สวัสดีครับ..
สืบเนื่องจากกระทู้นี้..
http://forum.serithai.net/index.php?topic=30412.0ตอนแรกตั้งใจจะตอบต่อท้ายกระทู้ แต่เห็นว่า ความเห็นของผมยาวมาก และกระทู้เลยไปไกลแล้ว คนที่เข้ามาใหม่จะไม่ไปอ่านทุกความเห็น ก็เลยขออนุญาตยกมาต่อกันที่นี่
หลายความเห็นที่ไม่ได้ตอบในกระทู้นู้นก็ขอยกยอดมาเคลียร์ที่นี่ทั้งหมดนะครับ (ผมอ่านแค่สองหน้าเอง
![](http://oldforum.serithai.net/Smileys/default/slime_v.gif)
)
เพื่อให้ง่ายแก่การอ้างอิงเมื่อต้องการทักท้วงผม ผมจึงจัดลำดับเป็นหัวข้อๆ ไว้ สามารถหยิบมาได้เลยโดยไม่ต้องควานหาทั้งบทความ
เนื้อหาจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เรื่องวาระซ่อนเร้นของพันธมิตรในการทวงคืน ปตท. และเรื่องความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและตัวเลขที่ถูกพันธมิตรบิดเบือน หรือ จงใจให้ไม่ครบถ้วน ทำให้ประชาชนที่ไม่ได้ศึกษาแบบเจาะลึกเข้าใจผิดได้ และผมก็ได้เห็นจากกระทู้ที่แล้วว่า มีเพื่อนๆ บางคนคล้อยตาม หรือ อาจจะเข้าใจผิดมาโดยตลอดก็ได้จึงแสดงความเห็นเช่นนั้น
ขอย้ำสรุปตรงนี้นะครับ สำหรับคนที่ไม่ชอบอะไรยาวๆ จะได้ไม่ต้องเสียเวลา..
กระทู้นี้ไม่มีอะไรน่าสนใจเลยครับ ประเด็นทวง ปตท.เขาคงเลิกเล่นไปแล้ว ไม่ต่อยอดหรอก เพราะมันเป็นไปไม่ได้ พันธมิตรต้องการแค่รักษาแนวร่วมที่เป็นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเท่านั้น จากนี้ไปคงไปเล่นกันเรื่องอื่นๆ ที่เป็นประเด็นหลักต่อไป แค่นี้แหละครับ..จบ...............
ส่วนข้างล่างนี้ เป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องที่ผมต้องการแลกเปลี่ยนกับผู้ที่สนใจจริงๆ และเป็นการบันทึกเอาไว้ในหน้าเว็บ และเพื่อเก็บลงในบล็อกตัวเองเหมือนเขียนไดอารี่ เพื่อให้คนที่สนใจใช้อ้างอิงว่า ครั้งหนึ่งเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมือง
ขอเริ่มเลยนะครับ..
1) จุดเริ่มต้นของการออกมาประท้วงบนถนนของพันธมิตร
พันธมิตรออกมายึดสะพานมัฆวานเพราะไม่พอใจที่รัฐบาลนอมินีลุแก่อำนาจ ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพื่อฟอกความผิดให้กับระบอบทักษิณ และประท้วงเรื่องการพยายามแทรกแซงองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบนักการเมืองที่ทุจริตและขายชาติ
ในเมื่อไม่มีกลไกใดๆ ทางรัฐสภาสามารถทัดทานการใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้องของรัฐบาลได้ ก็ต้องอาศัยอำนาจของประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้องโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นไปตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ
จุดมุ่งหมายดั้งเดิมนี้ เห็นด้วย 100%
แม้ต่อมาจะมีการขยายขอบเขตของการประท้วงบ้าง เช่น เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม เพื่อปกป้องอธิปไตยบริเวณพื้นที่ทับซ้อนรอบเขาพระวิหาร รวมทั้งเรื่อง การเปลี่ยนแปลงการเมืองไปสู่ การเมืองใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้คนชั่วอาศัยการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียวเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากประเทศอีก
ผมก็เห็นด้วยทั้งหมดเช่นกัน
เพียงแต่เรื่อง 70 ต่อ 30 พันธมิตรเปิดตัวเร็วไปหน่อย และสัดส่วนไม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนัก ผมต้องขอติงเอาไว้ อย่าเดินหน้าต่อ เพราะจะเสียแนวร่วมชนชั้นปัญญาชน และ ชาวรากหญ้าไปทั้งหมด
การคัดเลือกตัวแทนจากหลากหลายอาชีพโดยผ่านการเลือกตั้งกันเองมาเป็นผู้แทนราษฎร ผมเห็นด้วย สอดคล้องกับกรณี สว.ต้องมาจากการสรรหา ซึ่งอยู่ในต้นฉบับเกี่ยวกับความคิดที่ผมได้ส่งสำเนาไปให้สสร.ตั้งแต่ปี 2549 และทำเป็นกระทู้ในเสรีไทยเรื่อง รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่อยากเห็น ความยาว 30 กว่าหน้ากระดาษ ซึ่งก็คงมีคนในนี้อ่านจบไม่ถึง 10 คนหรอกครับ แต่ สสร.ต้องอ่าน เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
2) วาระซ่อนเร้นในการทวงคืน ปตท.?
มีบางคนบอกว่า เรื่อง ปตท. พันธมิตรเล่นมาตั้งแต่ปี 2549 แล้วไม่ใช่เพิ่งมาเริ่ม
ก็มีส่วนจริงครับ เพราะพันธมิตรก็เล่นทุกเรื่องแบบเหวี่ยงแหอยู่แล้ว เวลาพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจบนเวทีปราศรัย และกรณี ปตท.ก็เป็นประเด็นฮอตที่เกิดขึ้นหลังจากศาลปกครองมีคำพิพากษาในยุครัฐบาลทักษิณให้ระงับการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเอาไว้ก่อน ศาลท่านคุ้มครองชั่วคราวนะครับ ไม่ได้ระงับอย่างถาวร ดังนั้น..ในอนาคต หากรัฐบาลมีการจัดการที่ดีกว่านี้ มีการทำประชาพิจารณ์ และแสดงให้เห็นว่า จะมีการกระจายหุ้นอย่างเป็นธรรม ก็สามารถยื่นขอแปรรูปได้อีก เพราะกฎหมายฉบับนั้นก็ยังอยู่
กลุ่มพันธมิตร + สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ(ที่ไม่ต้องการแปรรูป) + เอ็นจีโอที่เดินเรื่องขอความคุ้มครองจากศาล จึงมีสายสัมพันธ์ต่อกัน เพราะต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของระบอบทักษิณด้วยกันนั่นเอง แต่ถ้ามองลงไปให้ลึกๆ จุดมุ่งหมายของแต่ละฝ่ายหลังการสิ้นสุดของระบอบทักษิณแตกต่างกันนะครับ
การเคลื่อนไหวของพันธมิตรที่สะพานมัฆวานในระยะแรกดำเนินไปอย่างอิสระตามแนวทางที่วางไว้ จนกระทั่งไม่นานมานี้ ก็มีแนวร่วมจากสหภาพแรงงานการรถไฟ และการไฟฟ้า เข้ามาร่วมอย่างแข็งขัน รับปากจะส่งพนักงานเข้าร่วมด้วยทุกวัน และหากรัฐบาลสลายการชุมนุมเมื่อใด ก็พร้อมจะตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดการจราจรทางรถไฟทันที
เจตนารมณ์ของการทุ่มเทของสหภาพแรงงานครั้งนี้เป็นที่ฮือฮามาก เพราะเป็นกลไกลำคัญที่ทำให้พันธมิตรแข็งแกร่งและพลิกเป็นฝ่ายได้เปรียบ หลังจากรัฐบาลตั้งวอร์รูมเผชิญหน้า ฮึดฮัดจะใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมอยู่แล้ว
หลังจากนั้นเป็นต้นมา บนเวทีก็มีการโจมตีการบริหารปตท.เรื่อยมาแทบทุกวัน และถึงจุดสูงสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่พันธมิตรยกพลไปทวงคืน ปตท.ที่ถนนวิภาวดีรังสิต
ความจริงน่ะ การทวงคืน ทำทีหลังก็ได้ครับ การเมืองใหม่ของพันธมิตรสำเร็จ จะทำอะไรก็ง่ายอยู่แล้ว มาประกาศทวงคืน (ตอนหลังเปลี่ยนเป็นการ ยึดคืน) ในตอนนี้ ไม่เกิดประโยชน์อันใดเลยต่อการเคลื่อนไหวของพันธมิตร เพราะยังเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ สูญเสียพลังงานที่กำลังถดถอย และสูญเสียแนวร่วมที่เป็นนักวิชาการอิสระ และชนชั้นปัญญาชนไปอีกส่วนหนึ่ง
การปรากฏตัวบนเวทีที่ปตท.ของนายศิริชัย ไม้งาม แกนนำสหภาพการไฟฟ้า ก็เป็นคำตอบว่า ทำไมสหภาพแรงงานการไฟฟ้าจึงแข็งขันเข้าร่วมต่อสู้กับพันธมิตรเสมือนไม่มีเงื่อนไขใดๆ
การแลกเปลี่ยนที่ต้องอาศัยการพึ่งพากันและกันของพันธมิตรและแนวร่วมต่างๆ ก็ไม่น่าจะผิดแปลกอะไรหรอกครับ หากพันธมิตรจะบอกกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา และให้ข้อมูลที่ไม่บิดเบือนกับประชาชนโดยตลอด
ที่ผมคัดค้าน ก็คัดค้านประเด็นนี้แหละครับ คือ อย่าใช้ประชาชนที่เขาบริสุทธืใจกับพันธมิตรมาตลอด ตั้งแต่จุดเริ่มต้น มาปกป้องผลประโยชน์ขององค์กรใด องค์กรหนึ่ง ถ้าทำเพื่อเงื่อนไขแลกเปลี่ยนมวลชนซึ่งกันและกันในอนาคตก็ต้องบอกให้ประชาชนเหล่านั้นรู้ด้วย เพื่อพวกเขาจะได้ตัดสินใจในการเป็นแนวร่วมต่อไปหรือไม่
3) ทำไมสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจจึงกลัวการแปรรูปกันนัก?
รัฐวิสาหกิจทางด้านสาธารณูปโภคที่มีกำไร พาเหรดกันแปรรูปเป็นบริษัทมหาชนกันเกือบหมดแล้ว ทั้ง การบิน ทางด่วน พลังงาน โทรคมนาคม โรงไฟฟ้าบางแห่ง และล่าสุด การประปา เหลือที่กำไรดี พอจะขายได้ก็การไฟฟ้าฝ่ายผลิตนี่แหละ ใครๆ ก็มองออกว่า ถ้ากระแสโลกาภิวัฒน์ดำเนินต่อไปเช่นนี้ การไฟฟ้าต้องเสร็จนักการเมืองเข้าสักวัน เพราะกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจไม่มีใครยอมยกเลิกซักที ไทยรักไทยเดิมเอามาหาเสียงว่า จะยกเลิก แต่พอได้เป็นรัฐบาลกลับเอามาใช้ประโยชน์เสียเอง ( ถ้าตอนนั้น ไทยรักไทยยกเลิก วันนี้ไม่มีการประท้วงทั้งการไฟฟ้า และ ปตท.ครับ นี่คือ ความจริงเรื่องผลประโยชน์และมรดกตกทอดที่ต้องรักษาไว้ )
ต้องบอกก่อนว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน2 แล้ว เพราะผมไม่เชื่อว่า สภาพการจัดการแบบรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันจะเกิดการพัฒนาองค์กร จนนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนที่ใช้บริการรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ในระยะยาว ( ผมมองไป 5 - 10 ปีข้างหน้า ไม่ได้มองเฉพาะหน้า )
แต่ที่ต้องคัดค้านก็เพราะ รัฐบาลทักษิณมีเจตนาขายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าผลประโยชน์ของชาติต่างหาก
หากว่า ในอนาคตมีรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล และมีความกล้าคิด กล้าชนกับม็อบรัฐวิสาหกิจ คิดจะแปรรูป ผมก็จะสนับสนุนครับ
นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมคัดค้านการยึดคืน ปตท.ของพันธมิตรด้วย เพราะพันธมิตรไม่มีการแสดงหลักการใดๆ ประกอบการประท้วงว่า ถ้ายึดคืนมาแล้ว จะดูแลรักษาสภาพอย่างไรให้ ปตท.สามารถแข่งขันกับธุรกิจข้ามชาติได้ และไม่นำ ปตท.ไปสู่จุดตกต่ำเช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ
สหภาพแรงงานการไฟฟ้าไม่อยากแปรรูป เพราะต้องการรักษาทรัพยากรของแผ่นดินไม่ให้ตกอยู่ในมือของต่างชาติ หรือ เพราะกลัวการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความสำเร็จอย่างที่ ปตท.เป็นอยู่ทุกวันนี้?
เจตนาของแกนนำสหภาพ คือ พยายามตี ๆ ๆ เพื่อให้เห็นว่า ถ้าแปรรูปแล้ว น้ำมัน ก๊าซ มันจะแพงอย่างนี้ เพราะไม่เห็นหัวของประชาชนอีกต่อไป แต่เห็นผลประโยชน์ของเจ้าของหุ้นหยิบมือหนึ่ง ประชาชนที่ได้รับฟังโดยไม่หาข้อมูลเพิ่มเติมก็เออออด้วย การแปรรูปเป็นความเลวร้าย ทำให้น้ำมันแพง ก๊าซแพง
เจตนาของแกนนำสหภาพที่แฝงตัวอยู่ในพันธมิตรก็คงต้องการแค่นี้แหละครับ คือ สร้างเกราะป้องกันตัวเอง ไม่ได้คิดว่า จะทวงคืน ปตท.จริงๆ หรอก เพราะมันทำไม่ได้
การบินไทย ปตท. ทางด่วน การสื่อสาร และ โทรศัพท์ ยังไม่ถือว่า เป็นผู้ให้บริการระบบผูกขาดรายเดียว (Monopoly) แต่เป็นผู้ให้บริการในระบบกึ่งผูกขาด (Oligopoly) คือ ยังไม่ถึงกับมัดมือลูกค้าชก แต่การไฟฟ้า การประปา การรถไฟ ในประเทศเรานี้ต้องเรียกว่า ผู้ผูกขาดในการให้บริการโดยสิ้นเชิง แกนนำสหภาพจึงกล้าประกาศว่า จะตัดน้ำ ตัดไฟ จะหยุดเดินรถทั่วประเทศ ในทันทีหากพันธมิตรถูกสลายด้วยกำลัง
ในระบบที่ประชาชนมีทางออก ทำแบบนี้ได้ไหมครับ? นี่เท่ากับพวกเราเป็นลูกไก่ในกำมือของคนเหล่านี้จริงๆ เราไม่ใช่เจ้าของอย่างที่พวกเขาอ้างหรอก เพราะเจ้าของจะถูกตัดการให้บริการได้อย่างไร
ในขณะที่ผมเขียนกระทู้อยู่นี้..
สหภาพแรงงานไปรษณีย์ไทยก็กำลังยื่นหนังสือประท้วงไม่ให้บรรจุร่าง .พ.ร.บ.การประกอบกิจการไปรษณีย์เข้าสู่ ครม. โดยระบุว่าจะกระทบต่อประชาชน เพราะค่าบริการจะแพงขึ้น และกระทบต่อพนักงานไปรษณีย์ทั่วประเทศ 24,000 คน พร้อมยื่นหนังสือของ รมว.ไอซีทีขอถอนร่างฯ มาพิจารณาใหม่ พร้อมกับระบุว่า เป็นร่างกฎหมายที่ล้าสมัย เพราะต้องการลดภาระของรัฐบาล แต่ปัจจุบันไปรษณีย์มีกำไรแล้ว
ทำไมถึงกลัวกันจัง..
เพราะถ้าร่างนี้ผ่านครม. เอกชนจะเข้ามาดำเนินกิจการไปรษณีย์แข่งได้น่ะสิครับ ไอ้ที่บอกว่า จะทำให้ค่าไปรษณีย์แพงขึ้น ก็คงอีหรอบเดียวกับสหภาพการไฟฟ้าฯ อ้าง
มันจะเป็นไปได้อย่างไร เอกชนมาแข่งขันเสนอให้บริการเป็นทางเลือก ถ้าคิดค่าบริการแพงกว่า คนก็กลับไปใช้บริการของไปรษณีย์ไทยสิ ดูอย่างองค์การโทรศัพท์ปะไร ก่อนและหลังจากเอกชนมาเป็นคู่แข่ง ผิดกันราวฟ้ากับดิน
รัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดกลัวที่สุด ก็คือ การแข่งขันกันในระบอบเสรีนิยมนี่แหละครับ เพราะกลัวจะสู้ไม่ได้ นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า จริงๆ แล้ว สหภาพแรงงานทั้งหลายปกป้องทรัพย์สินของชาติหรือของตัวเองกันแน่
ผมจะเล่าตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงและมีข้อพิสูจน์ให้คุณได้ในปัจจุบัน..
ผมเคยไปทำธุระเรื่องโอนมิเตอร์ไฟที่การไฟฟ้าบางพลี ถ.กิ่งแก้ว ตอนนั้นรู้สึกจะปี 2548
ผมไปถึงที่นั่นตอน 15.10 น. พอขึ้นบันไดไป ก็มีพนักงานกรูกันลงบันไดสวนลงมามากมาย พอเดินไปที่โต๊ะเจ้าหน้าที่ ปรากฏว่า หายกันไปหมด สอบถามจนพบตัวคนทำเรื่อง เขาบอกว่า ต้องมาก่อนบ่ายสาม ผมก็แย้งว่า อ้าว เห็นติดประกาศว่า ปิดรับเรื่อง ตอน 15.30 น.ไม่ใช่หรือ
เขาบอกว่า ที่นี่พวกเรามาทำงานกันแต่เช้า พรุ่งนี้ 7 โมงกว่าๆ คุณมาทำเรื่องได้เลย คนรีบกลับเพราะรถรับส่งจะมารับตอน 15.30น.
มันตลกตรงที่ ป้ายบอก 8.00 15.30 น. แต่คนการไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงเวลาทำงานกันตามอำเภอใจ โดยยึดเอาความสะดวกของพวกเขาเป็นหลัก คนทั่วไปไม่รู้หรอกครับ ใครจะกล้าไปตอน 7 โมงเช้า มีหวังเจอโดนด่ายับ
แล้วสาขาอื่นๆ เขาทำไมทำงานกันตรงเวลาได้?
เรื่องแบบนี้ บริษัทที่มีธรรมาภิบาลแล้ว ทำไม่ได้หรอกครับ
อีกเรื่องนะครับ..
ถ้าคุณเป็นเจ้าของโครงการ จะเป็นคอนโด ตึกแถว บ้านจัดสรรก็ตามแต่ ไม่ใช่บ้านอยู่อาศัยรายย่อยๆ ใช้ไฟเดือนละ 50 หน่วยก็แล้วกัน คุณจะปักเสาพาดสายไฟฟ้าในโครงการ หรือ จะติดตั้งมิเตอร์เมนจ่ายน้ำสำหรับโครงการ คุณจะต้องถูกเรียกระบบเหมาจ่ายแบบมัดมือชกก้อนใหญ่ ซึ่งมีใบเสร็จจากการไฟฟ้านะครับ เพียงแต่มูลค่าวัสดุจะแพงกว่าท้องตลาด 100%
แต่การไฟฟ้าและการประปาไม่ได้ทำเองหรอก (เมื่อก่อนเคยทำเอง) จ้างผู้รับเหมารายย่อยอีกทีหนึ่ง ด้วยค่าจ้างตามแรงงานท้องตลาด มาร์จินจำนวนประมาณ 50% นี้ น่าสงสัยอย่างยิ่งในระบบจัดซื้อจัดจ้าง แต่เอกชนไม่มีทางเลือก เพราะในประเทศนี้ ก็มีการไฟฟ้า การประปา แห่งเดียวที่ให้บริการอยู่ จำเป็นต้องจ่ายไป แล้วต้นทุนนี้ก็ไปหารกับลูกบ้านในโครงการอีกที ซึ่งลูกบ้านก็ไม่รู้เรื่องหรอกครับ
ตกลง..ประชาชนรายย่อยๆ ก็ไม่ได้รับบริการอย่างเท่าเทียมและป็นะรรมจากสาธารณูปโภคของรัฐอยู่ดี
ระบบแบบนี้แหละครับที่เป็นขุมทรัพย์มหาศาลที่ไม่มีใครเจาะเข้าไปได้ และผมเรียกร้องมาตลอดว่า ต้องแก้ไขหากต้องการให้ประเทศนี้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน
ถ้ามีผู้ให้บริการเอกชนมาแข่งขันสักราย-สองราย รับรองว่า ไฟฟ้าและประปาจะถูกลงกว่านี้เยอะครับ
4) แปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจแล้วดีจริงหรือ? ราคาถูกลงแน่ๆ ใช่ไหม?
เรื่องนี้ต้องรำลึกกันสักนิด ตำนานการแปรรูปองค์กรเอกชนมาเป็นของรัฐนั้น เคยทำมาแล้วครั้งหนึ่ง เท่าที่จำได้ก็คือ การเลิกสัมปทานรถเมล์ของเอกชน แล้วโอนมาดำเนินการโดยรัฐ ในสมัย มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเป็นนายก
ตอนนั้น ในกทม. มีรถเมล์ค่ายใหญ่ๆ ของเอกชนอยู่ 3 ค่าย คือ รถเมล์ขาวนายเลิศ รถเมล์ครีมน้ำเงินของบุญผ่อง และรถเมล์สีเขียวของศรีนคร รถเมล์นายเลิศวิ่งรับส่งผู้โดยสารมานานถึง 70 ปี มีรถเมล์ 700 คัน และพนักงานอีก 3500 คน ตอนนั้นถือว่า กิจการใหญ่โตมากนะครับ 30 ปีมาแล้ว เก็บค่าโดยสารครั้งสุดท้ายแค่ 50 สตางค์ตลอดสาย มีกำไรเลี้ยงตัวได้ เพราะขยายกิจการมาโดยตลอดจากเดิมมีแค่เส้นทางเดียว คือ ประตูน้ำ สี่พระยา
ตอนนั้น ผมเป็นนักเรียนยังจำได้ ซื้อคูปองรายเดือน ได้ลดอีกต่างหาก ![](http://oldforum.serithai.net/Smileys/default/slime_smile.gif)
นายเลิศ เศรษบุตร เป็นเจ้าของและผู้บริหารเองทั้งหมด ไม่ใช้รถเช่าช่วง มีคติประจำใจให้พนักงานทุกคนว่า "สุภาพ ซื่อสัตย์ ประหยัด ทันใจ เอากำไรแต่น้อย บริการผู้มีรายได้น้อย
ตอนคึกฤทฺธิ์เปลี่ยนระบบมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็พากันดีใจกันใหญ่ คาดหวังว่า ตอไปนี้ประชาชนจะได้รับบริการดีขึ้น รถใหม่ขึ้น ไม่ต้องห้อยโหนเหมือนก่อน พนักงานมีสวัสดิการเหมือนของรัฐ ดีใจกันใหญ่
จนถึงวันนี้ 31 ปีของ ขสมก. จากวันแรกที่รัฐบาลลงทุนให้ฟรีๆ ขสมก.ทำให้เกิดหนี้สินล้นพ้นตัวถึง 69,000ล้านบาทแล้ว
นี่แหละครับ เอกชนทำมา 70 ปี ขยายกิจการจากให้บริการรถม้ามาเป็นรถเมล์ มีกำไรทุกปี เก็บค่าโดยสารราคาเดียว แต่รัฐทำเอง ไม่มีคู่แข่งแท้ๆ แต่ เจ๊งไม่เป็นท่า อย่าไปโทษภาวะน้ำมันนะครับ ควรดูการบริหารจัดการโดยภาครัฐดีกว่าครับ
5) เดินเกมทวงคืน ทั้งๆ ที่รู้ว่า เป็นไปไม่ได้
มีเหตุผลอธิบายดังนี้..
4.1..สภาวะทางการเมืองการปกครองคงมีแต่ประเทศเผด็จการคอมมิวนิสต์เท่านั้นแหละครับ ที่สามารถยึดกิจการของเอกชนหรือมหาชนเข้ามาเป็นของรัฐ เสรีนิยมประชาธิปไตยไม่ทำกันหรอกครับ
4.2..สภาวะทางกฎหมายไทย
สถานภาพการแปรรูปของ ปตท. ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินแล้วว่าถูกต้อง แต่ที่ดินที่ได้จากการเวนคืนเพื่อวางท่อก๊าซ คือ ท่อก๊าซฯ ที่เชื่อมต่อจากชายแดนพม่า-ราชบุรี ท่อก๊าซฯ ระยอง-วังน้อย ท่อก๊าซฯ วังน้อย-ราชบุรี และอาจมี ท่อก๊าซฯ มาบตาพุด-บางปะกง รวมทั้งท่อสาขาที่เชื่อมโยงกับท่อดังกล่าวที่เข้าข่ายต้องโอนคืนให้แก่รัฐด้วย และยังเห็นว่า ปตท.จะต้องจ่ายค่าตอบแทนย้อนหลัง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544 ให้กับกระทรวงการคลังด้วย
ดังนั้น..
การทวงคืนด้วยการประกาศจะยึดกลับมาเป็นของรัฐ/ประชาชนโดยแกนนำพันธมิตรจึงทำไม่ได้ เว้นแต่คุณจะทำผิดกฎหมายเสียเองด้วยการละเมิดคำสั่งศาล มีผู้บอกว่า ถูกกฎหมายจริง แต่ไม่ชอบธรรม ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน เลยจะต้องทวงคืน
ผมถามว่า เราจะเคารพคำตัดสินกรณียึดท่อก๊าซ แต่ไม่เคารพกรณีสถานภาพของการแปรรูปเช่นนั้นหรือ?
ถ้าเราทำเช่นนั้นจริง ประเทศนี้จะเหลือกติกาอะไรให้พวกเรายึดถือได้
ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ให้นายอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกก็ทำไม่ได้ แม้แต่แกนนำพันธมิตรเป็นรัฐบาลก็ทำไม่ได้ ซึ่งนายสนธิที่เข้าใจเรื่องเศรษฐศาสตร์ดีก็คงรู้เรื่องนี้ แต่ไม่บอกกับประชาชน
6) ผมคงเสียสติเพราะถือหุ้น ปตท.ไว้เยอะ จึงกลัวหุ้นตก เลยออกมาโวย
รู้ได้ไง..เอ๊ย..ไม่ใช่..หึ หึ ![](http://oldforum.serithai.net/Smileys/default/slime_smile2.gif)
ข้อเท็จจริงคือ ผมเป็นนักลงทุนที่รู้เรื่องการเงิน และตลาดทุนดีพอสมควรคนหนึ่ง ผมมีเงินลงทุนทั้งในตั๋วแลกเงิน เงินฝากธนาคาร ประกันชีวิต และหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยพยายามแบ่งให้มีสัดส่วนเท่าๆ กัน เป็นการกระจายความเสี่ยง
หุ้น ปตท.ผมก็มีแต่ไม่มากหรอก (ถ้ามากก็ดีครับ ชอบ) นอกจากนี้ยังมีหุ้นธนาคาร หุ้นธุรกิจเดินเรือทะเล หุ้นอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และ หุ้นวัสดุก่อสร้าง
การขึ้นลงของหุ้น ปตท.ไม่มีผลต่อความเป็นอิสระทางความคิดทางการเมืองของผมหรอกครับ เพราะผมได้เคยบอกแล้วว่า ผู้ลงทุนได้รับการคุ้มครองจากพรบ.ตลาดทุน ใครจะยึดคืน ซื้อคืน ถอดถอน เพิกถอน ก็ทำไปเหอะ แต่ผู้ลงทุนรายย่อยได้รับการปกป้องด้วยวิธีการเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ในราคาใกล้เคียงราคาตลาด
วันที่ม็อบบุก ปตท. ผมยังกะว่า ถ้าลงมาผมก็จะเข้าไปซื้อด้วยซ้ำไป เพราะเงินปันผลดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ยิ่งราคาต่ำลงยิ่งคุ้มค่า เสียดายม็อบอยู่ไม่นาน หุ้นดีดตัว เลยอดซื้อ ![](http://oldforum.serithai.net/Smileys/default/slime_shy.gif)
7) แล้วออกมาปกป้องผลประโยชน์ของปตท.ทำไม? บางเรื่องอยู่เฉยๆ ก็ได้? เป็นการขัดขาพันธมิตรที่มีจุดยืนเดียวกัน
เป็นคนชอบเสือกครับ
ใครหามหมู ผมถือไม้คานไปหาเสมอๆ
ถ้าการขัดขาทำให้เดินก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ก็สมควรรับฟังครับ พันธมิตรต้องใจกว้าง รับการติชมได้จึงจะพัฒนา ถ้าพวกเราใครมีความเห็นต่างแล้วต้องเก็บงำ ก็อย่าใช้ม็อตโตว่า เสรีไทย เสรีทางความคิดเลย
ผมไม่มีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของ ปตท.แต่อย่างใด และก็ยังให้การสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรอยู่ แต่ต้องการให้ข้อมูลที่พันธมิตรไม่ได้ให้กับม็อบ และไม่ชอบการบิดเบือนความจริงทั้งเรื่องตัวเลขกำไร ..การคืนกำไรให้คลัง ..ราคาน้ำมันที่จะถูกลงทันทีที่ถูกยึดคืน และ..ความเป็นไปได้ที่จะยึดคืน
พันธมิตรได้ยกระดับการชุมนุมเป็นแบบอย่าง เป็นม็อบคนดี มีคุณภาพ เป็นมหาวิทยาลัยราชดำเนิน วิทยาเขตมัฆวาน ต้องพูดความจริง พูดให้ชัด พูดให้หมดทั้งข้อดีและข้อเสีย และพูดสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้นให้กับนักศึกษา ม็อบพันธมิตรต่างจากม็อบ นปก.ก็ตรงนี้..ไม่ใช่หรือ?
ถ้าแกนนำพันธมิตรได้อ่านบทความนี้ เชื่อว่า จะเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย ในแง่ของการปรับปรุงคุณภาพ ดีกว่าให้ฝ่ายนู้นเป็นคนติติง ตรวจสอบและจับผิดได้
ถ้ายังดึงดันเรื่อง ปตท. หรือเรื่องอื่นๆ นอกประเด็นดั้งเดิมที่กำหนดแต่แรกก็ทำไปเถอะครับ แต่ต้องพูดความจริงให้หมด ให้ชัด อย่าหมกเม็ด อย่าโยนหินถามทางแล้วเลิก มันเสียสมดุล เสียพลังงาน และเสียแนวร่วมที่เป็นคนกลางๆ และนักวิชาการไป
พันธมิตรพูดบิดเบือนอย่างไร พูดความจริงไม่ครบถ้วนอย่างไรเกี่ยวกับ ปตท. จนทำให้ผู้คนเข้าใจผิด?
มีหลายประเด็นที่พันธมิตรพูดต่างจากข้อเท็จจริง พูดไม่ชัดเจน หรือ พูดไม่ครบถ้วน เช่น..
7.1..พันธมิตรไม่ได้บอกว่า
นอกจากกท.การคลังที่ถือหุ้นอยู่ 51.8% แล้ว ยังมีกองทุนวายุภักษ์ถืออยู่อีกราว 14.5% ซึ่งกองทุนนี้จัดตั้งโดยรัฐบาลทักษิณ มีกท.การคลังถืออยู่อีก 30% นอกนั้นก็ยังมีหน่วยงานรัฐอื่นๆ และกองทุนบำเหน็จบำนาญของข้าราชการเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้นตัวเลขที่พันธมิตรบอกว่า กำไรสองแสนล้าน แต่จ่ายให้คลังแค่ 15,000ล้าน จึงไม่ใช่
ข้อเท็จจริง..
ปีที่ผ่านมากำไรสุทธิของปตท.ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยทำมา ก็ทำได้แค่ 115,000ล้านบาท ถ้าไม่รวมบริษัทในเครือ ปตท.โดดๆ มีกำไรแค่ 63,000ล้านบาทเท่านั้นเอง
ตัวเลข 2 แสนล้านไม่รู้พันธมิตรเอามาจากไหน?
ถ้าหมายถึง..กำไรก่อนหักภาษีเงินได้และดอกเบี้ย ซึ่ง ปตท.ทำได้แค่ 165,000 ล้านบาท ก็ยังห่าง 2 แสนล้านอยู่ดี
ถ้าหมายถึงกำไรบริษัทในเครืออื่นๆ มารวมด้วย ก็ไม่แฟร์นัก เพราะ ปตท.เป็นแค่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง บริษัทอื่นๆ เขาไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย แยกการบริหารการจัดการ และการตลาดออกจากกัน
ก็เหมือนผมที่มีธุรกิจของผมเอง แต่มีเงินลงทุนในหลายกิจการหลายประเภทตามที่กล่าวมาแล้ว ถ้าเวลาจะเล่นงานผมว่าทำธุรกิจหน้าเลือด ก็ไม่น่าจะเอาเงินลงทุนในส่วนอื่นๆ มาผนวกด้วย
ธนาคารกรุงเทพ ก็มีสัดส่วนการลงทุนในบรัษัทประกันภัยประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์ และเกือบทุกอุตสาหกรรมแม้แต่วัสดุก่อสร้าง
บริษัทซี.พี. ก็เช่นเดียวกัน เข้าไปเกี่ยวข้องหมด ทั้งธุรกิจเคเบิลทีวี โทรมือถือ
ถ้าธนาคารกรุงเทพ หรือ ซี.พี. ทำไม่ดีในธุรกิจหลักของบริษัทแม่ ก็ไม่ควรนำตัวเลขที่เขาไปลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนมาในรูปของเงินปันผลในที่อื่นๆ มานับรวม เพราะธุรกิจอื่น มันคนละโครงสร้าง อาจไม่ได้หน้าเลือดด้วยก็ได้
ส่วนตัวเลขที่พันธมิตรพยายามกดให้ต่ำกว่าความจริง คือ เงินปันผลส่งคืนให้คลังที่บอกว่าแค่ 15,000ล้านบาท ซึ่ง ปตท.มีนโยบายจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 25% ของกำไรสุทธิ แต่ทุกปีจะจ่ายเกินกว่า 30% ซึ่งปีที่ผ่านมา กท.การคลังรับไป 16,700 ล้านบาท ไม่ใช่ 15,000ล้านบาท
ถ้าบวกกับส่วนที่คลังถือผ่านกองทุนวายุภักษ์อยุ่ 30% ตามที่กล่าวข้างต้น และกองทุนฯ ถือหุ้นใน ปตท.อยู่ 14.5%นั้น คลังจะได้ปันผลอีก.ประมาณ..4,500ล้านบาท
เบ็ดเสร็จรวมแล้วประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือที่ยังไม่จ่ายปันผลอีก 70%ของกำไร ปตท.เก็บเอาไว้ลงทุนต่อ หรือ หากไม่ลงทุนต่อ ส่วนแบ่งของกท.การคลังก็จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 60% (51.8 + 9%) อยู่ในกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร
แค่นั้นยังไม่หมด..
ในฐานะบริษัทจำกัด ปตท.ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีให้กท.การคลังอีก 40,000ล้านบาทจากยอดกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (165,000ล้าน) นะครับ รวมๆ แล้ว คลังได้คืนไปประมาณ 6 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้ว
ตรงนี้นี่แหละที่ผมบอกว่า พันธมิตรบิดเบือน และไม่พูดให้หมด ทำให้ประชาชนทั่วไป (รวมทั้งบางคนในห้องนี้) เข้าใจผิด
7.2..ในทางกลับกัน..
หากยึดกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว เงินปันผลและเงินภาษีเงินได้ที่ต้องจ่ายให้รัฐไม่มี แต่รัฐวิสาหกิจต้องนำเงินกำไรส่งคืนคลัง ซึ่งเท่าที่เห็นมา รัฐวิสาหกิจพยายามส่งคืนคลังให้น้อยที่สุดด้วยการใช้จ่ายไปในเรื่องที่ไม่จำเป็น เพื่อให้งบหมดๆ ไป เช่น ไปจัดสัมนาต่างจังหวัด ดูงานต่างประเทศ ฯลฯ
บอร์ดผู้บริหารก็จะเปลี่ยนหมด จะมีคนของนักการเมืองแต่งตั้งเข้ามาเป็นเหลือบคอยคุมขุมทรัพย์ ประสิทธิภาพในการดำเนินงานจะดีเหมือนเดิมหรือไม่?
ปตท. รับรางวัลธรรมาภิบาลเอเชีย
Wednesday, 7 February 2007 22:46 --
เอเชียมั่นนี่มอบรางวัลบริษัทขนาดใหญ่ที่ดีที่สุดในประเทศไทย หรือ Large-Cap Corporate of the Year พร้อมอีก 6 รางวัลธรรมาภิบาลแก่ ปตท. แบ่งเป็น 3 รางวัลสำคัญในระดับเอเชีย และ 3 รางวัลในระดับประเทศ ภายหลังสรุปผลสำรวจธรรมาภิบาลองค์กรในเอเชียล่าสุด หรือ Asiamoneys Corporate Governance Poll
เป็นเกียรติประวัติของบริษัทในประเทศไทยที่หากเป็นรัฐวิสาหกิจคงไม่มีวันได้เห็น
ผมเอามาให้ดูเฉยๆ คุณจะเชื่อระบบตรวจสอบที่มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่เป็นอิสระซึ่งตลาดหลักทรัพย์ให้การรับรอง หรือ คุณจะเชื่อหน่วยงานของรัฐตรวจสอบคุณภาพกันเองก็ว่ากันไปครับ ตามสะดวก
ส่วนค่าปรับที่ปตท.เอาที่เวนคืนไปใช้ประโยชน์ในการวางท่อก๊าซ จำนวน 3 พันล้าน และค่าเช่ารายปีอีก 300 ล้านบาทก็ไม่ต้องจ่าย เพราะกลายเป็นของรัฐแล้ว
ที่จะยุ่งอีรุงตุงนังด้วย คือการทวงคืน ไม่สามารถกระทำต่อ ปตท.บริษัทเดียวโดดๆ ได้ เพราะปตท.มี holding stake ในบริศัทลูกอีกหลายบริษัททั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เช่น ไทยออยล์ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ปตท.เคมีคอล ปตท.อะโรเมติก และที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งหากมีสัญญาระหว่างกันจะต้องเปลี่ยนสัญญาใหม่ทั้งหมด เพราะกลายเป็นการทำสัญญากับรัฐ ไม่ใช่เอกชน ต้องร่างสัญญาใหม่ให้กฤษฎีกา อัยการตรวจสอบอีก ต้องผ่านมติ ครม.ในฐานที่องค์กรของรัฐไปร่วมทุน ในระหว่างนั้น ต้องหยุดกิจการเอาไว้หรือไม่
โอ๊ย..ย รับรองว่า ยุ่งยิ่งกว่ายุงตีกัน และคงมีการฟ้องร้องกันอีเหละเขะขระไปล่ะครับ เพราะใช้กฎหมายกันคนละมาตรากับเอกชน
9) เคยมีประเทศที่แปรรูปรัฐวิสาหกิจ สุดท้ายสมบัติชาติตกอยู่ในมือของเอกชนหมด คนในชาติไม่เหลืออะไรเลย?ผมเข้าใจว่า คนที่ออกความเห็นนี้คงหมายถึงประเทศในลาตินอเมริกาอย่างอาร์เจนติน่าที่ อัมรินทร์ คอมันตร์ และนิติภูมิ เอามาเผยแพร่
ผมว่า
ต้องกลับไปดูด้วยนะครับว่า เวลาแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ประเทศนั้น เขาขายสัดส่วนทั้งหมดให้นักลงทุนต่างชาติหรือเปล่า? และเขาเปิดสัมปทานให้ต่างชาติมาลงทุนในทรัพยากรของชาติทั้ง 100% หรือ ลงขันร่วมกันกับภาครัฐก่อนนะครับไทยเราไม่เป็นแบบนั้นแน่นอน เพราะเราแปรรูปไม่ถึง 100% แต่ให้กท.การคลังถือหุ้นใหญ่เกินกว่า 51% และกำหนดสัดส่วนการถือครองของต่างชาติไม่เกิน 30% เท่านั้น ดังนั้น การกำหนดนโยบายและการให้บริการจึงกำหนดโดยภาครัฐกลายๆ เกือบเหมือนเดิม
โดยดูจากบอร์ดผู้บริหาร ก็จะเป็นคนไทยเกือบทั้งหมดอยู่แล้ว จึงต่างกันกับประเทศอาร์เจนติน่า ที่เปิดสัมปทานให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนทั้งหมด สาธารณูปโภคจึงตกเป็นของต่างชาติหมดครับ
ก่อนรัฐบาลทักษิณจะล่มสลาย ได้มีความพยายามที่จะแก้ไขสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในธุรกิจคมนาคมจาก 25% เป็น 49% จนสำเร็จ ยังจำได้ไหมครับ พอแก้ได้วันเดียว ขายชินคอร์ปให้สิงคโปร์เลย ดูมันทำ..
ที่ทำเช่นนี้เพราะเป็นรายการ สิงคโปร์ขอมา และ ทักษิณ จัดให้ เพื่อดีลนี้โดยเฉพาะแต่กระทบกิจการโทรคมนาคม และทรัพย์สมบัติของชาติในอนาคตชั่วลูกชั่วหลาน ถ้าสิงคโปร์ถือหุ้นผ่านนอมินีขายชาติอีกแค่ 1.01% ก็จะทำให้สิงคโปร์มีสิทธิ์ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ต่อไปภายภาคหน้า เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประกอบกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทยได้ง่ายๆ10) ถ้าปตท.กลับมาเป็นของรัฐ จะสามารถทำให้ราคาน้ำมันลดลงมาได้อย่างน้อยก็ บาท-สองบาท?ไม่แน่ อาจถูกและแพงกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้ มาดูเหตุผลที่อธิบายกันนะครับ..
โครงสร้างของราคาน้ำมันขายปลีกเป็นดังนี้
ราคาหน้าโรงกลั่นที่อ้างอิงจากสิงคโปร์ + ภาษีสรรพสามิตและเงินสมทบเข้ากองทุนน้ำมัน + ค่าการตลาดของ = ราคาขายปลีกหน้าปั๊ม ณ กทม.ปัจจุบัน ราคาค่าการตลาดอยู่ที่ประมาณ 70 สตางค์ + - ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำมากแล้ว ขนาดใช้แรงงานพม่ายังต้องปิดตัวหนี จึงไม่มีใครกล้าไปลด มีแต่จะเพิ่มให้
![](http://oldforum.serithai.net/Smileys/default/slime_smile2.gif)
ส่วนที่สอง คือ ภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นรายได้ของรัฐบาล ตอนนี้รัฐบาลยอมลดส่วนนี้ลงแล้ว ราคาขยับลงทันทีเท่ากับผลต่างที่รัฐเคยจัดเก็บ ส่วนนี้..ดำเนินการได้ทันทีไม่ว่า ปตท.จะเป็นของรัฐหรือไม่ ทั้งภาษีและกองทุนน้ำมันอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐอยู่แล้ว แต่ภาษีน้ำมันเป็นรายได้สำคัญในการบริหารประเทศของรัฐบาลนะครับ ที่ผ่านมาจึงไม่กล้าแตะ
ในอดีต รัฐบาลทักษิณก็พยายามดึงราคาขายปลีกน้ำมันให้ต่ำลง ขนาดเจ้าพ่อประชานิยมทำเอง ยังไม่กล้าแตะส่วนแรกเพราะแทรกแซงเอกชน และส่วนที่สามเลยครับ เลือกแตะในส่วนของรัฐเอง โดยต้องให้กองทุนน้ำมันมาพยุงราคาแทน ซึ่งก็ทำให้กองทุนน้ำมันติดลบไปกว่า 8 พันล้านบาท และที่ประเทศไทยต้องใช้น้ำมันแพงกว่าปกติในรอบสองปีที่ผ่านมา ก็เพราะต้องเอาเงินไปคืนกองทุนน้ำมันไงครับ ตอนนี้กองทุนกลับมาเสมอตัวแล้ว
ราคาที่หลายท่านกังขา และให้ความเห็นว่า ถ้า ปตท.เป็นของรัฐเมื่อไร ลดราคาได้ทันที คือ ส่วนแรกใช่ไหมครับ
จริงๆ แล้ว รายได้จากการค้าน้ำมันของ ปตท.ที่ขายปลีกให้ประชาชน มันแค่ 6% ของรายได้ทั้งหมดเองนะครับ ตัดทิ้งไปทั้งส่วน ก็ไม่ได้ทำให้กำไรของ ปตท.แย่ลง อาจดีขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำไป หากคิดในแง่ของความสามารถในการทำกำไร (Profitability ratio) แต่ทำไม่ได้เพราะป็นธุรกิจพื้นฐานที่ใช้ต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ
โครงสร้างและปัจจัยที่กระทบต่อราคาหน้าโรงกลั่นมาจาก..
1) ราคาน้ำมันดิบ 2) เทคโนโลยีของโรงกลั่น 3) ค่าเงินบาท และ 4) ค่าการกลั่น 5) ราคาอ้างอิงที่ตลาดสิงคโปร์ = ราคาหน้าโรงกลั่น เออ..เริ่มสงสัยกันแล้วใช่มั้ยว่า ทำไมต้องอ้างอิงสิงคโปร์ด้วย ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้ซื้อน้ำมันจากที่นั่น
ความเป็นมาเป็นอย่างนี้ครับ..
ก่อนหน้านี้ จนถึงปี 2534 เรายังไม่มีโรงกลั่นน้ำมันของตนเอง (มีแต่ของต่างชาติ) ต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากนอกประเทศมาโดยตลอด และสิงคโปร์ก็คือโบรกเกอร์ของเรา และที่นั่นก็เป็นศูนย์กลางซื้อขายน้ำมันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตลอดจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่
ต่อมาในสมัยรัฐบาลอานันท์ เรามีโรงกลั่นของตัวเองแล้ว และกลั่นได้เอง รัฐบาลได้มีนโยบายให้ราคาน้ำมันขายปลีกไม่ขึ้นกับรัฐบาลอีกต่อไป แต่ให้บริษัทผู้ค้าน้ำมันกำหนดราคากันเองตามภาวะตลาด โดยรัฐบาลเชื่อว่า การกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นที่เป็นธรรม และการมี ปตท.เป็นส่วนหนึ่งของปั๊มรัฐบาลจะทำหน้าที่เป็นตัวถ่วงดุลผู้ค้าปลีกน้ำมันต่างชาติได้
ก็ใช้ราคาอ้างอิงที่ตลาดสิงคโปร์มาจนทุกวันนี้
ถามว่า ยกเลิกได้ไหม?ตอบว่า..ได้ทันทีเลยครับ แต่ความผันผวนของราคาน้ำมันขายปลีกอาจทำให้บางครั้ง ราคาสูงกว่าการใช้ราคาอ้างอิงก็ได้ ถึงตอนนั้น ก็จะมีคนสวนว่า ทำไมไม่ใช้ราคาอ้างอิงเป็นตัวกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นอีก ปวดกบาล
แล้วราคาที่อื่นล่ะใช้อ้างอิงได้หรือไม่? เพราะมันถูกว่า SPOT
บางทีคนไทยเห็นรายงานราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ทะเลเหนือถูกกว่า ก็ตีโพยตีพาย ทำไมไม่ใช้อ้างอิงวะ
![](http://oldforum.serithai.net/Smileys/default/slime_hitted.gif)
ตอบว่า มันเป็นราคาอ้างอิงของแต่ละภูมิภาคนะครับ ที่สิงคโปร์แพงกว่า เพราะรวมค่าขนส่งมาถึงย่านนี้ด้วย ใครที่อยู่ลอนดอนก็คงไม่อ้างอิงราคาที่สิงคโปร์หรอก
เราตั้งราคาอ้างอิงกันในประเทศไม่ได้หรือ?ก็ดีครับ แต่เราจะไม่มีมาตรฐานในการควบคุมราคาของผู้ค้าน่ะสิ เพราะต้นทุนของผู้ค้าบวกกำไรเป็นเท่าไร เราต้องยอมรับราคานั้น แม้ว่า ราคาน้ำมันตลาดโลกตกลงไปแล้ว แต่ต้นทุนของเขาที่ซื้อมายังแพงอยู่ จะทำอย่างไร มันมีผลกระทบสองด้านนะครับ ทั้งขึ้นและลง อยู่ที่ว่า พวกเรารับภาวะไร้มาตรฐานนั้นได้ไหม
ความจริงราคาอ้างอิงสิงคโปร์ ก็เหมือน อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานเวลาเราไปกู้เงินต่างประเทศ LIBOR London Interbank offered rate หรือ SIBOR Singapore Interbank offered rate นั่นแหละ เราไม่จำเป็นต้องไปกู้ที่อังกฤษ หรือ สิงคโปร์ ไปกู้ที่เกาหลีก็ได้ แต่ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ว่าเป็นตัวอ้างอิง แล้วบวก/ลบด้วยกำไรที่สถาบันการเงินต้องการเข้าไป
มันมีค่าอยู่แค่นั้นเองครับ ทางสิงคโปร์เขาไม่ได้อะไรหรอก อย่าไปคิดมากถึงขนาดว่า ยกเลิกราคาอ้างอิงสิงคโปร์แล้วราคาจะถูกลง มันไม่แน่เสมอไป
แต่ที่ผ่านมาในรอบสองปี อ้างอิงราคาที่ตลาดสิงคโปร์ที่ไร บริษัทผู้ค้าน้ำมันได้เปรียบทุกที ก็เป็นเพราะราคาน้ำมันมีแต่ขึ้น ๆ ๆ ไงครับ สต็อกน้ำมันยังราคาเดิม แต่ราคาที่สิงคโปร์มันขึ้นเอาๆ ก็ทำให้ผู้ค้าน้ำมันได้รับประโยชน์
แต่วันนี้..
ราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลงแล้ว และมีแนวโน้มลงไปที่ 100 ดอลล่าร์/บาร์เรล คราวนี้แหละ มีเจ็บตัวกันมั่ง เพราะราคาอ้างอิงเปลี่ยนลงไปทุกวัน แต่ผู้ค้าน้ำมันสั่งน้ำมันล่วงหน้าเป็นเดือนๆ ในราคาเดิม ก็ต้องแบกรับภาระขาดทุนกันไป
ดังนั้น..
ถ้าราคาอ้างอิงลดลงมาสองวันแล้ว ยังไม่มีปั๊มไหนขยับ ขอให้ด่าไปเลยครับ
ส่วนเรื่องค่าการกลั่นที่หลายท่านบอกว่า ปตท.ผูกขาดเพราะมีโรงกลั่นในมือ 5 ใน 7 แห่ง ทำให้กำหนดราคากลั่นได้ตามใจชอบก็เพราะเรามีโรงกลั่นถึง 7 แห่งนี่แหละครับ คือ การแข่งขันที่ทำให้ค่าการกลั่นไม่อาจกำหนดได้ตามใจชอบ
โรงกลั่น 5 แห่งที่ว่านั้น ปตท.เป็นแค่ผู้ถือหุ้น ไม่มีสิทธิ์ในการกำหนดนโยบาย แต่ละแห่งเป็นเอกชนที่ต้องแข่งันกันเองด้วย เพราะต่างก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน เป็นระบบชิงดีชิงเด่น ใครกำหนดราคาสูงกว่าก็อดได้งานสิครับ และเพราะประเทศเรามีโรงกลั่นถึง 7 โรง ทำให้กำลังการผลิตเหลือเฟือ ต้องรับจ้างกลั่นเพื่อส่งออกน้ำมันนะครับ เราส่งออกน้ำมันไปต่างประเทศมา 12 ปีแล้วครับ และนี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมที่ลาว ที่เขมร น้ำมันจึงแพงกว่าบ้านเรา ทั้งๆ ที่ด้อยพัฒนา และการใช้น้ำมันก็น้อย ก็เพราะต้องนำเข้าแบบสำเร็จรูปไงล่ะครับ
ส่วนที่มาเลเซียน้ำมันราคาถูกกว่าเรา แต่ก็ไม่มาก ตอนนี้ขึ้นราคามาใกล้เคียงกันแล้ว นี่ขนาดเขาผลิตได้เอง กลั่นได้เองนะเนี่ย แถมรัฐบาลมาเลเล่นไม่เก็บภาษีสรรพสามิตด้วย ถ้าเก็บเหมือนของเรา ราคาอาจหายใจรดต้นคอกันเท่านั้น
สถานการณ์ของโรงกลั่น ถ้ากำไรดี บางจากปิโตรเลียม คงไม่เกือบเจ๊งหรอกครับ ตอนนั้นมหาจำลองไปขอให้ทักษิณช่วย แต่ทักษิณเฉย จำได้ไหมครับ ต้องเปลี่ยนมาขอร้องให้คนไทยช่วยโรงกลั่นน้ำมันของไทยด้วยกัน
บางคนอาจแย้งอีกว่า ถ้าโรงกลั่นทั้ง 7 แห่ง ฮั้วราคากันล่ะตอบว่า มีกลไกอื่นอีกที่ควบคุมราคาค่ากลั่นน้ำมันครับ เช่น ค่าการกลั่นมาตรฐานโลก และ ราคานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป
ถ้าโรงกลั่นกำหนดค่าการกลั่นสูงเกินไป ผู้ค้าน้ำมันก็หันไปสั่งน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาก็ได้ครับ ในที่สุด โรงกลั่นก็ต้องลดราคากันลงมา
อีกอย่าง ปตท.เป็นผู้ค้า ซื้อมาขายไป รับมาราคาเท่าไร ก็บวกกำไรแล้วขายออกไป ค่าการกลั่นจึงไม่สำคัญกับ ปตท.เลย
น้ำมันดิบส่วนใหญ่เรานำเข้าเกือบทั้งหมด (มีผลิตเองได้บ้างประมาณ 10 -20%) เราควบคุมราคาไม่ได้ ตรงนี้ไม่ต้องไปคอนโทรล ตลาดโลกควบคุมราคาไว้หมด ผู้ค้าน้ำมันไปเลือกซื้อหาเอาว่าจะซื้อจากแหล่งไหน ผ่านโบรกเกอร์ หรือ ซื้อตรงก็ได้
ชนิดของน้ำมันดิบที่บ้านเรานำเข้ามามี 2 ชนิด คือ Light Sweet ที่มีราคาแพง และ Heavy Sour ที่มีราคาถูกกว่า บ้านเราโรงกลั่นนำเข้าน้ำมันดิบประเภท Heavy Sour ซึ่งมาจากตะวันออกกลางประมาณกว่า 75% ที่เหลือจึงเป็นน้ำมันดิบ Light Sweet ดังนั้น ต้นทุนส่วนนี้ ยึดราคา HEAVY Sourเป็นหลัก แล้วนำต้นทุนน้ำมันดิบซึ่งธุรกิจพลังงานของไทยขุดได้เองซึ่งราคาต่ำกว่ามาถัวเฉลี่ย ก็จะได้เป็นต้นทุนราคาน้ำมันดิบรอการกลั่น
ต้นทุนตัวนี้แหละครับ ที่ ไม่ตรงกับราคาอ้างอิงที่สิงคโปร์ หลายคนจึงหยิบมาโจมตีกัน
ถ้ารัฐจะกำหนดราคาตรงนี้เอง ก็ต้องรื้อระบบ กลับไปใช้วิธีการเดิมก่อนปี 2535 คือ กำหนดราคาหน้าโรงกลั่นโดยรัฐบาล
แต่โรงกลั่นน้ำมันไม่ใช่ของรัฐบาลแล้วนี่ครับ ถ้าทำเช่นนั้น เวลาเกิดความเสี่ยงจากราคาน้ำมันโลก รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบความเสี่ยงแทนเอกชนด้วย และคงไม่สามารถทำได้เพราะเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของเอกชนเขาฟ้องตายเลย เว้นแต่รัฐทำสัญญาระยะสั้น เลี้ยงดูพนักงานและจ่ายดอกเบี้ยให้เขาด้วย
![](http://oldforum.serithai.net/Smileys/default/slime_smile2.gif)
ดังนั้น..
คนที่บอกว่า สามารถดึงราคาลงมาได้ทันที บาท-สองบาท ต้องทบทวนดูนะครับ
11) ปตท.แปรรูป ทำให้กำไรตกเป็นของต่างชาติและนักลงทุนแค่หยิบมือเดียวก่อนอื่นต้องไปศึกษาก่อนนะครับว่า ทำไมเราต้องมีตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนจากภายนอก ไม่งั้นเถียงกันตายไปข้างก็ไม่รู้เรื่อง
รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ปตท.มีดังนี้.. (29 กค.51)
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จำนวนหุ้น ร้อยละ
กระทรวงการคลัง 1,459,885,575 51.80%
กองทุนรวม วายุภักษ์ หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 217,900,000 7.73%
กองทุนรวม วายุภักษ์ หนึ่ง โดย บมจ.หลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย 217,900,000 7.73%
HSBC (SINGAPORE) NOMINEES PTE LTD 59,117,288 2.10%
CHASE NOMINEES LIMITED 42 46,347,400 1.64%
บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 44,627,201 1.58%
STATE STREET BANK AND TRUST COMPANY 42,649,005 1.51%
NORTRUST NOMINEES LTD. 40,729,686 1.45%
MELLON BANK,N.A. 29,622,665 1.05%
THE BANK OF NEW YORK (NOMINEES) LIMITED 26,954,391 0.96%
HSBC BANK PLC-CLIENTS GENERAL A/C 21,251,600 0.75%
สำนักงานประกันสังคม 20,755,100 0.74%
กองทุน บำเหน็จบำนาญข้าราชการ 18,313,100 0.65%
STATE STREET BANK AND TRUST COMPANY FOR LONDON 16,189,825 0.57%
GOVERNMENT OF SINGAPORE INVESTMENT CORPORATION C 15,305,300 0.54%
INVESTORS BANK & TRUST COMPANY 15,173,425 0.54%
STATE STREET BANK AND TRUST COMPANY FOR AUSTRALIA 14,154,335 0.50%
ถ้าไม่นับคนไทยด้วยกันแล้ว ต่างชาติที่มาถือหุ้น ถือเป็นสถาบันการเงินและกองทุนต่างประเทศขาประจำที่ลงทุนไปทั่วโลก และลงทุนในหุ้นไทยขนาดใหญ่ๆ มีความมั่นคงสูงๆ เท่านั้น คงมีแต่สิงคโปร์นี่แหละครับ ที่ได้บัตรเชิญพิเศษจากรัฐบาลเรา แต่ก็มีอยู่น้อยนิด ส่วนหุ้นนักการเมืองจริงๆ มีไม่กี่ล้านหุ้นหรอกครับ ขายหรือยังก็ไม่รู้ แต่เห็นด้วยว่า ได้มาโดยไม่สุจริตสักเท่าไร
เงินลงทุนของสถาบันการเงินต่างชาติเขาจะเป็น Silent Investment คือ ไม่มาร่วมบริหาร ไม่ออกเสียง ไม่ขาย รับปันผลอย่างเดียว ไม่ว่าจะเกิดสภาวการณ์ใดๆ ก็ฝังรากลึก ต่างจากกองทุนเก็งกำไรจากต่างชาติ หรือ ที่เรียกว่า Hedged Fund
มันมาฟันแล้วก็เดินจากไปเหมือนขึ้นห้องกับโสเภณี ![](http://oldforum.serithai.net/Smileys/default/slime_shy.gif)
สถาบันการเงินเหล่านี้ เราไปเชิญเขามาด้วยการทำโรดโชว์นะครับ ไปขอร้องให้เขาเอาเงินมาลงทุน ถ้าเราไม่เอาสถาบันการเงินที่เอาเงินมาแช่นิ่ง อยากจะไล่เขาไป คืนเงินเขาดีๆ เขาไปแน่นอนครับ เพราะตลาดหลักทรัพย์ที่ไหนๆ ในโลกก็ต้องการเงินกองทุนเหล่านี้ทั้งนั้น
เรื่องนี้ ถ้าเราไม่ใจกว้าง หาว่า พวกนี้มาขโมยทรัพยากรธรรมชาติของเรา งั้นตอนนี้ แบงค์กรุงเทพ ซี.พี. ก็คงโดนไล่ออกจากทุกประเทศที่ไปลงทุนแน่นอนครับ
แม้แต่ตอนนี้ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมของเรา ก็กำลังขุดเจาะน้ำมันอยู่ที่ประเทศเวียดนามสองบ่อ และมีแนวโน้มดีที่จะได้น้ำมันดิบมาใช้ในประเทศเราวันละเป็นแสนบาร์เรลในเร็ววันนี้แล้ว
ถ้าคนเวียดนามคิดแบบบางคนที่ว่าบ้าง เราคงสูญเสียโอกาสดีๆ ให้กับประเทศไปด้วยบางคนก็บอกว่า บ่อน้ำมันของเราก็มี ในทะเลก็เยอะแยะ ไปขุดขึ้นมาใช้ ไม่ต้องมีต้นทุนสูง ไปดูดเอามาขายถูกๆได้
พูดแบบนี้ก็คือ พูดโดยไม่มีข้อมูลทางวิชาการเลย
ในประเทศเราเอง ก็มีการสำรวจอยู่เนืองๆ ครับ ทั้งที่เพชรบูรณ์ และภาคใต้ ที่อ่าวไทย มีบ้างเป็นก๊าซธรรมชาติ แต่บ่อน้ำมันมีน้อย ไม่คุ้มค่าการลงทุน เขาก็ไม่ขุด อย่าลืมว่า การไปตั้งแท่นขุดเจาะที่ใดก็ตาม ต้องมีวิศวกรและช่างเทคนิคเป็นร้อยชีวิตไปประจำการนานเป็นปีๆ เสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนเป็นหลักพันล้านนะครับ ถ้าประเทศเรามี คงไม่ส่งคนไปนอนกินเบี้ยเลี้ยงแพงกว่าสองเท่าหรอกครับ คนและทรัพยากรเรามีจำกัด เอาไปใช้ในแหล่งที่คุ้มทุนเร็วจะดีกว่า
ส่วนการแปรรูปที่ทำให้ประเทศชาติเสียเปรียบ และ นักการเมืองได้ปรธโยชน์จนถึงทุกวันนี้ ผมว่า มันผิดที่คนนะครับ ไม่ได้ผิดที่ระบบ อย่าไปทำให้ระบบเสียหายหมดเลย [/size]