อำนาจอธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูด (1)
วันที่ : 16 มิถุนายน 2550
เนื่องจากในระยะหลังนี้ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากถึงปัญหาเรื่องอำนาจอธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูด ผมจึงขอนำบทความของพลเรือเอกถนอม เจริญลาภ ที่ปรึกษารัฐบาลซึ่งให้ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้ลงพิมพ์ในนิตยสารวิทยุสราญรมย์ปีที่ 9 ฉบับที่ 34 มา ณ ที่นี้
1.ความเป็นมา
รัฐบาลกัมพูชาประกาศกฤษฎีกา กำหนดเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาในอ่าวไทย ลงนามโดยลอนนอล ประธานาธิบดีกัมพูชาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1972 (พ.ศ. 2515) กระทรวงต่างประเทศกัมพูชาแถลงข่าวนี้ แจกจ่ายสำเนากฤษฎีกาและแผนที่สังเขปของไหล่ทวีป เส้นแสดงเขตไหล่ทวีปในแผนที่ย่อ เริ่มต้นจากจุด A ซึ่งอ้างว่าคือหลักเขตแดนไทย-กัมพูชาที่ 73 จากนั้นเส้นเขตไหล่ทวีปลากไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ลงเล็กน้อย ผ่านกึ่งกลางเกาะกูดเลยออกไปในอ่าวไทยถึงประมาณกลางอ่าว แล้วหักลงทางใต้ไปเกือบสุดอ่าวไทย จึงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โอบล้อมเกาะภูกว๊อกของเวียดนาม แล้ววกขึ้นทางเหนือเข้าบรรจบฝั่งที่จุด B ซึ่งอ้างว่าเป็นจุดเขตแดนของเวียดนาม-กัมพูชาที่ริมฝั่งทะเล
เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชา ตามที่ปรากฏในแผนที่สังเขปที่แจกจ่ายมีหลายประเด็นที่น่าสงสัย แต่ที่ถือว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเทศไทย คือ ช่วงแรกของเส้นเขตไหล่ทวีปที่ผ่านกึ่งกลางเกาะกูดของไทย ข่าวและภาพเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาในแผนที่สังเขปที่แจกจ่ายแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางในหนังสือพิมพ์ไทยและต่างประเทศ
ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและประชาชนไทยข้องใจกับเรื่องนี้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยยังหวั่นไหวไม่สบายใจกับคำพิพากษาของศาลโลกกรณีเขาพระวิหาร ผู้เขียนได้หาข้อมูลเพิ่มเติมและได้ศึกษาพิจารณาท่าทีของกัมพูชาในเรื่องนี้ มีหลายประเด็นที่สามารถวินิจฉัยได้ว่า กัมพูชาไม่ได้อ้างสิทธิครึ่งล่างของเกาะกูด ความเข้าใจผิดเรื่องนี้เกิดขึ้นจากแผนที่สังเขปที่กัมพูชาแจกจ่ายในวันแถลงข่าว นั่นเอง
เรื่องนี้เงียบหายไปประมาณ 30 ปี เพิ่งจะมีผู้ยกเอาขึ้นมากล่าวถึงอีกและกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองไป ผู้เขียนจึงขอถือโอกาสชี้แจงการศึกษาข้อมูลและหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูดอีกครั้ง
2.การศึกษาพิจารณาจากข้อมูลและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
2.1 สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ฝรั่งเศสคืนเกาะกูดให้ไทย
วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) เกิดขึ้นโดยฝรั่งเศสนำเรือรบ 2 ลำบุกฝ่าแนวต้านทานของไทยเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา การสูญเสียของไทยและฝรั่งเศสไม่มากนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศสมีทหารตายเพียง 3 นายและบาดเจ็บ 3 นาย เรือทั้งสองลำเสียหายเพียงเล็กน้อย
ในการเจรจาสงบศึก ฝรั่งเศสตั้งข้อเรียกร้องมากมาย ทั้งเงินชดใช้ความเสียหาย ดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง สิทธิทางศาลและทางการเมือง ไทยไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องยินยอมตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสอย่างไม่มีเงื่อนไข ฝรั่งเศสกำหนดให้ไทยปฏิบัติตามข้อเรียกร้องต่าง ๆ ภายใน 1 เดือน จากนั้นก็ถอนกำลังจากอ่าวไทยตอนบน เข้ายึดครองจันทบุรี โดยอ้างว่าเพื่อเป็นประกันว่า ไทยจะปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาสงบศึก
ไทยปฏิบัติตามสัญญาสงบศึกทุกประการภายในเวลา 1 เดือน ตามที่กำหนดไว้ แต่ฝรั่งเศสไม่คืนจันทบุรีให้ไทย กลับตั้งข้อเรียกร้องต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็นระยะ ๆ ซึ่งไทยต้องยินยอมทั้งสิ้นเพราะไม่มีทางเลือก ฝรั่งเศสยึดครองจันทบุรีอยู่นานถึง 11 ปี มีสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศสเกิดขึ้นหลายฉบับในห้วงเวลานั้น ไทยต้องยกดินแดนและอื่น ๆ ให้ฝรั่งเศสมากมาย ในที่สุดฝรั่งเศสยอมถอนทหารออกจากจันทบุรีภายใต้ความตกลงว่าไทยยอมให้ฝรั่งเศสยึดจังหวัดตราดและเกาะกง (ประจันตคีรีเขตต์) ไว้เป็นประกันแทน (เรื่องกล่าวมาแล้วเพียงย่อ ๆ นี้ แท้จริงแล้วเป็นเรื่องยืดยาว เป็นช่วงเวลาของความสูญเสียและเจ็บปวดของคนไทยอย่างที่สุด ในยุคล่าอาณานิคม ท่านที่สนใจอาจอ่านรายละเอียดได้จากหนังสือเรื่องกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสและการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา ร.ศ. 112 โดยพลเรือตรีแชน ปัจจุสานนท์ และนาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี, จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2436 ถึง พ.ศ. 2447 โดยหลวงสาครคชเขตต์ ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ร.ศ. 112-126 โดยอาจารย์สุวิทย์ ธีรศาศวัต และอาจจะมีหนังสืออีกหลายเล่มที่ผู้เขียนไม่มีโอกาสอ่าน)
หลวงสาครคชเขตต์บันทึกไว้ว่า “การมอบหมายจังหวัดตราดและเกาะกงให้แก่เจ้าพนักงานฝรั่งเศสนั้น...ได้กระทำกัน ณ ที่ศาลาว่าการจังหวัดตราดในวันที่ 12 มกราคม ร.ศ. 123 (พ.ศ. 2447)...”
รายละเอียดบรรดาเกาะที่ฝรั่งเศสยึดครองในช่วงเหตุการณ์นี้ไปปรากฏในหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ. 125 (ค.ศ. 1907) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาฉบับสุดท้ายก่อนที่ฝรั่งเศสจะคืนจังหวัดตราดและบรรดาเกาะทั้งหลายทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย (นอกจากเกาะกงซึ่งฝรั่งเศสไม่ยอมคืนและเป็นจังหวัดเกาะกงของกัมพูชาตราบเท่าทุกวันนี้ จึงไม่น่าสงสัยว่าทำไมพลเอกเตียบัน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมของกัมพูชาจึงพูดไทยได้เหมือนคนไทย เพราะเป็นคนเกาะกง) สนธิสัญญานี้เรามักเรียกสั้น ๆ ว่า สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ซึ่งประกาศเขตไหล่ทวีปกัมพูชา เมื่ออ้างถึงเขตแดนไทย-กัมพูชา (จุด A) ก็อ้างสนธิสัญญาฉบับนี้ ข้อความในสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ระบุถึงการคืนเกาะกูดและอื่น ๆ ให้กับไทยว่าไว้ดังนี้ “ข้อ 2 รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย แลเมืองตราด กับเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม...”
แหลมสิงห์ตามที่กล่าวถึงในสนธิสัญญาฯ คือ แหลมสิงห์ปากแม่น้ำจันทบุรี เป็นอันว่าตั้งแต่ยึดครองจันทบุรี ฝรั่งเศสได้ยึดครองเกาะเหล่านี้ไปทั้งสิ้น และมาคืนโดยสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 นี้เอง และขอยืนยันว่าการปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชามีเพียง 73 หลักเท่านั้น หลักที่ 73 ที่แหลมสารพัดพิษหรือบ้านหาดเล็กเป็นหลักสุดท้าย ไม่มีหลัก 74 ตามที่บางท่านเข้าใจผิด
2.2 อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1958 ว่าด้วยไหล่ทวีป
ในช่วงเวลาของปี พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) ที่กัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีป ตามกฤษฎีกา ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 1972 นั้น บทบัญญัติของกฎหมายทะเลที่เกี่ยวข้องที่นำมาพิจารณา คือ อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1958 ว่าด้วยไหล่ทวีป (เวลานั้น UNCLOS 1982 ยังไม่มี)
อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1958 ว่าด้วยไหล่ทวีปได้นิยามคำว่า “ไหล่ทวีป” ไว้ดังนี้ “ข้อ 1 เพื่อความมุ่งประสงค์ของข้อเหล่านี้ คำว่า “ไหล่ทวีป” ใช้อ้างถึง (ก) พื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดิน (sea-bed and subsoil) ของบริเวณใต้ทะเล (submarine areas) ที่ประชิดกับชายฝั่งแต่อยู่ภายนอกบริเวณทะเลอาณาเขตจนถึงความลึก 200 เมตร...”
จากนิยามของไหล่ทวีปกล่าวได้ว่า เส้นเขตไหล่ทวีปก็คือเส้นที่ทอดไปตามพื้นท้องทะเล (sea-bed) ไปตามบริเวณใต้ทะเล (submarine areas) ดังนั้น ไม่เกี่ยวกับเกาะหรือแม้แต่ห้วงน้ำหรือมวลน้ำที่อยู่เหนือพื้นท้องทะเลด้วยซ้ำ ซึ่งข้อพิจารณานี้สอดคล้องกับแผนที่ผนวกกฤษฎีกาประกาศเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาฉบับจริงที่เป็นทางการ ดังจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป.
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/popup_news_print.aspx?ColumnId=41243&NewsType=2&Template=1 (โปรดติดตามตอนจบในสัปดาห์หน้า)