ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
16-04-2024, 14:40
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  10 ประเภท NGO ทางเลือกใหม่เพื่อการอาสาทำดี 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
10 ประเภท NGO ทางเลือกใหม่เพื่อการอาสาทำดี  (อ่าน 1007 ครั้ง)
pornchokchai
สมาชิกสามัญขั้นที่ 2
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 53


« เมื่อ: 09-07-2008, 15:44 »

ดร.โสภณ พรโชคชัย
(sopon@thaiappraisal.org)

ในการอาสาทำดีนั้น มักทำด้วยการตั้งองค์กรพัฒนาเอกชน (Non-governmental organization หรือ NGO) มาดำเนินการ ซึ่งอาจเป็นในรูปสมาคม มูลนิธิ หรืออื่น ๆ รวมทั้งกลุ่มที่ไม่ได้จัดตั้งตามกฎหมาย แฟชั่นการอาสาทำดีมักเป็นกิจกรรมแบบน่ารัก ๆ ด้วยแฟชั่นปลูกป่า ลดโลกร้อน ช่วยเด็ก โดยไม่ไปขวางทางโจรหรือทางโกง แต่ในที่นี้ ผมขอเสนอให้ช่วยกันตั้ง NGO ในภารกิจใหม่โดยอาจถือเป็นการเติมเต็มในอีกรูปแบบหนึ่งของการทำประโยชน์ต่อสังคม

ผมเองก็เคยทำงาน NGO และเป็นงานแรกในชีวิตเสียด้วย ผมทำที่หน่วยงานซึ่งปัจจุบันนี้ชื่อว่า มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม โดยเป็นเจ้าหน้าที่ชุดแรก ซึ่งประกอบด้วย อ.จอน อึ๊งภากรณ์ คุณยงชัย เจิดอำไพ คุณภูมิธรรม เวชชยชัย และผม และต่อมาจึงเริ่มมีการรับอาสาสมัครมาทำงานเพื่อสังคมตั้งแต่รุ่นที่ 1 จนถึงปัจจุบัน ก็มีถึง 28 รุ่นแล้ว

NGO แนวใหม่ที่ควรตั้งเพื่อเป็นการรวมกลุ่มผู้สนใจอาสาทำดีเพื่อชาติและประชาชน ได้แก่:

1. “จับขอทาน” ในประเทศไทยของเรามีขอทานมากมายทั้งคนไทยแท้และต่างชาติโดยเฉพาะชาวเขมร อาจกล่าวได้ว่าไทยเรามีขอทานมากกว่าเวียดนามเสียอีก เราคงเคยได้ยินว่ามีบางหมู่บ้านในไทยที่ชาวบ้านมีอาชีพขอทานกันเป็นจำนวนมาก การให้ทานเช่นนี้ยังอาจเป็นบาปเพราะพบเห็นเด็กถูกจับมาบังคับขอทานหลายราย บางรายถูกทำร้ายจนพิการ เราควรจะจับบุคคลเหล่านี้ส่งสถานสงเคราะห์ของทางราชการหรือสร้างสถานสงเคราะห์ของ NGO เองขึ้นมาสงเคราะห์หรือฝึกอาชีพเพื่อประโยชน์ของขอทานและสังคมโดยรวม

2. “ตรวจตราพระ (ปลอม)” ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ชาวพุทธที่รักศาสนาจริง ควรตระหนักว่า พระ (ปลอม) ไม่ควรเที่ยวไป “โปรดสัตว์” หากินส่วนตัวนั้น สร้างความมัวหมองให้กับศาสนา ที่ผ่านมาบางหมู่บ้านยกโขยงกันบวชเพื่อหารายได้ การตรวจตราพระ (ปลอม) เช่นนี้ จะเป็นการช่วยจรรโลงศาสนาและปิดช่องทางทำมาหากินของมิจฉาชีพไปในตัว NGO นี้ยังอาจช่วยรณรงค์ต่อสู้กับความคิดอวิชชานอกศาสนา เช่น พิธีทางไสยศาสตร์ที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์ เป็นต้น

3. “รายงาน-เปิดโปงการบุกรุกทำลายป่า” ป่าของไทยเราถูกทำลายไปมากมาย คุณสืบ นาคะเสถียร ยอมตายเพื่อพิทักษ์ป่า นับเป็นการสละชีพเพื่อชาติโดยแท้ แต่ต่อให้ตายอีกนับสิบ “สืบ” ป่าก็ยังร่อยหรอลงทุกวัน หากไม่มี NGO มารายงาน-เปิดโปงการบุกรุกทำลายป่า ป่าก็คงหมดแน่ ๆ ข้อนี้ผมไม่ได้ส่งเสริมให้ NGO เอาชีวิตไปทิ้งนะครับ แต่หากไม่กล้าไปลงพื้นที่จริง ๆ ก็อาจร่วมกันบริจาคเงินจ้าง “มืออาชีพ” ไปสำรวจแล้วคนทำงานในสำนักงาน NGO มาเขียนรายงานเปิดโปงต่อสังคม คงช่วยปรามการบุกรุกป่าได้ชะงัดทีเดียว

4. “รักษ์คูคลอง-ต้านการบุกรุกใต้สะพาน” ในประเทศไทยอาจมี “คนจน” จำนวนหนึ่งบุกรุกใต้สะพานริมคลองอยู่บ้าง คาดว่าน่าจะมีสักไม่เกิน 200 แห่ง เฉลี่ยแห่งละ 30 หลังคาเรือน หรือราว ๆ 6,000 ครอบครัว รวมจำนวนคนก็คงไม่เกิน 24,000 คน เราจะให้คนจำนวนนี้มากีดขวางทางน้ำ สร้างมลพิษไม่ได้ แต่เราก็จะไล่ “เหมือนหมูเหมือนหมา” ก็คงไม่ได้ คงต้องจัดหาที่อยู่ให้เหมาะสมและ NGO ของผู้หวังทำดีเพื่อสังคมนี้ ควรทำหน้าที่คอยตรวจตรา อย่าให้ใครมาเอาสมบัติของแผ่นดินไปครอบครองเป็นของส่วนตัวอีก

5. “วิพากษ์ละครน้ำเน่า” ละครน้ำเน่านั้นมอมเมาความคิดของประชาชน ให้มุ่งเสพสุขส่วนตัว บูชาเงิน ขี้อิจฉา สงสารตัวเอง แก้แค้น ตีหน้าเศร้า เล่าความเท็จ ฯลฯ เราจึงควรมี NGO ประเภทที่เอาประเด็นความคิดของละครน้ำเน่ามาวิพากษ์และเผยแพร่ให้ชาวบ้านได้รับรู้ เป็นการให้ความรู้กับภาคประชาสังคมไปในตัว ไม่ปล่อยให้ “กากเดน” ความคิด “น้ำเน่า” มามีอิทธิพลในสังคม การทำเช่นนี้ยังเป็นการช่วยส่งเสริมให้เกิดการผลิตละคร “น้ำดี” ที่มีสาระในตลาดอีกด้วย

6. “ต่อสู้กับผู้ใช้อำนาจเถื่อนนอกกฎหมาย” ข้อนี้ผมคงไม่ได้จงใจผลักดันให้ NGO ไปตายนะครับ แต่ถ้ามีใครคิด “พลีชีพเพื่อชาติ” ก็สามารถทำได้ แม้ประเทศของเรามีทหารและตำรวจคอยรักษากฎหมาย (หรือเปล่า?) แต่เราก็อาจอาสาช่วยเหลือบ้างโดยไม่จำเป็นต้องเป็น “ทหารพราน” หรือ “กองอาสาป้องกันชาติ” ในสังกัดของทางราชการ แต่อาจตั้งในรูป NGO โดยมีขอบเขตงานในการไปช่วยคุ้มครองหรือเป็น “โล่มนุษย์” ให้กับชาวบ้านจากการคุกคามของ “โจรใต้” หรือต่อสู้กับผู้มีอิทธิพล การมี NGO ประเภทนี้อาจทำให้คนที่คิดฆ่าตัวตายได้คิดบ้างว่า ไหน ๆ ตัวเองก็เห็นว่าชีวิตไร้ค่าแล้ว ก็ยังสามารถทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมโดยมาเป็นอาสาสมัครต่อสู้กับ “ผู้ใช้อำนาจเถื่อนนอกกฎหมาย” เช่นนี้

7. “ตรวจสอบสื่อบิดเบือน” ในอดีตที่ผ่านมา เราคงเคยได้ยินมาว่า สื่อบางส่วนใช้ปากกาเป็นอาวุธทิ่มแทงคนอื่น หรือหาผลประโยชน์ การรายงานข่าวของสื่อก็อาจขาดความรับผิดชอบ หรือขึ้นอยู่กับสังกัดทางการเมือง สื่อเหล่านี้เป็นพิษภัยต่อประชาชน เราอาศัยองค์กรของสื่อเองมาตรวจสอบ ก็คงจะยาก เข้าทำนอง “แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวัน” เป็นต้น การมีอาสาสมัคร NGO แบบนี้ เป็นการป้องปรามสื่อ และช่วยกันยกระดับมาตรฐานวิชาชีพสื่อได้อีกทางหนึ่ง

8. “คุ้มครองผู้บริโภค” เราควรมี NGO ประเภทที่ช่วยคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ควรมีสมาคมพิทักษ์ประโยชน์ผู้ซื้อบ้าน ช่วยให้คำปรึกษา ช่วยฟ้องร้อง ช่วยให้ความรู้คนซื้อบ้านเพื่อไม่ให้ถูกเจ้าของโครงการเอาเปรียบ เป็นต้น ในประเทศไทยก็มีมูลนิธิประเภทนี้เพียงแห่งเดียว แสดงว่าเรายังไม่เห็นความสำคัญของผู้บริโภคนัก แต่สำหรับมูลนิธิด้านเด็ก สตรี กลับมีกันจนนับไม่ถ้วน

9. “จับโกหกโฆษณาหลอกลวง” NGO ประเภทนี้ก็เป็นทำนองเดียวกับ NGO คุ้มครองผู้บริโภค แต่มุ่งเน้นการจับโกหกโฆษณาหลอกลวงโดยเฉพาะ เช่น การโฆษณาที่โกหกว่าสระผมด้วยแชมพูยี่ห้อนี้แล้ว เส้นผมจะดำขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว หรือซักผ้าด้วยผงซักฟอกยี่ห้อนี้แล้ว ผ้าจะขาวราวเอาสีขาวทา ทั้งนี้ยังอาจรวมถึงการรณรงค์ไม่ให้มีการโฆษณาหรือถ่ายแบบปกสิ่งพิมพ์ที่โป๊-เปลือยจนเกินงาม เป็นต้น

10.“ป้องปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ” เริ่มตั้งแต่การรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ซึ่งขณะนี้ไทยมี NGO ประเภทนี้น้อยและมุ่งเน้นการเลือกตั้งระดับประเทศ เราควรมี NGO ที่ตรวจสอบการซื้อเสียงระดับท้องถิ่นอีกด้วย นอกจากนี้ NGO นี้ยังควรสอดส่อง เปิดโปงการทุจริตและประพฤติมิชอบในทุกระดับ ไม่ใช่เฉพาะระดับชาติและไม่ใช่ตรวจสอบในลักษณะที่มุ่งทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเท่านั้น

ถ้าประเทศไทยมี NGO ใหม่ทั้ง 10 ประเภทข้างต้นนี้ สังคมคงบริบูรณ์สุขกว่านี้ NGO คงได้รับการยอมรับจากสังคมมากกว่านี้ แต่ NGO ใหม่ข้างต้นอาจเกิดได้ยาก เพราะคนไทยมักมีความคิดว่า “ธุระไม่ใช่” “หมูเขาจะหาม อย่าเอาคานไปสอด” “น้ำเชี่ยว อย่าเอาเรือขวาง” จึงชอบทำ NGO ประเภททำดีเอาหน้า ตั้งแต่ระดับคุณหญิง คุณนายในอดีตจนถึง NGO ยุคใหม่ที่เอาแต่รณรงค์เรื่องที่น่ารักน่าชังและ “เจียมตัว” ไม่ไปกีดขวางทางโจรหรือทางโกงของใคร เข้าทำนองประเทศชาติจะล่มจมเพราะการโกง การทำผิดอย่างไรก็ช่างเขา ตัวเองขอทำดีเพื่อตีตั๋วไปบรรลุธรรม หรือขึ้นสวรรค์เอาตัวรอดคนเดียวก็พอ เป็นต้น

ลองดูนะครับ ใครสนใจทำดีในรูปแบบใหม่ ๆ นี้บ้าง ก็เชิญได้นะครับ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ “Knowledge Is Not Private Property”.
บันทึกการเข้า
มารุจัง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,761


@^____^@


« ตอบ #1 เมื่อ: 09-07-2008, 15:58 »

เอ่อออออ..
ข้อ 7 ถ้าทำจริง คงมีข่าวหายไปหลายช่องเลย
ข้อ 9. เนี่ยเอามาทำจริง ๆ ดูท่าจะไม่เหลือโฆษณานะคะ...
 
 
บันทึกการเข้า


ประชาธิปไตย มิได้จบอยู่แค่การเลือกตั้ง
ปล.รูปจากเวบ ผจก.
ชัย คุรุ เทวา โอม
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,846


สมัครรักแมว แต่ผมรัก Cat


« ตอบ #2 เมื่อ: 09-07-2008, 16:55 »

คือผมคนนึงที่ค่อนข้างไปยุ่งเกี่ยวกับ NGO บ่อย แต่ผมไม่ใช่

ผมว่าบางที ตัว NGO เองจับต้องอะไรที่เป็นเปลือกมากไป มันจึงกระจัดกระจาย

ผมอยากให้ทางเหล่า NGo จัดการที่หัวใจของเรื่องต่างๆมากกว่า

บันทึกการเข้า

"...สิ่งที่มนุษย์เราหวงแหนที่สุดก็คือชีวิต และก็เป็นสิ่งที่ให้แก่เขาเพื่อดำรงอยู่ได้แต่เพียงครั้งเดียว เขาจักต้องดำรงชีวิตอยู่เพื่อที่ว่าจะไม่ต้องทรมานใจด้วยความโทมนัสว่าวันเดือนปีที่ผ่านไปนั้นปราศจากจุดหมาย จักต้องไม่มีความรู้สึกอับอายว่าตนมีอดีตอันต่ำต้อยด้อยคุณค่า ชีวิตเช่นนี้ เมื่อตายลงก็สามารถพูดได้ว่าชีวิตของฉัน และพลังกายพลังใจทั้งหมดของฉันได้อุทิศให้แก่อุดมการณ์ที่ดีงามที่สุดแล้วในโลกนี้ นั่นคือการต่อสู้เพื่อกอบกู้อิสรภาพของมนุษย์..."

คำรำพัน ณ สุสานสหายผู้เสียสละในการต่อสู้ปฏิวัติ จากนวนิยายโซเวียตยอดนิยมเรื่อง เบ้าหลอมวีรชน

(How the Steel Was Tempered)

นิโคไล ออสตร๊อฟสกี้ เขียน ค.ศ.1933


*******************************

เชิญเยี่ยมชมบล็อคครับ
http://www.oknation.net/blog/amalit1990
หน้า: [1]
    กระโดดไป: