"ปรากฏการณ์บวรศักดิ์" กระตุ้นสำนึกข้าราชการ?
"...บัดนี้สถานการณ์บ้านเมืองแปรเปลี่ยนไปและอยู่ในภาวะไม่ปกติ ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันในบ้านเมือง ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของกระผมไม่ราบรื่นดังที่เคยเป็นมาในอดีต
ทั้งที่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวในฐานะข้าราชการประจำต้องการทำไปตามหน้าที่และตามสถานการณ์ที่บังคับนั้น ก่อให้เกิดความไม่สบายใจขึ้นแก่ตัวกระผมและครอบครัว..."
คือเหตุผลที่ "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" ให้ไว้ก่อนตัดสินใจทิ้งเก้าอี้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนเวลาอันควร ชนิดที่เจ้าตัวเอ่ยปากว่า "ไม่คิดฝันมาก่อนว่าชีวิตราชการจะจบลงเร็วเช่นนี้"
กล่าวสำหรับตัวบุคคล ถ้าไม่นับ "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรีแล้ว "บวรศักดิ์" คือกระบี่มือหนึ่งทางด้านกฎหมายของรัฐบาลที่ถูกมองว่าพร้อมเสมอในการรับปฏิบัติตามคำสั่งของฝ่ายการเมือง ยิ่งได้สวมหมวกเลขาธิการ ครม. ซึ่งเป็นตำแหน่งของฝ่ายประจำที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุดจากฝ่ายบริหาร
ยิ่งทำให้สังคมตั้งคำถามกับการตัดสินใจไขก๊อกของ "บวรศักดิ์"
หาก ครม.ทั้งคณะยังมอบความไว้วางใจให้ "บวรศักดิ์" ทำหน้าที่เลขาธิการ ครม.ตามที่ "นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาการันตี
เป็นไปได้หรือไม่ที่ "บวรศักดิ์" จะหมดความไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล "ทักษิณ" เสียแล้ว?
ชนวนแรกที่ทำให้ "บวรศักดิ์" เริ่มหงุดหงิดกับฝ่ายการเมืองเห็นจะเป็นกรณีที่เขาและเพื่อนข้าราชการจับกลุ่มพูดคุยกันในวงเล็กๆ เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อหารือสถานการณ์บ้านเมือง และกำหนดท่าที่ของข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่ามกลางภาวะที่สังคมแบ่งฝักแบ่งฝ่าย
และทำให้การล่ารายชื่อข้าราชการระดับสูงกว่า 1.5 พันคน กลายเป็นการจัดม็อบสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ แทน!!?
จากนั้นเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณเลือกผ่าทางตันทางการเมืองด้วยการประกาศยุบสภา แต่กลับสั่งให้ "บวรศักดิ์" ตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีใหม่และจัดเตรียมโผครม.ทักษิณ 2/4 ไปด้วย
ทำให้ "บวรศักดิ์" ถึงกับรับไม่ได้ แต่จำต้องทำตามหน้าที่ ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณเองก็รับไม่ได้เช่นกันที่ข่าวรั่วถึงหูคนนอกก่อนที่เขาจะออกจากพระราชวังสวนจิตรลดาเสียอีก และผู้ต้องสงสัยเบอร์ 1 คือ เลขาธิการ ครม.ที่เข้าวังไปพร้อมนายกฯนั่นเอง
อันนี้คือชนวนสำคัญที่ทำให้ "บวรศักดิ์" เริ่มทบทวนบทบาทของตัวเอง!!?
ก่อนหน้านี้ "บวรศักดิ์" เคยให้สัมภาษณ์ "มติชน" ภายหลังเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ว่า "ถ้าถามว่าผมจะอยู่ในตำแหน่งเลขาฯ ครม.นานไหม ผมตอบไม่ได้ แต่คิดว่าคงไม่อยู่จนเกษียณ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของนายกฯ ถ้าวันหนึ่งนายกฯบอกว่าไม่เอาผมแล้ว มีคนอื่นที่ไว้ใจมากกว่า ผมก็ต้องไป ต้องทำใจให้ได้อย่างนี้"
เมื่อเกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกันแล้ว การทำงานร่วมกันต่อไปคงเป็นเรื่องยาก
ยังไม่รวมกรณีที่คนในรัฐบาลบีบให้สำนักเลขาธิการ ครม.ทูลเกล้าฯถวายร่างพ.ร.ฎ.เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549
ทั้งที่ยังมีปัญหาเรื่อง ส.ส.ไม่ครบ 500 คน การกดดันให้มีการทูลเกล้าฯร่างพ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ฎ.ยุบสภา พ.ศ.2549 เพื่อกำหนดให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 15 ตุลาคม
ทั้งที่ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับสถานภาพของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
รวมถึงการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีมายกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 5 เมษายน เรื่องการลาพักราชการของนายกฯ
เหล่านี้ล้วนเป็นแผนการของฝ่ายการเมืองที่ใช้อำนาจกดดันฝ่ายประจำให้หาช่องทางคลี่คลายวิกฤตการณ์ของตัวเองทั้งสิ้น
เรื่องอย่างนี้มีหรือที่ ศ.ดร.ด้านกฎหมายมหาชนอย่าง "บวรศักดิ์" จะไม่รู้ ไม่เช่นนั้นคงไม่มีการเปรยกับคนใกล้ชิดหลายครั้งในทำนองว่า เบื่อ เหนื่อย อยากพัก หรืออาจจะลาบวชสักระยะหนึ่ง
โดยระหว่างที่ความคิดยังไม่ตกผลึก "บวรศักดิ์" ได้เดินสายไปขอคำปรึกษาจาก "วิษณุ" หลายครั้ง ซึ่งตอนนั้นเขาได้เตรียมแนวทางการผ่าทางตันให้ตัวเองไว้ 3 ช่องทาง
แต่ "วิษณุ" ได้ให้ความเห็นไปอย่างกว้างๆ ไม่ได้ "ฟันธง" อะไร เพราะคิดว่าลำพังตัวเองก็แทบจะเอาตัวไม่รอดแล้ว
ในที่สุด "บวรศักดิ์" ได้เลือกวิธี "ตัดบัวไม่ไว้ใย" เพราะไม่ต้องการใช้ความรู้ทางกฎหมายในทางที่จะไปสร้างเคราะห์กรรมให้แก่ประเทศ โดยยื่นจดหมายลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน เป็นต้นไป หันหลังให้กับการเมืองด้วยการออกตัวว่า "จะไม่เป็นที่ปรึกษาพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ไม่มีการลงสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.แบบแบ่งเขตอะไรทั้งสิ้น ขอเรียนว่าไม่พร้อมที่จะเข้าสู่ระบบการเมือง"
ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกเข็ดขยาดกับนักการเมือง
ส่วนสาเหตุที่ "บวรศักดิ์" ขอบรรพชาอุปสมบทไปพร้อมกัน นอกจากต้องการถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีแล้ว
ยังป้องกันไม่ให้ ครม.ทัดทานแนวคิดของเขาด้วย ซึ่งภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณแจ้งข่าวให้เหล่าเสนาบดีรับทราบ ก็ไม่มีคำกล่าวอื่นใดออกจากปากของนายกฯ นอกจากคำว่า "แธงค์กิ้ว" คำเดียว
ท้ายที่สุด "ปรากฏการณ์บวรศักดิ์" ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลผลกระทบโดยตรงต่อ "ระบอบทักษิณ"เป็นผลกระทบในเชิงความรู้สึกของข้าราชการประจำที่อาจต้องลุกขึ้นมาทำบางสิ่งในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เป็นผลกระทบในเชิงความรู้สึกของสังคมที่อาจต้องช่วยกันกระตุกต่อมสำนึกของฝ่ายการเมืองว่าต้องรับผิดชอบอย่างไรต่อวิกฤตการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน!!!
หน้า 11
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pol02080649&day=2006/06/08บทความจากมติชนบทวามนี้วิเคราะห์กรณีคุณบวรศักดิ์ ได้น่าสนใจมาก