กอส.เปิดพรบ.ดับไฟใต้ ตั้ง"3องค์กร"เน้นยุทธศาสตร์-พัฒนา-กองทุน เสนอกองทัพมีหน่วย"สันติเสนา"
"ทักษิณ"เล็งลงใต้หลังพระราชพิธี กะค้างคืนลุยแก้ปัญหา กอส.ส่งผลสรุป 3 เล่มให้นายกฯแล้ว "อานันท์"แถลงยุติบทบาท หวังรัฐบาลนำไปใช้ เผยเสนอออก พ.ร.บ.ดับไฟใต้ ตั้งศูนย์คุมยุทธศาสตร์ มีสภาพัฒนาพื้นที่
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 5 มิถุนายน ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยของครูที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ขณะนี้มีการพูดคุยและตกลงกันโดยรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณในการซ่อมแซมบ้านพักครู และต่อไปจะสร้างรั้วโรงเรียน ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูเหมือนครูจะไม่ต้องการรั้วโรงเรียน แต่ต้องการให้รัฐจัดเงินสรรสวัสดิการให้มากกว่า พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า อันนี้ก็ดูอยู่ และจะเดินทางลงพื้นที่ด้วยตนเอง มีจังหวะเมื่อไรก็จะไปดู ต้องให้เสร็จงานพระราชพิธีก่อน และส่วนใหญ่ไปก็ต้องไปค้างคืน
เวลา 13.30 น. ที่อาคารวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ประชุมเสนอรายงานเรื่อง "เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์" โดยแยกส่วนออกเป็น 3 ฉบับ ก่อนแถลงยุติบทบาทการทำงานมาเป็นเวลา 1 ปีเศษ จากนั้น นายอานันท์ ปันยารชุน ประธาน กอส. แถลงว่า เช้าวันนี้ (5 มิ.ย.) ได้จัดส่งรายงานทั้ง 3 ฉบับให้นายกรัฐมนตรีแล้ว และจะจัดส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ห้องสมุดทั่วประเทศ ให้บุคคลที่สนใจศึกษาและจัดเวทีวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
นายอานันท์กล่าวว่า ต่อไปขึ้นอยู่กับรัฐบาลเป็นคนตัดสินว่าจะทำหรือไม่ทำ แต่ที่ผ่านมา กอส.มีข้อเสนอไปยังรัฐบาลหลายเรื่อง ซึ่งได้ทำบ้าง แต่หลายเรื่องรับไปแล้วแต่นำไปเปลี่ยนแปลง ก็ทำผิดวัตถุประสงค์ ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง ถูกต้อง ถูกประเด็น นโยบายของรัฐบาลก็จะผิดพลาดอีก รายงานฉบับนี้ไม่ใช่ว่า กอส.เก่ง หรือนั่งเทียนเขียน แต่ได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลสำรวจความเห็นของประชาชน พบปะข้าราชการทั้งในและนอกพื้นที่ กว่าจะออกมาเป็นรายงาน 3 เล่มนี้ได้ เมื่อ กอส.ได้ยื่นรายงานต่อรัฐบาลแล้วก็ถือว่าหมดสภาพ
ผู้สื่อข่าวถามว่า คาดหวังว่ารัฐบาลจะนำข้อเสนอของ กอส.มากน้อยเพียงใด นายอานันท์กล่าวว่า ในใจคาดหวังว่ารัฐบาลจะนำไปปฏิบัติ แต่อยากให้ถามรัฐบาลมากกว่าถามตน
นายอานันท์กล่าวต่อไปว่า รายงานฉบับย่อที่พูดถึงปัญหาขั้นพื้นฐานที่พูดกันมากเรื่องความยากจน การตกงาน การแย่งชิงทรัพยากร การปกครองที่ไม่เป็นธรรม และไม่ได้รับความยุติธรรม แต่ที่ทำให้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เด่นชัดมากขึ้นเพราะมีเรื่องของความหลากหลายทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ความยุ่งยากที่เกิดขึ้นไม่ได้สืบเนื่องมาจากศาสนาโดยตรง และไม่ใช่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่ทั้งนี้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีขบวนการแบ่งแยกดินแดนซึ่งยังมีอยู่แต่เป็นจำนวนน้อยมากที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนประกอบไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหา
"ปัญหาพวกนี้แก้ไขได้ ผมและ กอส.มีความมั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ แต่ปัญหาระยะสั้นที่เกิดขึ้นรายวัน กอส.ก็ขอประณามการกระทำนี้ เป็นปัญหาที่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ว่าจะมีท่าทีต่อรายงานฉบับนี้อย่างไร จะเปลี่ยนวิธีคิดหรือไม่" นายอานันท์กล่าว
นพ.ประเวศ วะสี รองประธาน กอส. กล่าวว่า จากความขัดแย้งที่มีมากว่า 100 ปี ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบมากที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดในประวัติศาสตร์ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย สิ่งที่ กอส.เสนอเพื่อแก้ไขปัญหานั้น คือให้มี พ.ร.บ.สันติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อจัดตั้งศูนย์อำนวยการยุทธศาสตร์สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศยส.) ที่มีความเป็นเอกภาพในด้านยุทธศาสตร์ มีหน้าที่เสนอแนะย้ายข้าราชการที่ไม่ดีออกนอกพื้นที่ได้ มีอำนาจระงับยับยั้งนโยบายและการกระทำจากหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ขัดยุทธศาสตร์ของ ศยส. ให้ตั้งสภาพัฒนาพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีคนในพื้นที่เข้ามาดูแลในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง วัฒนธรรม ศาสนา โดยให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมดูแลตัวเอง และตั้งกองทุนสนับสนุนการเยียวยาและสมานฉันท์
สำหรับข้อเสนอ กอส.ที่น่าสนใจอื่นๆ อาทิ 1.สานเสวนากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทั้งในและนอกประเทศ 2.ออกกฎหมายให้ชุมชนมีสิทธิจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนฐานความเชื่อทางศาสนา 3.ปฏิรูประบบการจัดการและระบบกรรมสิทธิ์ในที่ดินและทรัพยากร 4.ปรับปรุงกฎหมายอิสลามให้สอดรับกับบริบททางสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5.แก้ไข พ.ร.บ.บริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ให้สอดรับกับสถานการณ์ 6.ประกาศให้ภาษามลายูปัตตานีเป็นภาษาทำงานเพิ่มเติมอีกภาษาหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้
...
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01p0108060649&day=2006/06/06