ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
19-04-2024, 21:28
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  == คณิตศาสตร์ของเสียงข้างมาก - บทความอยากให้อ่านครับ == 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
== คณิตศาสตร์ของเสียงข้างมาก - บทความอยากให้อ่านครับ ==  (อ่าน 2313 ครั้ง)
jerasak
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 5,432



« เมื่อ: 04-06-2006, 05:36 »

คณิตศาสตร์ของเสียงข้างมาก

คอลัมน์ ดุลยภาพดุลยพินิจ โดย รศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์
มติชนรายวัน วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10301

ที่มา : http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2006q2/2006may24p1.htm
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
กติกาประชาธิปไตยมีจุดเด่นอยู่ประการหนึ่งคือการตัดสินใจมาจากระบบที่เปิดกว้างให้กับเสียงของมหาชน มิใช่จากอำนาจของ
กลุ่มผลประโยชน์เฉพาะ (special interest group) การเลือกตั้งที่ถือเอาเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ จึงเป็นเทคนิคทั่วไป ที่ใช้แยกแยะว่า
การตัดสินใจควรจะเป็นไปในทิศทางใด หรือใครควรทำหน้าที่ให้เป็นไปตามนั้น

ประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน (Representative Democracy) อาศัยตัวแทนที่เสียงข้างมากเลือกเข้าไปทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติ
แล้วสรรหาฝ่ายบริหารอีกทอดหนึ่ง

แต่กระบวนการของระบอบประชาธิปไตยมิได้มีความยาวที่สั้นเพียงเท่านี้

ในทางรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งเป็นการสร้างการปกครองของเสียงข้างมาก (Majority Rule)
ที่ในขณะเดียวกัน อาจนำไปสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิของเสียงข้างน้อย (minority right)


ในทางเศรษฐศาสตร์ ฝ่ายที่ได้รับชัยชนะแม้จะเหนือกว่าเพียงเล็กน้อยหรือไม่ก็ตาม จะมีอำนาจในการกำหนดนโยบาย
และการจัดสรรทรัพยากรของภาครัฐทั้งหมด ซึ่งสำหรับสังคมที่ภาคประชาชนมีความอ่อนแอหรือขาดความตื่นตัวทางการเมือง
กลุ่มผลประโยชน์จะมีอิทธิพลเหนือเสียงของประชาชน ส่งผลให้การบริหารประเทศ มิได้มุ่งตอบสนองความต้องการของประชาชนโดยรวม
ตามเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น โครงสร้างของระบอบประชาธิปไตยจึงจำเป็นต้องมีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and Balance) เป็นองค์ประกอบหลักเสมอ

ไม่เหมือนธุรกิจเอกชนของบางประเทศที่ขาดธรรมาภิบาลปล่อยให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย และกระทำตนเป็นผู้ชนะ
ที่ครอบงำผลประโยชน์เสียทั้งหมด (The winner takes all)

การเมืองไทยเคยประสบความยุ่งยากในยุครัฐบาลผสม ระบบพรรคการเมืองมีความอ่อนแอ เต็มไปด้วยปัญหาพรรคเล็กพรรคน้อย
และนักการเมืองย้ายพรรค ซึ่งสภาพเหล่านั้นมองกันว่าสร้างปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความต่อเนื่องในการบริหารประเทศ

การที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2540 ได้วางเงื่อนไขให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทบัญชีรายชื่อ
สำหรับพรรคขนาดกลางและใหญ่ การบังคับให้สังกัดพรรคและห้ามย้ายพรรค ต่างถือได้ว่าต้องการพ้นจากความล้มเหลว ของการบริหารที่อ่อนแอ

ประชาชนทั่วๆ ไปเริ่มรู้สึกสบายใจที่มีรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากและเข้มแข็ง เพราะให้นัยว่าการบริหารประเทศจะราบรื่นและมั่นคง
โดยไม่มีอุปสรรค ในขณะที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยทีเดียว ที่สนับสนุนผู้ครองอำนาจถึงกับเชื่อว่า ประชาธิปไตย หมายถึงกติกาที่วัดกันง่ายๆ
ด้วยเส้นแบ่งตัวเลขที่ร้อยละ 50

ผู้มีอำนาจทางการเมืองดูจะมีอาการหนักไม่น้อยเมื่อชี้นำว่าอำนาจในระบอบประชาธิปไตยควรแปรผันตามจำนวนเสียงสนับสนุน
กล่าวคือยิ่งมีเสียงสนับสนุนมากเช่นมี 11 ล้านเสียง การใช้อำนาจยิ่งชอบธรรมมากตามไปด้วย


เมื่อการถ่วงดุลถูกมองว่าเป็นเพียงอุปสรรคที่กีดขวางการทำงานของรัฐบาล
ประชาธิปไตยจึงถูกตีความ ให้เดินไปในทิศทางของอำนาจนิยม


ที่จริงแล้ว ระบอบเสียงข้างมากที่เด็ดขาด (Supermajority Rule) มิใช่ประชาธิปไตย เพราะเป็นระบบที่ขาดการถ่วงดุล
ไม่เปิดกว้าง ไม่จำเป็นต้องรับฟังเสียงที่แตกต่าง และไม่ต้องเคารพในสิทธิของผู้อื่น

เป็นระบอบที่สร้างความขัดแย้งแตกหัก แทนที่จะเป็นการประนีประนอมเพื่อให้สังคมเจริญก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน ของทุกภาคส่วนได้

อีกทั้งยังเป็นอันตรายหากยกระดับไปสู่การครอบงำความรู้สึกนึกคิดของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง


รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ล้มเหลวอย่างมาก ไม่เพียงแต่ในส่วนของการขาดกลไกในการส่งเสริมการพัฒนาระบบพรรคการเมือง
และการสร้างประชาธิปไตยภายในพรรค หากยังขาดกติกาที่จะป้องกันมิให้ระบอบเสียงข้างมาก แปรสภาพเป็นระบอบอำนาจนิยม
ซึ่งอยู่คนละฟากกับประชาธิปไตย

การบริหารเศรษฐกิจในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ขาดการรับฟังความเห็นที่แตกต่างออกไป มีการสร้างกระบวนการกำหนดนโยบาย
ที่คิดกันเอง ฟังกันเอง ปฏิบัติกันเอง และประเมินผลกันเองภายในแกนนำของรัฐบาลผู้ครองเสียงข้างมากจนล้นหลาม

นโยบายเศรษฐกิจที่เป็นผลผลิตของกระบวนการเช่นนี้ยากที่จะมีความยั่งยืน เพราะต้องเปลี่ยนแปลงไปคนละทิศละทาง
เมื่อมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลในเวลาต่อมา

ความจริงแล้ว การยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลายหรือการประนีประนอมระหว่างฝ่ายต่างๆ เป็นแนวทางสำคัญของกระบวนการ
กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้ระบบประชาธิปไตยทางตรง มีการถ่วงดุลระหว่างรัฐสภากับฝ่ายบริหาร
สูงกว่าที่เข้าใจกัน อีกทั้งยังมีการถ่วงดุลมากกว่าของประเทศไทยที่โดยหลักการแล้วรัฐสภาเป็นสถาบันที่ให้กำเนิดฝ่ายบริหาร

เกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ของเสียงข้างมากก็มีความละเอียดอ่อนกว่ากรณีของไทย

ประธานาธิบดีสหรัฐ ถูกกำกับโดยกติกาให้จำเป็นต้องประนีประนอมกับรัฐสภา ไม่เพียงแต่ในเรื่องของงบประมาณเท่านั้น
การจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีกับต่างประเทศจะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วยเสียงสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3
มิใช่ตัวเลขกึ่งหนึ่งเหมือนที่มักใช้กัน

การพิจารณากฎหมายและการจัดทำประชาพิจารณ์ในรัฐสภาสหรัฐ มิได้ยึดหลักคณิตศาสตร์ เพื่อประโยชน์ของเสียงข้างมากแต่ฝ่ายเดียว
มีการให้เกียรติฝ่ายเสียงข้างน้อย ในการดำเนินงานทางการเมือง และการมีบทบาทสำคัญในกรรมาธิการชุดต่างๆ


ในขณะที่ในประเทศไทย รัฐบาลเสียงข้างมากตีความเองว่าการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีเป็นเอกสิทธิ์ของฝ่ายบริหาร
แม้ว่าจะตีความได้ว่าข้อตกลงนั้นอาจกระทบต่อความเป็นอธิปไตยหรืออาจต้องมีการอนุวัตกฎหมายในอนาคตตามมาก็ตาม

รัฐบาลไทยสามารถดำเนินการได้โดยไร้การถ่วงดุลใดๆ ไม่ต้องแม้แต่จะขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
การประชาพิจารณ์เป็นเพียงพิธีกรรมที่มิได้มีความหมายแท้จริง ส่วนในการกำหนดกรรมาธิการ ฝ่ายเสียงข้างมากเป็นผู้เลือก-
ส่วนที่พึงพอใจที่สุดก่อน และไม่จำเป็นต้องให้เกียรติฝ่ายอื่นๆ


นักการเมืองในสหรัฐ ตระหนักกันว่าการแข่งขันทางการเมืองอาจทำให้ผู้ชนะกลายเป็นผู้แพ้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้โดยง่าย
ความมีมารยาทและการให้เกียรติกันในทางการเมืองจึงมีความสำคัญ

ในขณะที่นักการเมืองไทยมักมีทัศนคติที่แตกต่างออกไป อำนาจทางการเมืองนั้นมาจากการกีดกันฝ่ายตรงกันข้าม
มิใช่การยกระดับความสามารถของตนเอง
ถ้าได้เสียงข้างมากก็จะต้องหาทางทำให้ได้เสียงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้
โดยไม่สนใจว่าจะแลดูสง่างามหรือไม่

คณิตศาสตร์ของเสียงข้างมากกลายเป็นข้ออ้างง่ายๆ ไว้รับใช้อำนาจนิยม เอื้อโอกาสให้ผู้ที่มีอำนาจอยู่แล้วมีอำนาจมากขึ้น
และใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ

ผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง จึงควรเคร่งครัดในวิถีทางประชาธิปไตยที่แท้จริง

ไม่พึงอ้างว่าการเลือกตั้งที่ตนคิดว่าถูกต้องแล้วคือ คำตอบของระบอบประชาธิปไตย ไม่มีใครเลยที่ถูกต้องเท่า

ยิ่งไม่ควรทึกทักว่าการเลือกตั้งที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวสมัคร หรือเลือกตั้งแล้วได้รัฐสภา
ที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวก็เป็นประชาธิปไตยตามไปด้วย

การเลือกตั้งนั้นเป็นเทคนิควิธีการที่ต้องมีการเปิดกว้าง ตรงไปตรงมาในสายตาของทุกๆ ฝ่าย
ปราศจากวาระซ่อนเร้นที่เลือกปฏิบัติหรือมุ่งสร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจนิยม

มิฉะนั้นแล้ว การเลือกตั้งจะให้ผลที่ไม่เป็นที่ยอมรับและกลายเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
แม้จะมีผู้ชนะที่ได้รับการชูมือจากคณะกรรมการเลือกตั้ง ตามเกณฑ์คณิตศาสตร์ของเสียงข้างมากครบถ้วนหรือไม่ก็ตาม

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ : บทความนี้มีเนื้อหาส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับที่ผมกำลังอยากเขียนอยู่พอดี
                เมื่อพบว่ามีผู้เขียนแล้วค่อนข้างตรงกัน ก็เลยนำมาเผยแพร่เสียเลยครับ
                เพราะเนื้อหาปรากฎในเว็บข่าวสาธารณะอยู่แล้ว ผู้เขียนคงไม่หวงห้าม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05-06-2006, 04:39 โดย jerasak » บันทึกการเข้า

= A dreamer lives for eternity.=
== นัฝัมีชีวิพื่นิรัร์าล ==
นู๋เจ๋ง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,877



« ตอบ #1 เมื่อ: 04-06-2006, 06:36 »

 Rolling Eyes
เห็นด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า

~จะแน่วแน่...แก้ไข...ในสิ่งผิด~
hison
ขาประจำ
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 217


« ตอบ #2 เมื่อ: 04-06-2006, 09:59 »

ในประมวลกฏหมายแพ่ง  เรื่องจากออกเสียงลงมติของบริษัท   กลุ่มที่มีเสียงมากกว่าย่อมชนะเสมอ ยกเว้น  กรณีที่กลุ่มที่มีเสียงมากกว่า มีผลได้เสีย เป็นการส่วนตัว กับเรื่องที่ลงมคินั้น  เพราะกฏหมายห้ามนับเสียงที่ ผู้ออกเสียงมีส่วนได้เสีย
การออกมติคณะรัฐมนตรี   ออกกฎหมายในสมัย คุณ toxin  เป็นการออกกฏหมาย  ออกนโยบาย ออกมติที่ มีผลประโยชน์แอบแผง ซ่อนเร้น
เช่น  โครงการเมืองใหม่สุวรรณภูมิ  ไปกว้านซื้อที่ดินรอบๆมาถูกๆ   แล้วจึงสร้างสาธารณูปโภคเข้าไป 
       การบริหาราชการแผ่นดิน  ที่มีผลได้เสีย เป็นการส่วนตัว  เราจะห้ามทำได้หรือไม่ ในการปฎิรูปการเมืองรอบใหม่นี้
 Rolling Eyes
บันทึกการเข้า
พรรณชมพู
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 5,073


« ตอบ #3 เมื่อ: 04-06-2006, 10:56 »

ตรรกะของผู้อ่อนด้อยทางปัญญา ที่ไม่สามารถเข้าใจว่าอะไรคือประชาธิปไตย  แต่ตะโกนเรียกร้องให้รับฟังเสียงข้างมาก 19 ล้านเสียง เป็นตรรกะที่แพร่หลายโดยทั่วไปในหมู่ชนชั้นไร้มันสมอง  ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้นิยมจะเลือกพรรคการเมืองชั่วๆที่จ่ายเงินให้

เสียงข้างมาก ไม่ใช่เสียงที่บอกความถูกต้องได้  บอกได้เพียงความต้องการเท่านั้น

ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ทั้งในประเทศไทยและนานาอารยะประเทศ จึงได้กำหนดจำนวนเสียงในการใช้ลงมติในแต่ละกรณีแตกต่างกัน  ไม่ได้ให้ใช้เสียงข้างมากซึ่งสักแต่ว่ามากกว่าเท่านั้น  ตัวอย่างเช่นการลงมติของ กกต. ซึ่งมี 5 คน แต่ไม่ได้ระบุว่าให้ใช้เสียงข้างมากเท่านั้น แต่ต้องมากกว่าเป็นจำนวนร้อยละเท่าไหร่ด้วย  ทั้งนี้เพื่อป้องกันเสียงข้างมากรังแกเสียงข้างน้อยนั่นเอง

รัฐบาลทุกรัฐบาล ย่อมได้เสียงข้างมากในสภา  รัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่อาจบริหารประเทศได้แน่นอน  แต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลเสียงข้างมาก จะไม่ฟังฝ่ายค้านเสียงข้างน้อย เพราะหากเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ต้องมีฝ่ายค้านให้เปลืองงบประมาณ  เลือกรัฐบาลเสร็จ ฝ่ายค้านหรือฝ่านที่ไม่ได้อยู่ข้างรัฐฐาล ก็กลับไปนอนที่บ้านได้  อยู่ไปก็ไม่มีใครฟังเสียง จะจ้างไว้ให้เปลืองงบประมาณทำไม

บทความนี้ดีมากค่ะ  แต่ลิ่วล้อไทยรักไทย คงอ่านไม่รู้เรื่อง
บันทึกการเข้า
jerasak
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 5,432



« ตอบ #4 เมื่อ: 05-06-2006, 12:56 »

บทความนี้ดีมากค่ะ  แต่ลิ่วล้อไทยรักไทย คงอ่านไม่รู้เรื่อง

ถึงพวกลิ่วล้อจะอ่านไม่รู้เรื่อง ก็ไม่เป็นไรครับแค่อยากให้พวกเราได้อ่านกันเท่านั้นเอง

ความจริงยังมีบทความสะสมไว้อีกหลายเรื่องที่อยากเอามาแบ่งกันดูนะครับ
ส่วนใหญ่เกี่ยวกับ โครงสร้างสังคมของเรา และระบบความคิดของสังคม
ที่นักคิดต่างๆ คิดว่าเราควรจะเป็นอย่างไร แต่ปัจจุบันคลาดเคลื่อนอย่างไร
ก็จะทยอยเอามาลงให้อ่านกันครับ
บันทึกการเข้า

= A dreamer lives for eternity.=
== นัฝัมีชีวิพื่นิรัร์าล ==
engg
ขาประจำ
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 388


« ตอบ #5 เมื่อ: 06-06-2006, 17:40 »

Twisted Evilตรรกะของผู้อ่อนด้อยทางปัญญา ที่ไม่สามารถเข้าใจว่าอะไรคือประชาธิปไตย  แต่ตะโกนเรียกร้องให้รับฟังเสียงข้างมาก 19 ล้านเสียง เป็นตรรกะที่แพร่หลายโดยทั่วไปในหมู่ชนชั้นไร้มันสมอง  ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้นิยมจะเลือกพรรคการเมืองชั่วๆที่จ่ายเงินให้
 Twisted Evil


 Mr. Greenผมเป็นกลุ่มที่เลือกไทยรักไทย ไม่ได้รับเงิน และเชื่อว่าส่วนใหญ่ไม่ได้รับเช่นกัน

จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งล่าสุด เฉพาะในกรุงเทพฯ มากกว่า 40% เลือกไทยรักไทย กลุ่มนี้ไม่ได้เลือกเพราะไร้สมองหรือรับเงินแน่นอน

 Mr. Greenความจริง กับ ความเชื่อ ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน Mr. Green



Questionคนที่ใช้ความเชื่อในการใช้ชีวิต ชีวิตต้องสับสนวุ่นวายแน่ Question
บันทึกการเข้า
Cherub Rock
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,183


น้องๆ ช่วยไปบอกผู้หญิงคนนั้นที ว่าเลิกมองผมได้แล้ว


« ตอบ #6 เมื่อ: 17-04-2008, 15:29 »

''ประชาธิปไตยไม่ใช่ทรราชของเสียงข้างมาก''
บทความออนไลน์มติชน 24 ม.ค.46
โดย เกษียร เตชะพีระ

รัฐบาลได้ตัดสินใจเมื่อ 15 มกราคมศกนี้ ให้เปิดเขื่อนปากมูล 4 เดือน(กรกฎาคม-ตุลาคม) ปิด 8 เดือนตามผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 3,750 ครัวเรือนในพื้นที่ 3 อำเภอ(โขงเจียม,พิบูลมังสาหาร,สิรินธร) ของจังหวัดอุบลราชธานี โดยหน่วยราชการ 4 หน่วย(ตำรวจตระเวนชายแดน,กองทัพภาคที่ 2,ข้าราชการฝ่ายปกครอง,สำนักงานสถิติแห่งชาติ) ชั่วเวลาสองสามวัน(24-26 ธ.ค.ศกก่อน) ซึ่งพบว่าครัวเรือนที่สำรวจ 83% เห็นว่าตนเองไม่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล ขณะที่ครัวเรือนจำนวนมากที่สุดคือ 23.9% เห็นด้วยกับการเปิดเขื่อน 4 เดือน ปิด 8 เดือน ฉะนั้น รัฐบาลจึงยืนตามมติคณะรัฐมนตรีเดิมเมื่อเดือนตุลาคมศกก่อน

นี่นับเป็นการตัดสินใจด้วยเหตุผลคำอธิบายที่เหลวไหลมักง่ายที่สุด เท่าที่รัฐบาลนี้เคยทำมา กล่าวคือเอาเขื่อนราคาเป็นพันๆ ล้าน และชีวิตผู้คนนับหมื่นๆ คนเป็นเดิมพันแล้วชี้ขาดด้วยการทำโพลสำรวจความคิดเห็นชั่วครั้งชั่วคราวที่ อาจเปลี่ยนแปลงวูบไหวขึ้นลงได้ของชาวบ้านเพียงครั้งเดียว!

ในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์ ผมไม่เคยได้พบได้เห็นได้ยินได้ฟังว่ามีหลักวิชาการกำหนดนโยบายสาธารณะบ้าบอ คอแตกที่ไหนอิงอาศัยการทำโพลโดดๆ หนเดียวแบบนี้ แถมยึดมั่นถือมั่นโพลหนเดียวเดี่ยวๆ นี้ ขนาดที่ใช้มันล้มล้างผลสรุปจากการศึกษาค้นคว้าโดยทีมนักวิจัยทั้งไทยและเทศ เป็นแรมปีถึง 3 ชุด ไม่ว่าจะเป็นชุดคณะกรรมการเขื่อนโลก ซึ่งสนับสนุนโดยธนาคารโลกและนานาประเทศ,ชุดมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งรัฐบาลเองออกเงินสนับสนุน และชุดงานวิจัยไทบ้านของชาวปากมูนร่วม 200 คนที่อ้างอิงหลักภูมิปัญญาชาวบ้านขนานแท้และดั้งเดิม

เรียกว่าวิชาการสากลรัฐบาลก็ไม่เชื่อ,วิชาการไทยก็ไม่ฟัง, วิชาการไทบ้านก็ไม่สน เชื่อมันแต่โพลความคิดเห็นที่สำรวจเองเออเอง ทำราวกับกำลังเร่ขายโทรศัพท์มือถือหรือรถยนต์มือสองหรือจัดอันดับ เรตติ้งรายการทีวีที่ถือความพอใจของลูกค้าผู้ชมผู้บริโภคในตลาดเป็นสรณะยัง งั้นแหละ ไม่ใช่กำลังปกครองบริหารบ้านเมือง ซึ่งจะตัดสินนโยบายอะไรก็แล้วแต่ ต้องมองลึก มองกว้าง มองไกล และมองเชื่อมโยงกัน อย่างนี้ก็สมแล้วที่อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี เปรียบเปรยการบริหารประเทศสไตล์ซีอีโอของรัฐบาลชุดปัจจุบันว่าตั้งอยู่บนฐาน "ความรู้หรือวิชาการแบบสะดวกซื้อหวังผลระยะสั้น(convenient store intellectual)" ในทำนองโพลเดียวฟันเปรี้ยงเลย ถ้าเอากันแบบนี้ จะต้องลำบากไปสำรวจความคิดเห็นถึง 3,000 กว่าครัวเรือนใน 3 อำเภอทำไม? ก็สำรวจมันซะในครัวเรือนของท่านสมาชิกคณะรัฐมนตรี 30 กว่าคนนั่นแหละให้รู้แล้วรู้แรดไป ว่าวงศ์วานว่านเครือบริษัทบริวารในบ้านหลายๆ หลังของพะนะหัวเจ้าท่านอยากให้เปิด/ปิดเขื่อนปากมูลกี่เดือนต่อปี ถ้าผลลัพธ์ไม่ได้ดั่งใจก็ขยายวงสำรวจเพิ่มทีละหลังจนกว่าผลจะออกมา "เปิด 4 ปิด 8" โป๊ะเชะเป็นอันใช้ได้ เพราะเอาเข้าจริงก็ไม่เห็นจะต้องอาศัยหลักวิชาความรู้ความกว้างความไกลความ ลึกระดับเหวอะไรเลยนี่นา อาศัยแค่ลมเพลมพัดบัดเดี๋ยวใจของความเห็นวูบไหวตามอารมณ์เที่ยวเดียวเท่า นั้น มันจะยากวิบากมหัศจรรย์ตรงไหนถึงแก่ต้องไปรบกวนหน่วยราชการทหารตำรวจจากงาน ปราบยาบ้าให้มาสำรวจทรรศนะเขื่อน เอามันดื้อๆ นี่แหละ เพราะไม่ว่าจะสำรวจใคร สำรวจยังไง เกมนี้ก็หนีไม่พ้นเป็น บริการสำเร็จความใคร่ทางพลังงานด้วยสถิติ(the fulfillment of energy desire with statistical service) วันยังค่ำ โดยใช้สถิติแบบสะดวกซื้อ(convenient-store statistics) เป็นเครื่องมือไปดันทุรังยังไงให้ออกมาเป็นนโยบายแบบสะดวก ซื้อ(convenient-store policy) ตอนจบให้จงได้...ไชโยๆๆ

คิดแล้วก็หนาวเยือกใจนะครับว่าเราฝากบ้านฝากเมืองไว้กับนักบริหารผู้มีวิสัยทัศน์เจ็ดหนึ่งหนึ่งแบบนี้

แต่เชื่อมั้ย? ภูมิปัญญา,สถิติ และนโยบายสะดวกซื้อดังกล่าวก็มีภาพความชอบธรรมและแรงดึงดูดใจต่อสาธารณชน ของมันอยู่ เพราะอ้างได้ว่าเป็นการตัดสินใจอิงตามเสียงข้างมาก(majority opinion) ก็ในเมื่อเสียงข้างมากจากการทำโพลคนในพื้นที่(83%) บอกว่า เขาไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเขื่อนอะไรและเสียงที่มากที่สุด(23.9%) บอกให้เปิด 4 ปิด 8, ในฐานะรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย เราก็เลยทำตามเสียงข้างมากไง, ก็อยากได้ประชา-ธิปไตยกันนักไม่ใช่หรือ? เอาไปซี่ เปิด 4 ปิด 8 ตามเสียงข้างมากเปี๊ยบ, แล้วยังจะมาบ่นประท้วงหาตะบักตะบวยอะไรอีก, วัทธ่อ!

คืออย่างงี้นะครับ ตั้งแต่ครั้งผมเรียนวิชาสังคมกับการปกครองในมหาวิทยาลัยปีหนึ่งเมื่อ พ.ศ.2518 ครูบาอาจารย์ก็สอนไว้แต่สมัย 28 ปีก่อนนู้นแล้วว่าประชาธิปไตย(democracy) มิได้หมายถึงการปกครองโดยเสียงข้างมาก(majority rule) อย่างเดียวเท่านั้น หากต้องหมายถึงสิทธิของเสียงข้างน้อย(minority right) อย่างขาดเสียมิได้ด้วย มิฉะนั้นแล้ว หากเพิกเฉยละเลย ละเมิดล่วงล้ำทำลายสิทธิของเสียงข้างน้อยไป นั่นก็มิใช่ระบอบประชาธิปไตย หากเป็น ทรราชของเสียงข้างมาก(tyranny of the majority)

และมองจากมุมของคนส่วนน้อย(รวมทั้งของบุคคล) การตกอยู่ใต้ระบอบทรราชของเสียงข้างมากที่แอบแฝงมาในนาม "ประชาธิปไตย" นั้น เลวร้ายกว่า ภาวะอนาธิปไตย(anarchy) เสียอีก เพราะในภาวะอนาธิปไตย อย่างน้อยบุคคลและกลุ่มชนก็สามารถดูแลปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองจากบุคคล อื่นและกลุ่มอื่นตามกำลังที่มี อาจปกป้องได้มากบ้างน้อยบ้างหรือไม่ได้ก็แล้วแต่กำลังส่วนตนส่วนกลุ่ม, ทว่าในระบอบทรราชของเสียงข้างมาก ความสามารถที่บุคคลและคนส่วนน้อยจะปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองกลับตกต่ำเลว ร้ายลงยิ่งกว่าในภาวะอนาธิปไตยเพราะศัตรูผู้คุกคามจะล่วงละเมิดสิทธิเสรี ภาพของเขานั้นใหญ่โตเข้มแข็งกว่าแค่บุคคลอื่นหรือกลุ่มอื่น เพราะเป็นถึงเสียงข้างมาก ฉะนั้นโอกาสเสี่ยงที่บุคคลและคนส่วนน้อยจะสูญเสียสิทธิเสรีภาพของตนไปก็ ย่อมเพิ่มทวีขึ้นเป็นเงาตามตัว

ประชาธิปไตยที่แท้จริงจึงมิใช่และต้องไม่เป็นระบอบทรราชของเสียง ข้างมาก, มีอะไรบางอย่างที่แม้แต่เสียงข้างมากก็ไม่มีอำนาจที่จะทำได้ ไม่มีสิทธิจะล่วงละเมิดได้ในระบอบประชาธิปไตย, สิ่งหนึ่งสิ่งนั้น-เส้นหนึ่งเส้นนั้นที่ห้ามเสียงข้างมากข้าม เพราะขืนข้ามหรือล้ำเส้นเข้า ประชาธิปไตยก็จะเสื่อมถอยกลายเป็นทรราชของเสียงข้างมากไป ได้แก่ สิทธิของเสียงข้างน้อยและสิทธิของบุคคล(minority & individual rights) นั่นเอง


ในระบอบเสรีประชาธิปไตย สิทธิขั้นมูลฐานของบุคคลก็คือสิทธิเหนือชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของเขาหรือเธอ ซึ่งใครจะล่วงละเมิดมิได้หากมิได้รับฉันทานุมัติ(consent) จากบุคคลผู้เป็นเจ้าของ การที่ในรัฐในสังคม สิทธิดังกล่าวถูกจำกัดโดยกฎหมายได้ (อาทิ กฎหมายบัญญัติให้เก็บส่วนแบ่งรายได้และทรัพย์สินของบุคคลเป็นภาษีเข้าคลัง หลวง, ให้จับกุมคุมขังอาชญากรผู้ละเมิดกฎหมาย, หรือกระทั่งให้ประหารชีวิตผู้ทำผิดอุกฉกรรจ์ เป็นต้น) ก็เพราะกฎหมายเป็นผลผลิตบั้นปลายจากฉันทานุมัติ(consent) ของเราแต่ละคน ที่ยอมผูกมัดตนเองกับมติเสียงข้างมาก(majority) ตามสัญญาประชาคม(social contract) แล้วเสียงข้างมากเลือกตัวแทน(representative government) ไปใช้อำนาจนิติบัญญัติ(legislative power) ออกกฎหมายมาอีกทีหนึ่ง

ทว่าเช่นเดียวกับที่สิทธิของบุคคลมีขอบเขต กฎหมายที่ออกโดยตัวแทนของเสียงข้างมากก็ต้องมีขอบเขตเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าพอกุมเสียงข้างมากอยู่ในมือแล้ว นึกจะออกกฎหมายวิปริตวิตถารยังไงก็ออกได้ อาทิ บัญญัติให้คนเอาหัวเดินต่างเท้า หรือให้จับคนถนัดซ้ายขังคุกให้หมด เป็นต้น ในสังคมเสรีประชาธิปไตย สิ่งที่จำกัดอำนาจของกฎหมายหรือนัยหนึ่งจำกัดอำนาจนิติบัญญัติให้อยู่ใน กรอบขอบเขตได้แก่

1) กฎธรรมชาติ(the law of nature) หรือหลักธรรมที่ว่า "ไม่ควรที่ผู้ใดจะเบียดเบียนทำร้ายชีวิต ร่างกายเสรีภาพหรือสมบัติของผู้อื่น" (No one ought to harm another in his life, health, liberty or possessions.)

กฎธรรมชาติก่อนมีรัฐมีสังคมดังกล่าวทำงานต่อไปแม้ในรัฐในสังคม และมีผลกำกับเหนือทุกคนรวมทั้งตัวแทนเสียงข้างมากผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ เองด้วย กล่าวคือพวกเขาได้รับมอบอำนาจออกกฎหมายมาจากประชาชนก็เพียงเพื่อมุ่งปกปัก รักษาชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลพลเมืองและอำนวยประโยชน์สุขส่วนรวมแก่สังคมให้ดีขึ้น กว่าในภาวะธรรมชาติที่ไร้รัฐ(the stateless state of nature หรือจะเรียกว่าภาวะอนาธิปไตยตามธรรมชาติก็ได้) แล้วก็ถูกจำกัดแค่นั้น ไม่มีสิทธิ์ออกกฎหมายมาทำลาย กดขี่ ขูดรีดพลเมืองให้ตกเป็นข้าทาสสิ้นเนื้อประดาตัวอย่างจงใจ

หากฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐบาลทำเช่นนั้น กล่าวคือละเมิดชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชน ก็เท่ากับพวกเขาเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายของการตกลงตั้งรัฐบาลตามเจตนารมณ์ แห่งสัญญาประชาคม(เพื่ออำนวยประโยชน์สุขส่วนรวมและปกปักรักษาชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน) ซึ่งเท่ากับทำลายความไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้, ใช้อำนาจที่ประชาชนฝากไว้ไปละเมิดกฎธรรมชาติ, ถือเป็นโทษผิดฐานกบฏต่อประชาชน, ประชาชนย่อมมีสิทธิ์โดยธรรมชาติที่จะอุทธรณ์ต่อสวรรค์(appeal to heaven)!

2) สิทธิโดยธรรมชาติ(natural rights) ของบุคคลซึ่งสละให้ประชาคมส่วนรวมบางส่วน โดยยังคงไว้ซึ่งสิทธิที่จะปกปักรักษาตัวเองและปกปักรักษามวลมนุษยชาติ สิทธิโดยธรรมชาติดังกล่าวอันสอดคล้องสืบเนื่องและรองรับโดยกฎธรรมชาติข้าง ต้น เป็นเสมือนหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยแห่งชีวิตขั้นพื้นฐานต่ำสุดสำหรับ ทุกคนที่เข้ามาลงขันถือหุ้นทำสัญญาประชาคมเป็นสมาชิกสังคม ว่าถึงอย่างไรก็จะไม่หลวมตัวถึงแก่โดนเสียงข้างมากลากถูลู่ถูกังไปเสียผู้ เสียคนสิ้นเนื้อประดาตัวได้ สิทธิโดยธรรมชาติของบุคคลจึงเป็นตัวขีดเส้นศักดิ์สิทธิ์จำกัดอำนาจของเสียง ข้างมากไว้ ไม่ให้ออกกฎหมายตามใจชอบมาล้ำเส้นรังแกบุคคลโดยพลการ

ในกรณีเสียงข้างมากใช้อำนาจออกกฎหมายบ้านเมืองขัดหลักธรรมะ ฉีกกฎธรรมชาติและทำลายสิทธิโดยธรรมชาติของบุคคล เสียงข้างน้อยย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะเห็นต่างและดื้อแพ่ง(minority rights to dissent and civil disobedience) เพื่อทัดทานอำนาจอธรรมของเสียงข้างมาก ไม่ให้ลุกลามกลายเป็นทรราชของเสียงข้างมากไป

ด้วยวิสัยทัศน์เล็งการณ์ไกลและความกังวลห่วงใยว่าประชาธิปไตยอาจ เถลือกไถลไปเป็นทรราชของเสียงข้างมากนี่เอง นักคิดการเมืองไทยทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมและเสรีนิยมจึงวางหลักทักท้วงป้องกัน จำกัดอำนาจเสียงข้างมากไว้ เพื่อปกปักรักษาสิทธิของเสียงข้างน้อยและบุคคล ไม่ให้กลายเป็นแค่เครื่องบัดพลีเซ่นสังเวยมติเสียงข้างมากในสังคมบูชายัญ( รวมทั้งช่วยปกปักรักษาฝ่ายเสียงข้างมากด้วย เพราะผู้อยู่ฝ่ายเสียงข้างมากวันนี้ อาจตกเป็นฝ่ายเสียงข้างน้อยไปในกรณีอื่นๆ วันใดก็ได้ ใครจะรู้, การรักษาสิทธิเสียงข้างน้อยไว้จึงเป็นประโยชน์แก่ทุกคนรวมทั้งฝ่ายเสียง ข้างมากเอง จะได้ไม่ต้องโดนบูชายัญในวันหน้าไง)

ด้วยเหตุนี้ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงเรียกระบอบสังคมอุดมคติของท่านว่า "สันติประชาธรรม" แทนที่จะเป็น "สันติประชาธิปไตย" ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเหนี่ยวรั้งถ่วงดุลอำนาจของเสียงข้างมากในระบอบ ประชาธิปไตยไว้ด้วยกรอบธรรมะ, ข้าง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็เคยใช้นามปากกา "แมลงหวี่" เสนอความเห็นไว้เมื่อ พ.ศ.2490 ว่า

"ประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่าเป็นการปกครองที่ถือเอาข้างมากแต่ เสียงเท่านั้น เพราะถ้าเอาโจร 500 คนมาประชุมกับพระ 5 รูป และเสนอญัตติให้อภิปรายกันว่าจะไปปล้นเขาดีหรือไม่ดี เมื่อลงมติกันทีไร โจร 500 ต้องลงมติไปปล้นเขาเพราะเอาชนะพระได้ทุกที แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความเลยว่ามติของเสียงข้างมากที่ให้ไปปล้นเขานั้นเป็น การถูกต้องด้วยทำนองคลองธรรม..."

อำนาจเสียงข้างมากที่ตัดสินใจให้ริบสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ริบฐานทรัพยากรในการหาเลี้ยงชีพและดำรงชีวิตของเสียงข้างน้อยชาวปากมูน จะนะ บ่อนอก บ้านกรูด คลองด่าน ฯลฯ นั้น ใช่เป็นการปล้นชิงสิทธิในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลและชุมชนเหล่านั้นเยี่ยงโจร 500 หรือไม่? เป็นการล่วงละเมิดกฎธรรมชาติและลัทธิโดยธรรมชาติของพวกเขาหรือไม่? มันเป็นการใช้อำนาจตามหลักเสรีประชาธิปไตยหรือทรราชของเสียงข้างมากกันแน่?



http://www.pattanitoday.com/htm/modules.php?name=News&file=article&sid=147

ขอขุดกระทู้เก่า แปะบทความโบราณ

เพราะสถานการณ์ปัจจุบันจากที่เคยริบแม่น้ำ ริบเขื่อน

มันพัฒนาถึงกับริบรัฐธรรมนูญกันไปแล้ว

บันทึกการเข้า

"นายกรัฐมนตรีกำลังใช้รัฐสภาประกอบพิธีกรรมสถาปนาอำนาจของตนเองโดยเห็นรัฐสภาเป็นเพียงแค่ตรายาง และปล่อยให้มีการทำร้ายประชาชนถือว่าหมดความชอบธรรมแล้ว" รสนา โตสิตระกูล
Cherub Rock
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,183


น้องๆ ช่วยไปบอกผู้หญิงคนนั้นที ว่าเลิกมองผมได้แล้ว


« ตอบ #7 เมื่อ: 20-04-2008, 03:51 »

Tyranny of the majority
From Wikipedia, the free encyclopedia

The phrase tyranny of the majority, used in discussing systems of democracy and majority rule, is a criticism of the scenario in which decisions made by a majority under that system would place that majority's interests so far above a minority's interest as to be comparable in cruelty to "tyrannical" despots.[1]

Limits on the decisions that can be made by such majorities, such as constitutional limits on the powers of parliament and use of a bill of rights in a parliamentary democracy, are commonly meant to avoid the problem.[2]

The phrase has variously been sourced to John Stuart Mill in On Liberty (1859) and Alexis de Tocqueville in Democracy in America (1835, 1840); the Federalist Papers frequently refer to the concept, though usually under the name of "the violence of majority faction," particularly in Federalist 10.


http://en.wikipedia.org/wiki/Tyranny_of_the_majority


หมวดที่ 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ กลับใช้ตามมาตรา 71-89 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 บัญญัติค่อนข้างบังคับให้รัฐบาลดำเนินการตามรัฐธรรมนูญทุกขั้นตอน มีผลต่อรัฐบาลทุกยุคสมัยที่จะมาดำเนินการ อีกทั้งทำให้รัฐบาลนำนโยบายของพรรคที่หาเสียงกับประชาชนมาบรรจุเป็นนโยบาย ได้อย่างครบถ้วน

การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยมีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คนเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายในหมวดสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐได้ (มาตรา 163 รัฐธรรมนูญ 2550) ให้คงไว้ ขณะที่มาตรา 170 รัฐธรรมนูญปี 2540 ให้เข้าชื่อ 50,000 คน

ส่วนที่ 5 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญ 2550 ใช้เสียง 1 ใน 5 (มาตรา 185 รัฐธรรมนูญ 2540 ใช้เสียง 2 ใน 5) ส่วนการยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญ 2550 ใช้เสียง 1 ใน 6 (มาตรา 186 รัฐธรรมนูญ 2540 ใช้เสียง 1 ใน 5)

บันทึกการเข้า

"นายกรัฐมนตรีกำลังใช้รัฐสภาประกอบพิธีกรรมสถาปนาอำนาจของตนเองโดยเห็นรัฐสภาเป็นเพียงแค่ตรายาง และปล่อยให้มีการทำร้ายประชาชนถือว่าหมดความชอบธรรมแล้ว" รสนา โตสิตระกูล
RiDKuN
Administrator
ขาประจำขั้นที่ 3
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 3,015



เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 20-04-2008, 11:49 »

ประเทศไทยไม่ใช่ Tyranny of the majority ครับ
แต่เป็น Stupidity of the majority 
บันทึกการเข้า

คนไม่มี "อุดมคติ" ไม่ใช่ "นักการเมือง"
หน้า: [1]
    กระโดดไป: