บทวิเคราะห์จากไทยโพสต์ครับ ลงเนื้อหาเอาไว้เยอะดี 
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สมัคร 4 "อัปลักษณ์" แจกเก้าอี้ "กลุ่มทุน-นอมินี-หัวหน้าก๊วน"http://www.thaipost.net/index.asp?bk=sunday&iDate=3/Aug/2551&news_id=161957&cat_id=1102003 สิงหาคม 2551 กองบรรณาธิการ
แม้จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อยืดอายุขัย และฟื้นฟูการยอมรับจากประชาชนให้มีมากขึ้น ทว่าปัจจัยทุกอย่างกลับไม่เป็นใจ
และยิ่งทำก็ยิ่งมีแต่ทรุดต่ำลงทุกขณะ สำหรับรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช
ที่การปรับคณะรัฐมนตรี "สมัคร 4" ที่หลายคนเมื่อเห็นรายชื่อแล้วต่างก็เห็นตรงกันว่า
"อัปลักษณ์"
อันสะท้อนให้เห็นว่าคำกล่าวของ "สมัคร" ที่อ้างก่อนหน้านี้ว่าจะเป็นการปรับ ครม.ที่จะทำให้การยอมรับของรัฐบาลดีขึ้น
โดยจะดึงมืออาชีพมาร่วมงานทุกตำแหน่ง สุดท้ายก็เป็นคำกล่าวที่หาได้เป็น ความจริงไม่ เพราะโผรายชื่อที่ปรากฏออกมา
พบว่า เป็นการนำคนมาเป็นรัฐมนตรีด้วยปัจจัยและเงื่อนไขการเมือง เหมือนกับตอนตั้ง "สมัคร 1" ไม่ผิดเพี้ยน
ภายใต้สูตร "ตอบแทนนายทุน-นอมินีร่างทรง-ให้รางวัลหัวหน้ากลุ่มก๊วน" โฉมหน้า ครม.สมัคร 4 จึงสะท้อนให้เห็นว่า
สมัครก็ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรี ที่
"บริหารการเมือง" มากกว่า "บริหารบ้านเมือง"!
ไม่ว่าจะเป็นกรณี "ตอบแทนกลุ่มทุน" ก็พบว่ามีรัฐมนตรีหน้าใหม่และหน้าเก่าหลายคนอยู่ในโผรายชื่อครั้งนี้ เช่นของ
เพื่อแผ่นดินกับกรณีของ "ประสงค์ โฆษิตานนท์" เจ้าของบริษัทสุโขทัย หินอ่อน ถุงเงินรายใหญ่ในการเลือกตั้งของ
กลุ่มพญานาคที่มี "พินิจ จารุสมบัติ - สิทธิชัย โควสุรัตน์" เป็นหัวขบวน กับตำแหน่ง "มท.3" แทนสิทธิชัย หรือ
กรณีของ "พิชัย นริพทะพันธุ์" นักธุรกิจรายใหญ่จากอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอัญมณีในภาคใต้ หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลัง
การก่อตั้งพรรคเพื่อแผ่นดิน กับเก้าอี้ รมช.การคลัง ที่เดิมเขาจะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีตั้งแต่ในช่วงตั้งรัฐบาล แต่เปิดทาง
ให้ "สุวิทย์ คุณกิตติ" หัวหน้าพรรคที่ต้องการเป็นรัฐมนตรี เพราะเป็นถึงหัวหน้าพรรคแม้จะสอบตก ส.ส.ขอนแก่น
จริงๆ แล้วเดิมทั้งสองคนจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีตั้งแต่ช่วงตั้งรัฐบาล แต่ติดขัดที่มีการตกลงกันจะใช้ระบบ "สมบัติผลัดกันชม"
จึงเปิดทางให้คนอื่นไปก่อน รวมถึงปัจจัยด้านรัฐธรรมนูญที่ทำให้ "ประสงค์" ซึ่งมีข่าวว่าสนับสนุนทุนให้กับสายพินิจ
ในการเลือกตั้งภาคอีสาน ไม่สามารถรับตำแหน่งได้เพราะยังพ้นจากการเป็น ส.ว.ไม่ถึงสองปี ทำให้ประสงค์มีข้อตกลงกับ
"สิทธิชัย" ในการเปิดทางให้ไปเป็นรัฐมนตรีก่อน
แต่เมื่อถึงเวลาก็เป็นคิวของประสงค์ อดีตถุงเงิน "บ้านสนามบินน้ำ" ของพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ สมัยเป็นเลขาธิการ
พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้รหัส "ก๊วนเอสเค บ้านสามหลัง" แต่เมื่อ เสธ.หนั่นไม่มีบทบาทการเมืองใดๆ ในรัฐบาลและ
ประชาธิปัตย์ หลังเว้นวรรค 5 ปีกรณีปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ทำให้ประสงค์หันมาผูกสัมพันธ์กับกลุ่มของพินิจ จนสุดท้ายมา
เป็นนายทุนใหญ่ให้กับกลุ่มพญานาค จนถูกผลักดันให้เป็นรัฐมนตรีในครั้งนี้
เฉกเช่นเดียวกับกรณีของ "ชวรัตน์ ชาญวีรกูล" ที่แค่ 5 เดือนก็ย้ายสลับไปมาแล้วถึงสามครั้ง จาก รมช.สาธารณสุข
ไปเป็น รมว.การพัฒนาสังคมฯ ที่ยังเดินสายมอบนโยบายให้กับส่วนราชการแค่ไม่กี่หน่วยงาน อีกไม่กี่วันก็จะย้ายกลับไป
เป็น รมว.สาธารณสุขเสียแล้ว ถือเป็น "นายทุน" คนสำคัญของพลังประชาชน เนื่องจากมีธุรกิจใหญ่โตโดยเฉพาะบริษัท
รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ "ซิโน-ไทย คอนสตัคชั่น" ยักษ์ใหญ่รับเหมาก่อสร้าง เพียงแต่ชวรัตน์เป็นนายทุน "นอมินี"
ที่เข้ารับตำแหน่งแทนลูกชาย "อนุทิน ชาญวีรกูล" อดีต รมช.สาธารณสุข ที่ติดโทษบ้านเลขที่ 111 ห้าปี
สำหรับว่าที่รัฐมนตรี "นอมินี-ร่างทรง" ที่เด่นชัดคงหนีไม่พ้น "พิเชษฐ์ ตันเจริญ" รมช.พาณิชย์ โควตาพรรคเพื่อแผ่นดิน
อันเป็นการมารับตำแหน่งแทนน้องชาย สุชาติ ตันเจริญ หัวหน้ากลุ่มบ้านริมน้ำ ที่ก็ติดโทษแบน 111 ไทยรักไทยเช่นกัน
หลังจากช่วงตั้งรัฐบาลซีกสุชาติไม่มีตำแหน่งใดๆ เลยในรัฐบาล
เช่นเดียวกับกรณีของ "พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ" อดีต ผบ.ตร.และรองประธาน คมช. กับเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีควบ
รมว.มหาดไทย ลึกๆ แล้ว "บิ๊กโก" แม้จะมีข่าวว่าสมัครเป็นคนทาบทามด้วยตัวเองให้มารับตำแหน่ง แต่ข้อเท็จจริงก็คือ
เขาน่าจะเป็น "นอมินีการเมือง" ให้กับ "ทักษิณ" มากกว่าในการมารับตำแหน่งเสนาบดีมหาดไทย เพื่อให้พรรษาการเมือง
ของโกวิทมีความแข็งแกร่งตามลำดับ ก่อนผลักดันให้รับตำแหน่งที่ใหญ่โตขึ้นในอนาคต?
ทว่าที่เด่นชัดที่สุด คงหนีไม่พ้นการตั้ง ครม.แบบ "รักษาหม้อข้าว-สนองตอบ" หัวหน้ากลุ่มก๊วนการเมืองในพลังประชาชน
ทั้งที่มีปัญหาเรื่องการทำงานและภาพลักษณ์ เช่น การนำ "ไชยา สะสมทรัพย์" ที่หลุดจาก รมว.สาธารณสุข จากกรณีปัญหา
เรื่องแจ้งการถือครองหุ้นไม่ครบ จนถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีความผิด ซึ่งแม้จะไม่ได้ถูกเว้นวรรคการเมือง แต่การเป็น
เสนาบดีผู้รักษากฎหมาย ซึ่งควรต้องมีจริยธรรมและมาตรฐานทางการเมืองสูงกว่าคนทั่วไป กลับได้มาเป็น "รมว.พาณิชย์"
อีกครั้ง นอกเหนือจากจะเป็นการ "ตบหน้า" องค์กรหน่วยสอบและองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
เหตุผลลึกๆ ก็คือ สมัครไม่กล้าพอที่จะขัดขวางไม่ให้ไชยากลับมาเป็นรัฐมนตรี เพราะรู้ดีว่าไชยามีบทบาทสูงในการ
เลือกตั้งที่ผ่านมา ทั้งในฐานะคนลงขันรายใหญ่ให้กับพลังประชาชน รวมทั้งเป็นหัวหน้าทีมเลือกตั้งภาคกลางที่นำ ส.ส.
เข้ามาได้เป็นกอบเป็นกำ ดังนั้นเมื่อไชยาพลาดจากเก้าอี้ รมว.มหาดไทยที่หมายปอง สมัครจึงเกรงว่าหากทำให้ไชยา
ไม่พอใจ ก็จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาปั่นป่วนภายในรัฐบาลและภายในพลังประชาชนมากขึ้น สมัครจึงไม่กล้าเสี่ยงที่จะไม่ให้
ตำแหน่งกับไชยา จึงต้องมอบเก้าอี้ รมว.พาณิชย์ เพราะกลัวเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของตัวเองสั่นคลอนนั่นเอง
เช่นเดียวกับกรณีการเป็นว่าที่ "รมว.วัฒนธรรม" ของสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ที่การตั้ง ครม.ครั้งนี้ สมัครและทักษิณ
ผลักดันให้สมศักดิ์เป็นรัฐมนตรีในโควตา "อีสานพัฒนา" ที่มี ส.ส.ในสังกัดเกือบ 30 คน หลังจากการตั้งสมัคร 1 ไม่มีตำแหน่ง
รัฐมนตรีให้กับกลุ่มดังกล่าวแม้แต่คนเดียว
ก่อนที่จะเกิดปัญหาบานปลายว่าเป็นการ "หักหลัง" เพื่อน ส.ส.ในกลุ่มด้วยกันเอง เพราะสมศักดิ์ผิดข้อตกลงที่ตามคิว
ต้องให้ "ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข" ส.ส.เลย 9 สมัยเป็นรัฐมนตรี แต่สมศักดิ์กลับคว้าเก้าอี้ไปครอบครองบนการแฉของ
ส.ส.ในกลุ่ม ว่าสมศักดิ์เอาความเป็นหัวหน้ากลุ่มและ ส.ส.ในสังกัดไปต่อรองขอเก้าอี้ให้กับตัวเอง จนสุดท้ายเกิดการ
"สาวไส้-แฉแหลก" กันเอง
แถมยังพาดพิงไปถึง "คนใกล้ชิดสมัคร" กับข้อกล่าวหารับ "เช็ค 10 ล้านบาท" สมัยมีตำแหน่งทางการเมือง
ที่ศาลากรุงเทพมหานคร อันตอกย้ำความจริงที่ว่า กลุ่มก๊วนการเมืองในพลังประชาชนมีอำนาจการต่อรองสูงยิ่ง
โดยที่สมัครได้แต่เล่นบทลอยตัวไปวันๆ เพราะไม่มีอำนาจในการเข้าไปจัดการ จนทำให้ "กลุ่มก๊วนการเมือง"
กลายเป็นส่วนสำคัญของการบริหารประเทศ ซึ่งถือเป็นสิ่งอันตรายอย่างยิ่งสำหรับประเทศชาติ
บทบาทของ "กลุ่มการเมือง" ต่อการปรับ ครม.ครั้งนี้ ผู้ที่ถือว่ามีบทบาทสูงอย่างเห็นได้ชัดในการปรับ ครม.ครั้งนี้
ก็คงหนีไม่พ้น
"เนวิน ชิดชอบ"
ที่คิดการใหญ่ขยายขุมกำลังจากแค่ซุ้มบุรีรัมย์ในอดีต ที่มี ส.ส.อีสานใต้แค่ไม่กี่จังหวัดคือ "บุรีรัมย์-สุรินทร์-ศรีสะเกษ"
มาวันนี้การมีขุมกำลัง ส.ส.อีสานนับร้อยคนจากหลายจังหวัด ที่ไม่ใช่แค่บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ คอยขึ้นตรงรับฟังคำสั่ง
ทำให้แม้แต่ "ทักษิณ-พจมาน ชินวัตร" ก็ยังถูกบดบังบารมีในพลังประชาชนและในรัฐบาลไปเสียมากโข โดยเฉพาะกับ
อนาคต ของทั้งสองคนที่กำลังนับถอยหลัง เมื่อ "นายหญิง" ที่ครั้งหนึ่งมีอิทธิพลทางการเมืองสูงยิ่งในไทยรักไทยจนมาถึง
พลังประชาชน ถูกศาลตัดสินจำคุกโดยไม่รอลงอาญา แถมถูกประจานไปทั่วโลกว่า
"ทำผิดกฎหมาย สร้างแบบอย่างไม่ดีให้กับสังคม"
ในการเลี่ยงภาษีแค่ 546 ล้าน ก็ยิ่งทำให้ต่อจากนี้ไป พลังประชาชนจำเป็นต้องพึ่งพิง "หัวหน้ากลุ่ม" มากยิ่งขึ้น
อันเป็นผลดีกับกลุ่มเนวินแน่นอน เห็นได้จาก 4 รัฐมนตรีในสายเนวิน คือ สุพล ฟองงาม รมช.มหาดไทย, ทรงศักดิ์ ทองศรี
รมช.คมนาคม, ธีระชัย แสนแก้ว รมช.เกษตรและสหกรณ์, พงศกร อรรณนพพร รมช.ศึกษาธิการ พบว่าไม่มีใคร
ถูกปรับออกแม้แต่คนเดียว ทั้งที่แต่ละคนก็ไม่ได้มีผลงานและมีปัญหามากมาย
เช่นกรณีน้องชายธีระชัยและคนใกล้ชิด ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทำร้ายพันธมิตรฯ ที่อุดรธานี รวมถึงการ
กลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีอีกครั้งของไชยา ก็มีแรงหนุนมาจากเนวิ นเช่นกัน เพราะทั้งคู่มีการจับมือกันมาตลอด
ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง จากสายสัมพันธ์ที่เนวินไปอยู่พรรคเอกภาพของตระกูลสะสมทรัพย์เมื่อเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน หากใครคิดเป็นศัตรูหรือคิดแข่งบารมีด้วยก็จะถูก "เนวิน" ที่ไปจับมือกับกลุ่มอื่นๆ ในพลังประชาชน
รวมถึงคนนอกพรรคจัดการ "ตัดตอน" อย่างรวดเร็ว เช่นที่เกิดขึ้นกับกรณีของ "เฉลิม อยู่บำรุง" ที่หลุดจากเก้าอี้
มท.1 และ "สุวิทย์ คุณกิตติ" ที่ถูกเตะโด่งพ้น ครม. จากสาเหตุที่ทั้ง 2 คนมีปัญหากับกลุ่มเนวินและกลุ่มอื่นๆ
ที่มีคอนเนกชั่นอันดีกับเขา มันจึงทำให้เนวินที่ปกติก็ถูกจับตามองอยู่แล้วว่ากำลังคิดการใหญ่เรื่อยๆ จนข้ามหน้าข้ามตา
ทักษิณมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกเหนือจากกุมอำนาจบริหารและนิติบัญญัติแล้ว คนใกล้ชิดเนวินจากหลายกลุ่มก็พลอย
ได้ดิบได้ดีไปด้วย
เช่น การผลักดันให้ พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ผบช.กลาง ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของกลุ่มคิงส์พาวเวอร์ ที่เนวิน
มักเข้าไปนั่งบัญชาการการเมืองที่โรงแรมของคิงส์พาวเวอร์ ในซอยรางน้ำ เข้าไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เช่น
องค์การรถไฟฟ้ามหานคร หรือ พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รอง ผบก.ป. ไปเป็นบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ก่อนที่
ศาลปกครองจะสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้บอร์ดดังกล่าวเข้าทำหน้าที่
ด้วยบทบาทของเนวินดังกล่าวที่มีสูงยิ่งในพลังประชาชน รวมถึงกับพรรคการเมืองอื่น ทำให้สมัครก็ดูจะเกรงใจ
และไม่กล้าปฏิเสธสิ่งที่ เนวินยื่นเงื่อนไขไปหลายครั้ง จนเป็นที่มาของรหัส Gang of Four ในทำเนียบรัฐบาล
และพลังประชาชน ที่เริ่มมีหลายเสียงในพรรคและนอกพรรคกำลังก่อตัวและวางแผนจะเช็กบิลคืน Gang of Four
เช่นกัน เพียงแต่กำลังรอโอกาสเท่านั้น
การเกิดขึ้นของสมัคร 4 จึงไม่ได้ยินเสียงตอบรับมากนักจากสังคม แถมบางส่วนยังส่งเสียง "ยี้" เสียด้วยซ้ำ
และแทนที่จะทำให้การยอมรับในตัวของสมัครดีขึ้น กลับยิ่งทำให้เวลาของสมัครในเก้าอี้นายกฯ นับถอยหลัง
เร็วขึ้นไปเสียด้วยซ้ำ หลังเห็นชัดว่านี่คือโผตอบแทน
"กลุ่มทุน-นอมินี-หัวหน้าก๊วน" ร้อยเปอร์เซ็นต์.
ทีมข่าวการเมือง