อาจจะจริง



เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 2 ก.ค.51 ที่ คลัง ปตท. เขาบ่อยา แหลมฉบัง อ.ศรีราชา นายวิชา จุ้ยชุม ผู้จัดการฝ่ายคลังปิโตรเลียมภาคตะวันออก เปิดแถลงข่าวบริเวณท่าเทียบเรือคลัง ปตท.เขาบ่อยา โดยกล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเปิดแถลงข่าวในวันนี้เนื่องจาก ช่วงนี้มีข่าวออกมาว่าก๊าซจะขาดตลาด ทำให้คนแห่ไปเติมก๊าซรถยนต์ จนรถติดยาวตามปั้มน้ำมันต่างๆ ทั่วประเทศ
นายวิชา กล่าวว่าปกติกำลังการผลิตก๊าซ LPG ภายในประเทศ 270,000 ตัน/เดือน ขณะนี้ภายในประเทศขาดเพียงแค่เดือนละ 10,000 ตันเท่านั้น จึงนำเข้ามาชดเชย ขณะเดียวกันยอดจ่ายก๊าซของ ปตท. เดิมนั้นได้จ่ายออกไป 3,500 ตัน/วัน แต่ในช่วที่มีข่าวลือขาดก๊าซ ปตท. ได้เพิ่มยอดจ่ายออกเพิ่มเป็น 5,000 ตัน/วัน
เรือนำเข้าLPGรอบ12ปีมาแล้ว + ปตท.แบกรับแทนผู้ใช้352ล้านบาทเตรียมสร้างท่าเรือเพิ่มรองรับพีกอีก2ปี เรือนำเข้าก๊าซหุงต้มล็อตแรกในรอบ 12 ปี ขนาด 22,000 ตัน จากซาอุฯมาถึงไทยแล้ว ปตท.ยันแบกรับภาระออกให้ประชาชนก่อน 352 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่พ.ค.ต้องนำเข้าเผื่อเพื่อนบ้านอีกกว่า 1,000 ตัน จากแผนเดิมที่นำเข้าเพียง 10,000 ตัน เผยเตรียมเม็ดเงิน 700 ล้านบาท สร้างท่าเรือรับก๊าซหุงต้มนำเข้าเพิ่มรองรับพีกในอีก 2 ปีข้างหน้า
แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)(บมจ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการที่กระทรวงพลังงานมีแผนในการนำเข้าก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจี เพื่อมาสนองความต้องการใช้ในประเทศ เนื่องจากกำลังการผลิตจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ 5 แห่ง และโรงกลั่นน้ำมันอีก 7 แห่ง มีกำลังการผลิตเพียง 300,000 ตันต่อเดือน ไม่สามารถผลิตก๊าซหุงต้มเพียงพอต่อความต้องการอยู่ที่ประมาณ 340,000 ตันต่อเดือนได้ ทำให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซหุงต้มในเดือนเมษายน 2551 ในปริมาณ 22,000 ตันนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา ทางบมจ.ปตท.ได้มีการนำเข้าก๊าซหุงต้มจากประเทศซาอุดีอาระเบียโดยเรือCLEAN RIVER สัญชาติปานามา มาขึ้นที่คลังปิโตรเลียมศรีราชาของบมจ.ปตท.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการนำเข้าเที่ยวนี้ถือเป็นการนำเข้าเที่ยวแรกในรอบ 12 ปี หลังจากที่เคยมีการนำเข้ามาเมื่อเดือนเมษายน 2539
สำหรับการนำเข้าครั้งนี้ ราคาก๊าซหุงต้มอยู่ในระดับ 860 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน โดยเป็นราคาต้นทุนจากซาอุดีอาระเบีย 810 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน บวกกับค่าขนส่ง ค่าประกันภัย และค่าใช้จ่ายในการรับเรือประมาณ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน โดยที่ต้นทุนการนำเข้าจะสูงกว่าราคาควบคุมหน้าโรงกลั่นประมาณ 511 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หรือตกประมาณ 16 บาทต่อกิโลกรัม ที่ บมจ.ปตท.ต้องแบกรับภาระแทนประชาชนไปก่อนประมาณ 352 ล้านบาท หรือ 240 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม โดยยังไม่รู้ว่าจะได้รับเงินที่แบกรับภาระคืนเมื่อใด
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้จากแผนเดิมที่บมจ.ปตท.วางแผนไว้ว่าในช่วงเดือนพฤษภาคม 2551 นี้ จะต้องมีการนำเข้าก๊าซหุงต้มอีก 10,000 ตันต่อเดือน แต่เมื่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) สหภาพพม่า และกัมพูชา ได้ขอร้องประเทศไทยจัดส่งก๊าซหุงต้มออกไปให้ หลังจากกรมธุรกิจพลังงานออกประกาศควบคุมการส่งออกก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือก๊าซหุงต้มเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนในประเทศและแก้ปัญหาการลักลอบส่งออกก๊าซหุงต้มตามแนวชายแดน
ทำให้บมจ.ปตท.ต้องปรับแผนการนำเข้าก๊าซหุงต้มใหม่ โดยจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาอีกประมาณ 1,268 ตันต่อเดือน เพื่อป้อนให้กับสปป.ลาว 64 ตันต่อเดือน กัมพูชา 1,196 ตันต่อเดือนและพม่า 8 ตันต่อเดือนตามที่กรมธุรกิจพลังงานได้แจ้งมา ซึ่งภาระในส่วนนี้บมจ.ปตท.คงไม่มีปัญหา เพราะสามารถนำไปจำหน่ายในราคาตลาดโลกบวกกำไรอีกส่วนหนึ่ง
ส่วนการที่ภาครัฐยอมให้มีการส่งออกก๊าซหุงต้มไปให้กับประเทศเพื่อนบ้านนั้น ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการอุดช่องโหว่ไม่ให้มีการลักลอบส่งออกก๊าซหุงต้ม เพราะหากห้ามแล้วจะทำให้ปัญหาการลักลอบส่งออกมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากตามแนวชายแดนเกิดการขาดแคลน ทำให้เกิดการจูงใจของผู้ประกอบการภายในประเทศที่จะลักลอบมากขึ้น เพราะสามารถบวกกำไรจากเดิมที่มีกำไรอยู่แล้วกว่า 10 บาทต่อกิโลกรัม แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาการลักลอบส่งออกก๊าซหุงต้มจะไม่หมดไป หรือเกิดขึ้นประมาณครึ่งหนึ่งของการส่งออกถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยกำไรส่วนต่างที่มีมากกว่าการขายในประเทศ
แหล่งข่าวกล่าวเสริมอีกว่า อย่างไรก็ตามจากอัตราการเพิ่มขึ้นของการใช้ก๊าซหุงต้มที่เพิ่มขึ้นปีละ 14% ในเบื้องต้นมีการประเมินว่าจะต้องมีการนำเข้าก๊าซหุงต้มเป็นระยะเวลาอย่างน้อยไปจนถึงปี 2553 นั้น ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมการรองรับในการก่อสร้างท่าเรือเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการประเมินว่าความต้องการใช้ก๊าซหุงต้มจะพุ่งขึ้นอีกในช่วงปี 2553 ทำให้ท่าเรือรับก๊าซหุงต้มที่มีอยู่ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องทำการก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีกใช้งบประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตัดสินใจของผู้บริหารบมจ.ปตท. ว่าจะลงทุนก่อสร้างท่าเรือหรือเช่าเรือลอยลำรับก๊าซหุงต้มในทะเลแทน เพราะหากการใช้ก๊าซหุงต้มมีความต้องการสูงเพียงปีเดียวการลงทุนก่อสร้างท่าเรือจะไม่คุ้ม เมื่อเทียบกับการเช่าเรือที่มีต้นทุนถูกกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการตัดสินใจของผู้บริหารว่าจะเลือกแนวทางใด
ที่มา - ฐานเศรษฐกิจ
http://www.marinerthai.com/forum/index.php?topic=2492.0