 เมื่อ: 01-09-2008, 19:00 »

การเมืองใหม่ควรเน้นเรื่องสิทธิทางเศรษฐกิจ และสังคมของประชาชนด้วย
 
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 20 กรกฎาคม 2551 21:36 น.
 
 
       การจะสร้างการเมืองใหม่แบบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนกำหนดอย่างแท้จริงแทนการเมืองแบบเก่าที่เป็นลัทธิเลือกตั้งและเผด็จการเสียงข้างมากในสภาได้นั้น ควรจะเน้นการให้การศึกษาและการต่อสู้เรื่องสิทธิที่ประชาชนพลเมืองควรจะได้รับอย่างจริงจัง ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าสิทธิในการไปเลือกผู้แทนมากมายหลายร้อยเท่า
       
        สิทธิมนุษยชน(Human right) นอกจากจะหมายถึง สิทธิพลเมือง (Civil right) และสิทธิทางการเมือง (political right) เช่น สิทธิในการเลือกตั้งผู้แทนอย่างอิสระโปร่งใสเป็นธรรม สิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ถูกปิดกั้น ทำร้าย หรือจับกุมคุมขัง แล้ว ยังหมายรวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางสังคมและสิทธิทางวัฒนธรรมที่มนุษย์ทุกคนควรจะได้รับจากรัฐ เช่น สิทธิในการมีส่วนร่วมในการปกครองและการใช้ทรัพยากรของประเทศอย่างเป็นประชาธิปไตย สิทธิที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีมาตรฐานพอเพียงสำหรับคนทั่วไป สิทธิที่จะได้รับบริการทั้งด้านสาธารณสุขและการศึกษา ฯลฯ โดยไม่ต้องรู้สึกเป็นหนี้บุณคุณรัฐบาลใด เพราะพลเมืองได้ทำหน้าที่เสียภาษี, เป็นทหารและทำหน้าที่อื่นๆ ให้รัฐอยู่แล้ว
       
       คำว่า สิทธิมนุษยชน หรือสิทธิในความเป็นมนุษย์นั้นมีความหมายกว้าง รวมถึงสิทธิ 5 ด้าน คือ
       
        สิทธิพลเมือง คือ สิทธิในชีวิต สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน ไม่ถูกทำร้ายร่างกาย สิทธิในการได้รับสัญชาติ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน คำว่าพลเมือง มีความหมายถึงการที่ประชาชนมาอยู่ร่วมกันในสังคมโดยมีสัญญาประชาคมร่วมกันว่าผู้ได้รับเลือกไปเป็นรัฐบาลมีหน้าที่ต้องบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่ ถ้าไม่ทำหรือทำตรงกันข้ามพลเมืองก็มีสิทธิคัดค้านถอดถอนรัฐบาลได้
       
        สิทธิทางการเมือง คือ สิทธิในการลงคะแนนเสียง สิทธิเสรีภาพในความเชื่อทางการเมือง การนับถือศาสนา สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ในการชุมนุม ในการรวมตัวกันเป็นสมาคม และการดำเนินการทางการเมือง ในการตีพิมพ์โฆษณาและในการมีส่วนร่วมทางการเมือง
       
        สิทธิทางเศรษฐกิจ คือ สิทธิในการทำงานทำ ในการประกอบอาชีพ สิทธิในการได้รับค่าจ้างและราคาผลผลิตอย่างเป็นธรรม สิทธิในการได้รับการจัดสถานที่ให้ประกอบอาชีพ เช่น ลานค้า หรือ ตลาดนัด สิทธิได้รับการคุ้มครองในการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม สิทธิได้รับหลักประกันการมีมาตรฐานชีวิตอย่างเพียงพอ สิทธิมีที่อยู่อาศัย และสิทธิมีอาหารการกินอย่างเต็มอิ่มรัฐบาลจะต้องดูแลไม่ให้คนอดยากจนข้นแค้น
       
        สิทธิทางสังคม คือ สิทธิได้รับประกันสุขภาพ ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญเลี้ยงตัวเมื่อชรา สิทธิในการเลือกคู่ครอง สิทธิได้รับการรักษาพยาบาลและการมียาราคาถูก สิทธิของแม่ลูกอ่อนในการได้รับสวัสดิการ สิทธิของเด็ก ผู้หญิง และ คนพิการ สิทธิไม่ถูกเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความแตกต่างด้านความเชื่อทางการเมือง ศาสนา เชื้อชาติ อายุ เพศ และผิว
       
        สิทธิทางวัฒนธรรม คือ สิทธิในการได้รับการศึกษา สิทธิในการแต่งกายตามความเชื่อ หรือตามใจอยาก สิทธิในการปฏิบัติตามประเพณีและความเชื่อ สิทธิในการมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสาธารณะ สิทธิในการมีศูนย์ศิลปวัฒนธรรม การบันเทิงและกีฬา
       
        ทั้งนี้หมายถึงว่าการใช้สิทธินั้นๆ ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น หรือทำให้คนในสังคมมีสิทธิในทางที่ถูกที่ควรลดลง เช่น การที่กลุ่มนปก. หรือใช่ชื่ออื่นที่ไปต่อต้านการชุมชนของกลุ่มพันธมิตรฯ ในจังหวัดต่างๆ ด้วยการด่าทอ ขว้างปา ทำร้ายร่างกายนั้น เป็นการละเมิดสิทธิคนอื่น ควรได้รับการลงโทษตามกฎหมาย พวกเขามีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยกับกลุ่มพันธมิตรฯ และแสดงความเห็นคัดค้าน หรือจัดชุมนุมของกลุ่มตนเองได้ แต่ไม่มีสิทธิที่จะไปด่าทอและทำร้ายคนอื่น
       
        สิทธิของกลุ่มชน และสิทธิในบางเรื่องที่สำคัญ ที่ผู้มีการศึกษาควรให้การศึกษาแก่พลเมืองและรณรงค์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
       
       สิทธิสตรี (Rights of women) ที่จะได้รับการศึกษา ทำงานและได้รับการปฏิบัติต่ออย่างเสมอภาคทัดเทียมกับบุรุษ
       
        สิทธิเด็ก (Rights of children) สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง มีชีวิตที่มีสุขภาวะ ได้รับการศึกษา ไม่ถูกใช้แรงงานเกินวัยอันเหมาะสม ไม่ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว เฆี่ยนตี ล่วงเกินทางเพศ หรือถูกบังคับให้เป็นแรงงาน ทาส หรือโสเภณี
       
       สิทธิของชนกลุ่มน้อย (Rights of indigenous people) ที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค เท่าพลเมืองคนอื่น
       
       สิทธิในที่ทำกิน (Rights To land) โดยไม่ถูกไล่ที่ ไม่ถูกคดโกง เอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือคนที่มีอำนาจมากกว่า
       
       สิทธิมีงานทำ และสิทธิในการประกอบอาชีพโดยได้รับการคุ้มครอง (Rights to work) โดยไม่ถูกเลิกจ้าง ถูกขับไล่จากที่ทำกิน หรือ แหล่งขายสินค้า เช่น กรณีหาบเร่ และแผงลอย ถูกไล่ที่ หรือ ไล่จับ
       
       สิทธิที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม (Rights to adequate housing) เช่น การพัฒนาชุมชนแออัด การสร้างอาคารสงเคราะห์ และการให้ความช่วยเหลือให้ประชาชนที่ยากจนได้มีที่อยู่อาศัย
       
       สิทธิมีอาหารการกินอย่างเหมาะสม (Rights to adequate food) ไม่อดอยากหรือเกิดภาวะทุกขโภชนาการในชนบท และในหมู่คนจนในเมือง
       
       สิทธิได้รับการพยาบาล (Rights to health) โดยไม่ถูกปฏิเสธจากหมอ โรงพยาบาล หรือไม่ถูกคิดค่ารักษาพยาบาลแพงเกินเหตุ
       
       สิทธิได้รับการศึกษา (Rights to education) ที่มีคุณภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างน้อยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
       
       สิทธิได้รับการประกันสังคม (Rights to social security) คือ สิทธิของแรงงานและประชาชนที่จะได้รับการคุ้มครองชดเชย ค่ารักษาพยาบาล การเกิดอุบัติเหตุ การตกงาน การชราภาพหรือเกษียณอายุ จากรัฐหรือหน่วยงานด้านการประกันสังคมซึ่งควรขยายถึงประชาชนทุกคนนอกจากแรงงานที่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ เช่นเกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย
       
       รัฐบาลและภาคสังคมประชาต้องให้การศึกษาเรื่องสิทธิเหล่านี้ทั้งในโรงเรียนและแก่พลเมืองทั่วไป และรัฐบาลต้องประกันสิทธิเหล่านี้ให้กับพลเมืองของตน ตัวอย่างเช่น พลเมืองควรมีสิทธิที่จะมีน้ำที่สะอาดและปลอดภัยไว้กินไว้ใช้ เพราะเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ รัฐบาลจึงมีหน้าที่จัดหาบริการน้ำสะอาดให้กับประชาชนทั่วประเทศในราคาที่ต่ำพอที่ทุกคนจะเข้าถึงได้
       
       ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ มีปัญหารัฐบาลคอรัปชั่นและขาดประสิทธิภาพ ทำให้การบริการสาธารณูปโภค รวมทั้งน้ำประปาทำได้ไม่ทั่วถึง และมีแนวคิดที่ผลักดันมาจากธนาคารโลกให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจสาธารณูปโภคให้เป็นของบริษัทเอกชนซึ่งช่วยได้เฉพาะคนรวยคนชั้นกลางเมืองในเมือง แถมราคาสูงอีก แนวทางออกที่ดีกว่า คือการปฎิรูปรัฐวิสาหกิจหรือ แปรรูปให้เป็นสหกรณ์ผู้ใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพและให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม รัฐบาลไม่ควรโอนกิจการน้ำประปาให้เป็นของเอกชนและทำให้กลายเป็นสินค้าเพื่อการหากำไรของเอกชน เพราะเท่ากับเป็นการทำให้น้ำสะอาดกลายเป็นสินค้าที่เข้าถึงเฉพาะผู้บริโภคที่เป็นคนรวยคนชั้นกลาง แต่คนจนเข้าไม่ถึง ประสบการณ์ในหลายประเทศ พบว่าสหกรณ์ผู้ใช้น้ำประปา สหกรณ์ผู้ใช้ไฟฟ้าชนบท ทำงานได้มีประสิทธิภาพสำหรับส่วนรวม มากกว่ากิจการประเภทเดียวกันทั้งของรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชน
       
        สิทธิในการทำมาหากินและการมีงานทำ
       
        ประชาชนในสังคมดั้งเดิมทำมาหากินในภาคเกษตรและหัตถกรรมแบบพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของตลาดระดับชาติหรือระดับโลก แต่ระบบโลกาภิวัฒน์โดยบรรษัทข้ามชาติ ทำให้เกษตรกรและชาวประมงเข้ามาสู่ระบบตลาด เป็นหนี้ และขาดทุนอย่างต่อเนื่อง กลายมาเป็นเกษตรกรและชาวประมงที่เป็นหนี้หรือเป็นคนงานตามพันธสัญญากับบรรษัท และบางส่วนอพยพไปเป็นแรงงานรับจ้างและผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยในเมือง
       
        การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม การค้า และบริการ จ้างงานคนได้เพียงส่วนหนึ่ง เพราะระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่เน้นการใช้เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์เพื่อลดต้นทุนการผลิตและการหากำไรให้บริษัท การขยายตัวของห้างค้าปลีกขนาดยักษ์ของทุนต่างชาติในประเทศไทยทำให้ร้านค้าเล็กๆ ต้องขาดทุนปิดกิจการ คนตกงานเพิ่มขึ้น ปัจจุบันองค์การแรงงานโลกรายงานว่ามีคนงานในประเทศกำลังพัฒนาทั่วทั้งโลกราว 30% ที่ว่างงานหรือทำงานต่ำกว่าระดับ
       
       การว่างงาน สร้างปัญหาทั้งความยากลำบากในทางกายภาพและทางจิตใจเพราะทำให้คนว่างงานนานๆรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแก้ไขเป็นอันดับแรก คนที่มีงานทำจำนวนมากก็ทำงานภายใต้เงื่อนไขของการถูกเอารัดเอาเปรียบ และภายใต้สภาพแวดล้อมการทำงานที่เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพและอุบัติเหตุ
       
        ดังนั้นสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงจะต้องปกป้องสิทธิในการทำมาหากินและการมีงานทำของประชาชน ทั้งในภาคเกษตรแบบพึ่งตนเอง ภาคการผลิตแบบผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย และสิทธิของคนงานที่จะไม่ถูกเอาเปรียบในภาคอุตสาหกรรม การค้าและบริการ ผ่านขบวนการสหภาพแรงงาน สหกรณ์คนงาน สหกรณ์ผู้ผลิต ผู้บริโภค สหกรณ์ร้านค้า และองค์กรเพื่อช่วยเหลือกันและกันของประชาชนประเภทต่างๆ
       
        การส่งเสริมการผลิตขนาดเล็กและขนาดกลางในท้องถิ่นจะส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การจ้างงานและเศรษฐกิจท้องถิ่นมากกว่าการผลิตขนาดใหญ่ที่เป็นของนายทุนนอกท้องถิ่นหรือนอกประเทศ ที่มักใช้เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ ทุนเทคโนโลยีระดับสูง และทำให้มีการสั่งเข้าสินค้าจากต่างประเทศและกำไรไหลออกไปต่างประเทศมาก การฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งจะเป็นประโยชน์ในด้านการประหยัดพลังงาน เพราะไม่ต้องขนส่งไกล และประชาชนจะดูแลเรื่องความปลอดภัยของสินค้า และสภาพแวดล้อมได้ใกล้ชิดกว่าการปล่อยให้บริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมุ่งแต่ผลกำไรส่วนตัวเป็นผู้ผูกขาดควบคุมการลงทุนและการตลาด
 
 
http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9510000085294

ที่เอาบทความมาแปะ นี้คือ ทฤษฏี ทั้งนั้นน่ะครับ   ใกล้แล้วที่เราจะได้เริ่มปฏิบัติ การปฎิบัติ ไม่ใช่แค่ พธม.  ต้อง ปชช.  นักวิชา ทั้งประเทศ แต่ พธม. เป็นแค่คนจุดประกาย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01-09-2008, 19:07 โดย chaturant » บันทึกการเข้า
chaturant
ขาประจำ
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 499



« ตอบ #3 เมื่อ: 01-09-2008, 19:13 »

ประชาธิปไตยแบบใหม่ และการฟื้นฟูความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน
 
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 10 กรกฎาคม 2551 09:37 น.
 
 
       ประชาธิปไตยใหม่/ประชาธิปไตยของแท้
       
       ประชาธิปไตยไม่ได้มีความหมายแค่การเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเลือกตั้งที่ยุติธรรม ไม่มีการโกง การซื้อเสียงขายเสียง และการใช้อิทธิพลอำนาจ บารมี ระบบอุปถัมภ์ เล่นพรรคเล่นพวก
       
       และที่สำคัญ คือ ต้องเป็นระบบที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการได้รับการศึกษา ข้อมูลข่าวสาร สามารถจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิและปกป้องชุมชนของเขาได้ และสามารถเลือกผู้แทนที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ไม่ใช่เป็นตัวแทนของนายทุน
       
       ประชาธิปไตยแบบใหม่ หมายถึง ประชาชนต้องมีสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชน และชุมชนต้องมีสิทธิชุมชนในการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนได้
       ความรับผิดชอบต่อความผูกพันกับผลกระทบภายหลัง (Accountability) เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับประชาธิปไตยแบบใหม่ การตัดสินใจว่าจะจัดการกับป่าในชุมชนอย่างไร หากมีสภาชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจ สภาชุมชนย่อมที่จะคำนึงถึงผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และลูกหลานของคนในชุมชนมากกว่ารัฐบาลกลางที่เป็นตัวแทนของนายทุนใหญ่ ซึ่งสนใจแต่การทำกำไรสูงสุดให้กับบริษัทโดยการตัดไม้ไปขาย และไม่รับผิดชอบต่อปัญหาน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม การขาดแคลนน้ำในชุมชน ที่จะเป็นผลตามมา
       
       หลักการของประชาธิปไตยใหม่คือ การสร้างระบบบริหารที่เอื้ออำนวยให้ประชาชนเลือกคนที่ต้องรับผิดชอบผลที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของเขา ซึ่งหมายถึงต้องเป็นตัวแทนของประชาชนที่รักษาผลประโยชน์ของคนในชุมชนและในประเทศ และต้องมีการจำกัดสิทธิและอำนาจของนายทุนที่อยู่นอกชุมชนและนอกประเทศ
       
       ระบบประชาธิปไตยที่เน้นแต่การเลือกตั้งผู้แทน กลายเป็นระบบประชาธิปไตยของตัวแทนนายทุน ที่ใช้อำนาจทุนและความรู้ที่เหนือกว่าคนอื่น ทำให้ตนเองได้รับเลือกเข้ามาเป็นรัฐบาล แล้วก็ไปเจรจาตกลงเรื่องการลงทุนและการค้ากับบริษัทข้ามชาติในที่ลับตาและพร้อมที่จะลดเงื่อนไขมาตรฐานด้านสุขภาพ แรงงาน และสภาพแวดล้อมของประเทศ เพียงเพื่อผลกำไรของบริษัททุนข้ามชาติและบริษัทร่วมลงทุนของพวกนายทุนในประเทศ
       
       การจะพัฒนาประชาธิปไตยแบบใหม่ได้ ประชาชนต้องเข้าร่วมการต่อสู้ทางการเมือง เพื่อทำให้ชุมชนท้องถิ่น องค์กรประชาชนรูปแบบต่างๆเข้มแข็ง มีส่วนร่วมในการกำหนดการใช้งบประมาณและทรัพยากรโดยภาคประชาชนเพิ่มขึ้น เข้าร่วมการต่อสู้ทางเศรษฐกิจ สังคม ด้วยการขยายบทบาทของกลุ่มออมทรัพย์ สหกรณ์ สหภาพแรงงาน สมาคมเกษตรกร และสมาคมอาชีพต่างๆ กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติสภาพแวดล้อม กลุ่มการพัฒนาทางเลือก และกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของคนจน คนด้อยโอกาส คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมประเภทต่างๆ
       
      ประชาธิปไตยใหม่ต้องปกป้องผลประโยชน์ของคนในประเทศ คัดค้านการครอบงำเอาเปรียบของบริษัทข้ามชาติ ปฏิรูปโครงสร้างและนโยบายการลงทุน การค้า และการเงินการธนาคาร ให้เป็นธรรมสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ที่ยากจน เพื่อการสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญของประชาธิปไตยทางการเมืองและสังคม
       
       ประชาธิปไตยของแท้
       
       ระบบการเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ไม่ได้แปลว่ามีเลือกตั้งแล้วถือว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วเสมอไป หากประชาชนต้องการจะตรวจสอบว่าสภาพการเมืองในตอนไหนเป็นประชาธิปไตยที่แท้หรือไม่ ต้องพิจารณาว่าสภาพการเมืองในขณะนั้น ประกอบไปด้วยสภาวะความเป็นประชาธิปไตย อย่างน้อย 6 ข้อ ดังต่อไปนี้ มากน้อยเพียงไร
       
       1. การเลือกตั้งผู้แทนจะต้องเป็นอิสระและยุติธรรม ไม่มีการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อโกงการเลือกตั้ง ไม่มีการซื้อเสียงขายเสียง และการที่กลุ่มอภิสิทธิชนใช้อำนาจอิทธิพลและระบบอุปถัมภ์ ครอบงำโน้มน้าวให้ประชาชนที่ยากจนขาดการศึกษาและข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพ ต้องเลือกเฉพาะพวกเขา
       
       2. ต้องมีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่ดี เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ องค์กรประชาชนเป็นอิสระและมีอำนาจต่อรองจริง สามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้ และต่างฝ่ายต่างตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน รวมทั้งประชาชนสามารถเข้าชื่อยื่นถอดถอนผู้แทนที่มีพฤติกรรมไม่ชอบธรรมได้ เช่น เข้าชื่อยื่นให้วุฒิสภาลงมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางประเทศให้ประชาชนเข้าชื่อกันให้มีการจัดการลงประชามติถอดถอนผู้นำประเทศได้โดยตรง
       
       3. การบริหารบ้านเมืองจะต้องโปร่งใส มีความรับผิดชอบที่ผูกพันกับผลกระทบภายหลังอย่างมีเหตุผลอธิบายได้ (accountability) เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่มีการคอรัปชั่น การหาผลประโยชน์ทับซ้อน การเล่นพรรคพวก การหาประโยชน์ส่วนตัว การใช้อภิสิทธิและอำนาจบาตรใหญ่ของฝ่ายผู้แทนที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นรัฐบาล
       
       4. มีรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ขนบธรรมเนียม ที่มุ่งประโยชน์คนส่วนใหญ่ อย่างเสมอภาคมีเหตุผล มีความคงเส้นคงวา คนส่วนใหญ่ยอมรับ รวมทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายเหล่านั้นต้องมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติได้จริงๆด้วย
       
       5. สื่อมวลชนและองค์กรประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ เป็นอิสระ มีศักดิ์ศรี และเข้มแข็ง ประชาชนมีจิตสำนึกความเป็นพลเมือง และมีส่วนร่วมในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การแสดงความคิดเห็น การสมาคม การชุมนุม การทำประชาพิจารณ์ (เปิดอภิปรายความคิดเห็นประชาชนเรื่องกฎหมายและโครงการต่างๆ) และการลงประชามติว่า ประชาชนจะรับมือหรือไม่ในเรื่องสำคัญ ตลอดจนประชาชนสามารถใช้สิทธิในการเข้าชื่อถอดถอนผู้แทนที่มีพฤติกรรมโกงหรือเสื่อมเสียอื่นๆได้ โดยไม่เสี่ยงต่อการคุกคามจากอำนาจรัฐ
       
       6. มีการกระจายการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคม สู่ประชาชนอย่างเป็นธรรม ทำให้เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคม(เสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาและวัฒนธรรม การศึกษา สาธารณสุข ฐานะทางสังคม) และมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่มั่นคง สม่ำเสมอ

       
       การฟื้นฟูความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน
       
       การตัดสินใจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมที่ทุกวันนี้ถูกกำหนดโดยรัฐบาลกลางและนายทุนใหญ่นั้น ควรกระจายไปให้ชุมชนที่ท้องถิ่นทำเองได้เป็นส่วนใหญ่ เช่นระบบเก็บภาษีและจัดสรรการใช้ทรัพยากรของคนในชุมชนในเรื่องการศึกษา ศาสนา สาธารณสุข สวัสดิการสังคม ฯลฯ การให้ชุมชนเป็นผู้ทำเองโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรง ไม่ใช่โดยนักการเมือง จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชุมชน สร้างการพัฒนาที่มั่นคงยั่งยืน กว่าระบบรวมศูนย์ที่ส่วนกลางโดยนักการเมืองและนายทุน
       
       การจะแก้ปัญหาประเทศและประชาชนยากจน ต้องแก้ด้วยเศรษฐกิจแบบใหม่ ทำให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ในการใช้ทรัพยากรและแรงงานของท้องถิ่นและของชาติเพื่อตอบสนองความต้องการที่จำเป็นของประชาชน (เช่น เรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย ยา ฯลฯ) เพื่อลดการพึ่งพิงคนภายนอก และบริษัทข้ามชาติ วิธีการ คือ ประชาชนต้องศึกษาเรียนรู้ฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ ประชาชนเป็นผู้ควบคุมการผลิตการค้าด้วยตนเอง จะลดการถูกเอารัดเอาเปรียบ ลดปัญหาการแข่งขันแบบคนชนะได้ไปหมดของระบบทุนนิยม เป็นการชนะร่วมกันเพิ่มการจ้างงานและเพิ่มการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในชุมชนและในประเทศ
       
       การเน้นการผลิตและการบริโภคในระดับท้องถิ่น จะลดการค้าระหว่างประเทศระยะไกลที่ไม่จำเป็นหรือจำเป็นน้อยลงได้อย่างมาก ช่วยประหยัดการใช้พลังงาน ประหยัดการเดินทางไปทำงานไกลภูมิลำเนา ลดค่าใช้จ่ายการขนส่ง การจัดจำหน่ายในยุคที่น้ำมันมีราคาสูงอย่างมหาศาล ลดการทำลายสภาพแวดล้อม รวมทั้งทำให้ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารที่สดและปลอดภัยกว่าด้วย ผู้ผลิตในชุมชนที่คนรู้จักกันหรือรู้ว่าใครทำอะไร จะสนใจเรื่องสภาพแวดล้อม และความปลอดภัยของคนในชุมชนมากกว่านายทุนต่างชาติหรือนายทุนจากในเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไป การฟื้นฟูความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน จึงเป็นทางเลือกในการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่ดีกว่าระบบทุนนิยมผูกขาดที่รวมศูนย์โดยบริษัทขนาดใหญ่ในหลายๆ ทาง
 
 
http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9510000081075

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
    กระโดดไป: