จัดปายยยยยย....อย่าให้เสียยยย
"วิบากกรรมของ ป.ป.ช. เห็นทีจะต้องคืนเงิน อย่างนั้นหรือ? โดย คุณ วาทตะวัน สุพรรณเภษัช
ที่มา เวบไซต์ ประชาทรรศน์
16 กรกฎาคม 2551
"คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ปัจจุบันนี้ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้วหรือยัง?"
ที่ถามอย่างนี้ ผมจะยังไม่ตั้งเป็นประเด็นไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ชุดนี้นั้น เป็นคณะกรรมการที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?
มีคนบอกผมว่า แม้จะไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่ "บังสนธิ" ก็ได้ใช้อาญาสิทธิ์ส่วนตน ในฐานะผู้นำการรัฐประหาร ได้โขกกะโหลก (แบบหลวงพ่อคูณ) ด้วยการออกคำสั่ง คปค. แต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
คนที่บอกผม ชี้แจงว่า อาญาสิทธิ์ที่ว่านั้น คือ อำนาจ "รัฐาธิปัตย์" ที่หัวหน้าคณะรัฐประหารมีอยู่ในมือนั่นไงเล่า!
อยากจะถามท่านผู้รู้ว่า ไอ้อำนาจ "รัฐาธิปัตย์" ที่ชอบพูดกันนักหนา โดยเฉพาะตอนยึดอำนาจ ชอบพูดกันว่า "คณะรัฐประหารมีอำนาจรัฐาธิปัตย์" จริงๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่?
พจนานุกรมไทยไม่บัญญัติคำนี้ไว้ แม้ในตำรับตำราของคณะรัฐศาสตร์แทบทุกมหาวิทยาลัย ชอบพูดกันถึงคำนี้นัก แต่พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่นักกฎหมายต้องยึดกันเป็นหลัก ในการแปลถ้อยคำกฎหมาย ตามแนวทางที่ศาลฎีกาท่านวางเอาไว้ กลับไม่มีคำนี้อยู่เลย แสดงว่า คำนี้ไม่ได้รับการ "ยอมรับ" ว่ามีอยู่ในภาษาไทย!!
ใครว่า "ไม่จริง" ก็ให้เขียนความเห็นเข้าไปต่อล้อต่อเถียงกับผมได้ ในเว็บไซต์ vattavan.com รับรองว่าตอบให้ถึงกึ๋น ทุกเม็ดและทุกดอกเลยทีเดียวเชียวครับ!!!
ยังจะไม่พูดถึงเรื่อง "อำนาจรัฐาธิปัตย์" แต่ผมมีประเด็นเกี่ยวกับ ป.ป.ช.ให้ท่านผู้อ่านได้ช่วยกันพิจารณาว่า
หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแล้ว ปัญหาจะมีอย่างไรบ้าง?
ขอให้รายละเอียดท่านดังต่อไปนี้
ตามประกาศ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน 2549 ข้อ 3 ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ประกอบด้วย
1. นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ
2. นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ
3. นายใจเด็ด พรไชยา กรรมการ
4. นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ
5. ศ.ภักดี โพธิศิริ กรรมการ
6. ศ.เมธี ครองแก้ว กรรมการ
7. นายวิชา มหาคุณ กรรมการ
8. นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ
9. น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ
โดยได้รับการสรรหาและแต่งตั้ง ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ข้อ 1
ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ เป็นเพราะคนที่ออกกฎหมายนั้นขาดความรอบคอบ หรืออย่างไรก็ไม่ทราบได้ เพราะประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน 2549 และฉบับที่ 31 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 นั้น ไม่ได้ระบุเกี่ยวกับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่น ของประธานและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไว้แต่อย่างใด
เหลือเชื่อเลยว่า พวกเขาจะสะเพร่ากันได้ถึงขนาดนั้น!
นอกจากนี้แล้ว ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ข้อ 1 ยังคงให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 ยังคงใช้บังคับต่อไป
ซึ่งก็หมายความว่า เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่น ของประธานและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ แต่งตั้งครั้งนี้ ก็จะต้องรับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และผลประโยชน์ตอบแทนอื่น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542
มาตรา 18 เขาว่าเอาไว้อย่างนี้ครับ
"มาตรา 18 เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น"
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติ เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์อื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2541 มาตรา 4 ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการและกรรมการ ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ตามอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
"กรรมการ" หมายความว่า กรรมการเลือกตั้ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และให้หมายความรวมถึงผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาด้วย
"ประธานกรรมการ" หมายความว่า ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ขอกราบเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพให้ทราบทั่วกันว่า
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ กับพวกรวม 9 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งครั้งนี้ ไม่ได้มีพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแต่อย่างใด
ฉะนั้น นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ กับพวกรวม 9 คน จึงไม่สามารถรับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นในตำแหน่งประธานกรรมการ และ/หรือกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามนัยกฎหมายข้างต้นได้
จึงขอส่งบทความนี้ เป็นเสมือน "จดหมายเปิดผนึก" ไปถึง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในฐานะเป็นผู้จ่ายเงินให้แก่ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ กับพวก ทราบตรงนี้ว่า
ท่านได้จ่ายเงินให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันไป อย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย กล่าวคือ
1. เรียกเงินที่ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ กับพวกรวม 9 คน รับไปที่เป็นเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นคืน
2. ระงับการจ่ายเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่น ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ครับ...
ทำมันซะให้ถูกต้อง ส่วนจะคิดอ่านแก้ไขกันอย่างไร ก็ทำไปเถิด แต่ผมขอบอกว่า คณะกรรมการทุกท่าน ล้วนแต่เป็นนักกฎหมาย และเป็นข้าราชการผู้หลักผู้ใหญ่มาก่อน อีกทั้งกรรมการคนหนึ่งคือ นายกล้านรงค์ จันทิก ก็เป็นเลขาฯ ป.ป.ช.เก่า ซึ่งเคยจ่ายเงินเดือนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มาก่อน จะมาบอกว่าไม่รู้กฎหมายเงินเดือนนั้น คงจะอ้างกันไม่ได้!
ขอเรียนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทุกท่านทราบว่า พวกท่านทั้ง 9 คน จะดำรงตำแหน่งต่อไปหรือไม่? นั้น คงไม่ใช่กงการอะไรของผม
แต่ตอนนี้ พวกท่านต้องส่งเงินคืนก่อน!
บ้านเมืองของเรานั้นมีขื่อแป มีกฎหมายและระเบียบที่จะต้องปฏิบัติตาม จะมาอ้างว่า บังสนธิ... เคาะกะโหลกแล้ว การแต่งตั้งเรียบร้อย ...แค่นั้นคงไม่พอหรอกครับ!!
นี่เงินของแผ่นดินนะ ไม่ใช่ของตาบัง-คนเมียแยะ ซะเมื่อไรกัน!!!"